เมียนมา-ไทยหารือการพัฒนาการเกษตรและการผลิตปศุสัตว์

วานนี้ 11 พ.ค. 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทานแห่งสหภาพเมียนมา อู มิน น่อง เข้าพบ นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำเมียนมา และคณะ ณ ห้องประชุมกระทรวง ในการประชุมหารือการอนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนของไทยลงทุนในการผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ตามกฎหมาย การขยายพันธุ์โคนมและการผลิตผลิตภัณฑ์จากนมเพื่อดึงดูดโอกาสการลงทุนจากต่างประเทศในเมียนมา การส่งออกถั่วและถั่วชนิดต่างๆ จากเมียนมา การจัดตั้งเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยสำหรับโคในประเทศเมียนมา การดำเนินการเขตควบคุมโรคในสัตว์ นโยบายในการส่งออกสัตว์ข้ามพรมแดน ข้อกำหนดสำหรับการพัฒนาบันทึกความเข้าใจสำหรับการส่งออกโค ความร่วมมือในการอนุรักษ์ปลาดุกหัวสั้น กระบวนการเพื่อการผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืนที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และความร่วมมือในการพัฒนาการเกษตรและปศุสัตว์ของทั้งสองประเทศ โดยมีปลัดกระทรวงและเจ้าหน้าที่กรมกระทรวงร่วมประชุมด้วย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-thailand-discuss-developing-agriculture-and-livestock-production/#article-title

นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกจากมณฑลกุ้ยโจว เดินทางถึง สปป.ลาว ด้วยรถไฟลาว-จีน

คณะผู้แทนจากกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป.ลาว ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่เดินทางมาจากมณฑลกุ้ยโจว ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูงระหว่างมณฑลกุ้ยโจวและ สปป.ลาว โดยมีรถไฟลาว-จีน เป็นเส้นทางเชื่อมโยงที่สำคัญ การเดินทางด้วยรถไฟของนักท่องเที่ยวจากมณฑลกุ้ยโจวครั้งแรกนี้ ผ่านมาทางสิบสองปันนาในมณฑลยูนนาน จากนั้นเดินทางมายัง สปป.ลาว ด้วยรถไฟ EMU ล้านช้าง ที่ดำเนินกิจการโดยรถไฟลาว-จีน ซึ่งดำเนินการเพิ่มจำนวนเที่ยวเดินรถของรถไฟ ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวซื้อตั๋วได้ง่ายขึ้น มีการสร้างแอปพเคชั่นที่ช่วยให้ผู้คนสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ และพัฒนาช่องทางการชำระเงินมากขึ้น และให้บริการอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น บนรถไฟ นอกจากนี้ จะมีการลดระยะเวลาในการผ่านด่านศุลกากรและตรวจคนเข้าเมืองบริเวณชายแดน สปป.ลาว-จีน ในขณะที่จะมีการเพิ่มจุดจอดเพิ่มเติมและปรับปรุงคุณภาพการให้บริการรถไฟ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยรถไฟลาว-จีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_88_FirstChinese_y24.php

สปป.ลาว เปิดรับการค้าออนไลน์มากขึ้น ภายใต้กฎระเบียบอีคอมเมิร์ซที่ยังไม่ชัดเจน

กรมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ สปป.ลาว เน้นย้ำถึงความสำคัญของอีคอมเมิร์ซในการเสริมศักยภาพ SMEs แม้ว่าการช้อปปิ้งออนไลน์ใน สปป.ลาวจะประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด แต่ความท้าทายยังคงมีอยู่ การพึ่งพาโซเชียลมีเดียและการจัดการข้ามพรมแดนอาจมีความเสี่ยง โดยมีการหยิบยกประเด็นต่างๆ เช่น การฉ้อโกงและคุณภาพสินค้า นอกจากนี้ การขาดระบบอีคอมเมิร์ซอย่างเป็นทางการในประเทศลาวยังจำกัดศักยภาพในการเติบโต และการจัดตั้งการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นมาตรฐานในตลาดอีคอมเมิร์ซที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ การช็อปปิ้งออนไลน์ของ สปป.ลาว มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนากฎระเบียบอีคอมเมิร์ซภายในประเทศลาว เพื่อให้แน่ใจว่าการคุ้มครองผู้บริโภคและการเติบโตจะมีความยั่งยืน

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/05/09/laos-embraces-online-shopping-via-social-media-cross-border-innovation/

กัมพูชาดึงดูดการลงทุนกว่า 310 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน เม.ย.

ทางการกัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ ด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมูลค่ารวม 310 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนเมษายนของปีนี้ ลดลงกว่าร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากมูลค่า 588 ล้านดอลลาร์ ที่ได้บันทึกไว้ในเดือนเมษายนปีที่แล้ว ด้านจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติลดลงเช่นกันกว่าร้อยละ 66 จาก 65 โครงการที่จดทะเบียนในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับนักลงทุนชาวจีนถือเป็นกลุ่มนักลงทุนกลุ่มสำคัญของกัมพูชาที่เข้ามาลงทุนยังกัมพูชา ตามรายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ซึ่งโครงการลงทุนต่างๆ คาดว่าจะสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นเกือบ 23,000 ตำแหน่ง ด้านรัฐบาลกัมพูชาได้กำหนดนโยบาย กลยุทธ์ การปฏิรูป และมาตรการในการปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจและการลงทุนที่ดีขึ้น

เพื่อหวังส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501484526/cambodia-attracts-310m-investments-in-april/

การส่งออกของกัมพูชาโตกว่า 13% เมื่อเทียบกับในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

การส่งออกของกัมพูชาเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 13.3 ในระหว่างปี 2017-2023 ที่มูลค่าราว 23.47 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54.7 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2023 โดยตัวเลขดังกล่าวเน้นย้ำโดยนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต ขณะเป็นประธานในพิธีเปิด National Single Window ณ โรงแรมโซคา พนมเปญ สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปี 2024 แนวโน้มการส่งออกยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 17.2 สำหรับมูลค่าการนำเข้าและส่งออกทั้งหมดในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 12.49 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชา 6,261 ล้านดอลลาร์ และการนำเข้าที่มูลค่า 6,234 ล้านดอลลาร์ ซึ่งอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง ถือเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญของกัมพูชาในการส่งออก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501484828/cambodias-exports-grow-by-13-in-past-seven-years/

‘เวียดนาม’ เผยการท่องเที่ยวฟื้นตัว แซงระดับก่อนวิกฤติการแพร่ระบาด

จากข้อมูลของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม (VNAT) เปิดเผยตัวเลขสถิติด้านการท่องเที่ยว พบว่าในเดือน เม.ย. 67 เวียดนามต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 58.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเยือนเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 6.2 ล้านคน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวไปในทิศทางที่เป็นบวก ทั้งในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ของการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวชาวเอเชียเดินทางมาเวียดนาม เพิ่มขึ้น 77.2% ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวยุโรป เพิ่มขึ้น 63.8% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ที่เป็นนักท่องเที่ยวต่างขาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม มีจำนวน 1.6 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 25.8% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม

นอกจากนี้ เหงียน จุง คานห์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่าผลจากนโยบายวีซ่าใหม่ ส่งผลต่อความสำเร็จของการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และได้รับความชื่นชมจากนานาประเทศด้วย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-inbound-tourism-booms-surpassing-pre-pandemic-levels-post285643.vnp

‘เวียดนาม’ ร่วมมือออสเตรเลีย หนุนภาคการเกษตรที่ยั่งยืน

Do Thanh Trung รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม ได้แสดงความปรารถนาดีที่จะได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยด้านการเกษตรระหว่างประเทศของออสเตรเลีย (ACIAR) ในการยกระดับประสิทธิภาพทางการเกษตร โดยวิสัยทัศย์ของเวียดนามจะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการเกษตรที่มีความยั่งยืน ประกอบกับการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้ดีชึ้น ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันและเชื่อมโยงกับหั่วโซ่อุปทาน ตั้งแต่การแปรรูป การเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบเกษตรสู่การเติบโตสีเขียว เกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรมหมุนเวียน

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-seeks-collaboration-with-australia-on-sustainable-agriculture-post1093824.vov

ภาคการผลิตของเมียนมาดึงดูด FDI ทั้งหมด 40 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนเมษายน

ตามสถิติที่เผยแพร่โดยคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 39.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไหลเข้าสู่ภาคการผลิตของเมียนมาจากวิสาหกิจ 8 แห่งในเดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน พ.ศ. 2567-2568 (เมษายน-มีนาคม) โดยในเดือนเมษายน ภาคการผลิตมีส่วนดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศ 100% ซึ่งบริษัทจีนมีการลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลักโดยมี 4 โครงการ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย อินเดีย จีนไทเป และสิงคโปร์ในแต่ละโครงการ สถานประกอบการผลิตที่ต้องการกำลังแรงงานจำนวนมากได้รับการจัดลำดับความสำคัญเพื่อสร้างโอกาสในการทำงานให้กับคนในท้องถิ่น ทั้งนี้ ภาคการผลิตของเมียนมาส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปและสิ่งทอที่ผลิตในรูปแบบ CMP และมีส่วนช่วยต่อ GDP ของประเทศในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ตามคำแถลงของ สมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเมียนมา (MGMA) สมาคมฯ มุ่งมั่นที่จะเร่งความพยายามในการพัฒนาภาคส่วนสิ่งทอและเสื้อผ้าของเมียนมา โดยร่วมมือกับแบรนด์และพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่ง ณ เดือนเมษายน 2567 มีโรงงานที่ดำเนินการอยู่ 539 แห่งที่ดำเนินการภายใต้ MGMA ซึ่งประกอบด้วยโรงงานในจีน 315 แห่ง, เกาหลีใต้ 55 แห่ง, ญี่ปุ่น 18 แห่ง, จากประเทศอื่น ๆ 16 แห่ง, โรงงานในประเทศ 62 แห่ง และกิจการร่วมค้า 27 แห่ง และมีโรงงานกว่า 50 แห่งที่ปิดชั่วคราวในขณะนี้

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-manufacturing-sector-attracts-whole-fdi-of-us40m-in-april/#article-title

การค้าชายแดนกลับมาดำเนินต่อไปหลังจากสะพานมิตรภาพเปิดอีกครั้ง

ตามการระบุของผู้ค้าและผู้อยู่อาศัยบริเวณชายแดนเมียนวดี กล่าวว่า เมียวดีกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง และการค้าชายแดนก็กลับมาดำเนินต่อตามปกติ หลังจากสะพานมิตรภาพ 2 แห่งถูกเปิดอีกครั้ง  สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์แห่งที่ 1 เชื่อมระหว่างไทยและเมียวดีได้เปิดอีกครั้งเมื่อวันที่ 27 เมษายน หลังจากที่ปิดไปเมื่อวันที่ 23 เมษายน และสะพานแห่งที่ 2 เปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 30 เมษายน หลังจากปิดในวันที่ 11 เมษายน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสะพานหมายเลข 2 ได้เปิดขึ้นอีกครั้ง และการค้าชายแดนได้ดำเนินการอีกครั้งตามปกติ สินค้าไทยเข้าเมียนมา และสินค้าเมียนมาส่งออกไปยังไทย ขณะนี้อุปทานสินค้าเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เมียวดีกลับคืนสู่สภาพเดิม ทั้งนี้ แม้ว่าทางหลวงสายเอเชียจะยังคงถูกปิดกั้น จึงมีการใช้ถนนทางเลือกเพื่อการค้าชายแดน และผ่านมาประมาณ 5 เดือนแล้ว ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งและค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ค้าต้องใช้ช่องทางอื่นในการซื้อขาย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/border-trade-resumes-after-friendship-bridges-reopened/

รัฐบาล สปป.ลาว และภาคเอกชน เดินหน้าโครงการเครดิตคาร์บอนจากป่าไม้

รัฐบาล สปป.ลาว ร่วมมือกับบริษัทเอกชน ริเริ่มโครงการคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า โครงการนี้จะครอบคลุมพื้นที่ป่าไม้ 8 แห่ง มีพื้นที่รวมประมาณ 1.4 ล้านเฮกตาร์ ภายใต้ข้อตกลงระหว่างกระทรวงเกษตรและป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ AIDC Green Forest จะมีการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เพื่อความก้าวหน้าในการซื้อและการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต นายเพชรสภา ภูมิมาศักดิ์ ประธานโครงการ AIDC Green Forest กล่าวว่า โครงการริเริ่มดังกล่าวจะช่วยปกป้องและฟื้นฟูป่าไม้ ในขณะเดียวกันก็ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของชุมชนท้องถิ่น และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศและการพัฒนาสังคมโดยรวม นอกจากนี้ยังจะเป็นก้าวสำคัญในการช่วยให้ลาวสามารถซื้อและขายคาร์บอนเครดิตจากป่าไม้ตามกลไกตลาดของลาวและต่างประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_86_Govt_y24.php