นายกฯนั่งหัวโต๊ะเตรียมเจ้าภาพจัดประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกปี 69

นายพรชัย  ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในวันนี้(7ก.พ.)ได้มีการประชุมคณะกรรมการระดับชาติครั้งแรกเพื่อเตรียมการจัดการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (คณะกรรมการฯ) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในปี 2569 โดยมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการจัดประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์สำหรับการประชุมประจำปีฯ เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมการดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีฯ ของไทยให้กับคนในประเทศและนานาชาติได้ทราบ นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินการเตรียมการจัดการประชุมประจำปีฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสำเร็จลุล่วงด้วยดี คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านสารัตถะ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายกฤษฎา  จีนะวิจารณะ) เป็นประธานอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการ ด้านพิธีการและอำนวยการ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์) เป็นประธานอนุกรรมการ และคณะอนุกรรมการด้านการรักษาความปลอดภัย การจราจร และสาธารณสุข มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธานอนุกรรมการ อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีได้มีดำริให้มีการรายงานความคืบหน้าและประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีฯ ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยการประชุมประจำปีฯ เป็นการประชุมระดับโลกที่จัดขึ้นนอกสหรัฐอเมริกาเพียงครั้งเดียวทุก 3 ปี โดยการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยในปี 2569 จะเป็นเพียงครั้งที่ 2 ต่อจากการประชุมประจำปีฯ 2534 ที่ไทยจะได้รับโอกาสในการแสดงศักยภาพและความสามัคคีของทุกภาคส่วนในการร่วมเตรียมความพร้อมและต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารกลาง และผู้บริหารของสถาบันการเงินที่สำคัญและคณะเดินทางของประเทศสมาชิกของธนาคารโลกทั้ง 189 ประเทศอีกด้วย

ที่มาภาพจาก : เว็ปไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1112177

‘เวียดนาม’ เผย ม.ค.67 โทรศัพท์สินค้าส่งออกอันดับ 1 ยอดโต 6.7%

กรมศุลกากรเวียดนาม รายงานว่าการส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วนในช่วงครึ่งแรกของเดือน ม.ค.67 มีมูลค่า 2.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และโทรศัพท์ยังคงเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ในแง่ของมูลค่าการส่งออก รวมถึงเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วนในปี 2566 ทำรายได้สูงถึง 52.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 2 รองจากคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ในขณะเดียวกันตลาดส่งออกหลักของเวียดนาม ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้

ที่มา : https://en.vneconomy.vn/phone-exports-rank-top-in-1h-january.htm

‘นายกฯ’ เรียกร้องให้มีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์สินค้าเกษตรของเวียดนาม

นายฝ่าม มิงห์ จิญ นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ออกแถลงการณ์ที่จะมุ่งส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ เพื่อขับเคลื่อนการบริโภคและการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมง โดยถือว่าเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของเกษตรกรรมและการพัฒนาชนบท

ทั้งนี้ บทบาทภาระดังกล่าว ทางกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) ได้รับทำหน้าที่สำคัญในการประสานงานกับกระทรวงและหน่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมมือโครงการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ ปรับปรุงคุณภาพและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าเกษตรเวียดนาม

นอกจากนี้ยังต้องร่วมมือกับท้องถิ่นในการตรวจสอบและพัฒนาศูนย์บริการโลจิสติกส์ให้มีความเหมาะสมกับสินค้าเกษตร ตลอดจนจัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะผู้บริหารของรัฐฯ ภาคธุรกิจและสหกรณ์ในภาคเกษตรกรรม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/pm-urges-logistics-connectivity-for-vietnamese-farm-produce/279364.vnp

เมียนมาให้ข้อมูลเชิงลึกถึงสถานการณ์ปัจจุบันในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 24

กระทรวงการต่างประเทศเมียนมา รายงานว่า เมียนมาเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 24 โดยมี U Soe Lin Han เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำเบลเยียมเข้าร่วมและเข้าร่วมการประชุมที่จัดขึ้นที่ SQUARE Brussel Meeting Centre กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยมีการพูดถึงสถานการณ์การโจมตีของผู้ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในเมียนมา และมาตรการที่มุ่งเป้าไปที่การกำหนดการปกครองตนเอง และการจัดการการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยหลายพรรคที่เสรีและยุติธรรม ทั้งนี้ ในการประชุมเอกอัครราชทูตเมียนมาแสดงความขอบคุณสำหรับโครงการยกเว้นภาษีการค้าพิเศษ (GSP/EBA) ของสหภาพยุโรป และการตระหนักรู้ของประเทศเกี่ยวกับสิทธิแรงงานของคนงานในเมียนมา ซึ่งสอดคล้องกับการตรวจสอบสถานะที่กำหนดภายใต้โครงการ GSP/EBA และ การดำเนินการของรัฐบาลตามกฎหมายที่มีอยู่ อย่างไรก็ดี สาเหตุของการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในเมียนมาร์ ได้แก่ แก๊งฉ้อโกงออนไลน์และปัญหาการค้ายาเสพติด ดังนั้น 3 ประเทศ เมียนมาร์-จีน-ไทย จึงประสานงานเพื่อปราบปรามและแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ด้านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศลาวและประธานอาเซียนหมุนเวียน นายสะเหลิมไซ คมมะสิด กล่าวว่าเขาจะมุ่งมั่นที่จะค้นหาแนวทางที่ยั่งยืนในระยะยาวตามกระบวนการดำเนินงานของเมียนมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-provides-insight-into-current-situation-at-24th-asean-eu-ministerial-meeting/

สปป.ลาว และตุรกี ร่วมลงนาม MOU ด้านเศรษฐกิจและการค้า

รัฐบาล สปป.ลาว และตุรกี วางแผนที่จะขยายความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในนามของรัฐบาลทั้งสองประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า และทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีในปีที่ผ่านมา และทิศทางในอนาคตที่เป็นไปได้ของการเชื่อมสัมพันธ์ที่มากขึ้น และยังแบ่งปันความคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระดับโลกที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยรัฐมนตรีทั้งสองกล่าวถึงความสำเร็จมากมายตลอดระยะเวลา 60 ปีแห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ โดยเห็นพ้องกันว่าความสัมพันธ์ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า และด้านอื่นๆ สำหรับการค้าทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศขยายตัวจุดสูงสุดในปี 2561 และ 2562 แต่ต่อมาลดลง 75.0% เนื่องจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จากนั้นมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศกลับมาเพิ่มขึ้นเป็น 11.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งส่งสัญญาณการฟื้นตัวในด้านการค้าระหว่างกันของทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_27_LaoTurkiye_y24.php

อัตราเงินเฟ้อของลาวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนมกราคม 2567

รายงานล่าสุดจากสำนักงานสถิติลาว ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อของลาว เดือนมกราคม 2567 ขยายตัวที่ 24.44% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 24.37% ในเดือนธันวาคม 2566 ตามราคาสินค้าในกลุ่มที่พักแรมและร้านอาหาร ซึ่งขยายตัว 35.98% เมื่อเทียบกับปีก่อน หมวดสินค้าอื่นๆ ที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อของลาวเดือนนี้ ได้แก่ หมวดเสื้อผ้าและรองเท้า ขยายตัว 33.38% หมวดการดูแลทางการแพทย์และยา ขยายตัว 31.03% หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัว 25.26% และหมวดของใช้ในครัวเรือน ขยายตัว 24.50% จากผลของความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล ส่งผลให้ราคาอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อของลาว ทั้งนี้ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว (BOL) จะพยายามลดอัตราเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ 9.0% หรือตัวเลขหลักเดียวภายในสิ้นปี 2567 โดยรับประกันว่ารายได้จากการส่งออกจะเข้าสู่ระบบธนาคาร

ที่มา : https://english.news.cn/asiapacific/20240207/ac65e13de9894ca99c4f3743321973ee/c.html

กัมพูชา-ไทย ตั้งเป้าการค้าระหว่างกันแตะ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025

นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและไทย มีกำหนดการพบปะกันที่กรุงเทพฯ ในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับขั้นตอนในการส่งเสริมการค้าในระดับทวิภาคี รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน และการขจัดอุปสรรคระหว่างทั้งสองประเทศ โดยประเทศไทยถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของกัมพูชาเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มูลค่าการค้ารวม 3.71 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2023 ลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มูลค่า 4.47 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2022 ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ซึ่งสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป ด้านสินค้านำเข้าจากไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง เป็นสำคัญ สำหรับการเดินทางไปเมืองไทยของนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต จะเดินทางเยือนเมืองไทยในวันพุธนี้ (7 ก.พ.) ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งจะทำการเจรจาเกี่ยวกับความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีในประเด็นที่มีความสนใจร่วมกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501434816/cambodia-thailand-target-15-billion-trade-by-2025/

‘คณะผู้แทน’ สำรวจความต้องการผู้บริโภคในช่วงเทศกาลเต็ต พุ่ง 20-30%

คณะผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และคณะกรรมการประชาชนของเทศบาล รายงานผลการตรวจสอบเมื่อวันที่ 5 ก.พ. พบว่าความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 20-30% ภายหลังเทศส่งเทพเจ้าเตาไฟ โดยซูเปอร์มาร์เก็ตและธุรกิจต่างๆ คาดการณ์ว่าความต้องการจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษญวน หรือเรียกเต็ต (Tet) และยังได้มีการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ตลอดจนลงนามสัญญาต่างๆ กับองค์กร เพื่อที่จะเพิ่มผลผลิตสินค้า โดนเฉพาะสินค้าจำเป็น อาหารและของชำ

นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ เริ่มหันมาเข้าสู่การค้าดิจิทัลออนไลน์ ตั้งแต่การพัฒนาช่องทางการขายของออนไลน์ไปจนถึงการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการให้บริการจัดส่งสินค้าถึงบ้านและเชื่อมต่อไปยังเมืองและจังหวัดต่างๆ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/consumer-demand-up-20-30-in-run-up-to-tet-post1075927.vov

‘เวียดนาม’ กลายเป็นผู้นำเข้าผลผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ที่สุดของอาร์เจนตินา

หนังสือพิมพ์ออนไลน์ชื่อดังของอาร์เจนตินา ‘Infobae’ และ ‘Acercando Naciones’ ได้อ้างข้อมูลจากตลาดสินค้าเกษตรอาร์เจนตินา พบว่าเวียดนามกลายมาเป็นผู้นำเข้าข้าวโพดและผงถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดของอาร์เจนตินาในปีที่แล้ว มีปริมาณรวมสูงถึง 5.3 ล้านตัน มูลค่าราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 ซึ่งนับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่เวียดนามแซงหน้าจีนจนขึ้นมาเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุด

นอกจากนี้ จากตัวเลขสถิติในปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่าอาร์เจนตินาที่เป็นผู้ส่งออกธัญพืชและผลิตภัณฑ์แปรรูปรายใหญ่ ส่งออกได้เพียง 56 ล้านตัน ลดลงเกินกว่า 37 ล้านตัน หรือประมาณ 40% เมื่อเทียบกับปี 2565 ถือเป็นผลผลิตต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 สาเหตุมาจากภาวะแล้งที่รุนแรงและยืดเยื้อ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-becomes-biggest-importer-of-argentine-farm-produce/279298.vnp

ธนาคารกลางเมียนมาขายเงิน 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 200 ล้านบาทในตลาดการเงิน

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางแห่งเมียนมา (CBM) ขายเงิน 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐและ 200 ล้านบาทเข้าสู่ตลาดการเงิน โดยขายเงินเข้าสู่ตลาดฟอเร็กซ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ได้ 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และบนแพลตฟอร์มการซื้อขายสำหรับผู้ส่งออก/ผู้นำเข้าออนไลน์ 5 ล้านดอลลาร์และ 50 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ คิดเป็นมูลค่ารวม 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 250 ล้านบาท โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงที่กำหนดโดย CBM คือ 2,100 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่มีอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดที่ไม่เป็นทางการอยู่ที่ประมาณ 3,500 จ๊าดต่อดอลลาร์สหรัฐ, 99 จ๊าดต่อบาทไทย และ 490 จ๊าดต่อหยวนจีน อย่างไรก็ดี ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 ธนาคารกลางเมียนมา ขายเงินดอลลาร์ได้ 68.33 ล้านดอลลาร์ ขายเงินบาทได้ 313.5 ล้านบาท และขายเงินหยวนได้ 4.2 ล้านหยวน รวมทั้งยังมีการอัดฉีดเงินลงทุน 22.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าสู่ภาคน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/cbm-sells-us11m-200m-thai-baht-into-financial-market-on-5-feb/