เส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ดึงนักท่องเที่ยวจีนมายัง สปป.ลาว มากขึ้น

จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมายัง สปป.ลาว เพิ่มขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่เปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน สำหรับผู้โดยสารเดินทางข้ามแดนไปเมื่อวันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา ตามการรายงานของ Mr. Pakasith Chathapaya ประธานสมาคมโรงแรมและภัตตาคารของ สปป.ลาว กล่าวกับหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทมส์เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่าชาวจีนเดินทางเข้ามาพักที่โรงแรมของประทานฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของลูกค้าทั้งหมด โดยคาดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง เนื่องจาก สปป.ลาว เตรียมเปิดตัวแคมเปญ “Visit Laos Year” และจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนในปีหน้า ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว รายงานว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปี สปป.ลาว ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 1.11 ล้านคน โดยในจำนวนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวมาจากประเทศไทยมากที่สุดที่ 430,979 คน ตามมาด้วยเวียดนาม 224,461 คน และจีน 223,350 คน ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้นจาก 16,283 คน ในเดือนมกราคมเป็น 53,837 คน ในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นเป็น 73,192 คนในเดือนมีนาคม และเพิ่มขึ้นเป็น 80,038 คน ในช่วงเดือนเมษายน แสดงถึงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten118_Railway_y23.php

คาดความช่วยเหลือและการลงทุนของจีน มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาของกัมพูชา

Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวเมื่อไม่นานว่า ความช่วยเหลือและการลงทุนเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของจีน มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกัมพูชา โดยรัฐมนตรีกล่าวเสริมว่าด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งปัจจุบันจีนเข้าลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ และเสียมราฐ-นครวัด สนามบินนานาชาติและอื่น ๆ ในขณะที่ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022 ได้เพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501311086/chinas-aid-investment-greatly-contribute-to-cambodias-development/

ไทยใช้เส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ขนส่งทุเรียนไปยังฉงชิ่งภายใน 88 ชั่วโมง

ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากเส้นทางการขนส่งทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ไปยังเทศบาลนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทุเรียนและผลไม้ประเภทต่างๆ ประมาณกว่า 500 ตัน รายงานโดยบริษัทขนส่ง China Railway Materials เมื่อวันวันจันทร์ที่ผ่านมา (12 มิ.ย.) ซึ่งลักษณะการขนส่งใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จำนวน 28 ตู้ ส่งตรงไปยังศูนย์โลจิสติกส์ทางรถไฟ Xiaonanya ของฉงชิ่ง ใช้เวลาการขนส่งภายใน 88 ชั่วโมง นับเป็นการเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงสวนผลไม้กับตลาดค้าปลีกในฉงชิ่ง ขณะที่ Deng Haoji ผู้จัดการจาก บริษัท Chongqing Hongjiu Fruit กล่าวว่า การขนส่งดังกล่าวลดระยะเวลาด้านการขนส่งลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับการขนส่งในอดีต โดยทางการ สปป.ลาว ยังได้กล่าวเสริมว่าบริษัทจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงการค้าต่างๆ อาทิเช่น ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม ตามรายงานของกรมศุลกากร (GAC) ซึ่งมูลค่าการค้ารวมระหว่างจีนและอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2.59 ล้านล้านหยวน (3.6 แสนล้านดอลลาร์) ในช่วง 5 เดือนแรก คิดเป็นการขยายตัวกว่าร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten112_Direct_y23.php

ภาคธุรกิจ สปป.ลาว-จีน ร่วมส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกัน

การประชุมด้านการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงเศรษฐกิจและการค้ากุ้ยหยาง-เวียงจันทน์ จัดโดยสำนักการค้าเทศบาลกุ้ยหยาง ร่วมกับสภาการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว (LNCCI) ซึ่งจัดขึ้น ณ เวียงจันทน์ ด้าน Atsaphangthong Siphandone นายกเทศมนตรีเวียงจันทน์ รวมถึง Manothong Vongxay รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ (MOIC) ของ สปป.ลาว ได้เข้าร่วมและเป็นสักขีพยานในการลงนามส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันกับ Ma Ningyu รองเลขาธิการคณะกรรมการพรรคเทศบาลกุ้ยหยางและนายกเทศมนตรีของกุ้ยหยาง โดยหวังว่าจะเป็นการพัฒนาให้รากฐานอุตสาหกรรมมีความมั่นคง และสร้างความได้เปรียบทางระบบนิเวศที่โดดเด่นกับประเทศในกลุ่มสมาชิก RCEP ที่เป็นตลาดสำคัญสำหรับจีน ผ่านการใช้ประโยชน์บนทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน เป็นช่องทางในการขนส่งสำคัญ ภายใต้โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (BRI) เพื่อใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งฐานอุตสาหกรรม และนโยบายที่เอื้ออำนวย รวมถึงการขยายการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_laochina111.php

นายกฯ ฮุน เซน คาดเศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัว 5.6% ปีนี้

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (11 มิ.ย.) ว่า เศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2023 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในปี 2022 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลง ส่งผลให้ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวภายในประเทศกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ขณะที่ธนาคารโลกได้กล่าวเสริมในระหว่างการอัพเดทภาวะเศรษฐกิจในช่วงเดือนพฤษภาคมว่าเศรษฐกิจของกัมพูชายังคงแข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนจากความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค และภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มมีการฟื้นตัวหลังจากที่ทางการจีนได้ผ่อนคลายมาตรการด้านการเดินทาง รวมถึงภาคการเกษตรที่เริ่มเห็นถึงการขยายตัวด้านการส่งออก อีกทั้งข้อตกลงความหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP), ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-สาธารณรัฐเกาหลี จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306466/cambodias-economy-projected-to-grow-by-5-6-pct-this-year-say-prime-minister-hun-sen/

“จีน” ชื่นชมสินค้าเกษตรเวียดนาม แต่ซื้อเพียงเล็กน้อย

นายเจิ่น แทงห์ นาม รมช.เกษตรและพัฒนาชนบท กล่าวกับสื่อท้องถิ่นเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ว่าด้วยจำนวนประชากร 1.41 พันล้านคน และรายได้เฉลี่ย 13,800 เหรียญสหรัฐในปี 2565 ส่งผลให้จีนเป็นตลาดสินค้าเกษตรรายใหญ่ รัฐบาลและองค์กรต่างๆ ของเวียดนามและจีน ร่วมมือเป็นคู่ค้าสำคัญทางด้านภูมิศาสตร์ โดยมีปัจจัยบวกหลายประการ อาทิเช่น ระยะเวลาในการขนส่งที่ต่ำ ต้นทุนต่ำและรูปแบบการขนส่งที่หลากหลาย เป็นต้น โดยเฉพาะอาหารทะเล ผลไม้ งานไม้และเนื้อไก่ของเวียดนามเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดจีน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความต้องการผลผลิตทางการเกษตรสูงจากทั้งสองประเทศ แต่ว่าในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานตามแนวชายแดนที่มีมากเกินไป จำเป็นที่ต้องหันมามุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด ประกอบกับความร่วมมือทางการค้าของทั้งสองประเทศยังคงไม่มีเสถียรภาพ ผู้ค้าส่วนใหญ่เพียงแค่ทำธุรกรรมเท่านั้น และขาดความต่อเนื่องในการติดต่อสื่อสาร เนื่องจากปัญหาการขาดข้อมูล

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/china-praises-vietnam-s-farm-produce-but-makes-modest-purchases-2152940.html

จีนเข้าลงทุนเพาะปลูกกล้วยบนพื้นที่กว่า 600 เฮกตาร์ ในกัมพูชา

บริษัท Dize Nong Ye Fazhan จำกัด ลงทุนเพาะปลูกกล้วยบนพื้นที่กว่า 600 เฮกตาร์ ในจังหวัดกำปงจาม รวมถึงสร้างโรงงานการแปรรูปผลิตภัณฑ์เมื่อสองปีก่อน ซึ่งสร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่นประมาณ 1,200 ตำแหน่ง โดยปัจจุบันสวนแห่งนี้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากกล้วยไปยังจีนปีละ 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่ง 1 ตู้คอนเทนเนอร์มีน้ำหนัก 20 ตัน แสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์จากกล้วยของกัมพูชามีความต้องการในตลาดจีนค่อนข้างสูง ซึ่งปัจจุบันประชากรจีนบริโภคกล้วยอยู่ที่ 600 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501305728/600-hectare-banana-orchard-mirrors-chinas-

เส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

นับตั้งแต่ สปป.ลาว เริ่มดำเนินการเส้นทางรถไฟสาย สปป.ลาว-จีน เมื่อ 18 เดือนก่อน ส่งผลทำให้การขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าขยายตัวต่อเนื่อง รายงานโดยกลุ่มบริษัท China Railway Kunming เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (6 มิ.ย.) โดยได้ขนส่งผู้โดยสารไปแล้วกว่า 16.4 ล้านคน และขนส่งสินค้าปริมาตรรวมกว่า 21 ล้านเมตริกตัน นับตั้งแต่ได้เปิดตัวในเดือนธันวาคม 2021 ด้านการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าที่มีการเติบโตหลักๆ เป็นผลมาจากเมื่อวันที่ 13 เมษายน ได้เปิดตัวเส้นทางรถไฟโดยสารระหว่างประเทศเพิ่มเติมที่สถานีคุนหมิงใต้และสถานีเวียงจันทน์เมืองหลวงของ สปป.ลาว ซึ่งได้ให้บริการนักท่องเที่ยวทั้งขาเข้าและขาออกไปแล้วกว่า 20,000 คน จาก 28 ประเทศทั่วโลก ด้านการขนส่งสินค้าส่วนใหญ่ ได้แก่ ปุ๋ย ของใช้จิปาถะ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และผลไม้ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten108_chinalaos.php

เอกอัครราชทูตจีน ย้ำขอความร่วมมือกับเมียนมา ปราบปรามการทุจริต

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา นายเฉิน ไห่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำเมียนมา ได้เข้าพบกับนาย โซ ทุต รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของเมียนมา นับเป็นการหารือครั้งที่ 2 ในรอบ 2 เดือน เพื่อประสานจุดยืนในการปราบปรามการทุจริตด้านโทรคมนาคมจากการหลอกล่วงชาวจีน เอกอัคราชทูตจีนได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จของการปราบปรามกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย รวมไปถึงการปราบปรามการทุจริตทางโทรคมนาคมตามแนวชายแดนเมียน-จีน อย่างไรก็ดีควรมีความมุ่งมั่นและดำเนินการมากกว่านี้ เพื่อขจัดกิจกรรมที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ให้หมดไป ซึ่งไม่เพียงก่อให้เกิดอันตรายต่อสาธารณะเท่านั้น แต่ต่อสังคมในวงกว้างอีกด้วย

ที่มา : http://en.people.cn/n3/2023/0601/c90000-20026414.html

เศรษฐกิจ “ค้าชายแดน-ผ่านแดน”ฟื้นดันส่งออกโต1.49แสนล้าน

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนเมษายน 2566 มีมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน 149,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกผ่านแดนไปจีนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน (178.23%) คิดเป็นมูลค่า 33,341 ล้านบาท โดยการค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนเมษายน 2566 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 149,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.17% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 90,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.30% และการนำเข้ามูลค่า 59,027 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.57% โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนเมษายน 2566 ทั้งสิ้น 31,755 ล้านบาท    ทั้งนี้สาเหตุที่การค้าผ่านแดนและชายแดนขยายตัวต่อเนื่องมาจากเศรษฐกิจการค้าชายแดนและผ่านแดนกลับมาฟื้นตัวและมีการเปิดด่านมากขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยว คู่ค้า สามารถเดินทางเข้าออกได้สะดวกมากขึ้น

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/566706