“เมียนมา” เผยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ยอดค้าระหว่างประเทศ แตะ 7.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการค้าต่างประเทศของเมียนมา ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. จนถึง 23 มิ.ย. ของปีงบประมาณ 2566-2567 มีมูลค่าอยู่ที่ 7.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของเมียนมามีมูลค่า 2.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 4.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้และสินค้าสำเร็จรูปจากอุตสาหกรรม ขณะที่เมียนมาส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าประเภททุน วัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างไรก็ดี ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ลดลงกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-foreign-trade-totals-7-37-bln-in-past-three-months/#article-title

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นขยายตัว 0.4% มูลค่าแตะ 780 ล้านดอลลาร์

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวมแตะ 780 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 1.9 หรือคิดเป็นมูลค่า 215 ล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับญี่ปุ่น 565 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง และเครื่องหนัง ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าผืน และพลาสติกจากญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมถึงญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าสินค้าของกัมพูชาเป็นที่ต้องการของตลาด กล่าวโดย Penn Sovicheat โฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยในช่วงปี 2022 ปริมาณการค้าระหว่าง กัมพูชา-ญี่ปุ่น มีมูลค่ารวมสูงถึง 1,948 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 1,173 ล้านดอลลาร์ และคิดเป็นการนำเข้าสินค้าของญี่ปุ่นมูลค่า 774 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501318140/cambodias-exports-to-japan-up-0-4-at-780m/

ความหวังผู้ส่งออกไทย เร่งตั้ง ‘รัฐบาลใหม่’ ดันตลาดครึ่งปีหลัง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเดือน พ.ค.2566 มีมูลค่ารวม 24,340 ล้านดอลลาร์ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วหดตัวร้อยละ 4.6 แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเดือน ม.ค.2566 ที่มูลค่า 20,249 ล้านดอลลาร์ ติดลบร้อยละ 4.5 ต่ำที่สุดในรอบ 23 เดือน ซึ่งกล่าวเสริมว่าการส่งออกได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและยังดีกว่าบางกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย จึงมองว่าเดือน มิ.ย. นี้จะเห็นตัวเลขที่ดีขึ้น และหากดูในแง่ของดัชนีผู้ซื้อ เรื่องการฟื้นตัวของจีนแม้ว่าจะฟื้นตัวช้าแต่ก็ยังสามารถบังคับคองไปได้ ดีกว่าโซนภูมิภาคยุโรป และอีกตลาดที่มีกำลังซื้อที่สำคัญ คือ อินเดีย สำหรับสถานการณ์ความเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 29 มิ.ย.2566 อยู่ที่ 35.64 บาทต่อดอลลาร์ หากมองปีต่อปีพบว่าอ่อนค่า 1.7% และหากเทียบกับช่วงเดือน ม.ค.2566 อ่อนค่าที่ 3.19% เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินภูมิภาค แต่ถือเป็นทิศทางที่ดีของผู้ประกอบการส่งออกในไทย และอีกปัจจัยคือสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน จึงส่งผลให้การไหลออกของตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมากระทบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องมุ่งส่งสินค้าที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นไปยังคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐที่ไทยส่งออกเกือบร้อยละ 20 รวมถึงเร่งสิ่งสินค้าไปยังภูมิภาคตะวันออกกลางและอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ที่จะพึ่งพาและพึ่งพิงได้ รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV (เวียดนาม สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา) ที่ต้องเร่งการค้าชายแดน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1076884

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังไทยขยายตัวร้อยละ 10 แตะ 480 ล้านดอลลาร์

ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องที่มูลค่ารวมกว่า 480 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ในขณะเดียวกันการส่งออกของไทยมายังกัมพูชากลับปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 14 ที่มูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ด้านนายจีรนันท์ วงษ์มงคล ประธานสภาธุรกิจไทยในกัมพูชา (TBCC) กล่าวเสริมว่า การส่งออกที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ถึงความต้องการในสินค้าของกัมพูชาในตลาดไทย ซึ่งภาคส่วนดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายปริมาณการค้าทวิภาคีกัมพูชา-ไทย มูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2025 โดยหวังให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมมือดำเนินการเพื่อให้ถึงเป้าหมายการส่งออกระหว่างกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501315920/kingdom-exports-to-thailand-surge-10-to-480-million/

นายกฯ คาดส่งออกข้าวปี 66 ทะลุ 8 ล้านตัน ดันไทยกลับเป็นที่ 2 ของโลก

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานความคืบหน้าการส่งออกข้าวของไทย และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทยตั้งแต่ปี 2563-2567 ผลักดันไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและการตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก โดยนายกเชื่อมั่นว่าการส่งออกข้าวไทย ปี 2566 จะเป็นไปตามการคาดการณ์ ที่ยอดมากกว่า 8 ล้านตัน และไทยกลับมาเป็นอันดับที่ 2 ประเทศส่งออกข้าวของโลก ซึ่งยอดส่งออกข้าวในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 นี้ มีปริมาณสูงถึง 2.62 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.41 ด้านโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลผลักดันให้เกิดการกระชับสัมพันธ์คู่ค้าสำคัญ และการหากลุ่มลูกค้าใหม่ให้ครอบคลุมตลาดข้าวมากขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย ได้แก่ อิรัก อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และจีน ประกอบกับ ที่ผ่านมาไทยเพิ่มโอกาสทางการค้าด้วยการจัดคณะผู้แทนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ เช่น ฮ่องกง จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้ และเพิ่มโอกาสด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น งาน China–ASEAN Expo (จีน) งาน Fine Food (ออสเตรเลีย) และงาน ANUGA (เยอรมนี) เป็นต้น

ที่มา : https://www.naewna.com/business/740713

สเปนนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากกัมพูชาเพิ่มขึ้น 19% ที่มูลค่า 326.5 ล้านดอลลาร์

ในช่วง 4 เดือนแรกของปี สเปนนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากกัมพูชาขยายตัวต่อเนื่อง โดยการนำเข้าเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 19.2 หรือคิดเป็นมูลค่า 326.6 ล้านดอลลาร์ นับเป็นการนำเข้าเครื่องแต่งกายเพียงอย่างเดียวมูลค่า 274 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 51.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับแนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของสถานการณ์การนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งหามของสเปน ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2020 หดตัวถึงร้อยละ 22.7 หรือคิดเป็นมูลค่า 231.5 ล้านดอลลาร์ และลดลงอีกร้อยละ 21.9 ในช่วงปี 2021 ที่มูลค่า 180.8 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของ TexPro ที่ดำเนินการโดย Fibre2Fashion โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ กัมพูชาเป็นผู้ส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่มอันดับ 4 ของสเปน ซึ่งในปี 2022 สเปนนำเข้าเครื่องเครื่องนุ่งห่มจากกัมพูชามูลค่ารวม 978.4 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวจากปี 2021 ที่มูลค่า 626.85 ล้านดอลลาร์ และหากอัตราการเติบโตยังอยู่ในระดับปัจจุบัน คาดว่าการนำเข้าเครื่องนุ่งห่มของสเปนอาจทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501315625/spanish-imports-of-apparel-from-cambodia-rise-19-to-326-5-million/

‘สแตนชาร์ด’ คาดส่งออกเวียดนามปี 2030 ยอดพุ่งเกิน 620 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามรายงานของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เปิดเผยว่าเวียดนามพร้อมที่จะเป็นเครื่องยนต์สำคัญของการเติบโตทางการค้าโลก จากการคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกที่จะสูงถึง 618 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 พร้อมกับเวียดนามมีศักยภาพอย่างมากที่จะกลายมาเป็นศูนย์กลางทางการค้าได้ในระดับโลก ทั้งนี้ จากรายงานฉบับก่อนที่เผยแพร่ในปี 2021 ได้มีการประเมินไว้ว่าตัวเลขการส่งออกของเวียดนามจะสูงถึง 535 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับล่าสุดที่ปรับตัวเลขการคาดการณ์ สะท้อนให้เห็นถึงการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อยู่ที่ 83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักทางด้านการส่งออกของเวียดนาม ด้วยสัดส่วนราว 50% ของตัวเลขที่คาดการณ์ในปี 2030

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/standard-chartered-forecasts-vietnams-2030-export-revenue-to-reach-us620-billion/

ม.ค.-เม.ย. กัมพูชาส่งออกเครื่องแต่งกายไปยังสหรัฐฯ ลดลงกว่า 50.32%

การส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่มูลค่า 643.89 ล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงกว่าร้อยละ 50.32 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แม้สถานการณ์การส่งออกจะลดลง แต่สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดหลักสำหรับการส่งออกสินค้าหมวดเสื้อผ้าของกัมพูชา และเมื่อแยกย่อยผลิตภัณฑ์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า กางเกงขายาวและกางเกงขาสั้น ถือเป็นสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากที่สุด สร้างรายได้ให้กัมพูชากว่า 230.292 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.39 ของการส่งออกเสื้อผ้าทั้งหมด รองลงมาเสื้อเจอร์ซีย์ ทำรายได้ 122.014 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.63 ตามมาด้วยเสื้อเชิ้ตมูลค่าส่งออกรวม 67.086 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อนละ 9.14 ชุดเด็ก 47.581 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 6.48 เสื้อยืด 43.340 ล้านดอลลาร์ สัดส่วนร้อยละ 5.91 ชุดนอน 33.623 ล้านดอลลาร์ สัดส่วนร้อยละ 4.58 และเดรส 31.846 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.34 ตามข้อมูลจาก TexPro สำหรับในปี 2022 การส่งออกเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดของกัมพูชามีมูลค่า 4.438 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 34.37 ของการส่งออกโดยรวมของประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกรวม 12.910 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501313525/50-32-yoy-fall-in-jan-apr-2023-for-cambodian-apparel-exports-to-us/

ทุเรียนไทยยอดนิยมตในจีน ส่งออก 5 เดือน 6 หมื่นล้าน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีต่อผลประกอบการและตัวเลขการส่งออก ทุเรียนไทยซึ่งยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องในจีน พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญในการควบคุมและรักษาคุณภาพทุเรียนตามมาตรฐาน ตั้งแต่ต้นทางไปจนปลายทาง ชื่นชมระเบียงการค้าเชื่อมทางบกและทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor: ILSTC) ใช้เวลาขนส่ง 4 วัน จากเดิม 8-10 วัน ซึ่งการขนส่งแบบใหม่นี้ไม่เพียงจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังช่วยลดความเสียหายระหว่างการขนส่งได้อีกด้วย โดยสถิติการส่งออกทุเรียนปี 2022 ซึ่งถือเป็นปีที่มีสถิติการส่งออกทุเรียนสูงสุดในรอบ 30 ปี ไทยส่งออกทุเรียนสดมูลค่ากว่า 1.10 แสนล้านบาท คาดว่ามาจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ความสะดวกในด้านการคมนาคมขนส่งที่สามารถส่งออกสูงสุดได้ถึง 700-800 ตัน/ตู้/วัน 2. การผ่อนปรนการตรวจโควิดของจีน 3.รสชาติที่ดีของทุเรียนไทย และ 4.มาตรฐานการคุมเข้มทุเรียนอ่อน

ที่มา : https://www.thebetter.co.th/news/business/4772

กัมพูชาส่งออกยางพุ่ง 41% ในปีนี้

กัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์จากยางพารามูลค่ารวมแตะ 260 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี ขยายตัวกว่าร้อยละ 41.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDC) โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมเพียงเดือนเดียวกัมพูชาส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพารากว่า 53.5 ล้านดอลลาร์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดปีนี้นับตั้งแต่เดือนมกราคม ด้านสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (ANRPC) ซึ่งมีสำนักงานในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้รายงานสถานการณ์การผลิตยางธรรมชาติทั่วโลก (NR) ว่ามีการเติบโตลดลงที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบเป็นรายปี หรือคิดเป็นปริมาณ 896,000 ตัน ในช่วงเดือนเมษายน และด้วยการผลิตที่ลดลง แต่ความต้องการยางธรรมชาติทั่วโลกกลับเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 2.7 ส่งผลทำให้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2022 ตลาดยางธรรมชาติทั่วโลก คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตถึง 14.693 ล้านตัน ขณะที่การบริโภคคาดว่าจะอยู่ที่ 14.738 ล้านตัน ตลอดทั้งปี ซึ่งโดยเฉพาะในตลาดยางพาราอย่าง จีน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย และสหภาพยุโรป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501311550/cambodias-rubber-exports-surge-by-over-41/