“ผู้ประกอบการ SMEs เวียดนาม” ก้าวเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

แม้ว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่กว่า 90% ในเวียดนาม ยังเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) แต่ผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล (Digital Transformation) และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ บริษัท CNS AMURA Precision Company ได้ดำเนินธุรกิจสู่การเปลี่ยนแปลงไปเป็นระบบดิจิทัลและบริษัทมีคำสั่งซื้อใหม่กับพันธมิตรทางธุรกิจต่างประเทศ นับว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งใหม่ หลังจากที่บริษัทกลายเป็นซัพพลายเออร์เทียร์ 1 ของซัมซุง นอกจากนี้ Mr. Tran Ba Linh ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตของบริษัท Dien Quang Lamp Joint Stock Company กล่าวว่านวัตกรรมสายการผลิตโดยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร

ที่มา : https://www.sggpnews.org.vn/vietnamese-small-medium-sized-firms-carrying-out-digital-transformation-post99855.html

‘อาเซียน’ เปิดฉากถกประเด็นด้านเศรษฐกิจ เร่งดันกฎระเบียบเอื้อเปิดเสรีภาคบริการ เล็งจัดตั้งสำนักเลขาธิการ RCEP หนุนใช้ e-Form D เต็มรูปแบบ

‘อาเซียน’ ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) อย่างเป็นทางการครั้งแรก ถกประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งผลักดันทำกรอบอำนวยความสะดวกด้านบริการ จัดตั้งสำนักเลขาธิการ RCEP หนุนใช้ e-Form D เต็มรูปแบบ เดินหน้าเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของ MSMEs การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เร่งติดตามความคืบหน้าการอัปเกรด FTA พร้อมคุยญี่ปุ่นหารือแนวทางจัดทำแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.dtn.go.th/th/home

‘เวียดนาม’ เร่งสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของธุรกิจ SMEs

หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI) และบริษัท Meta Group รวมถึงผู้แทนจากกระทรวงการวางแผนและการลงทุน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและสมาคมธุรกิจ ร่วมประชุมหารือแผนการดำเนินงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เมื่อวันที่ 9 พ.ย. โดยงานดังกล่าวหารือเกี่ยวกับความท้าทายของธุรกิจ SMEs ที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงนโยบาย แนวโน้ม โอกาส เครื่องมือและโซลูชั่นที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ทั้งนี้ คุณ Bui Trung Nghia รองประธานกรรมการสภาหอการค้าเวียดนาม กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้เปิดโอกาสให้กับทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ช่วยยกระดับการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม มีมูลค่า 21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 เพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบเป็นรายปี และคิดเป็น 5% ของ GDP ประเทศ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/measures-sought-to-speed-up-digital-transformation-in-smes-post119693.html

ผลสำรวจชี้ “ผู้บริโภคเวียดนามยุคดิจิทัล” ใช้โซลูชั่นการเงิน

จากรายงาน SYNC Southeast Asia ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าประชากรชาวเวียดนามทั่วประเทศกว่า 80% เป็นผู้บริโภคดิจิทัล และเวียดนามเป็นตลาดชั้นนำที่มีการนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ โดยกลุ่มผู้บริโภคดิจิทัลส่วนใหญ่ 58% มีการใช้บริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงบริการแอปพลิเคชั่นที่ช่วยในการโอนเงินและธนาคารดิจิทัล ทั้งนี้ ส่วนแบ่งเฉลี่ยของอีคอมเมิร์ซและธุรกิจการค้าปลีกโดยรวมยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 15% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของอินเดียและจีน 10% และ 4% ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/nearly-60-of-digital-consumers-in-vietnam-use-fintech-solutions/240652.vnp

“สิงคโปร์-สปป.ลาว” กระชับความสัมพันธ์ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อมและดิจิทัล

เดอะสเตรตส์ไทมส์ (The Straits Times) รายงานว่าประเทศสิงคโปร์และสปป.ลาว กำลังยกระดับความร่วมมือในสาขาใหม่ ได้แก่ พลังงาน ดิจิทัล ความยั่งยืนและการปกป้องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 50 ปี ทั้งนี้ นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ และนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) จำนวน 4 ฉบับ พิธีลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นของความร่วมมือเพื่อโครงข่ายไฟฟ้าระดับภูมิภาค พลังงานหมุนเวียนและการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าสำหรับการค้าไฟฟ้าข้ามพรมแดน สิ่งนี้จะข่วยส่งเสริมการค้าไฟฟ้าข้ามพรมแดนในภูมิภาคและทำให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันลดคาร์บอน ในขณะเดียวกันก็สร้างงานและยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Singapore189.php

‘อาเซียน’ นัดประชุมรายสาขาด้านเศรษฐกิจครั้งแรก ตั้งเป้ายกระดับอาเซียนสู่ยุคดิจิทัล

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนกำหนดจัดประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (Committee of the Whole: CoW) ครั้งที่ 12 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 10 มีนาคมนี้ การประชุมครั้งนี้ เป็นเวทีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียนรวม 23 ด้าน อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พิธีการศุลกากร และการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยมีผู้แทนจากเสาการเมือง เสาสังคมและวัฒนธรรม และผู้แทนภาคเอกชนของอาเซียน เข้าร่วมหารือแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างสาขาต่างๆ เพื่อให้เกิดผลได้จริง อาทิ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains: GVCs) และแนวทางการดำเนินการต่อไปในประเด็นแผนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) ทั้งนี้ ความสำเร็จที่สำคัญจากการประชุมที่ผ่านมา คือ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์อาเซียนประเด็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากมติที่ประชุม CoW สมัยพิเศษโดยแผนยุทธศาสตร์มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางเชิงนโยบายในการพัฒนาประชาคมอาเซียนสู่ยุคดิจิทัลของทั้งสามเสาประชาคมอาเซียน ซึ่งอาเซียนกำลังจัดทำแผนดำเนินงานและกิจกรรมเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3305016

‘ประยุทธ์’ ประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ย้ำร่วมมือด้านวัคซีน-สิ่งแวดล้อม-พัฒนาดิจิทัล

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกาฯ ครั้งที่ 9 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน เข้าร่วมด้วย โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวถึงความสำคัญระหว่างสหรัฐฯ กับอาเซียนที่มีความสำคัญมากขึ้นว่า สหรัฐฯ สนับสนุนแนวคิด AOIP และเห็นว่าการก้าวผ่านศตวรรษที่ 21 ต้องร่วมมือกันเพื่อสู้กับโควิด-19 รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ร่วมกัน และการผลิตเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งมุ่งหวังที่จะได้ร่วมกับอาเซียนเพื่อประโยชน์ร่วมกันต่อไป ตลอดจนยืนยันที่จะมีความช่วยเหลือให้กับอาเซียนอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อสนับสนุนอาเซียนให้ Build Back Better ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเสนอแนวทางความร่วมมือของอาเซียน-สหรัฐฯ ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ความร่วมมือในการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว 2.การให้ความสำคัญกับการเติบโตสีเขียว เพื่อก้าวไปสู่ “Next Normal” อย่างยั่งยืน และ 3.การพัฒนาด้านดิจิทัล

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/politics/news_6698213

สปป.ลาวเน้นย้ำความจำเป็นในการปฏิรูปสู่ดิจิทัล

ผู้นำระดับสูงของสปป.ลาวได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ศาสตราจารย์ ดร.บ่อเวียงคำ วงษ์ดารา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร ได้กล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงดิจิตัลการประชุม ITU Digital World 2021 “กระทรวงของเราได้ทำงานร่วมกับผู้ให้บริการและผู้ให้บริการโครงข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นในช่วงโควิด-19 นี้ และยังสนับสนุนการขยายเครือข่ายในกรณีที่จำเป็น” ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญในการเร่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลนั้นเกี่ยวข้องกับ (1) การทำงานร่วมกัน (2) การรับรองความพร้อมของระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐาน และ (3) การสร้างขีดความสามารถในการรู้เท่าทันดิจิทัล

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos201.php

สปป.ลาว-เวียดนาม ลงนามความร่วมมือเสริมสร้างการพัฒนาด้านดิจิทัล

สปป.ลาวและเวียดนามตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และส่งเสริมการพัฒนาต่อไปในด้านดิจิทัลมีการลงนามข้อตกลงระหว่าง ศ.ดร.โบเวียงคำ วงดารา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร และนายเหงียน มานห์ ฮุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารของเวียดนาม ทั้งสองฝ่ายจะทำงานร่วมกันในด้านบริการการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นนวัตกรรมจะมีการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาดิจิทัล ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวจะขับเคลื่อนการพัฒนาในด้านดิจทัลของทั้งสองประเทศและทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลมีความทันสมัยฃทัดเทียมกับหน่วยงานอื่นๆ ในภูมิภาค

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos172.php

นายกฯ ประชุมคกก.ดิจิทัลนัดแรก มุ่งพัฒนาสู่ดิจิทัลไทยแลนด์-ดิจิทัลอาเซียนเต็มรูปแบบ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการแก้ปัญหาต่างๆของประเทศ โครงสร้างดิจิทัลพื้นฐานเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งวันนี้เดินหน้าไปสู่ 5G ที่ผ่านมารัฐบาลวางโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนนโยบายเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินงานทุกภาคส่วน นำมาสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์และดิจิทัลอาเซียนเต็มรูปแบบตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3210753