เปิดหน้าต่างบานใหม่ของการส่งออกไทยในยามเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

โดย วิชาญ กุลาตี, ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

การส่งออกสินค้าไทยหดตัวต่อเนื่อง ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอลง

การส่งออกสินค้าที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มหดตัวตามอุปสงค์โลกที่ชะลอลง ในระยะต่อไปการส่งออกไทยดูไม่สดใสนัก สะท้อนจากดัชนี Global Manufacturing PMI ในเดือนมกราคมที่ยังหดตัว กอปรกับยอดคำสั่งซื้อใหม่และยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ การส่งออกไทยจะเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการค้าโลก เช่น การเริ่มใช้ภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป รวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยของอินเดียที่จะส่งผลต่อสินค้าส่งออกไทยหลายชนิด โดย SCB EIC คาดว่าการส่งออกสินค้าไทยจะขยายตัวได้เพียง 1.2% ในปี 2023 (ตัวเลขในระบบดุลการชำระเงิน)

 

ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดตะวันออกกลาง CLMV และลาตินอเมริกา

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวชะลอลงเป็น 1.7% ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการค้าโลกที่กำลังเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทย ภาคเอกชนและภาครัฐจึงจำเป็นต้องหาตลาดส่งออกใหม่ SCB EIC ประเมินว่า มีตลาดสามแห่งที่มีศักยภาพน่าจับตา ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลางที่อาจได้รับอานิสงส์จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ตลาด CLMV ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตดีและได้รับการผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐ และตลาดลาตินอเมริกาที่เป็นตลาดส่งออกเป้าหมายใหม่ในเชิงนโยบายของไทย

 

ตลาด CLMV

SCB EIC ประเมินว่า การส่งออกจากไทยไป CLMV จะขยายตัวได้ในช่วง 6-8% ในปี 2023 โดยมีแนวโน้มที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางตามเศรษฐกิจ CLMV ที่จะเติบโตได้สูงกว่าเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงตลาดนี้ยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐต่อเนื่อง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-140223

เมียนมาตั้งเป้าส่งออกข้าวโพดกว่า 2 ล้านตัน ในฤดูกาลผลิตปี 66

สมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดแห่งเมียนมา เผย ปี 2566 เมียนมามีผลผลิตข้าวโพดรวมทั่วประเทศ 3 ล้านตัน โดยมีเป้าส่งออกมากกว่า 2 ล้านตัน และเก็บไว้บริโภคภายในประเทศอีก 1 ล้านตัน ซึ่งตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ไทย จีน อินเดีย เวียดนาม ในปัจจุบันราคาข้าวโพดพุ่งสูงสุดถึง 1,280 จัตต่อ viss (1 viss เท่ากับ 1.6 กิโลกรัม) จากความต้องการของต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาส่งออกข้าวโพด 2.3 ล้านตัน ส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังไทย และบางส่วนส่งออกไปยัง จีน อินเดีย และเวียดนาม ปัจจุบันการปลูกข้าวโพดของเมียนมาส่วนใหญ่อยู่ในรัฐฉาน รัฐกะฉิ่น รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง ภาคมัณฑะเลย์ ภาคซะไกง์ และภาคมะกเว โดยมีฤดูกาลปลูกอยู่ 3 ฤดู คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูมรสุม ส่วนผลผลิตข้าวโพดต่อปีอยู่ที่ 2.5-3 ล้านตัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-sets-over-2-mln-tonnes-of-corn-export-target-this-season/#article-title

สนค.ชี้ศก.จีนดีขึ้นหลังคลายมาตรการโควิด

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประกาศเปิดประเทศของจีนตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 เป็นต้นไป หลังจากดำเนินนโยบาย Zero-COVID มานานกว่า 3 ปี เป็นสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกไปยังตลาดจีน โดยประเมินว่า ในปี 2566 ตลาดจีนจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง โดยจีนเป็นตลาดหลักที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 สัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 12 ของการส่งออกรวม รองจากสหรัฐอเมริกา

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/economy/news_479263/

เมียนมาส่งออกถั่วทะลุ 1 ล้านตันในช่วง 8 เดือนของปี 65

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา  8 เดือนของปีงบประมาณ 2565-2566 (เดือนเมษายน-เดือนพฤษจิกายน 2565) เมียนมาส่งออกถั่วและถั่วพัลส์มากกว่า 1.05 ล้านตัน เป็นการส่งออกทางทะเล 897,499 ตันผ่านเส้นทางทะเล และทางบก153,311 ตัน จากข้อมูลของสมาคมพ่อค้าถั่ว ถั่วพัลส์ และงาของเมียนมา พบว่า การส่งออกถั่วและงาของประเทศนั้นสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกและสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยในปีงบประมาณ 2563-2564 เมียนมาส่งออกถั่วและถั่วพัลส์มากกว่า 249,245 ตัน มูลค่า 217 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถั่วเป็นพืชที่มีการเพาะปลูกมากเป็นอันดับ 2 ของเมียนมา รองจากข้าว และคิดเป็นร้อยละ 33 ของผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดของประเทศ ทั้งนี้ตลาดส่งออกหลัก คือ จีน อินเดีย และประเทศในแถบยุโรป

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-brings-in-over-826-mln-from-pulses-exports-in-eight-months/

กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกข้าว 1 ล้านตัน ในอีก 5 ปีข้างหน้า

กัมพูชามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมประเทศในฐานะ “Rice basket” และเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ โดยมีเป้าหมายที่จะส่งออกข้าวอย่างน้อย 1 ล้านตันต่อปี นับตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายรับประมาณ 800 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากการส่งออกข้าวสาร โดยกัมพูชายังมองหาตลาดส่งออกขนาดใหญ่ของผลิตภัณฑ์ข้าวประมาณ 150,000 ตัน ณ ราคา 7,000 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) กล่าวว่า การเติบโตของภาคการส่งออกข้าวน่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากสถานการณ์ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาตลาดใหม่ การฟื้นตัวของอุปสงค์ในสหภาพยุโรป และในตลาดจีน ซึ่งในเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2022 กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังตลาดต่างประเทศแล้วกว่า 509,249 ตัน มูลค่า 323.90 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.67 ในขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรของกัมพูชาในช่วง 10 เดือนแรกของปี สร้างรายรับกว่า 3.07 พันล้านดอลลาร์ จากการส่งออกสินค้าเกษตรปริมาณรวม 7.62 ล้านตัน ตามรายงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมง (MAFF)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501192888/one-million-tons-rice-export-target-set-for-next-five-years/

สศอ.ชี้อุตสาหกรรมไทยกลับมาฟื้นตัวใกล้ปีก่อนเกิดโควิดแล้ว

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนก.ย. ขยายตัว 3.36% ส่วนภาพรวมไตรมาส 3/2565 (ก.ค.-ก.ย.2565) ขยายตัว 8.06% ส่งผลให้ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.2565) ขยายตัว 2.83% ทำให้ทั้งปีเชื่อว่า เอ็มพีไอจะสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.5-2.5% ซึ่งเดือนพ.ย.จะปรับตัวเลขอีกครั้ง และเชื่อว่าปี 2566 จะสูงกว่าปีนี้แน่นอน เนื่องจากตลาดส่งออกหลัก ทั้งสหรัฐ อาเซียน และสหภาพยุโรป (อียู) ยังขยายตัวได้ ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวดี ส่งผลต่อสินค้าที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวขยายตัวดีเช่นกัน รวมถึงกิจกรรมกระตุ้นทางเศรษฐกิจของภาครัฐ

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/253726/

ราคาข้าวเมียนมาในประเทศ ดิ่งฮวบ!

ศูนย์ค้าส่งข้าววะดาน เผย ราคาข้าวหักในในประเทศราคาร่วงลงอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างวันที่ 11 – 15 ก.ค.2565 ราคาข้าวหักที่เคยสูงถึง 35,000 จัตต่อถุง (108 ปอนด์) ราคาลดฮวบเหลือ 28,000 จัตต่อถุงในวันที่ 18 ก.ค.2565  ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 7,000 จัตต่อถุงภายใน 3 วัน ราคาข้าวปัจจุบันอยู่ในช่วงระหว่าง 31,200 จัตต่อถุง ถึง 55,000 จัตต่อถุงขึ้นอยู่กับสายพันธ์ ตั้งแต่ ไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2565-2566 (เม.ย.-มิ.ย.2565) เมียนมาส่งข้าวและข้าวหักกว่า 550,000 ตัน โดยส่งออกทางทะเลกว่า 510,000 ตัน และผ่านชายแดนอีก 33,000 ตัน โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์, จีน, เบลเยียม, สเปน ฯลฯ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563-2564 ที่ผ่านมา เมียนมา มีรายได้กว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกข้าว 2 ล้านตัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/broken-rice-prices-fall-again/#article-title

Q1 การค้าระหว่าง กัมพูชา-ฮังการี พุ่งแตะ 2.23 ล้านดอลลาร์

ฮังการีถือเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสำคัญของกัมพูชา โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาสูงถึง 2.23 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2022 รายงานโดย Ok Bung ซึ่งปัจจุบันรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่ากัมพูชาพยายามปรับตัวอย่างหนักเพื่อที่จะใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ในรูปแบบชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ทั้งในด้านการค้าและการลงทุน ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ ด้านเอกอัครราชทูตฮังการีแสดงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะกระชับความสัมพันธ์อันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการค้า รวมถึงยังคงจะให้การสนับสนุนนักธุรกิจและนักลงทุนชาวฮังการีมองหาโอกาสในการทำธุรกิจในกัมพูชาในระยะถัดไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501084662/cambodia-hungary-trade-at-2-23-million-for-q1/

ในช่วง 4 เดือนแรก กัมพูชาส่งออกพุ่ง 32%

กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 7,606 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว รายงานโดยกรมศุลกากรและสรรพสามิต แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ช่วง มกราคม-เมษายน สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาด้วยมูลค่ารวม 2,923 ล้านดอลลาร์ รองลงมาคือเวียดนามและจีนที่มีมูลค่า 977 ล้านดอลลาร์และ 423 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ คิดเป็นมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและประเทศคู่ค้าที่มูลค่า 17,649 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลังกัมพูชากลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มีส่วนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501076534/cambodias-exports-jump-32-percent-in-first-four-months/

‘สหรัฐอเมริกา’ ขึ้นแท่นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ไตรมาส 1/65

จากรายงานทางสถิติของสำนักงานศุลกากร เปิดเผยว่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยมีสัดส่วน 29.1% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด และในเดือนมีนาคม เพียงเดือนเดียว เวียดนามส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สูงถึง 9.76 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ยอดการส่งออกรวมทั้งสิ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 25.96 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักของเวียดนามไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่มีมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป มีจำนวน 6 รายการสินค้า ได้แก่ เครื่องจักร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์ รองเท้า ไม้และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ เป็นต้น อย่างไรก็ดี สินค้าเวียดนามประเภทเครื่องนุ่งห่ม มีความโดดเด่นอย่างมากในตลาดสหรัฐฯ ด้วยมูลค่าสูงถึง 4.36 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีสัดส่วนกว่า 50.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/us-remains-vietnams-largest-export-market-in-q1-post938047.vov