ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนใน สปป.ลาว

ด้วยสถานการณ์รายได้ภาคครัวเรือนส่วนใหญ่ของคน สปป.ลาว ไม่สามารถสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลทำให้ภาคครัวเรือนจำเป็นต้องลดการใช้จ่ายด้านอาหาร สุขภาพ และการศึกษา ตามการสำรวจครั้งล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมถึงความไม่มั่นคงทางอาหารในประเทศ

สำหรับการสำรวจของธนาคารโลกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม พบว่ากว่าร้อยละ 87 ของครัวเรือน กล่าวว่า ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และเพื่อเป็นการรับมือส่วนใหญ่ภาคครัวเรือนได้มีการเพาะปลูก รวมถึงเปลี่ยนไปกินอาหารราคาถูกลง หรือลดปริมาณในการบริโภคลง ไปจนถึงจำเป็นต้องขายทรัพย์สิน หรือกู้ยืมเงินมากขึ้น โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวใช้จ่ายด้านการศึกษาลดลง และมากกว่าร้อยละ 14 ของเด็กวัยเรียนจำเป็นต้องพักการเรียนลง จากผลกระทบดังกล่าว แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันจะเริ่มผ่อนคลายลงนับตั้งแต่ต้นปี 2023 แต่อัตราเงินเฟ้อก็ยังคงสูง ซึ่งเมื่อเทียบเป็นรายปีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 36 และเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ธนาคารโลกแนะนำให้เลิกใช้มาตรการลดหย่อนภาษี และการยกเว้นภาษี รวมถึงปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ปรับปรุงคุณภาพการลงทุนภาครัฐและสัมปทาน เสริมสร้างการกำกับดูแลของภาคธนาคาร ไปจนถึงทำการเจรจาหนี้ และสร้างกฎเกณฑ์สำหรับการลงทุนภาคเอกชนให้ง่ายขึ้น เพื่อหวังดึงอัตราเงินเฟ้อลง

ที่มา : https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2023/09/19/food-prices-affect-families-in-lao-pdr-despite-easing-inflation

‘ธนาคารโลก’ ชี้เวียดนามวิกฤตขาดแคลนไฟฟ้า พ.ค.-มิ.ย. สูญเงินกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากรายงานล่าสุดของธนาคารโลก (WB) เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์ปัญหาไฟฟ้าดับในจังหวัดทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม เดือน พ.ค.-มิ.ย. ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก สูญเสียเงินกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 0.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม รวมถึงยังส่งผลกระทบไปในวงกว้างต่อกิจกรรมทางด้านพลังงานเกิดหยุดชะงัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ภาคพลังงานของเวียดนามเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และมีส่วนส่งเสริมการพัฒนาและการเข้าถึงไฟฟ้าของคนในประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัญหาไฟฟ้าดับในเดือน พ.ค.-มิ.ย. ได้เปิดเผยช่องโหว่ที่ต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/may-june-power-shortages-cost-vietnam-us-1-4-billion-world-bank-2177190.html/

‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ มีทิศทางดีดตัวฟื้นขึ้นในปี 2567

นางดอร์สาติ มาดานิ (Dorsati Madani) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก (WB) กล่าวว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามมีแนวโน้มดีดตัวฟื้นขึ้นมาในปี 2567 และปี 2568 และระบุว่าประเทศคู่ค้าสำคัญของเวียดนาม อาทิเช่น สหรัฐฯ ยุโรปและจีน ต่างได้รับผลกระทบเชิงลบในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์โลกที่อ่อนแอ ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และการส่งออกและนำเข้าที่หดตัวลง ตลอดจนมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ นาย Nguyen Anh Duong ผู้อํานวยการฝ่ายวิจัยธุรกิจภายใต้สถาบันกลางการบริหารจัดการเศรษฐกิจ (CIEM) มองว่าเวียดนามจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปการจัดการนโยบาย และการรักษาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและเอื้ออำนวยต่อนักลงทุน เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economic-growth-projected-to-rebound-from-2024/266184.vnp

‘เวียดนาม’ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทระดับโลก

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้าประเทศ มีมูลค่า 13.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพื่อให้เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาตินั้น ทางหน่วยงานได้เสนอให้รัฐบาลแก้ไขหรือปรับปรุงอย่างมีประสิทธิภาพของการลงทุนจากต่างประเทศ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทั้งนี้ ธนาคารโลก (WB) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เวียดนามประสบความสำคัญในแง่ของการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ความมั่งคงทางการเมืองและศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เติบโตอยู่ในระดับสูง อีกทั้ง บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก อาทิเช่น ซัมซุง (Samsung), แอลจี (LG) และ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) มีแผนที่จะย้ายสายการผลิตแห่งใหม่ในเวียดนาม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-remains-leading-destination-of-fdi-businesses-post1031393.vov

นายกฯ ฮุน เซน คาดเศรษฐกิจกัมพูชาขยายตัว 5.6% ปีนี้

นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (11 มิ.ย.) ว่า เศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2023 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในปี 2022 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลง ส่งผลให้ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวภายในประเทศกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง ขณะที่ธนาคารโลกได้กล่าวเสริมในระหว่างการอัพเดทภาวะเศรษฐกิจในช่วงเดือนพฤษภาคมว่าเศรษฐกิจของกัมพูชายังคงแข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนจากความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค และภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มมีการฟื้นตัวหลังจากที่ทางการจีนได้ผ่อนคลายมาตรการด้านการเดินทาง รวมถึงภาคการเกษตรที่เริ่มเห็นถึงการขยายตัวด้านการส่งออก อีกทั้งข้อตกลงความหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP), ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA) และข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-สาธารณรัฐเกาหลี จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501306466/cambodias-economy-projected-to-grow-by-5-6-pct-this-year-say-prime-minister-hun-sen/

ธนาคารโลกพร้อมหนุน สปป.ลาว ในการปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าภายในประเทศ

ธนาคารโลกได้อนุมัติโครงการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า มูลค่าโครงการรวม 51 ล้านดอลลาร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของโครงข่ายไฟฟ้า สปป.ลาว ซึ่งดำเนินการโดย Electricité du Laos (EDL) ที่ขาดทรัพยากรอันจำเป็นสำหรับการบำรุงรักษาและอัปเกรดระบบ ทำให้ไม่สามารถลงทุนในอุปกรณ์และระบบที่จำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น กล่าวโดย Alex Kremer ผู้จัดการธนาคารโลกประจำ สปป.ลาว ซึ่งคาดหวังว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการปรับปรุงสถานีไฟฟ้าย่อยของ EDL เพื่อเพิ่มการไหลของพลังงาน ส่งผลทำให้ลดการสูญเสียโอกาสในการจ่ายพลังงานไปยังผู้ใช้บริการ โดยจะส่งผลทำให้ EDL มีรายได้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ควบคู่ไปกับการพัฒนากริดไฟฟ้าให้มีความเสถียรมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten107_World_y23.php

ธนาคารโลก แนะกัมพูชากระจายความเสี่ยงด้านผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว

ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชากำลังฟื้นตัว แนะกัมพูชาควรกระจายความเสี่ยงไปยังอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเสริมความมั่นคงทางระบบเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์ว่าการเติบโตจะเร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 5.5 ในปี 2023 นำโดยการส่งออกและภาคการผลิตภายในประเทศ แต่ถึงอย่างไรการชะลอตัวที่เพิ่มขึ้นของอุปสงค์ภายนอก อาจทำให้ภาคการผลิตที่เน้นการส่งออกของกัมพูชาชะลอตัวลง ในขณะที่ภาคการเงินทั่วโลกตึงตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะกลางธนาคารโลกคาดว่าการเติบโตของกัมพูชาจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6 ซึ่งได้แรงหนุนจากการส่งออกสินค้าและบริการที่แข็งแกร่ง และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน สำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น ท่าเรือและถนน เพื่อเอื้อต่อการเชื่อมต่อการขนส่งในภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสามารถมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการเพิ่มเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศ และการส่งเสริมการส่งออกที่หลากหลายในการเสริมความยืดหยุ่นและความสามารถในการแข่งขันของระบบเศรษฐกิจกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501293706/world-bank-says-cambodia-needs-to-diversify-its-tourism-products-and-improve-its-trade-competitiveness/

World Bank จัดไทยอันดับ 34 ความสามารถโลจิสติกส์โลก พบอันดับต่ำสุดด้านตรงต่อเวลา

สำนักข่าวอิศรา รายงานข่าวเกี่ยวกับการจัดอันดับในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยว่าธนาคารโลกหรือว่า World Bank ได้มีการจัดอันทำดัชนีขีดความสามารถในด้านโลจิสติกส์ใน 139 ประเทศทั่วโลกประจำปี 2566 พบว่าประเทศไทยได้อันดับที่ 34 โดยมีคะแนนทั้งสิ้น 3.5 คะแนน

โดยในส่วนของรายละเอียดคะแนนนั้น พบว่าไทยได้อันดับในส่วนของศุลกากรอยู่ที่อันดับ 31 อันดับด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ที่ 25 อันดับด้านการขนส่งไปยังต่างประเทศอยู่ที่ 22 อันดับด้านการแข่งขันโลจิสติกส์อยู่ที่ 38 อันดับเกี่ยวกับการติดตามสินค้าอยู่ที่ 34 และอันดับด้านความตรงต่อเวลาอยู่ที่ 46

ทั้งนี้มีประเทศอื่นๆที่มีอันดับ 34 เทียบเท่าประเทศไทยได้แก่ประเทศบาห์เรน ประเทศลัตเวีย และประเทศการ์ตา

ส่วนอันดับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนนั้น พบว่ามีสิงคโปร์ที่ได้อันดับหนึ่งของโลกได้ 4.3 คะแนน ตามมาด้วยประเทศมาเลเซียได้อันดับที่ 26 ได้ 3.6 คะแนน ประเทศเวียดนามกับประเทศฟิลิปปินส์ได้อันดับที่ 43 ได้ 3.3 คะแนน ประเทศอินโดนีเซียได้อันดับที่ 61 ได้  3 คะแนน ประเทศลาวและกัมพูชาได้อันดับที่ 115 ได้ 2.4 คะแนน

ที่มา : https://www.isranews.org/article/isranews-news/118222-isranews-logisticcccc.html

คาดกัมพูชาได้รับผลกระทบเชิงบวก หลังธนาคารโลกคาดราคาข้าวตลาดโลกขยายตัว

ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ราคาข้าวสารในตลาดโลกจะขยายตัวถึงร้อยละ 17 จากปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 510 ดอลลาร์ต่อตัน ในปี 2023 ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ที่ 490 ดอลลาร์ต่อตันในปี 2024 ซึ่งได้เผยแพร่ไว้ในรายงานประจำปี “Commodity Market Outlook” สำหรับในช่วงไตรมาสแรกราคาข้าวสารได้เพิ่มขึ้นไปกว่าร้อยละ 11 เนื่องจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งและอุปทานที่ตึงตัวจากประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก รวมถึงการแข็งค่าของสกุลเงินเมื่อเทียบกับดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501281716/world-bank-expects-international-rice-prices-to-climb-by-17-percent-this-year/

เลือกตั้งดัน GDP ไทย

จากข้อมูลธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 จะเติบโตร้อยละ 3.6 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มีการคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2565 โดยเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากในปี 2565 ที่เติบโตร้อยละ 2.6 และคาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  หรือ IMF  ยังคงคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยสำหรับปีนี้และปีหน้า โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.7% ในปีนี้ และ 3.6% ในปีหน้า เมื่อเทียบกับที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนต.ค. แต่ลดคาดการณ์การขยายตัวเฉลี่ยสำหรับ 5 ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์,  สิงคโปร์ และไทย

อย่างไรก็ตาม มีการจับตาปัจจัยเรื่องการเลือกตั้ง ที่จะช่วยดันเศรษฐกิจไทย โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดว่าช่วงการจัดกิจกรรมหาเสียงเต็มรูปแบบของพรรคการเมืองทุกพรรคไปจนถึงวันเลือกตั้งจริง จะมีเม็ดเงินสะพัดทุกกิจกรรมลงในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศในระดับรากหญ้าไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 เติบโตไปพร้อมกับการท่องเที่ยว โดยดันจีดีพีไทยให้สูงขึ้นในช่วงไตรมาสดังกล่าว 1-1.5% และคาดว่าจะดันให้เศรษฐกิจไทยในช่วงตลอดปี 2566 มีอัตราการเติบโตเป็นบวก 3-4% ได้อย่างแน่นอน

ที่มา : https://siamrath.co.th/c/437831