‘เวียดนาม-ไทย’ ตั้งเป้ามูลค่าการค้า 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายฟาม มินห์ จิญ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือร่วมกันในการส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเครือข่ายภายใต้ห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการเชื่อมโยงไปยังภาคอุตสาหกรรม ท้องถิ่น ธุรกิจและอื่นๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ นายปานปรีย์ กล่าวว่าธุรกิจไทยมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของสภาพแวดล้อมการลงทุนในเวียดนาม และหวังว่าจะขยายกิจการให้เติบโตขึ้น ในขณะเดียวกัน นายกฯเวียดนาม เสนอให้รัฐบาลไทยส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชนชาวเวียดนามในไทย และรู้สึกยินดีกับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ เวียดนามและไทย ได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้า 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขจัดอุปสรรคทางการค้าและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.nationthailand.com/world/asean/40032235

‘ซาวิลส์’ ชี้โอกาสของเวียดนามที่ได้รับประโยชน์สูงสุด เหตุนักลงทุนเล็งหาศูนย์การผลิตด้วยต้นทุนต่ำ

บริษัท ซาวิลส์ เอเชีย แปซิฟิก ระบุว่าประเทศต่างๆ ได้แก่ เวียดนามและอินโดนีเซีย อาจได้รับประโยชน์ หากบริษัทเริ่มที่จะมองหาศูนย์การผลิตด้วยต้นทุนต่ำในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและต้นทุนการผลิตต่ำ โดยหลังจาก 3 ปีที่เกิดการหลุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ดูเหมือนว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สังเกตได้จากต้นทุนการขนส่งสินค้าทางทะเลหรือทางอากาศส่วนใหญ่กลับสู่ช่วงก่อนโควิด-19 ตลอดจนเรือตู้คอนเทนเนอร์ไม่มีคิวรอเข้าท่าเรือหลัก ทั้งนี้ Jack Harkness ผู้อำนวยการฝ่ายบริการอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคของบริษัท กล่าวว่าต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นในจีน บ่งชี้ให้เห็นว่าไม่คุ้มค่ากับการดำเนินธุรกิจ และยังแสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ มองหาแหล่งการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-could-benefit-as-investors-look-for-low-cost-production-centres-savills-post1032775.vov

“สหรัฐฯ” เร่งนำเข้าชิปจากเวียดนามและตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย

จากข้อมูลของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปี สหรัฐอเมริกานำเข้าผลิตภัณฑ์ชิปเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากกลุ่มประเทศในเอเชีย 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินเดียและกัมพูชา เป็นต้น โดยจากข้อมูลในเดือน ก.พ. สหรัฐฯ นำเข้าชิปเพิ่มขึ้น 17% คิดเป็นมูลค่า 4.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และหากคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าจากตลาดเอเชียอยู่ที่ 83% ของตลาดทั้งหมด โดยเฉพาะตลาดอินเดียที่สหรัฐฯ นำเข้าอย่างก้าวกระโดด มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น 34 เท่า เป็นมูลค่าที่ 152 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ตลาดเวียดนามและไทยต่างครองส่วนแบ่งทางการตลาดของการผลิตชิปในสหรัฐฯ ที่มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วนทางการค้าเพิ่มขึ้น 75% และ 62% ตามลำดับ และในปัจจุบัน เวียดนามมีสัดส่วนการนำเข้าชิปจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% เป็นเวลา 7 เดือนติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ได้กระจายห่วงโซ่อุปทานอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ โดยทำการย้ายผู้ผลิตที่อยู่ในตลาดดั้งเดิมไปยังตลาดเกิดใหม่

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/us-increases-chip-imports-from-vietnam-and-emerging-asian-markets-2129952.html

กัมพูชาส่งออกโต 16% มูลค่าแตะ 22.4 พันล้านดอลลาร์

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาพุ่งแตะ 52.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 9.1 จากปีก่อน โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาที่มูลค่ากว่า 22.4 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งการขยายตัวของภาคการส่งออก เป็นผลมาจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในและต่างประเทศกลับมาดำเนินได้อีกครั้ง โดยทางการกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะรักษาการเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค รวมถึงยังพยายามเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานโลกให้ได้มากที่สุด สำหรับทิศทางการค้าในปีหน้า กระทรวงฯ มีความมุ่งมั่นอย่างสูงในการผลักดันการเติบโตภาคการค้า เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสผ่านการปฏิรูปเชิงลึกในทุกด้าน ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ การส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจและการลงทุนในกัมพูชา อีกทั้งกัมพูชายังมีความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA), ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และ FTA กัมพูชา-เกาหลี จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการส่งออก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501229569/cambodia-exports-surge-16-to-22-4b/

ข้อตกลง ‘RCEP’ โอกาสดันห่วงโซ่อุปทานของเวียดนาม

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NCIF) เปิดเผยว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะส่งผลในทิศทางที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจภูมิภาค และยกระดับรายได้ของภูมิภาคราว 0.6% ในปี 2573 ในขณะที่ตามรายงานของธนาคารโลก ประจำปี 2565 ได้คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม ขยายตัว 4.9% โดยปัจจัยสำคัญของข้อตกลงข้างต้นนั้นน่าจะเป็นความกลมกลืนของแหล่งกำเนิดสินค้าหรือวัตถุดิบในภูมิภาคที่ใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ซึ่งจะเปิดโอกาสและผลประโยชน์อื่นๆ ในแง่ของการส่งออกในภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ เวียดนามจึงสามารถนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศสมาชิกได้ เพื่อนำไปแปรรูปหรือผลิตสินค้าสำเร็จรูป ในขณะเดียวกันยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเมื่อทำการส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิก ‘RCEP’

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1393973/rcep-helps-to-shape-viet-nam-s-supply-chains-report.html

ทุนจีนขยายการลงทุนต่อเนื่องใน SSEZ กัมพูชา พัฒนาห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) ซึ่งจีนเป็นผู้ลงทุนในกัมพูชา ได้เปลี่ยนให้จังหวัดชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของพระสีหนุ ให้มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้าน Long Dimanche รองผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวว่า SSEZ ถือเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของขนาดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา ซึ่งเขตอุตสาหกรรมดังกล่าวมีขนาดกว่า 11 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีโรงงานประมาณ 170 แห่ง ทั้งจากจีน ยุโรป สหรัฐฯ ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคอื่นๆ ด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ สร้างการจ้างงานกว่า 30,000 ตำแหน่ง เน้นไปที่ภาคการผลิตเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าและเครื่องหนัง รวมไปถึงเครื่องจักร วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ชิ้นส่วนรถยนต์ และยางรถยนต์ เป็นต้น ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน SSEZ เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในอนาคตคาดว่า SSEZ จะสามารถรองรับโรงงานได้ทั้งหมด 300 แห่ง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และจะสร้างงานให้กับชาวกัมพูชามากถึง 100,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501181084/chinese-invested-economic-zone-integrating-cambodias-sihanoukville-into-regional-global-supply-chains-official/

“เวียดนาม” เสือตัวใหม่แห่งเอเชีย

กลุ่มเมย์แบงก์ (Malayan Banking Berhad: Maybank) ธนาคารอันดับหนึ่งของประเทศมาเลเซีย เปิดเผยว่าเวียดนามก้าวขึ้นเป็นดาวรุ่งในห่วงโซ่อุปทานโลกและมีศักยภาพที่จะเป็นเสือตัวใหม่แห่งเอเชีย ต่อจากเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวันและฮ่องกง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปยังเวียดนามและการส่งออกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงมากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรศัพท์ที่แซงหน้ากลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จนกลายมาเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดในแง่ของยอดการส่งออกรวม แสดงให้เห็นว่าเวียดนามได้ยกระดับตำแหน่งในห่วงโซ่มูลค่าโลกและผลิตภาพแรงงานของเวียดนามยังเติบโตได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกด้วย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-able-to-become-new-tiger-in-asia-economist/235680.vnp

“วิกฤติห่วงโซ่อุปทาน” กระทบ สปป.ลาว เร่งผลิตปุ๋ย-อาหารสัตว์เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน รัฐบาลสปป.ลาว พยายามผลักดันนโยบายจำกัดการนำเข้าและสนับสนุนการผลิตปุ๋ยในประเทศ โดยเกษตรกรมีความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี แต่ผลิตได้เพียง 600,000 ตันหรือ 30% ของความต้องการทั้งหมด ด้าน ดร.เพชร พรมพิภักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ได้ให้ข้อมูลว่า ได้เชิญผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่จากเวียดนามมาพบกับผู้ประกอบการสปป.ลาว ในการหารือเพื่อผลิตปุ๋ยร่วมกัน ในขณะเดียวกัน เกษตรกรทั่วประเทศต้องการอาหารสัตว์ประมาณ 600,000 ตัน แต่โรงงานจำนวน 6 แห่งในประเทศผลิตได้ต่ำกว่า 400,000 ตัน ซึ่งธุรกิจจำนวนมาก สนใจในการตั้งโรงงานกันมากขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการนำเข้าจากไทยที่มีราคาสูง นอกเหนือจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นและการค่าเงินกีบที่อ่อนตัวลง ด้าน นาย Nadav Eshcar อดีตเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสปป.ลาวและเวียดนาม ชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสปป.ลาวและอิสราเอลจะมีส่วนช่วยพัฒนาด้านการเกษตรให้มากขึ้น และเชื่อว่าเทคโนโลยีของอิสราเอลสามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์และประสบความสำเร็จในสปป.ลาว อย่างแน่นอน

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/07/18/laos-to-produce-more-fertilizer-and-animal-feed-amid-supply-chain-turmoil/

อัตราเงินเฟ้อสปป.ลาวพุ่งสูงสุดรอบ 2 ปี

อัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบปีต่อปีเพิ่มขึ้นเป็น 6.25% ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่มกราคม 2563 ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนสปป.ลาว ทำให้ต้นทุนสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.04 ในเดือนพฤศจิกายน ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.27 ในเดือนธันวาคม ตามรายงานล่าสุดจากสำนักสถิติลาว ต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเงินเฟ้อในสปป.ลาวรวมถึงการระบาดใหญ่ของโควิด-19  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด Omicron กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนและทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นเนื่องจากอุปสงค์และอุปทานไม่สมดุลกัน ทั้งนี้รัฐบาลสปป.ลาวกำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มผลผลิตเพื่อลดการนำเข้าเพื่อควบคุมราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนทั่วไป

อีกทั้งรัฐบาลได้ตัดสินใจลดภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 7 ในปีนี้ และลดปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าราคาน้ำมันสำรองในปัจจุบันอยู่ที่ 0 กีบ/ลิตร เพื่อกั้ญหาอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Inflation_37_22.php

‘ศก.เวียดนาม’ กลับมาฟื้นตัว

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในปีที่แล้ว ส่งผลชะลอตัวการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงสร้างผลกระทบต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ทำให้ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น นับว่าเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของการผลิตและการดำเนินธุรกิจในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

คุณ เหงียน ถิ เฮือง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่า GDP ของเวียดนามในปี 2564 ขยายตัว 2.58% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นผลมาจากผลกระทบทางลบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในไตรมาสที่ 3/64

ทั้งนี้ คุณ Jacques Morisset หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้ากลุ่มโครงการของธนาคารโลกประจำเวียดนาม กล่าวว่าเวียดนามกำลังเผชิญกับอุปสรรคหลายประการในการกลับมาเริ่มต้นฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม มีสัญญาเชิงบวกจากเดือนสุดท้ายของปี 2564 ที่บ่งชี้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11135102-vietnamese-economy-on-the-rebound.html