กัมพูชาและจีนกำหนดให้สัตยาบัน FTA เต็มรูปแบบในต้นปีหน้า

ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัมพูชาและจีนมีแนวโน้มที่จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า หลังจากได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของรัฐสภา โดยกระทรวงพาณิชย์จะส่งร่างกฎหมายให้รัฐสภาได้พิจารณาอนุมัติในลำดับถัดไป ซึ่ง รมว.พาณิชย์ ได้จัดประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับประธานคณะกรรมการรัฐสภาชุดที่ 9 ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยได้ทบทวนร่างกฎหมายที่จะมีผลบังคับใช้ภายในต้นปี 2022 ซึ่งทั้งสองประเทศได้ลงนาม FTA ในเดือนตุลาคม 2020 หลังจากการเจรจาเกิดขึ้นหนึ่งปี โดยมีวัตถุประสงค์ที่เน้นการเข้าถึงตลาดสำหรับพืชผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรอื่นๆ ตลอดจนสินค้าเกี่ยวกับงานฝีมือ และสินค้าอื่นๆ ที่กัมพูชามีความสามารถในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์และมาตรฐานด้านสุขอนามัยของจีน โดยการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 56 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2021 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในทางกลับกันการนำเข้าจากจีนของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 21 จากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรม วัตถุดิบ และวัสดุก่อสร้างของกัมพูชาที่กำลังขยายตัว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50891934/full-ratification-of-free-trade-deal-with-china-is-now-expected-early-next-year/

เวียดนามเผยไตรมาสแรก ภาคเกษตรฯ ส่งออกพุ่ง

การส่งออกสินค้าการเกษตร ป่าไม้และประมงของเวียดนามเติบโตได้ดี ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ แม้เผชิญการระบาดของโควิด-19 เวียดนามมีรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม 24.23 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานวัตถุดิบไปยังทั่วโลก และในทิศทางเชิงลบต่อการผลิต การบริโภคและการส่งออกสินค้าการเกษตร ทั้งนี้ สินค้าส่งออกการเกษตรของเวียดนามที่มีการเติบโตทั้งปริมาณและมูลค่า ได้แก่ ยางพารา ชา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากมันสำปะหลัง อย่างไรก็ดี จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นตลาดส่งออกสินค้าการเกษตรที่สำคัญของเวียดนาม โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุด ด้วยมูลค่า 6.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ พุ่ง 59.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/986726/viet-nams-agriculture-sector-gains-export-growth-in-h1.html

สปป.ลาวสำรวจทางด่วนสายใหม่เชื่อมไทย-จีน

นักสำรวจกำลังออกแบบเส้นทางสำหรับทางด่วนสายใหม่ในประเทศลาว ซึ่งจะลดเวลาการเดินทางระหว่างภาคเหนือของประเทศไทยที่เชื่อมต่อกับห้วยไซ ในแขวงบ่อแก้วของสปป.ลาวและโบเต็น ในแขวงหลวงน้ำทาที่มีพรมแดนติดกับจีน ทางด่วนได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลลาวในปี 2563 โดยมีมูลค่าการก่อสร้างประมาณ 3.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ทางหลวงความยาว 180 กิโลเมตรจะช่วยให้ยานพาหนะสามารถเดินทางได้ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และการขับรถจากไทยไปยังจีนผ่านลาวจะใช้เวลาน้อยลงนำมาซึ่งประโยชน์ด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา : https://www.bangkokpost.com/business/2143227/laos-surveys-new-expressway-linking-thailand-china

กัมพูชาส่งออกไปยังจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 56 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี

มูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังจีนมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 558 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเพิ่มขึ้นนี้ได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ของจีนที่เพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าเกษตรกัมพูชา ซึ่งการนำเข้าสินค้าจากจีนของกัมพูชาก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 รวมมูลค่ามากกว่า 3.3 พันล้านดอลลาร์ ส่วนการส่งออกของจีนไปยังกัมพูชาก็ขยายตัวเช่นกันจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรม วัตถุดิบ และวัสดุก่อสร้างที่กลับมาขยายตัว ซึ่งโดยรวมแล้วการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและจีนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 25 ในช่วง 5 เดือนแรกของปีก่อน มูลค่าแตะเกือบ 4 พันล้านดอลลาร์ โดยทั้งสองประเทศมีความหวังว่าข้อตกลงการค้าเสรีที่ได้ลงนามไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าทวิภาคีต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50885971/exports-to-china-soar-by-56-percent-in-the-first-five-months-of-2021/

บทบาท จีน ใน CLMV หลังโควิด…อิทธิพลทางเศรษฐกิจยังคงเข้มข้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บทบาททางเศรษฐกิจของจีนในกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงที่ผ่านมา นับว่าโดดเด่นมาก โดยเฉพาะด้านการค้า   ซึ่งเป็นผลจากยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่จีนพยายามเข้ามาสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical connectivity) และความเชื่อมโยงทางสถาบัน (Institutional connectivity) ซึ่งมีส่วนในการกระตุ้นมูลค่าการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กับจีนให้เร่งตัวขึ้น อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางกายภาพ ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นระหว่างจีนกับ CLMV เ​กิดจากยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI)   อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รวมถึงการลงทุนก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่  ซึ่งมีส่วนดึงดูด FDI จีนให้มาตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการที่ตอบสนองความเป็นเมือง  ในขณะที่อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางสถาบัน อาทิ การผ่อนคลายกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ ก็มีส่วนช่วยให้กิจกรรมการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กับจีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ อันมีจุดเริ่มต้นจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ  ยังถูกท้าทายด้วยความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลกซึ่งเกิดจากปัจจัยที่ไม่อาจคาดเดา  อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด19 ซึ่งอาจส่งผลให้จีนรวมถึงบริษัทต่างชาติในจีนหันมาให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านในฐานะห่วงโซ่อุปทานแห่งใหม่ เพื่อลดและกระจายความเสี่ยงด้านปฏิบัติการจากการที่ฐานการผลิตกระจุกตัวอยู่ในจีน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยคานอิทธิพลทางอ้อมในด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของจีนจะมากขึ้นหรือน้อยลงหลังโควิด ยังคงขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของจีนและท่าทีของกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีต่อจีนภายใต้ความขัดแย้งของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน  โดยคาดว่ากลุ่ม CLMV น่าจะอยู่ในฐานะแหล่งการผลิตสินค้าทางการเกษตร รวมถึงอาหาร ซึ่งตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านอาหารของจีน 

นอกจากนี้ CLMV ยังมีแนวโน้มได้รับการกระจายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในทิศทางที่เร่งตัวขึ้น โดยเวียดนามยังคงมีศักยภาพในการก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นอย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่อาจพยายามปรับสมดุล FDI ให้รองรับนักลงทุนสัญชาติอื่นที่มีศักยภาพสูงมากกว่าดึงดูด FDI จากจีนเป็นหลัก

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/China-CLMV-01-07-21.aspx

กระทรวงเกษตรและป่าเร่งกระตุ้นส่งออกโคไปจีน

กระทรวงเกษตรและป่าไม้ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการมากขึ้นเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโค ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอกชนผลิตโคเพื่อส่งออกไปยังจีนมากขึ้น กรมวิชาการเกษตรและป่าไม้ทั่วประเทศได้รับคำสั่งให้เปิดตัวแคมเปญประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งให้เกษตรกรและผู้ผลิตทราบเกี่ยวกับการเปิดตลาดโคของจีนอย่างเป็นทางการ ภายใต้ข้อตกลงที่ลงนามระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ สปป.ลาวได้รับโควตาจำนวน 500,000 ตัวเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน ทั้งนี้การเลี้ยงโคของสปป.ลาวต้องเป็นตามมาตรฐานของทางจีนกำหนด เป็นความท้าทายที่สำคัญของสปป.ลาวในการปรับปรุงพัฒนาการเลี้ยงโคให้มีประสิทธิภาพรวมถึงการพัฒนาระบบเกษตรโดยรวม

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Ministry_125.php

กัมพูชาร่วมมือกับจีน ส่งเสริมพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งภายในประเทศ

กัมพูชาและจีนเห็นชอบที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาการขนส่ง โดยข้อตกลงดังกล่าวกำหนดขึ้นในการประชุมเสมือนจริงที่จัดขึ้นระหว่างรัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและคมนาคมขนส่งกัมพูชา ร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมของจีน ซึ่งตกลงที่จะร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศกัมพูชา ไปจนถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของกัมพูชาให้มีทักษะความสามารถ เป็นที่ยอมรับภายใต้มาตรฐานโลก นอกจากนี้ทางการกัมพูชายังได้ทบทวนความคืบหน้าในการก่อสร้างทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ ที่ดำเนินการสร้างโดย China Road and Bridge Corp. รวมถึงยังร่วมพูดคุยเกี่ยวกับการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เชื่อมระหว่างจังหวัดกระแจะและกำปงธม ที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเงินกู้สัมปทานจากประเทศจีนอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50879451/cambodia-china-agree-to-boost-transport-development-cooperation/

รถไฟขบวนแรกสปป.ลาว-จีน จะทดสอบเดินขบวนในเดือน ส.ค.

การดำเนินการทดลองรถไฟสปป.ลาว-จีนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม ก่อนที่ทางรถไฟจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมปีนี้ อีกทั้งการก่อสร้างสถานีตามเส้นทางรถไฟทั้งหมดมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายนและตุลาคม โดยมีสถานีโดยสาร 10 แห่งในเวียงจันทน์, โพนหง, วังเวียง, กาซี, หลวงพระบาง, งา, ไซ, นามอร์, นาเตย และบ่อเต็น นอกจากนี้ยังมีสถานีขนส่งสินค้า 22 สถานีสำหรับการขนถ่ายสินค้า โครงการสร้างทางรถไฟมูลค่า 5.986 พันล้านดอลลาร์ (37.4 พันล้านหยวน) เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางของจีน และแผนของรัฐบาลสปป.ลาวในการเปลี่ยนลาวจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลให้กลายเป็นทางเชื่อมทางบกภายในภูมิภาค

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_First_120.php

ยอดขอ Form E ค้าผ่านแดนไทย-จีน ไตรมาส1 พุ่งเกือบร้อยละ 20

พาณิชย์เผยผลไม้ไทยเนื้อหอม ส่งออกตลาดจีนขึ้นดันยอดขอ Form E ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – เมษายน) กรมฯ ออกหนังสือรับรองฯ Form E ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) จำนวน 80,368 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 232,018 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E สำหรับการส่งออกสินค้าผลไม้ จำนวน 30,431 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 46,408 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 42,887 ล้านบาท โดยผลไม้ที่มีการส่งออกสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ทุเรียนสด ร้อยละ 46.02  2.ลำไย ร้อยละ 27.09 และ 3.มะพร้าว ร้อยละ 16.38 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – เมษายน) สถิติการค้าผ่านแดนไทย-จีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่ารวม 102,271 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 66,303 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 51,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.53 และมูลค่าการนำเข้า 50,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.68 โดยไทยยังคงได้ดุลทางการค้าต่อเนื่องที่ 1,316 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ของผู้ประกอบการในช่วงฤดูกาลผลไม้เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ที่มา : https://tna.mcot.net/latest-news-719664

ปีงบ 63-64 ส่งออกมะม่วงเมียนมา ดิ่งลง เหลือเพียง 278 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลของกรมศุลกากรเมียนมา การส่งออกมะม่วงของเมียนมาร์สร้างรายได้ 278 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งปีแรก (ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมีนาคม) ของปีงบประมาณ 2563-2564 ลดลงอย่างมากเนื่องจากปิดชายแดนจากผลกระทบด้านลบของ COVID-19 การส่งออกมะม่วงเพชรน้ำหนึ่ง (Seintalone) ไปจีนในปีนี้น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 50% การเพาะปลูกมะม่วงเขตอิรวดีมีพื้นที่มากสุดประมาณ 46,000 เอเคอร์ รองลงมาตือเขตพะโค พื้นที่ 43,000 เอเคอร์ และมัณฑะเลย์มีมะม่วง 29,000 เอเคอร์ เป็นต้น ทั้งนี้ในการส่งออกนอกเหนือจากจีนเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่แล้ว เมียนมายังส่งออกไปอินเดีย บังคลาเทศ ไทย สาธารณรัฐเกาหลี สิงคโปร์ และญี่ปุ่น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-earns-278-mln-from-mango-exports-in-h1/