พาณิชย์พร้อมใช้เทคโนโลยีรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP หนุนส่งออก

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ระบบการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า หรือ ROVERs และระบบการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification) เพื่อใช้ประโยชน์ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ได้พร้อมเปิดให้บริการแล้ว ซึ่งเป็นการยกระดับการให้บริการให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และได้เริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ที่กรมฯ ได้พัฒนาขึ้นเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยและช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง ในอีกทางหนึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย เนื่องจากตลาด RCEP มีขนาดใหญ่และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันมากกว่า 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังได้ประโยชน์ในด้านการนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP เพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าไทยโดยใช้กฎการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าและส่งออกไปยังประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ณ ประเทศปลายทาง โดยผู้ประกอบการไทยสามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่มีความหลากหลายและสามารถนำมาสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าได้จากทุกประเทศที่เป็นสมาชิกในกลุ่ม RCEP ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตและสร้างแต้มต่อให้แก่ในตลาดต่างประเทศ

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/59593/

ตลาดเรียนออนไลน์เวียดนามโต 3 พันล้านดอลล์

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ในเวียดนาม แถมเป็นการแพร่ระบาดในอัตราที่รวดเร็วขึ้น แต่กลับทำความต้องการเรียนหนังสือทางออนไลน์กับสถาบันการศึกษาชื่อดังเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้มูลค่าทางการตลาดของตลาดเทคโนโลยีด้านการศึกษาทะยานถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 2,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2562
ทั้งนี้ ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดเทคโนโลยีด้านการศึกษาของเวียดนามคือ “เอฟพีที” ผู้ให้บริการด้านไอทีในเวียดนาม โดยใช้เทคโนโลยี AI ในการส่งประสบกาณณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับจุดแข็งและจุดอ่อนของนักเรียนแต่ละคน
นอกจากนี้ ภายใต้แรงกดดันต้องมีการศึกษาที่ดีขึ้น แรงงานในเวียดนามจะได้รับการสนับสนุนให้ติดอาวุธทางปัญญารวมทั้งฝึกอบรมให้มีทักษะด้านดิจิทัล โดยเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามประกาศเป้าหมายเพื่อทำให้การศึกษาทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 90% สำหรับการเรียนระดับมหาวิทยาลัย และ 80% สำหรับการเรียนระดับมัธยม และการอบรมวิชาชีพ ภายในปี 2573
ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/978384

บริษัทเทคฯ เวียดนาม ส่งออกสมาร์ทโฟน “Bphone” ล็อตแรกไปยังยุโรป

นาย Nguyen Tu Quang ประธานกรรมการ กล่าวว่าบริษัท Bkav เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีสัญชาติเวียดนาม ได้ทำการส่งออกสมาร์ทโฟน “Bphone” ล็อตแรกไปยังสหภาพยุโรป บริษัทร่วมลงนามว่าด้วยการจัดหาซัพพลายกับพาร์ทเนอร์จากกลุ่มประเทศอียู ซึ่งการร่วมมือดังกล่าว คาดว่าจะเปิดตัวโมเดลการทำธุรกิจแบบใหม่ พร้อมกับสร้างจุดแข็งของธุรกิจ อาทิ การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และการผลิตฮาร์ดแวร์ระดับพรีเมียม เป็นต้น รวมถึงหวังว่าผู้นำในยุโรปจะใช้สมาร์ทโฟนสัญชาติเวียดนามในสักวันหนึ่ง ทั้งนี้ บริษัทยังวางแผนที่จะเปืดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ระดับท็อปไปจนถึงระดับกลาง-ต่ำ ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตามคงไม่ได้เปิดเผยวันที่จำหน่ายและชื่อผลิตภัณฑ์ได้ นอกจากนี้ บริษัท Bkav ได้ประกาศว่าจะเปิดตัวชุดหูฟังไร้สาย “AirB” ที่จะใช้ชิปเซ็ต Qualcomm พร้อมปล่อยจำหน่ายตามเวลาที่กำหนด

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnamese-tech-firm-exports-first-bphone-smartphones-to-eu-316743.html

กระทรวงโทรคมนาคมทำข้อตกลงกับไมโครซอฟ สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในกัมพูชา

กระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม (MPTC) และ Microsoft เอเชียแปซิฟิก ได้ตกลงที่จะปรับปรุงการใช้งานดิจิทัลในกัมพูชาเนื่องจากรัฐบาลกำลังเปลี่ยนผ่านให้เป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาคนและการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในกัมพูชา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MPTC ของกัมพูชา และ Ms. Cairine Haslam CFO ไมโครซอฟ ประจำประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลผ่านความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และการเป็นผู้ประกอบการในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ ไปจนถึงการสื่อสารตลอดจนความร่วมมือในการกำหนดนโยบายและการวางแผนพัฒนาสำหรับรัฐบาลดิจิทัล อีกทั้งการบูรณาการความรู้ ICT เข้ากับหลักสูตรที่ใช้สอนให้กับนักเรียนมัธยมและระดับอุดมศึกษาได้ศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกัมพูชาต่อไปในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50826497/mptc-microsoft-agree-to-promote-digitalisation-in-cambodia/

เวียดนามก้าวขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี

ตามข้อมูลของนิกเคอิ (Nikkei) เผยว่าบริษัทอินเทล (Intel) ประกาศลงทุน 475 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปใช้ในบริษัทอินเทลโปรดักส์ เวียดนาม คอร์ป (IPV) ซึ่งเป็นศูนย์กลางทดสอบและประกอบชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี 63 บริษัทมีเป้าหมายเพื่อทำการผลิตสินค้า 5G และโปรเซสเซอร์  Intel Core มาพร้อมกับเทคโนโลยีอินเทล ไฮบริด และซีพียูตัวใหม่ล่าสุด ‘Intel Gen 10’ ทั้งนี้ Apple เร่งดำเนินย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามและอินเดีย บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ มีกำหนดการผลิตไอแพด (iPad) ในเวียดนามช่วงกลางปี 64 นอกจากนี้ ยังจะขยายสายการผลิตลำโพง HomePod mini smart นอกจากนี้ บริษัท Savills Vietnam ระบุว่าบริษัท ‘Pegatron’ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวัน ได้เข้ามาทุ่มเงิน 19 ล้านเหรียญสหรัฐในเมืองไฮฟอง สำหรับแผนการขยายการลงทุนในช่วงเฟสแรก อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้บริษัทข้ามชาติบางแห่งย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนาม หรือขยายการปริมาณการผลิต

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-becomes-attractive-destination-to-technology-giants-28437.html

การค้าชายแดนปี’ 64 มีลุ้นเติบโต 4.3% จับตาการค้าข้ามแดนไปประเทศที่ 3

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)

การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปีที่ผ่านมาเผชิญความท้าทายอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องประสบเป็นปีแรกไม่เพียงทำให้กำลังซื้อของคู่ค้าชะลอตัว ยังทำให้พรมแดนระหว่างประเทศจำเป็นต้องจำกัดจุดผ่านแดนเหลือเพียงเฉพาะช่องทางที่สำคัญเท่านั้น รวมทั้งเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการตรวจปล่อยรถขนส่งสินค้า สิ่งเหล่านี้กดดันการส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในภาพรวมให้หดตัวร้อยละ 2.16 มีมูลค่า 766,314 ล้านบาท ในปี 2563

สำหรับปี 2564 เป็นอีกปีที่โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิม มีทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่เข้ามาช่วยเสริมให้ตัวเลขการค้าชายแดนพลิกฟื้นกลับมา ขณะที่โครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยที่พึ่งพาตลาดประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยเกินกว่าครึ่ง (เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชาและมาเลเซีย) กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ฉุดการส่งออกชายแดนในภาพรวมลดลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปี 2564 การส่งออกชายแดนไปตลาดเหล่านี้จะยังมีทิศทางเติบโตเชื่องช้าต่อไปขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 มีมูลค่าการส่งออก 454,005 ล้านบาท ดังนี้

  • การส่งออกชายแดนของไทยเริ่มมีปัญหามีมูลค่าการค้าลดลงเรื่อยมา ด้วยข้อจำกัดด้านกำลังซื้อและจำนวนประชากรของคู่ค้า จึงทำให้ทิศทางการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้เติบโตได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา
  • โครงสร้างการส่งออกสินค้าแบบเดิมของไทยตอบโจทย์ตลาดคู่ค้าได้น้อยลง

จะเห็นได้ว่าโครงสร้างการส่งออกของไทยไม่เอื้อต่อการส่งออกไปยังตลาดชายแดนหลักของไทยดังเช่นในอดีต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดดาวรุ่งที่จะมาสนับสนุนการค้าชายแดนของไทยอยู่ที่การส่งสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 (สิงคโปร์ จีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) ซึ่งเริ่มมีสัญญาณเติบโตมาระยะหนึ่ง โดยสัดส่วนการส่งออกไปตลาดนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกชายแดนและผ่านแดน (จากที่เคยมีสัดส่วนร้อยละ 37 ในปี 2561) อีกทั้งสินค้าไทยที่ไปตลาดนี้มีศักยภาพโดดเด่นจึงน่าจะเติบโตได้ดีกว่าตลาดอื่นๆ โดยคาดว่าปี 2564 จะเติบโตที่ร้อยละ 8.5 มีมูลค่าส่งออกราว 345,191 ล้านบาท

โดยสรุป ด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน ซึ่งได้ผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 มาได้อีกปีหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าหลายประเทศยังต้องพึ่งพาการบริโภคสินค้าจากไทย รวมถึงสินค้าในกลุ่ม IT มีสัญญาณเร่งตัวตามกระแสโลกอย่างต่อเนื่องยิ่งผลักดันการส่งออกสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 ให้มีบทบาทสำคัญ ด้วยแรงขับเคลื่อนดังกล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยปี 2564 จะพลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 มีมูลค่าการส่งออก 799,195 ล้านบาท (กรอบประมาณการเติบโตที่ร้อยละ 3.3-5.5 มีมูลค่าการส่งออก 791,602-808,461 ล้านบาท) โดยขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ได้ดีเพียงใด การส่งออกไปตลาดส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวยกเว้นบางประเทศที่หดตัวจากปัจจัยเฉพาะ อาทิ เมียนมาที่มีปัญหาการเมืองในประเทศฉุดเศรษฐกิจ และโรคระบาดในสุกรที่กัมพูชาทำให้ฐานปีก่อนสูงผิดปกติอย่างมาก

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตาในระยะต่อไป ต้องยอมรับว่าโครงสร้างการผลิตและส่งออกของไทยในปัจจุบันไม่เอื้อให้ค้าชายแดนไทยเติบโตได้อย่างมั่งคงนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้ามีมูลค่าเพิ่มน้อยในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ขนาดตลาดมีจำกัดจึงไม่สามารถผลักดันค้าชายแดนให้เร่งตัวได้มาก ทำได้เพียงแค่ประคองการเติบโตไปตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าเป็นหลัก ขณะที่สินค้าที่ใช้วัตถุดิบในไทยอย่างยางพารากับผลไม้เมืองร้อน ซึ่งมีศักยภาพโดดเด่นในตัวเองมีส่วนช่วยขับเคลื่อนค้าชายแดนไทยไปยังประเทศจีนและเวียดนามได้อย่างต่อเนื่องและยังคงมีช่องทางอันสดใส แต่สินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงในกลุ่มยานยนต์ เทคโนโลยีโดยเฉพาะสินค้า IT ที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาดโลกยังมีโอกาสเติบโตได้อย่างไม่หยุดยั้ง นับว่ามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการค้าชายแดนของไทยนับจากนี้ไป แต่สินค้าเหล่านี้จะยังคงเป็นแรงส่งให้แก่ไทยได้อีกนานแค่ไหนนั้นคงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจลงทุนของต่างชาติว่าจะเลือกลงทุนในไทยหรือย้ายไปตั้งฐานการผลิตที่อื่น ดังนั้น การกระตุ้นการค้าชายแดนซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของการค้าในภาพรวมของไทยก็คงต้องเริ่มจาการแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิตของไทยให้ยกระดับไปอีกขั้น จนสินค้าไทยเกิดความโดดเด่นเป็นที่ต้องการของคู่ค้าเหนือคู่แข่งชาติอื่นๆ

ที่มา :

/1 https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/business/Pages/Border-Trade-z3191.aspx

/2 https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/kresearch-frontier-19022021

กัมพูชาเริ่มเข้าใกล้ความเป็นจริงสำหรับเทคโนโลยี 5G ภายในประเทศ

Cellcard ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Royal Group of Companies ได้ลงนามในกรอบข้อตกลงที่สำคัญกับ ZTE Corporation สำหรับการเปิดตัว 5G และการเพิ่มความครอบคลุม 4G ทั่วกัมพูชา โดยข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมการลงทุนที่สำคัญ ซึ่งจะกำหนดให้กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำในภูมิภาคสำหรับการนำ 5G มาใช้ภายในประเทศ โดย Cellcard ดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ของ Royal Group ซึ่งเป็นการสนับสนุนโดยตรงต่อนโยบายของรัฐบาลสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้ชาวกัมพูชาทุกคนได้รับประโยชน์จากข้อได้เปรียบของการใช้ชีวิตในสังคมดิจิทัลในปัจจุบันของคนกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/782058/the-kingdom-comes-a-step-closer-to-5g/

ดีอีเอสปลื้มทุนใหญ่สหรัฐฯ ซิสโก้-ไมโครซอฟท์ ขนเงินลงทุนไทยเพิ่ม

ซิสโก้ เลือกไทยตั้งศูนย์ Co-Innovation Center แห่งแรกในเอเชีย ปั้นคนไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ด้านไมโครซอฟท์ จ่อลงนามเอ็มโอยู ผุด AI/IoT Insider Lab ใน ‘อีอีซี’ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยหลังเข้าพบและหารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไอทีระดับโลกระหว่างการเดินทางไปโรดโชว์ที่สหรัฐอเมริกาได้รับคำยืนยันจากบริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ จำกัด และบริษัท ไมโครซอฟท์ ที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติม ทั้งนี้บริษัท ซิสโก้ ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดตั้งศูนย์ Cisco Co-Innovation แห่งแรกในเอเชีย นอกจากนี้ทางไมโครซอฟท์และกระทรวงดิจิทัลฯ จะมีการลงนามเอ็มโอยูร่วมกัน เพื่อเข้ามาปักธงใน Thailand Digital Valley โดยจัดตั้ง AI/IoT Insider Lab ซึ่งเป็นโครงการที่ไมโครซอฟท์ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล โดยไมโครซอฟท์เล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของอาเซียน เป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) ซึ่งมีความสนใจอย่างมากที่จะพิจารณาจัดตั้ง AI/IoT Lab ในประเทศไทย ร่วมพัฒนาบุคลากรและอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของไทยอย่างเต็มที่

ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/news/613275

ผู้เชี่ยวชาญสปป.ลาวเน้นความสำคัญของนวัตกรรมเทคโนโลยี

เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล นักวิจัย นักเรียนและบุคคลจากภาคเอกชนรวมตัวกันเพื่อหารือเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาในยุคอุตสาหกรรม 4.0 การสัมมนาหัวข้อ“Science, Technology and Innovation in the I.R 4.0” การบรรยายครั้งนี้จัดขึ้นในการประชุมเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ 3 และนิทรรศการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสปป.ลาว – ​​จีน จุดประสงค์คือเพื่อให้ผู้เข้าร่วมมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทความสำคัญและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุคอุตสาหกรรม 4.0 และการสนับสนุนนักวิจัยเพื่อให้แน่ใจคุณภาพงานและการให้บริการ นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่จะต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเพื่อขยายความร่วมมือกับรัฐบาลภาคเอกชนและองค์กรในสปป.ลาวและประเทศอื่น ๆ เพื่อรักษาความปลอดภัยการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างความตระหนักของสาธารณชนถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Experts.php

สปป.ลาว, จีนเตรียมจัดงานแสดงเทคโนโลยีร่วมกัน

นิทรรศการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสปป.ลาว – ​​จีนจะจัดขึ้นที่เวียงจันทน์ตั้งแต่วันที่ 11-16 ต.ค.นี้เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ประเทศได้แสดงนวัตกรรมล่าสุดสู่สาธารณะ งานแสดงสินค้าที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติ เป็นเวทีสำหรับภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทั้ง 2 ประเทศภายใต้หัวข้อ “Fostering Smart Technology Application to Achieve the Goal of Industrialisation and Modernisation”  มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้โอกาสแก่บริษัทและสถาบันการวิจัยในการแบ่งปันข้อมูลสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการผลิตและจุดประกายโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี และยังมีการจัดแสดงงานฝีมือพร้อมกับอาหารท้องถิ่นและเทคโนโลยีล่าสุดสำหรับผู้บริโภคและอิเล็กทรอนิกส์  การจัดงานในครั้งนี้มีความสำคัญสำหรับการสร้างมูลค่าเพิ่มในความรู้และเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการจัดการและประสิทธิภาพที่นำไปสู่ธุรกิจใหม่และส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม เหตุการณ์จะช่วยให้การแลกเปลี่ยนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและการถ่ายโอนเทคโนโลยีระหว่างรัฐบาลภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา

ที่มา : http://annx.asianews.network/content/laos-china-stage-joint-technology-expo-104461