ไทยพาณิชย์พยากรณ์เศรษฐกิจ CLMV เร่งตัว โอกาสประเทศไทย

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจ CLMV ว่า ในปี 2564 เศรษฐกิจ CLMV ฟื้นตัวได้อย่างจำกัดแม้จะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยมีปัจจัยกดดันจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการระบาดระลอกที่รุนแรงที่สุดและนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้น ขณะเดียวกัน เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวอย่างรุนแรงและทวีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3233119

‘บลจ. VinaCapital’ ปรับลดประมาณการ GDP เวียดนาม โต 6.5% ในปีนี้

VinaCapital หนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีประสบการณ์มากที่สุดในเวียดนาม ประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ มีแนวโน้มขยายตัวที่ 6.5% หรือต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 1%

คุณ Michael Kokalan หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบลจ. VinaCapital กล่าวว่าความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครนได้สร้างผลกระทบต่อตลาดการเงินระหว่างประเทศและกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์

อย่างไรดีความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจเวียดนามเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญ คือราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น อาจทำให้เงินเฟ้อของเวียดนามปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 1-2%

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างกระทันหัน ซึ่งจะทำให้ค่าเงินเวียดนาม (VND) อ่อนค่าลง 1-2% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/business/vinacapital-lowers-vietnam-s-estimated-gdp-rate-to-6-5-this-year-822837.html

คาด RCEP กระตุ้นส่งออกกัมพูชาร้อยละ 9-18 ต่อปี

สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับภาคการค้าภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แสดงให้เห็นว่าการส่งออกของกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 9.4-18 ต่อปี จากการเข้าเป็นสมาชิกภายใต้ข้อตกลง RCEP ซึ่งจะส่งผลทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชาจากที่เคยเติบโตร้อยละ 2 เพิ่มขึ้นเป็นเติบโตร้อยละ 3.8 กล่าวโดย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งปัจจุบัน RCEP ครอบคลุมกลุ่มประชากรประมาณร้อยละ 30 ของโลก คิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก และคิดเป็นร้อยละ 28 ของการค้าโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501041189/rcep-set-to-boost-cambodia-exports-by-9-18-yearly/

‘อาเซียน’ นัดประชุมรายสาขาด้านเศรษฐกิจครั้งแรก ตั้งเป้ายกระดับอาเซียนสู่ยุคดิจิทัล

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนกำหนดจัดประชุมคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (Committee of the Whole: CoW) ครั้งที่ 12 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในวันที่ 10 มีนาคมนี้ การประชุมครั้งนี้ เป็นเวทีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการรายสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียนรวม 23 ด้าน อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พิธีการศุลกากร และการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยมีผู้แทนจากเสาการเมือง เสาสังคมและวัฒนธรรม และผู้แทนภาคเอกชนของอาเซียน เข้าร่วมหารือแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างสาขาต่างๆ เพื่อให้เกิดผลได้จริง อาทิ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains: GVCs) และแนวทางการดำเนินการต่อไปในประเด็นแผนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) ทั้งนี้ ความสำเร็จที่สำคัญจากการประชุมที่ผ่านมา คือ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์อาเซียนประเด็นการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากมติที่ประชุม CoW สมัยพิเศษโดยแผนยุทธศาสตร์มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางเชิงนโยบายในการพัฒนาประชาคมอาเซียนสู่ยุคดิจิทัลของทั้งสามเสาประชาคมอาเซียน ซึ่งอาเซียนกำลังจัดทำแผนดำเนินงานและกิจกรรมเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3305016

FDI กัมพูชาขยายตัวร้อยละ 22 มูลค่าแตะ 4.35 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2021

ตามรายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) กัมพูชาสามารถดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้จำนวน 4.35 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจีน สหรัฐฯ และสิงคโปร์ ถือเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ของกัมพูชา ซึ่งภายหลังรัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศกรอบยุทธศาสตร์และแผนงานสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ประจำปี 2021-2023 โดยมีเสาหลัก 3 ประการ ได้แก่ การกู้คืน การปฏิรูป และการสร้างความยืดหยุ่น เพื่อการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การอำนวยความสะดวกทางการค้า กฎหมายที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษและการดำเนินการตามกฎหมายด้านการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้นและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยมากขึ้นสำหรับนักลงทุน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501037592/cambodia-fdi-inflows-zoom-22-percent-at-4-35-billion-in-2021/

แนวโน้มเศรษฐกิจ ‘เวียดนาม’ ปี 65 พุ่งทะยานเกินกว่าที่คาดการณ์

แนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2565 จะขยายตัวเหนือความคาดหมาย เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวและกระแสการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งกองทุนต่างชาติหลายสำนักได้ประมาณการว่าเศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้จะขยายตัว 7.5%

อย่างไรก็ตาม ไม่น่าแปลกใจที่เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวในระดับที่สูง สาเหตุสำคัญมาจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของอุปสงค์ในประเทศ การก่อสร้างและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ตลอดจนมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีมูลค่า 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ นาย Michael Kokalari หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก VinaCapital แสดงความเห็นว่าการบริโภคในครัวเรือนของเวียดนามมีแนวโน้มฟื้นตัวจากลดลง 6% ในปี 64 และเพิ่มขึ้น 5% ในปีนี้ นอกจากนี้ ผลการสำรวจของสหรัฐฯ รายงานว่าขณะนี้ยังมีประเทศที่ต้องการเดินทางไปเวียดนามเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ภาคการท่องเที่ยวจะช่วยให้ GDP ของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3% ในปีนี้ และในอีกปี 2566 นักท่องเที่ยวชาวจีนจะกลับมาสู่ตลาดเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economy-forecast-to-grow-beyond-expectation-in-2022/222789.vnp

ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ปี 64 ‘ศก.เวียดนาม’ ส่งสัญญาเป็นบวกจากการลงทุนจากต่างประเทศ

ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ “Dezan Shira & Associates” เปิดเผยว่าถึงแม้เวียดนามจะเผชิญกับความท้าทายของการระบาดโควิด-19 แต่เวียดนามกลับมองเห็นสัญญาเชิงบวกจากการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2564 โดยอ้างข้อมูลทางสถิติจากกระทรวงวางแผนและการลงทุน (MPI) ระบุว่าในปีที่แล้ว เวียดนามมีโครงการที่ได้รับใบอนุญาตใหม่ จำนวน 1,738 โครงการ ลดลง 31.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เงินทุนที่จดทะเบียนรวม มีมูลค่า 15.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.1%YoY ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจและสวนอุตสาหกรรม (IPs) ดึงดูดโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จำนวน 539 โครงการ และโครงการในประเทศ จำนวน 615 โครงการ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวม 12.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ บริษัท “Amkor Technology” ผู้ให้บริการบรรจุภัณฑ์และทดสอบผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ ตั้งเป้าว่าจะลงทุนก่อตั้งโรงงานในจังหวัดบั๊กนิญ ด้วยมูลค่า 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2035 อย่างไรก็ดี ในมุมมองของบทความชี้ว่าปัจจัยทางด้านต้นทุนแรงงานที่มีความสามารถการแข่งขัน ประกอบกับการยกเว้นภาษีและนโยบายการลงทุนที่เอื้อต่อการลงทุน ทำให้เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางด้านการผลิตของบริษัทข้ามชาติ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-enjoys-positive-signals-in-foreign-investment-in-2021-experts-post924721.vov

‘ศก.เวียดนาม’ กลับมาฟื้นตัว

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในปีที่แล้ว ส่งผลชะลอตัวการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงสร้างผลกระทบต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ทำให้ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น นับว่าเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของการผลิตและการดำเนินธุรกิจในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

คุณ เหงียน ถิ เฮือง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่า GDP ของเวียดนามในปี 2564 ขยายตัว 2.58% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นผลมาจากผลกระทบทางลบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในไตรมาสที่ 3/64

ทั้งนี้ คุณ Jacques Morisset หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้ากลุ่มโครงการของธนาคารโลกประจำเวียดนาม กล่าวว่าเวียดนามกำลังเผชิญกับอุปสรรคหลายประการในการกลับมาเริ่มต้นฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม มีสัญญาเชิงบวกจากเดือนสุดท้ายของปี 2564 ที่บ่งชี้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11135102-vietnamese-economy-on-the-rebound.html

ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้นแตะ 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์

แม้ว่าปีที่แล้วกัมพูชาจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ปริมาณเงินในระบบ (MS) กลับปรับตัวสูงขึ้นเป็น 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามรายงานจากธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) โดยเงินสดที่ไม่อยู่ในมือสถาบันรับฝากเงินมีมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่เงินรับฝากประเภทอื่นที่สถาบันรับฝากเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 สู่มูลค่า 7.4 พันล้านดอลลาร์ ส่วนเงินฝากอื่นๆ มีมูลค่าสูงถึง 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501018084/cambodias-money-supply-reaches-39-billion-last-year/

คว้าโอกาสให้การค้าไทย จากรถไฟจีน-ลาว

โดย ศุทธาภา นพวิญญูวงศ์ สิรีธร จารุธัญลักษณ์ และอภิชญาณ์ จึงตระกูล

สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกบทความ “คว้าโอกาสให้การค้าไทย จากรถไฟจีน-ลาว” โดยให้มองว่า รถไฟจีน-ลาวที่ได้เปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 4 ด้าน ได้แก่ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการขนส่ง1 ทั้งนี้ การค้าจะเป็นด้านแรกที่ได้รับโอกาสและผลกระทบ จากการทะลักของสินค้าขาเข้าได้ทันที

นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะทำให้การขนส่งสินค้าข้ามแดนไทย-จีนผ่านภาคอีสานทางบกมีบทบาทสำคัญมากขึ้น จากเดิมการขนสินค้าผ่านทางถนนก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่แล้ว จากประมาณร้อยละ 8 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 12 ในปี 25642 และหากมีเส้นทางรถไฟเข้ามาจะทำให้การขนส่งสินค้าเร็วกว่าทางถนนมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นทางเลือกที่ช่วยกระจายความเสี่ยงด้านการขนส่งได้

ดังนั้น เส้นทางรถไฟนับว่าเป็นการเปิดประตูการขนส่งเส้นทางใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสของการค้าข้ามแดนระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย-ลาว-จีน มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับมณฑลยูนนาน บทความนี้นำเสนอการวิเคราะห์ผลกระทบของการเปิดเส้นทางการขนส่งใหม่เส้นนี้ต่อภาคการค้าของไทยกับจีน รวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ในการแข่งขันบนเส้นทางที่ท้าทายนี้

โอกาสและความท้าทาย : เบื้องต้นไทยจะเผชิญกับความท้าทายของสินค้านำเข้าจากจีน แต่ในทางกลับกันไทยก็มีโอกาสในการขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดมายังมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นปลายทางรถไฟ จากเดิมที่สินค้าไทยส่วนใหญ่จะนิยมขนส่งไปทางจีนตะวันออกผ่านเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางถนน รวมถึงมณฑลกวางตุ้งและอื่น ๆ ทางเรือ

ด้านการนำเข้า : ไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากสินค้านำเข้าของจีนที่จะมีมากกว่าสินค้าส่งออกจากไทย ซึ่งสินค้าจากจีนจะเข้ามาไทยผ่านทางรางเพิ่มขึ้น จากที่ไม่เคยขนส่งผ่านทางรางมาก่อน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มวัตถุดิบต่าง ๆ และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ

อย่างไรก็ดี ไทยสามารถคว้าโอกาสจากการเข้ามาของสินค้ากลุ่มนี้ได้ เนื่องจากการขนส่งผ่านทางรางทำให้ต้นทุนทั้งระยะเวลาและค่าขนส่งถูกลง ดังนี้ กลุ่มวัตถุดิบต่าง ๆ และกลุ่มผลผลิตทางการเกษตร และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ

ด้านการส่งออก : ไทยมีโอกาสในการส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดไปยังมณฑลยูนนาน รวมทั้งมณฑลใกล้เคียง โดยระยะแรกคาดว่าสินค้าส่งออก จะเป็นสินค้าเดิมที่เคยส่งออกไปมณฑลยูนนาน หรือสินค้าที่มีการขนส่งทางถนนอยู่เดิม

 

โดยสรุปแล้ว การเปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาว ส่งผลกระทบต่อภาคการค้าของไทย ทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้า เช่น วัถตุดิบ ผลผลิตทางการเกษตร และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ตาม การขนส่งสินค้าในช่วงแรกยังไม่สามารถดำเนินการได้สะดวก เนื่องจากยังมีการปิดพรมแดนทั้ง สปป. ลาว และจีน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่

1.โครงสร้างพื้นฐานใน สปป. ลาว อาทิ Vientiane Logistics Park (VLP) ซึ่งเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าใน สปป. ลาว และด่านรถไฟโม่ฮานในจีนที่ยังดำเนินการได้ไม่สมบูรณ์

2.มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของจีน เช่น ความเข้มงวดด้านการนำเข้าสินค้าของจีน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโคโรน่าไวรัส โดยเฉพาะอาหารสดและผลไม้ และ

3.มาตรการกีดกันทางการค้าด้านภาษีศุลกากร อาทิ ระเบียบพิธีการด้านการขนส่งทั้งใน สปป.ลาว และจีน อย่างไรก็ดี ข้อตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 1 ม.ค. 2565 จะมีส่วนช่วยบรรเทาข้อจำกัดด้านภาษีศุลกากรได้บ้าง และควรมีการหารือเรื่องการขนส่งร่วมกันระหว่าง สปป. ลาว และจีนเพิ่มเติม เพื่อให้การขนส่งไปจีนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

อ่านต่อ : https://thaipublica.org/2022/01/bot-regional-letter-china-lao-train/