‘ศก.เวียดนาม’ กลับมาฟื้นตัว

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ในปีที่แล้ว ส่งผลชะลอตัวการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงสร้างผลกระทบต่อการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ทำให้ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น นับว่าเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของการผลิตและการดำเนินธุรกิจในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

คุณ เหงียน ถิ เฮือง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม กล่าวว่า GDP ของเวียดนามในปี 2564 ขยายตัว 2.58% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นผลมาจากผลกระทบทางลบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมในไตรมาสที่ 3/64

ทั้งนี้ คุณ Jacques Morisset หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้ากลุ่มโครงการของธนาคารโลกประจำเวียดนาม กล่าวว่าเวียดนามกำลังเผชิญกับอุปสรรคหลายประการในการกลับมาเริ่มต้นฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม มีสัญญาเชิงบวกจากเดือนสุดท้ายของปี 2564 ที่บ่งชี้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11135102-vietnamese-economy-on-the-rebound.html

ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้นแตะ 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์

แม้ว่าปีที่แล้วกัมพูชาจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ปริมาณเงินในระบบ (MS) กลับปรับตัวสูงขึ้นเป็น 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามรายงานจากธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) โดยเงินสดที่ไม่อยู่ในมือสถาบันรับฝากเงินมีมูลค่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่เงินรับฝากประเภทอื่นที่สถาบันรับฝากเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 สู่มูลค่า 7.4 พันล้านดอลลาร์ ส่วนเงินฝากอื่นๆ มีมูลค่าสูงถึง 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501018084/cambodias-money-supply-reaches-39-billion-last-year/

คว้าโอกาสให้การค้าไทย จากรถไฟจีน-ลาว

โดย ศุทธาภา นพวิญญูวงศ์ สิรีธร จารุธัญลักษณ์ และอภิชญาณ์ จึงตระกูล

สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกบทความ “คว้าโอกาสให้การค้าไทย จากรถไฟจีน-ลาว” โดยให้มองว่า รถไฟจีน-ลาวที่ได้เปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 4 ด้าน ได้แก่ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการขนส่ง1 ทั้งนี้ การค้าจะเป็นด้านแรกที่ได้รับโอกาสและผลกระทบ จากการทะลักของสินค้าขาเข้าได้ทันที

นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะทำให้การขนส่งสินค้าข้ามแดนไทย-จีนผ่านภาคอีสานทางบกมีบทบาทสำคัญมากขึ้น จากเดิมการขนสินค้าผ่านทางถนนก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่แล้ว จากประมาณร้อยละ 8 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 12 ในปี 25642 และหากมีเส้นทางรถไฟเข้ามาจะทำให้การขนส่งสินค้าเร็วกว่าทางถนนมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นทางเลือกที่ช่วยกระจายความเสี่ยงด้านการขนส่งได้

ดังนั้น เส้นทางรถไฟนับว่าเป็นการเปิดประตูการขนส่งเส้นทางใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสของการค้าข้ามแดนระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย-ลาว-จีน มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับมณฑลยูนนาน บทความนี้นำเสนอการวิเคราะห์ผลกระทบของการเปิดเส้นทางการขนส่งใหม่เส้นนี้ต่อภาคการค้าของไทยกับจีน รวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ในการแข่งขันบนเส้นทางที่ท้าทายนี้

โอกาสและความท้าทาย : เบื้องต้นไทยจะเผชิญกับความท้าทายของสินค้านำเข้าจากจีน แต่ในทางกลับกันไทยก็มีโอกาสในการขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดมายังมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นปลายทางรถไฟ จากเดิมที่สินค้าไทยส่วนใหญ่จะนิยมขนส่งไปทางจีนตะวันออกผ่านเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางถนน รวมถึงมณฑลกวางตุ้งและอื่น ๆ ทางเรือ

ด้านการนำเข้า : ไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากสินค้านำเข้าของจีนที่จะมีมากกว่าสินค้าส่งออกจากไทย ซึ่งสินค้าจากจีนจะเข้ามาไทยผ่านทางรางเพิ่มขึ้น จากที่ไม่เคยขนส่งผ่านทางรางมาก่อน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มวัตถุดิบต่าง ๆ และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ

อย่างไรก็ดี ไทยสามารถคว้าโอกาสจากการเข้ามาของสินค้ากลุ่มนี้ได้ เนื่องจากการขนส่งผ่านทางรางทำให้ต้นทุนทั้งระยะเวลาและค่าขนส่งถูกลง ดังนี้ กลุ่มวัตถุดิบต่าง ๆ และกลุ่มผลผลิตทางการเกษตร และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ

ด้านการส่งออก : ไทยมีโอกาสในการส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดไปยังมณฑลยูนนาน รวมทั้งมณฑลใกล้เคียง โดยระยะแรกคาดว่าสินค้าส่งออก จะเป็นสินค้าเดิมที่เคยส่งออกไปมณฑลยูนนาน หรือสินค้าที่มีการขนส่งทางถนนอยู่เดิม

 

โดยสรุปแล้ว การเปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาว ส่งผลกระทบต่อภาคการค้าของไทย ทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้า เช่น วัถตุดิบ ผลผลิตทางการเกษตร และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ตาม การขนส่งสินค้าในช่วงแรกยังไม่สามารถดำเนินการได้สะดวก เนื่องจากยังมีการปิดพรมแดนทั้ง สปป. ลาว และจีน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่

1.โครงสร้างพื้นฐานใน สปป. ลาว อาทิ Vientiane Logistics Park (VLP) ซึ่งเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าใน สปป. ลาว และด่านรถไฟโม่ฮานในจีนที่ยังดำเนินการได้ไม่สมบูรณ์

2.มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของจีน เช่น ความเข้มงวดด้านการนำเข้าสินค้าของจีน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโคโรน่าไวรัส โดยเฉพาะอาหารสดและผลไม้ และ

3.มาตรการกีดกันทางการค้าด้านภาษีศุลกากร อาทิ ระเบียบพิธีการด้านการขนส่งทั้งใน สปป.ลาว และจีน อย่างไรก็ดี ข้อตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 1 ม.ค. 2565 จะมีส่วนช่วยบรรเทาข้อจำกัดด้านภาษีศุลกากรได้บ้าง และควรมีการหารือเรื่องการขนส่งร่วมกันระหว่าง สปป. ลาว และจีนเพิ่มเติม เพื่อให้การขนส่งไปจีนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

อ่านต่อ : https://thaipublica.org/2022/01/bot-regional-letter-china-lao-train/

สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาด GDP ‘เวียดนาม’ ปี 65 โต 6.7%

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดและเติบโตได้ราว (GDP) 6.7% ปี 2565 และในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 7% เนื่องจากเห็นสัญญาแนวโน้มระยะกลางเชิงบวก โดยเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2565 ในขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกดีขึ้น ทั้งนี้ เงินเฟ้อจะกลายเป็นความกังวลมากขึ้นต่อเวียดนามในปีนี้ ปัจจัยทางฝั่งอุปทาน (ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น) เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในระยะกลาง และแรงกดดันด้านอุปสงค์จะสร้างผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต นอกจากนี้ ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 4% ในปี 2565 เพื่อรองรับกับการขยายตัวของสินเชื่อและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1114426/standard-chartered-forecasts-viet-nam-2022-gdp-growth-at-67-per-cent.html

 

ธนาคารโลกคาดการณ์ปีนี้เศรษฐกิจกัมพูชาโต 4.5%

ธนาคารโลกคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในปีนี้จะโตถึงร้อยละ 4.5 และคาดว่าจะเติบโตถึงร้อยละ 5.5 ในปี 2023 ซึ่งในปัจจุบันยังคงต้องคอยติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ Omicron ที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ รวมถึงผลกระทบต่อภาคการเงิน โดยเฉพาะในด้านของการชำระหนี้สินที่มีความเปราะบางอยู่ในปัจจุบัน สอดคล้องกับรายงานของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่ได้รายงานถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.5 ในปี 2022 เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้า รวมถึงกิจกรรมหลักที่ช่วยกระตุ้นความต้องการส่งออกของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501006196/world-bank-forecasts-cambodias-economic-growth-to-reach-4-5-percent-in-2022-and-5-5-percent-in-2023/

สศอ. ปรับแผนปี 65 มุ่งพัฒนา 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดงาน OIE FORUM 2021 Thailand Industry Beyond Next Normal : อุตสาหกรรมไทยก้าวไกล สู่ยุคใหม่ที่ยั่งยืน พร้อมชูแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่โลกวิถีใหม่ ยกระดับความสามารถการแข่งขัน สอดคล้องกับทิศทางของกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งกำหนดประเด็นในการสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยปรับทิศทางภาคการผลิตจากเดิม ส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ พร้อมมุ่งเน้นอุตสาหกรรมสำคัญ รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยการยกระดับสถานประกอบการสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy รวมไปถึงการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ตลอดจนวิธีการกำกับดูแลสถานประกอบการที่สะท้อนแนวคิดตามโมเดล BCG เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาในทิศทางที่สมดุล

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/977650

เวิลด์แบงก์ คาด GDP ไทยปี 65 ฟื้นโต 3.9% จาก 1% ในปี 64 ก่อนโตเพิ่ม 4.3% ปี 66

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 65 เป็น 3.9% จากเดิมที่คาดไว้ 3.6% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวจากปี 64 ที่คาดว่าจะเติบโตได้ราว 1% ก่อนที่ปี 66 จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 65 และ 66 ได้แรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมภาคบริการ การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่กลับมาเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 7 ล้านคนในปี 65 โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปีและเพิ่มขึ้นอีกในปี 66 เป็นประมาณ 20 ล้านคนหรือประมาณครึ่งหนึ่งของระดับนักท่องเที่ยวในปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2021/154784

‘ADB’ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจมาเลเซียและเวียดนาม

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจเวียดนามและมาเลเซียในปีนี้ หลังจากเศรษฐกิจหดตัวในไตรมาสที่ 3 ขณะเดียวกันปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียลงมาสู่ระดับ 7.0% ในปีนี้ และ 5.3% ในปี 2565 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 7.1% และ 5.4% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ตามรายงาน “Asian Development Outlook” ระบุว่าในกลุ่มประเทศเอเชีย จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มลดลง และระดับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ไวรัสตัวใหม่ที่มีชื่อว่า “โอมิครอน” เสี่ยงคุกคามเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม คาดว่าจะปรับตัวลดลงอยู่ที่ 2.0% ในปีนี้ จากที่คาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.8% ก่อนที่จะขยายตัว 6.5% ในปีหน้า ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของมาเลเซีย คาดว่าจะขยายตัว 3.8% ในปีนี้ และ 5.9% ในปีหน้า

ที่มา : https://asia.nikkei.com/Economy/ADB-slashes-Malaysia-and-Vietnam-annual-growth-forecasts

กัมพูชา-ฟิลิปปินส์ ส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน

หอการค้ากัมพูชาและหอการค้าฟิลิปปินส์เห็นชอบที่จะส่งเสริมและเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจและเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกันโดย Kith Meng ประธานหอการค้ากัมพูชาและ AMB Benedicto V. Yujuico ประธานหอการค้าฟิลิปปินส์ร่วมเป็นผู้ลงนาม ในระหว่างการประชุมครั้งที่ 3 ของคณะกรรมาธิการร่วมกัมพูชา-ฟิลิปปินส์ เพื่อความร่วมมือทวิภาคี (JCBC) โดยบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจและเศรษฐกิจระหว่างกัมพูชาและฟิลิปปินส์ในด้านต่างๆ เช่น ICT และนวัตกรรม เกษตรกรรม การผลิต แฟรนไชส์ ​​การท่องเที่ยว การบริการ และการพัฒนา SME ซึ่งสภาทั้งสองตกลงที่จะจัดตั้งสภาธุรกิจฟิลิปปินส์-กัมพูชา โดยจะตั้งอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์และกัมพูชา ซึ่งในระยะถัดไปจะร่วมหารือระหว่างกันในการกำหนดหน้าที่ เป้าหมาย ระหว่างกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50984602/cambodia-philippines-boost-business-and-economic-cooperation/

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด GDP ไทยปี 65 โต 2.8-3.7% ขึ้นกับความรุนแรงของโอมิครอน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 65 ฟื้นตัวมาเติบโตได้ในกรอบ 2.8-3.7% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อทิศทางของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าให้กลับมามีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับอัตราการแพร่เชื้อ และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ว่าจะสามารถต้านทานการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนได้หรือไม่ แต่จากการที่หลายประเทศเริ่มคุมเข้มการเดินทาง ก็อาจทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 65 โดยเฉพาะในไตรมาสแรกได้รับผลกระทบ

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2021/153139