เที่ยวบิน กรุงเทพฯ-เสียมราฐ จะกลับมาให้บริการอีกครั้ง ในวันที่ 3 มี.ค.

กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา ประกาศว่าสายการบินไทยจะกลับมาให้บริการเที่ยวบินระหว่าง กรุงเทพฯ-เสียมราฐ ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2022 เป็นต้นไป โดยสายการบินไทยสมายล์จะให้บริการเที่ยวบินตรง 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวได้ขอความร่วมมือต่อสมาคมการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชาได้รายงานเสริมว่าปัจจุบันกัมพูชาได้เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนแล้วกว่าร้อยละ 90 ของประชากรทั้งหมด รวมถึงการดำเนินการตามมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว ในกรณีที่ผู้โดยสารมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ เมื่อเดินทางถึงกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501032546/bangkok-siem-reap-flights-will-resume-from-march-3-2022/

พาณิชย์หารือภาคเอกชน เช็คผลกระทบความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่าจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ร่วมกับทุกส่วนราชการของกระทรวงพาณิชย์ ติดตามสถานการณ์ร่วมกับภาคเอกชนโดยใกล้ชิด สำหรับเรื่องราคาน้ำมันที่เป็นห่วงว่าจะพุ่งสูง อาจกระทบภาคการผลิตและราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคในประเทศไทยได้ และเรื่องค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย ซึ่งมีความสำคัญต่อการนำเข้าส่งออกของไทย ถือว่ายังไม่เสถียร สำหรับรัสเซียขณะนี้กำลังพิจารณานำเข้าสินค้าจากไทยบางรายการ ต้องดูว่าค่าเงินยังมีความผันผวนมากน้อยแค่ไหน เมื่อค่าเงินรูเบิลมีความเสถียรแล้ว ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ โดยในภาพรวมยังไม่กระทบอย่างมีนัยสำคัญ

ที่มา: https://www.naewna.com/business/638530

 

‘ธนวรรธน์’เชื่อ ศึกสู้รบ’ยูเครน’ กระทบวงจำกัด

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงยูเครน-รัสเซีย มองว่า อยู่ในวงจำกัดไม่กระทบเศรษฐกิจโลก ช่วงแรกของการประกาศบุกยึดยูเครน ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกทะลุ 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลงร้อยละ 2-5 เพราะคาดการณ์อนาคตไม่ได้ อาจทำให้รัสเซียส่งออกน้ำมันไม่ได้หรือรัสเซียไม่ส่งน้ำมันให้ยุโรป หากสู้รบบานปลาย ตลาดจึงคาดการณ์การค้าขาย การท่องเที่ยวโลกจะแย่ลง หากความรุนแรงทั้งสองประเทศยืดเยื้อ จนทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งถึง 120 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จะกระทบต่อไทย ทำให้ราคาขายปลีกแพงขึ้น กระทบต่อการท่องเที่ยว การส่งออก กระทบจีดีพีไทย ขยายตัวร้อยละ 3.5-4 และขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะทรุดตัวรุนแรง

ที่มา: https://www.naewna.com/business/638271

กลุ่มธุรกิจน้ำมันและการขายปลีก ปตท. มองหาพันธมิตรกัมพูชา สำหรับการดำเนินธุรกิจ

กลุ่มธุรกิจน้ำมันและการขายปลีก ปตท. (PTT&PTTOR) ของไทยกำลังมองหาพันธมิตรในท้องถิ่น ในพื้นที่ตลาดอื่น ๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น กัมพูชา สปป.ลาว และฟิลิปปินส์ สำหรับการร่วมทุนให้มีศักยภาพ ซึ่ง PTTOR วางแผนตั้งกรอบการลงทุนไว้ที่ 2.9 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อขยายธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยใช้เครือข่ายสถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ของบริษัท ซึ่งประมาณร้อยละ 42 ของรายจ่ายฝ่ายทุนจะถูกนำไปใช้เพื่อขยายธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน รวมถึงเพิ่มร้านกาแฟและร้านอาหารมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งของการลงทุนจะนำไปใช้กับเทคโนโลยีเพื่อช่วยวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าและระบุโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ โดยแผนการลงทุนพยายามที่จะเพิ่มสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันและธุรกิจในต่างประเทศ และลดการมีบทบาทของสถานีบริการน้ำมันลง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501029495/thailands-ptt-oil-and-retail-business-pttor-looks-for-cambodian-partners-for-operations-here/

ผลกระทบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากมีการจัดเก็บ 100% ต่อภาคธุรกิจไทย ครั้งที่ 2

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจผลกระทบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ครั้งที่ 2 หากมีการจัดเก็บ 100% ต่อภาคธุรกิจไทย จากกลุ่มตัวอย่างหอการค้าจังหวัดและสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ ผลการศึกษา พบว่า

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า หากมีการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างิ ในอัตราปกติ (100%) ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 90.6) ส่งผลให้ต้องเสียภาษีโดยรวมต่ำกว่า 1 แสนบาท (ร้อยละ 32.) และเมื่อพิจารณาภาษีที่ถูกจัดเก็บ คิดเป็นสัดส่วน 1-20% เมื่อเทียบกับรายได้ของธุรกิจ (ร้อยละ 73.7) โดยมีค่าฉลี่ยอยู่ที่ 15.2%

ด้านแนวทางในการรับมือหรือปรับตัวหากภาครัฐจะกลับมาเก็บภาษีฯ ในอัตราปกติ (100%) คือ

  • ควบคุมและลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ อาทิเช่น ลดการจ้างงาน ลดต้นทุนในการผลิตลง ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
  • พิจารณาปรับเพิ่มราคาสินค้า/บริการให้สอดรับกับต้นทุนที่อาจจะเพิ่มขึ้น
  • ปรับแผนการในการดำเนินธุรกิจ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
  • ชะลอการขยายธุรกิจ การลงทุน ในระยะสั้นไปก่อน และอาจจะพิจารณาเลิกกิจการหรือปิดกิจการเป็นการชั่วคราว l

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ คือ

  • ขยายการลดหย่อนภาษีออกไปอีก 1-2 ปี หรือจนกว่าเศรษฐกิจและธุรกิจจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
  • ปรับปรุงเงื่อนไขในการจัดเก็บภาษี โดยพิจารณาอ้างอิงจากประเภทธุรกิจ รวมถึงรายได้ของธุรกิจมาคำนวณในการจัดเก็บ เพื่อความเป็นธรรม
  • อยากให้จัดเก็บเป็นรูปแบบขั้นบันได ให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น ทยอยเก็บเพิ่มขึ้นปีละ 5-10%
  • ออกนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการ โรงแรม/บ้านเช่า/หอ/อพาร์ตเมนต์ ที่อยู่ในวงจรธุรกิจให้เช่าที่พักอาศัย
  • ไม่ควรจัดเก็บหรือทำการปรับขึ้นในสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย                                                        เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3fNBRNJ

สอท.ชี้ช่องดึงทุนนอก หนุนรัฐออกวีซ่าผู้พำนักระยะยาว

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. ได้เข้าร่วมหารือกับนายโทมัส ซานเชส เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย พร้อมด้วย อัครราชทูตฝ่ายการพาณิชย์ฝรั่งเศส อัครราชทูตฝ่ายการพาณิชย์สหภาพยุโรป และที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยการหารือ ส.อ.ท. ได้เน้นย้ำถึงการให้ความช่วยเหลือหน่วยธุรกิจในทุกระดับโดยเฉพาะ SMEs ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก ได้นำเสนอแนวทางในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ด้วยมาตรการ Long Term Visa (การออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว) โดยดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่ไทยยังขาดแคลน รวมถึงเสนอให้มีการพัฒนาแรงงาน และบุคลากรให้มี High Skill เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้

ที่มา: https://www.naewna.com/business/636829

“กัมพูชา-ไทย” วางแผนเปิดพรมแดนใหม่ กระตุ้นภาคการค้าและการท่องเที่ยว

ทางการกัมพูชาและไทย วางแผนเปิดพรมแดนระหว่างประเทศแห่งใหม่ ในช่วงจังหวัดโพธิสัตว์ของกัมพูชาที่เชื่อมต่อกับจังหวัดตราดของประเทศไทย โดยคาดว่าจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงอาคารตรวจคนเข้าเมือง กรมศุลกากร และสรรพสามิต ตลอดจนที่จอดรถ โกดังสินค้า และสถานที่อำนวยความสะดวกต่างๆ ในด้านของการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่ามากถึง 7.97 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่ารวมกว่า 7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 16.37 ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่ทำการนำเข้าจากไทย ได้แก่ สินค้าเกษตร รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหารและวัสดุก่อสร้าง เป็นสำคัญ โดยทั้งสองประเทศมีความหวังสูงสุดที่จะผลักดันการค้าทวิภาคีให้มีมูลค่าสูงถึง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายในปี 2023

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501025053/new-cambodia-thai-border-set-to-boost-mutual-trade-and-tourism-say-experts/

พณ.วางแผนปิดเจรจา FTA ไทย-ตุรกี ในปี 65

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ของไทย ในปี 2565 ว่า กรมฯเตรียมเดินหน้าเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอย่างเต็มที่ ตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้เร่งสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าส่งออกของไทยและการใช้ประโยชน์จาก FTA สร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย โดยการเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ได้ตกลงเปิดเจรจาไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างกำหนดแผนการเจรจาและคาดว่าจะนัดประชุมรอบแรกในเร็วๆ นี้ สำหรับการเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ 2 ฉบับ คือ FTA กับสหภาพยุโรป (อียู) และ FTA กับสมาคมการค้าเสรียุโรป (เอฟตา) กรมฯ ได้หารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยเพื่อร่างกรอบการเจรจา ซึ่งดำเนินการใกล้เสร็จแล้วและอยู่ระหว่างหารือกับคู่เจรจา เพื่อจัดทำเอกสารความคาดหวังจากการเจรจาร่วมกัน โดยการจัดทำ FTA กับประเทศใหม่ๆ จะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะได้แต้มต่อทางการค้าจากการที่ประเทศคู่ค้าลดเลิกกำแพงภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าต่างๆ

ที่มา : https://www.innnews.co.th/news/news_292724/

พาณิชย์ชี้ดีเซลกระทบต้นทุนน้อย สั่งตรึงราคาสินค้า ขอผู้ผลิตให้ความร่วมมือ

กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในวิเคราะห์“น้ำมันดีเซล”กระทบต้นทุนการผลิตสินค้า พบปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก อาหาร เครื่องดื่มแค่ 1.45% ของใช้ประจำวัน 1.1% วัสดุก่อสร้าง 1.2% ปัจจัยเกษตร 0.5% ห้ามร้านค้าอ้างเหตุผลปรับขึ้นราคา ขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ตรึงราคาไปก่อน ยันไม่มีนโยบายให้ปรับขึ้นราคาช่วงนี้ พร้อมเชิญ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมการค้า ผู้ผลิตสินค้า ผู้ประกอบการ มาหารือ ติดตามสถานการณ์ เผยเตรียมจัดโครงการลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน นอกจากนี้กรมฯ ยังมีแผนจะประสานงานไปยังซับพลายเออร์ เพื่อให้จัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคต้นทุนถูกเช่นของใช้ส่วนบุคคล สบู่ แชมพู ยาสระผม ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน เป็นต้น ให้กับร้านค้าธงฟ้าที่มีอยู่1.3แสนราย เพื่อจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภค รวมทั้งพิจารณาจัดจำหน่ายสินค้าราคาถูก เพื่อแทรกแซงตลาดตามความจำเป็น

ที่มา: https://www.naewna.com/business/635517

เสนอให้ปรับราคาสินค้าแทนการฉวยโอกาส

ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เปิดเผยว่า กล่าวว่า สินค้าและบริการใดที่มีต้นทุนสูงขึ้นโดยเฉพาะจากราคาน้ำมันและพลังงานที่สูงขึ้น กระทรวงพาณิชย์ควรให้ปรับราคาเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงไม่ใช่ฉวยโอกาสขึ้นราคา หากไม่ให้ปรับขึ้นราคาตามต้นทุนจะทำให้เกิดภาวะการขาดแคลนสินค้าได้ ส่วนสินค้าและบริการจำเป็นพื้นฐานนั้น รัฐบาลควรเข้ามาอุดหนุนหรือแทรกแซงกลไกราคาไม่ให้ราคาสูงเกินจนประชาชนไม่สามารถซื้อหาได้และเกิดความเดือดร้อนในการดำรงชีวิต

ที่มา: https://www.posttoday.com/economy/news/675536