สินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดเล็กช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใน สปป .ลาว

กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ได้เปิดตัวโครงการสนับสนุนทางการเงินฉุกเฉินมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกเพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการระบาดของโควิด -19  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าประกาศโครงการสนับสนุนและฟื้นฟูการเข้าถึงการเงินในภาวะฉุกเฉินทางการเงินของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) ทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินในพื้นที่สามารถให้เงินกู้แก่ธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการปิดพรมแดน และลดการซื้อขายในปีที่ผ่านมา โดยธนาคาร 3 แห่ง ได้แก่ Laos-China, Maruhan, และ Sacom ได้รับเลือกให้เข้าร่วมในโครงการเพื่อให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทขนาดเล็กที่ขอสินเชื่อผ่านวงเงินเครดิต โครงการนี้ให้การสนับสนุนทางเทคนิคจากธนาคารแห่งสปป.ลาว เป็นผู้บริหารระบบค้ำประกันสินเชื่อและความช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ คาดว่าจะมีสถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการมากขึ้นเมื่อการเจรจาเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อเสร็จสมบูรณ์ ความคิดริเริ่มนี้จะเสริมสร้างความมั่นคงของธุรกิจขนาดเล็กซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสปป.ลาว  ด้วยการทำให้บริษัทขนาดเล็กเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นรัฐบาลและธนาคารกำลังขจัดหนึ่งในสามอุปสรรคสำคัญสำหรับธุรกิจในสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Credit_38.php

เศรษฐกิจเวียดนามโต 5.8% หากควบคุมพิษโควิด-19 ระบาดได้

สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจและนโยบายเวียดนาม (VEPR) คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.8% ในปีนี้ หากไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเขตชุมชน และส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศจะกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจจะต่ำกว่าที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 6.5% อย่างไรก็ตาม สถาบันฯ ได้ทำการประเมินอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไว้ที่ 1.8% หากมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและขัดขวางกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เวียดนามมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากถึง 679 ราย นับตั้งแต่มีการระบาดในพื้นที่ชุมชน

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/economy-to-expand-5-8-pct-if-covid-19-outbreak-contained-4235863.html

ฐานข้อมูลหน่วยเศรษฐกิจพื้นฐานเพิ่มขึ้นเป็น 133,997 หน่วยในปีที่ผ่านมา

สำนักงานสถิติสปป.ลาวเผยข้อมูลจำนวนหน่วยเศรษฐกิจพื้นฐานในสปป.ลาวเพิ่มสูงถึง 133,997 หน่วยในปี 2019 เพิ่มขึ้น 9,124 หน่วยจาก 124,873 หน่วยที่บันทึกไว้ในปี 2013 ระบบสารสนเทศด้านข้อมูลที่ทางหน่วยงานทำการจัดเก็บเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญที่จะนำมาพิจารณาในการกำหนดนโยบายต่างๆ ของภาครัฐให้สอดคล้องกับสภาพข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง ฐานข้อมูลหน่วยเศรษฐกิจพื้นฐานจะถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบเพื่อประสิทธิภาพสำหรับการนำมาใช้ในภายภาคหน้า อย่างไรก็ตามสปป.ลาวยังพบความท้าทายอีกประการหนึ่งในการจัดทำข้อมูลสารสรเทศคือการขาดความสามารถและความเข้าใจเชิงลึกในส่วนของจัดเก็บของหน่วยงานท้องถิ่นและความยากลำบากในการจัดเก็บของมูลบางอย่าง ทำให้ข้อมูลไม่ครอบคลุม

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Number_33.php

รัฐบาลกัมพูชารายงานการจัดเก็บภาษีในช่วงเดือนมกราคม

กรมสรรพากร (GDT) กระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน รายงานถึงรายรับจากการจัดเก็บภาษีจำนวน 879 พันล้านเรียล (ประมาณ 217 ล้านดอลลาร์) ในช่วงเดือนมกราคมปีนี้ ซึ่งจัดเก็บได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึงร้อยละ 116 ของรายรับที่วางแผนไว้สำหรับเดือนมกราคม แต่เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีที่แล้วรายรับที่ได้จากภาษีลดลงร้อยละ 8 อยู่ที่ประมาณ 19 ล้านดอลลาร์ โดยรัฐบาลได้ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดเก็บภาษีและทำการปฏิรูประบบการจัดการให้มารวมกันเพื่อส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการรวบรวมรายรับจากภาษีมากขึ้น ภายใต้ผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของ COVID-19 ซึ่งรายรับจากภาษีที่จัดเก็บทั้งหมดอยู่ที่ 2.889 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2020 ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาหดตัวถึงร้อยละ 3.1

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50814324/217-million-collected-through-tax-in-january-pm/

วิเคราะห์เศรษฐกิจ เมียนมา หลังรัฐประหาร

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย I กรุงเทพธุรกิจ

จากเหตุการณ์กองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐบาลออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมาและมหาอำนาจชาติตะวันตกกลับเข้าสู่สภาวะชะชักงัน และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับประเทศเมียนมาอีกครั้ง

เป็นที่ทราบกันดีว่าความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับมหาอำนาจชาติตะวันตกมีพลวัตในทางที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากการปฏิรูปการเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2554 และประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อนางออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง สหภาพยุโรปประกาศให้สิทธิพิเศษทางการค้า Everything But Arms (EBA) แก่เมียนมาในปี 2556 พร้อมทั้งสหรัฐก็ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเมียนมาในปี 2559

ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นนี้เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมา จากสังคมเกษตรเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล

ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เช่น การเพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าของสหภาพยุโรปและสหรัฐ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสภาวะการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี โดยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 208 ล้านดอลลาร์ในปี 2556 มาเป็น 3,300 ล้านดอลลาร์ในปี 2562 ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 150 ล้านดอลลาร์ในปี 2559 มาเป็น 829 ล้านดอลลาร์ในปี 2562

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรปและสหรัฐ มูลค่าการส่งออกของเมียนมาจะหดตัวลงประมาณ 10% และคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564 การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย จะเกิดขึ้นผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้าชายแดนและการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย

ในประเด็นการค้าชายแดนคงต้องพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนที่จะมีผลต่อการซื้อสินค้าของไทยผ่านพรมแดนไทยกับเมียนมาที่เป็นช่องทางหลักในการส่งออกสินค้าไทยถึงร้อยละ 75 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปเมียนมา

ภาพรวมการส่งออกชายแดนไทยไปเมียนมาในปี 2563 ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อและการคุมเข้มการเข้าออกทั้งคนและสินค้าจากปัญหาโควิด-19 จึงฉุดให้การส่งออกทรุดตัวถึงร้อยละ (-)12.4 มีมูลค่าส่งออกต่ำกว่าแสนล้านบาทต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีมูลค่า 87,090 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี คงต้องเฝ้าติดตามการเปิด-ปิดด่านค้าขายแดน ดังเช่นการปิดด่านอย่างกะทันหันบริเวณพรมแดนด่านแม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ก.พ.2564 แม้ว่าในขณะนี้จะเปิดให้บริการตามปกติแล้ว แต่ก็เป็นสัญญาณถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะมีมาตรการในการตรวจคนและสินค้าข้ามแดนเพิ่มเติมจากมาตรการคุมเข้มเดิมที่ใช้รับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน อันจะทำให้การส่งออกทางชายแดนในทุกช่องทางไม่ราบรื่น

ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของเมียนมาที่เปราะบางอยู่แล้วจากปัญหาโควิด-19 ทั้งยังต้องรับมือกับปมการการเมืองในประเทศ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในด้านการค้าการลงทุนกับนานาชาติ ซึ่งในประเด็นนี้เองศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการส่งออกชายแดนไทยในปี 2564 แม้ในภาพรวมจะได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นช่วยพยุงการค้าไว้ได้ระดับหนึ่ง แต่ความเปราะบางทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะยิ่งส่งผลอย่างมากทำให้การผลิตและการบริโภคในภาพรวมทรุดตัวลง กดดันให้สินค้าไทยที่ส่งผ่านชายแดนไปเมียนมาในปี 2564 จะยังหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 (-)0.5% มีมูลค่าการค้าลดลงเหลือราว 86,600 ล้านบาท

ส่วนประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทยนั้น จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้แรงงานเมียนมาเดินทางกลับประเทศไปไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน และยังไม่สามารถกลับเข้าไทย ประกอบกับการเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ เช่น ความเสี่ยงในการปิดด่าน หรือการใช้มาตรการตรวจเข้มพลเมืองที่เดินทางเข้าออกประเทศ

มาตรการเหล่านี้จะเป็นอุปสรรคต่อทั้งการรับแรงงานใหม่และการรับแรงงานเมียนมาเดิมให้กลับเข้ามาทำงานที่ไทยอีกครั้งอย่างถูกกฎหมาย จะส่งผลให้ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่างๆ ได้แก่ ธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์ (25%) ธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร (17%) ธุรกิจก่อสร้าง (15%) ธุรกิจประมงและสินค้าประมงแปรรูป (10%)

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/921209

คาดการณ์เศรษฐกิจเมียนมาปี 64 หดตัว (-)0.5% ถึง (-)2.5% หลังกองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาล ส่งผลให้การค้าชายแดนไทย-เมียนมาหดตัวอีกเป็นปีที่ 5

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับประเทศกับมหาอำนาจชาติตะวันตกที่มีพลวัตรที่ดีขึ้นเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาให้เติบโตได้ในระดับสูงตลอดช่วงที่ผ่านมา โดยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการส่งออก และเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเมียนมาจากสังคมเกษตร เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างมหาศาล ดังนั้น การเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของกองทัพเมียนมาในครั้งนี้ ย่อมก่อให้เกิดความชะงักงันในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจชาติตะวันตก และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

ในด้านการค้า นับตั้งแต่เมียนมาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากสหภาพยุโรป การส่งออกของเมียนมาไปสหภาพยุโรปก็เติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาเพียง 6 ปี ส่วนการส่งออกของเมียนมาไปสหรัฐ ฯ ก็เติบโตขึ้น 5 เท่าภายใน 3 ปี จะเห็นได้ว่าสิทธิพิเศษทางการค้าทำให้การส่งออกของเมียนมาไปยังสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ในด้านการลงทุน การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกเพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย หลังจากกองทัพของเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาล เหตุการณ์นี้ได้ทำเกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และความเสี่ยงที่จะถูกถอดถอนสิทธิประโยชน์ทางการค้าจากทั้งสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะชะลอหรือยุติการลงทุนในเมียนมา และทำให้เม็ดเงินลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มหดตัวลงในระยะยาว

ในด้านภาพรวมทางเศรษฐกิจเมียนมา การเข้ายึดอำนาจของกองทัพเมียนมาจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจน ฐานะทางการเงินของภาครัฐ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการควบคุมการระบาดของโควิด เช่น ทำให้เกิดความล่าช้าในการแจกจ่ายวัคซีน ประกอบกับความเสี่ยงในการสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างเมียนมา กับ EU และสหรัฐ ฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลเป็นวงกว้าง ครอบคลุมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ที่มีการจ้างงานกว่า 1 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และตัดเย็บเสื้อผ้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาจะอยู่ในกรอบ (-)0.5% ถึง (-)2.5% ในปี 2564

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย จะเกิดขึ้นผ่านทาง 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ การค้าชายแดน และ การเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาเข้ามาในประเทศไทย โดยการเข้ายึดอำนาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย ซึ่งอาจทำให้มีมาตรการตรวจสอบคนหรือสินค้าข้ามพรมแดนที่เข้มงวดขึ้นจากเดิม สุดท้ายนี้ อุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมาข้ามพรมแดนอาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายในภาคธุรกิจต่าง ๆ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Myanmar-z3186.aspx

เวิลด์แบงก์เตือนรัฐประหารเมียนมากระทบพัฒนาประเทศ

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา หลังจากกองทัพได้ก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจรัฐบาล โดยเวิลด์แบงก์เตือนว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในเมียนมามีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะถดถอย และจะสร้างความเสียหายต่อแนวโน้มการพัฒนาประเทศ มีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงของประชาชนในเมียนมา ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ของเวิลด์แบงก์และบรรดาพันธมิตร เราได้รับผลกระทบจากการถูกปิดช่องทางการสื่อสารทั้งภายในเมียนมาและกับต่างประเทศ ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาลเมื่อวานนี้ พร้อมกับควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำคนอื่นๆ และได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยกองทัพได้มอบอำนาจการปกครองให้กับนายพลมิน อ่อง หล่าย ขณะที่สัญญาว่าจะจัดการจัดการเลือกตั้งทั่วไปหลังจากนั้น นอกจากนี้ เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจเมียนมา จะลดลงเพียง 0.5% ในปีงบประมาณ 2562/2563 จากระดับ 0.68% ของปีงบประมาณก่อนหน้า อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจเมียนมาอาจหดตัวรุนแรงถึง 2.5% หากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/920433

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากความสามารถในการผลิตน้ำมันของกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุนเซนกล่าวว่ารายได้จากการขุดเจาะน้ำมันจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในระยะสั้น น้อยกว่าภาคธุรกิจดั้งเดิมอื่น ๆ จากคำกล่าวของนายกฮุนเซน ซึ่งหลุมขุดเจาะแรกได้ดำเนินการมาแล้ว 33 วัน และสกัดน้ำมันได้ที่ 1,236 บาร์เรลต่อวัน รวม 40,788 บาร์เรล ตั้งแต่ได้มีการขุดเจาะ โดยหากน้ำมันหนึ่งถังมีราคาอยู่ที่ 50 ดอลลาร์ ในหนึ่งปีสำหรับการขุดเจาะและทำการสกัดน้ำมันจะสร้างรายได้ให้กับประเทศได้เพียง 30 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งน้อยกว่ารายได้จากวีซ่าการท่องเที่ยวที่ออกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยได้รับในช่วงปกติเสียด้วยซ้ำ โดยนายกฮุนเซนคาดว่ากัมพูชาจะสามารถผลิตน้ำมันได้มากกว่า 7,000 ถึง 7,500 บาร์เรลต่อวันเมื่อมีการขุดเจาะบ่อน้ำมันทั้งหมดที่กำลังจะเริ่มขึ้นในเร็ว ๆ นี้กว่า 4 แห่ง ซึ่งทางการกัมพูชาได้ร่วมกับบริษัท KrisEnergy Ltd. ของสิงคโปร์ ในการดำเนินการโครงการนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50809405/oil-revenue-no-short-term-fix-to-economic-growth-pm/

“สุชาติ”ชี้ไทยเศรษฐกิจทรุดหนักกว่าทุกประเทศในอาเซียน

ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เจริญเติบโต คือ (1) รัฐบาลมาจากเผด็จการทำให้ขาดความเชื่อมั่น จึงไม่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเปิดกว้าง ที่มีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และความยุติธรรมเป็นที่ตั้งด้วยเหตุนี้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ก็ได้ย้ายหนีจากประเทศไทย ไปประเทศที่มีระบบการปกครองที่ดีกว่า มั่นคงกว่า เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ลาว พม่า เป็นต้น (2) มาตรการทางการเงิน ที่ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามาก มาตรการด้านการเงินแบบล้าหลัง ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ (Inflation targeting) จนต่ำเกินไปมาก หลายครั้งติดลบ ประชาชนและเอกชน ค้าขายไม่ได้กำไร หลายแห่งขาดทุน จนต้องลดการผลิต (ซึ่งลดรายได้หรือ GDP ลงด้วย) ดูได้จากการใช้กำลังการผลิตโดยรวมของไทย ปี 2563 (Capacity utilization rate) เพียง 66% เกือบต่ำที่สุดในโลก และ(3) พรก.ฉุกเฉิน ที่ใช้การแก้ไขการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลกลาง กทม.และจังหวัด สั่งปิดสถานที่ต่างๆ

ที่มา  https://www.posttoday.com/politic/news/643895

นักลงทุนไทยเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในเวียดนาม

สถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทยร่วมกับสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม และบริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) จัดงานแถลงข่าวโอกาสทางการลงทุน เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการฉลองครบรอบ 45 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและเวียดนาม นายฟัน จิ้ ทัน เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย ได้บรรยายถึงความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามและการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามครั้งที่ 13 โดยคาดว่าจะส่งผลให้เวียดนามก้าวเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ด้วยรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2573 และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2588 ทั้งนี้ ธุรกิจไทยทุ่มเงินกว่า 12.84 พันล้านเหรียญสหรัฐไปยัง 600 โครงการในเวียดนาม จำแนกออกเป็นด้านต่างๆ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน, นิคมอุตสาหกรรม, เทคโนโลยีขั้นสูง, พลังงานและเกษตรกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ นายสนั่น  อังอุบลกุล  ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่ามีความสนใจอย่างมากในการลงทุนไปเวียดนาม เนื่องมาจากความมีเสียรภาพทางการเมือง การประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 แรงงานจำนวนมาก กำลังซื้อสูงและสภาพแวดล้อมการลงทุน

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/thai-investors-keen-on-future-business-opportunities-in-vietnam-833370.vov