ธนาคารหัตถาประจำประเทศกัมพูชาได้รับการอนุมัติให้ปล่อยกู้เพิ่มได้

ธนาคารหัตถาประจำประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนากรุงศรีแห่งประเทศไทย ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ให้ระดมทุนเพิ่มเติมอีก 25 ล้านดอลลาร์ ในการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าเพื่อช่วยเหลือการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารยืนยันว่าหัตถาได้รับการอนุมัติให้เพิ่มทุนในวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ถือเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยสถานการณ์ในเดือนมีนาคมสมาชิกสมาคมไมโครไฟแนนซ์แห่งกัมพูชา (CMA) ได้ปรับโครงสร้างเงินกู้ให้กับลูกค้ามากกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์ สำหรับผู้กู้เกือบ 300,000 ราย นับตั้งแต่ NBC ออกคำสั่งครั้งแรกตามที่ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร CMA กล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50851507/hattha-bank-receives-greenlight-to-raise-25-million-in-capital/

“EXIM BANK” ออกสินเชื่อวงเงิน 20 ล.ดอกเบี้ย 3.99% ช่วย SMEs ใน CLMV

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ ธสน. (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ธสน. ได้ดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SMEs) ใน ตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสินเชื่อ CLMV อุ่นใจ เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการไทยใน CLMV ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (Covid-19) และสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 3.99% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุด 3 ปี ใช้เพียงหนังสือค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นหลักประกันร่วมกับบุคคลหรือนิติบุคคลค้ำประกันได้ ทั้งนี้ ตลาด CLMV ไต่อันดับขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 CLMV เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 4 ของไทย รองจากสหรัฐฯ อาเซียนเดิม 5 ประเทศ และจีน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี จากการติดตามสถานการณ์ความไม่สงบภายในเมียนมาอย่างใกล้ชิดและประเมินผลกระทบต่อลูกค้า ผู้ประกอบการไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการชำระเงินล่าช้าและการชะลอคำสั่งซื้อของคู่ค้าในเมียนมา EXIM BANK จึงได้พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านมาตรการต่าง ๆ ตามความจำเป็นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/477549

เวียดนามเผยกลางเดือนเม.ย. สินเชื่อโต 3.34%

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 16 เม.ย. การเติบโตของสินเชื่อ ขยายตัวมาอยู่ที่ 3.34% เมื่อเทียบกับปลายปี 2563 และเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยอัตราการเติบโตภายในสิ้นเดือนมี.ค. อยู่ที่ 2.93% เมื่อเทียบกับปลายปีที่แล้ว เป็นมูลค่าราว 411 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในแค่ 2 สัปดาห์ การเติบโคของสินเชื่อก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.41 จุด ทั้งนี้ สถาบันสินเชื่อและธนาคาร ทำการปรับโครงสร้างการชำระหนี้ให้กับลูกค้า จำนวน 262,000 ราย ด้านยอดสินเชื่อคงค้างในระบบโดยรวมอยู่ที่ 15.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่จำนวนลูกค้า 660,000 ราย มีเงินกู้ที่มีอยู่รวมกันอยู่ที่ 55.14 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งได้รับการชะลอการชำระหนี้และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ นอกจากนี้ ธนาคารกลางติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาระดับของอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 4% ในปี 2564 และช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-credit-growth-expands-by-334-by-mid-april-317092.html

ธนาคาร ACLEDA พิจารณาขยายเพดานสินเชื่อมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ ในกัมพูชา

ธนาคาร ACLEDA พิจารณาขยายเพดานสินเชื่อมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ ในกัมพูชา โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของ The International Finance Corporation (IFC) ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลก โดย IFC ได้เสนอการขยายเพดานสินเชื่อนี้เพื่อให้ธนาคารสามารถขยายโครงการปล่อยสินเชื่อให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งเมื่อเดือนกันยายน 2020 ธนาคาร ACLEDA มีสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.6 พันล้านดอลลาร์ และมีเงินฝากรวมราว 4.2 พันล้านดอลลาร์ โดยธนาคารผู้ให้กู้กล่าวถึงผลกระทบในการพัฒนาภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ จึงส่งผลให้เกิดข้อเสียเปรียบในการขยายธุรกิจหรือการเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ด้วยปัญหาเบื้องต้นทางธนาคารจึงมีแนวคิดที่จะร่วมพัฒนาธุรกิจขนาด SMEs จากการสนับสนุนและส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50825298/200m-loan-for-cambodias-leading-commercial-bank-acleda-in-the-works/

สินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดเล็กช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใน สปป .ลาว

กระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ได้เปิดตัวโครงการสนับสนุนทางการเงินฉุกเฉินมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกเพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการระบาดของโควิด -19  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าประกาศโครงการสนับสนุนและฟื้นฟูการเข้าถึงการเงินในภาวะฉุกเฉินทางการเงินของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSME) ทำให้ธนาคารและสถาบันการเงินในพื้นที่สามารถให้เงินกู้แก่ธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการปิดพรมแดน และลดการซื้อขายในปีที่ผ่านมา โดยธนาคาร 3 แห่ง ได้แก่ Laos-China, Maruhan, และ Sacom ได้รับเลือกให้เข้าร่วมในโครงการเพื่อให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทขนาดเล็กที่ขอสินเชื่อผ่านวงเงินเครดิต โครงการนี้ให้การสนับสนุนทางเทคนิคจากธนาคารแห่งสปป.ลาว เป็นผู้บริหารระบบค้ำประกันสินเชื่อและความช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ คาดว่าจะมีสถาบันการเงินเข้าร่วมโครงการมากขึ้นเมื่อการเจรจาเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อเสร็จสมบูรณ์ ความคิดริเริ่มนี้จะเสริมสร้างความมั่นคงของธุรกิจขนาดเล็กซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจสปป.ลาว  ด้วยการทำให้บริษัทขนาดเล็กเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นรัฐบาลและธนาคารกำลังขจัดหนึ่งในสามอุปสรรคสำคัญสำหรับธุรกิจในสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Credit_38.php

เวียดนามเผยการเติบโตของสินเชื่อ 10.14%

ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อ ณ วันที่ 21 ธันวาคม อยู่ที่ร้อยละ 10.14 เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นายดาว มินห์ ทู รองผู้ว่าการธนาคารกลางเวียดนาม เปิดเผยการเติบโตของสินเชื่อเวียดนาม แตะร้อยละ 13 ขณะที่ ธนาคารกลางตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ร้อยละ 14 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปีนี้ ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย นับเป็นครั้งที่ 4 ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ ลงมากถึงร้อยละ 0.5 เป็นต้น ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ลงจากร้อยละ 4.5 ต่อปี สู่ระดับร้อยละ 4, ปรับอัตราดอกเบี้ย rediscount rate ลงจากร้อยละ 3 สู่ระดับร้อยละ 2.5, อัตราดอกเบี้ยข้ามคืน ลงจากร้อยละ 5.5 สู่ระดับร้อยละ 5 และอัตราดอกเบี้ยผ่าน OMO ลงจากร้อยละ 3 สู่ระดับร้อยละ 2.5 นอกจากนี้ สถาบันสินเชื่อได้ปรับโครงสร้างการชำระหนี้ให้กับลูกค้ากว่า 270,000 รายที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 15.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-credit-growth-hits-1014-as-of-december-21-315538.html

ปริมาณสินเชื่อสำหรับผู้บริโภคภายในประเทศกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้น

การขอสินเชื่อสำหรับการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 53 ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี ตามรายงานโดยเครดิตบูโรกัมพูชา (CBC) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการชั้นนำด้านข้อมูลเครดิตโซลูชัน การวิเคราะห์และบริการรายงานเครดิตแก่ธนาคารสถาบันการเงินรายย่อย โดยการขอสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้สวนทางกับการลดลงของการขอสินเชื่อในไตรมาสที่ 2 ของปีเมื่อเทียบกับตัวเลขในไตรมาสแรก ซึ่ง ณ เดือนกันยายน 2020 พอร์ตสินเชื่อของ PRASAC อยู่ที่ 2.862 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.43 เมื่อเทียบกับปี 2019 โดยประกอบไปด้วยสินเชื่อธุรกิจร้อยละ 64.31 และอีกร้อยละ 35.69 เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล จากรายงานของ CBC อัตราส่วนของการชำระคืนล่าช้าภายใน 30 วันหลังจากวันครบกำหนด ณ เดือนกันยายน 2020 เท่ากับร้อยละ 2.42 สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลลดลงจากร้อยละ 2.64 ในเดือนมิถุนายน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50782059/big-rise-in-consumer-credit-bids-seen-as-recovery/

ภาคอุตสาหกรรมเร่งให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมมัคคุเทศก์ในเมียนมา

สมาคมมัคคุเทศก์เมียนมา (MTGA) กล่าวว่าได้ส่งต่อข้อเสนอแนะในการขอสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือมัคคุเทศก์ท้องถิ่นไปยังคณะกรรมการแผนบรรเทาเศรษฐกิจ COVID-19 ของรัฐบาล ความช่วยเหลือทางการเงินและเงินกู้ COVID-19 ในปัจจุบันมอบให้กับภาคการท่องเที่ยวและ บริษัทต่างๆ แต่ไม่ใช่สำหรับไกด์นำเที่ยว ดังนั้นจึงมีการส่งข้อเสนอแนะเพื่อพิจารณาเงินกู้สำหรับมัคคุเทศก์ท้องถิ่น โดยจะช่วยเหลือเพียงมัคคุเทศก์ประเภทเดียวที่ได้รับคือการอุดหนุนเมื่อเข้าร่วมหลักสูตรการฝึกอบรมที่จำเป็นที่ช่วยคนได้ครั้งละไม่กี่ร้อยคนเท่านั้น กระทรวงจะศึกษาข้อเสนอแนะจากสมาคมมัคคุเทศก์เมียนมาและให้ข้อมูลแก่คณะกรรมการที่มีหน้าที่ดูแลพนักงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คณะกรรมการแผนบรรเทาเศรษฐกิจ COVID-19 ได้ปล่อยเงินกู้เป็นระยะเวลาหนึ่งปีในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 แก่ธุรกิจในภาคต่างๆเช่นเกษตรกรรม การท่องเที่ยว และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการชะลอตัวของธุรกิจที่เกิดจากการระบาดของ COVID-19

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/industry-body-urges-more-help-tour-guides-myanmar.html

ธุรกิจในมัณฑะเลย์ขอสินเชื่อ COVID-19 รอบที่ 2

จากรายงานของหอการค้าและอุตสาหกรรมภูมิภาคมัณฑะเลย์ (MRCCI) มีธุรกิจ 648 ราย ยื่นขอสินเชื่อ COVID-19 รอบที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 100 พันล้านจัต โดยสามารถยื่นใบสมัครตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคมถึง 10 สิงหาคม 2563 พบว่าธุรกิจการผลิตอาหารยื่นขอกู้มากที่สุด เงินกู้รอบที่ 2 ส่วนใหญ่จะออกให้กับธุรกิจด้านการเกษต รปศุสัตว์และประมง การส่งเสริมการค้าและห่วงโซ่อุปทาน การแปรรูปอาหารตลอดจนหน่วยงานตัวแทนจัดหางานในต่างประเทศและศูนย์ฝึกอาชีพ ในการปล่อยกู้นอบแรกมีผู้ยื่นขอสินเชื่อผ่าน MRCCI ทั้งหมด 417 ราย แต่มีเพียง 330 รายเท่านั้นที่ได้รับการอนุมัติ มีการปล่อยเงินกู้จำนวน 1 แสนล้านจัต ให้กับธุรกิจทั้งหมด 3,393 แห่ง ตั้งแต่เดือนเมษายน 63 โดยมีอัตราดอกเบี้ย 1% และระยะเวลาชำระคืนหนึ่งปี

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/more-mandalay-businesses-apply-second-covid-19-loan.html

ADB เสนอเงินสนับสนุนให้กัมพูชา 1.5 พันล้านดอลลาร์ สำหรับการพัฒนาประเทศ

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) กำลังเสนอที่จะให้เงินทุนใหม่จำนวน 1.5211 พันล้านดอลลาร์สำหรับการดำเนินงานและแผนธุรกิจของประเทศกัมพูชา (COBP) 2021-2023 โดย COBP ที่เสนอมีโครงการพัฒนาทั้งหมด 21 โครงการ ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งรวมถึงการให้สินเชื่อตามสัญญา 1,257.7 ล้านดอลลาร์, เงินทุน 70.4 ล้านดอลลาร์ และเงินอุดหนุนโครงการ 193.0 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของกัมพูชาหลังการระบาดของ COVID-19 ตามรายงานของธนาคารโลกในปี 2020 ปัจจุบันกัมพูชามีเงินกู้ยืมจาก ADB ประมาณ 1.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.6 พันล้านดอลลาร์ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยเงื่อนไขการกู้ยืมเงินเป็นสัญญาสัมปทานที่มีระยะเวลา 24 ปี รวมระยะเวลาผ่อนผัน 8 ปี โดยมีการคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งเงินทุนสนุบสนุนจะนำเข้าสู่สามส่วนสำคัญของความช่วยเหลือ ประการแรกคือการตอบสนองด้านสุขภาพภายในประเทศ ส่วนที่สองการช่วยเหลือทางสังคมผ่านโปรแกรม ID Poor และส่วนที่สามความช่วยเหลือทางด้านการเงินของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ผ่านการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำและเข้าถึงได้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50744668/exclusive-adb-may-offer-more-than-1-5b-in-new-funding/