ครึ่งแรกของปี กัมพูชาดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศกว่า 2.57 ล้านคน

ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแตะ 2.57 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 409 จากจำนวน 506,762 คน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดย Thong Khon รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา ซึ่งไทยรั้งอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังกัมพูชา ตามมาด้วยเวียดนาม จีน สปป.ลาว และสหรัฐฯ โดยรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาเยือนยังกัมพูชาแตะ 7 ล้านคน ภายในปี 2025 มากกว่าในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ 6.6 ล้านคน ณ ปี 2019 ซึ่งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยกัมพูชาเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องแหล่งมรดกโลก 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานโบราณคดีอังกอร์ในจังหวัดเสียมราฐ ปราสาทพระวิหารในจังหวัดพระวิหาร และแหล่งโบราณคดีสมโบร์ไพรกุกในจังหวัดกำปงธม ซึ่งทางการกัมพูชาคาดการณ์ว่า GDP จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 ในปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501318525/cambodia-attracts-2-57-mln-intl-tourists-in-h1-of-2023-minister/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นขยายตัว 0.4% มูลค่าแตะ 780 ล้านดอลลาร์

ในช่วง 5 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวมแตะ 780 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 1.9 หรือคิดเป็นมูลค่า 215 ล้านดอลลาร์ ส่งผลทำให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับญี่ปุ่น 565 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง และเครื่องหนัง ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าผืน และพลาสติกจากญี่ปุ่น เป็นสำคัญ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) รวมถึงญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าสินค้าของกัมพูชาเป็นที่ต้องการของตลาด กล่าวโดย Penn Sovicheat โฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา โดยในช่วงปี 2022 ปริมาณการค้าระหว่าง กัมพูชา-ญี่ปุ่น มีมูลค่ารวมสูงถึง 1,948 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามูลค่า 1,173 ล้านดอลลาร์ และคิดเป็นการนำเข้าสินค้าของญี่ปุ่นมูลค่า 774 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501318140/cambodias-exports-to-japan-up-0-4-at-780m/

OR – เค-เน็กซ์ฯ ปักหมุดร้านสะดวกซัก “อ๊อตเทริ วอชแอนด์ดราย” สาขาแรกกัมพูชา

นายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจต่างประเทศ นายศิระ ศรีสุกใส ผู้จัดการฝ่ายบริหารธุรกิจไลฟ์สไตล์ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และนายณัฐพงศ์ แก้วตระกูลพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. (กัมพูชา) จำกัด (PTTCL) ร่วมกับ นายกวิน นิทัศนจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น (KNX) เข้าร่วมพิธีลงนามในสัญญามอบสิทธิ Single Unit Franchise ธุรกิจ “อ๊อตเทริ วอชแอนด์ดราย” (Otteri Wash & Dry) ในประเทศกัมพูชา และร่วมเปิดร้านสะดวกซัก “อ๊อตเทริ วอชแอนด์ดราย” สาขาแรกอย่างเป็นทางการ ในสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น Chbar Ampov ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งบริหารโดย บริษัท ปตท. (กัมพูชา) จำกัด (PTTCL) โดยมี นายเชิดเกียรติ อัตถากร เอกอัคราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีดังกล่าว

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1339490

นายกฯ ฮุน เซน เร่งส่งออกข้าวพรีเมียมไปยังสิงคโปร์มากขึ้น

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบการส่งออกข้าวเกรดพรีเมียมไปยังสิงคโปร์เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันข้าวพรีเมียมเป็นที่ต้องการของสิงคโปร์อีกทั้งยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตร โดยกัมพูชาคาดว่าจะกลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายสำคัญให้กับสิงคโปร์ในระยะต่อไป อีกทั้งสิงคโปร์ยังให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติหลายล้านคนในแต่ละปี ทำให้สิงคโปร์ต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ เพื่อรองรับกับความต้องการที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งข้าวของกัมพูชา (Phka Rumduol) ได้รับรางวัล World’s Best Rice 2022 Award จากงาน World Rice Conference (WRC) โดยนับเป็นการได้รับรางวัลครั้งที่ 5 ในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมข้าวของกัมพูชา แสดงถึงคุณภาพและมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล สำหรับการส่งออกข้าวของกัมพูชาในช่วง 5 เดือนแรกของปีแตะ 278,184 ตัน ไปยัง 50 ประเทศทั่วโลก สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 191 ล้านดอลลาร์ ตามรายงานของสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ด้านนายกฯ ยังขอให้เอกอัครราชทูตกัมพูชาส่งเสริมและสนับสนุนสินค้า วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของกัมพูชาผ่านการทูตเชิงพาณิชย์ต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501317626/pm-urges-premium-rice-exports-to-singapore/

แรงงานกัมพูชาส่งเงินกลับบ้าน ปี 2022 แตะ 1.25 พันล้านดอลลาร์

แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาส่งเงินกลับบ้านเพิ่มขึ้นจาก 1.15 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็น 1.25 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 สูงเป็นอันดับสามในกลุ่มประเทศอาเซียน คิดเป็นร้อยละ 4.4 ของ GDP ประเทศ รองจากฟิลิปปินส์และเวียดนาม รายงานโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในระหว่างการประชุม “12th Annual ADBI–OECD–ILO Roundtable on Labour Migration: Recovering from Covid-19: What does It Mean for Labor Migration in Asia?” โดยไทยมีแรงงานกัมพูชาเดินทางไปทำงานมากที่สุดอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านคน ในปี 2021 เกาหลีใต้มีแรงงานเกือบ 46,000 คน ตามมาด้วยมาเลเซีย 23,000 คน ญี่ปุ่นเกือบ 12,000 คน และสิงคโปร์ประมาณ 800 คน ซึ่งสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยเป็นประเทศปลายทางหลักสำหรับแรงงานข้ามชาติในอาเซียน โดยปัจจุบันโลกกำลังเผชิญอยู่กับความไม่แน่นอนหลายประการ อาทิเช่น สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ภัยคุกคามทางด้านสิ่งแวดล้อม การหยุดชะงักของอุปทาน และความไม่มั่นคงทางการเงินระดับโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการย้ายถิ่นฐานของแรงงานไปยังเอเชีย ทั้งแรงงานมีทักษะสูงและทักษะน้อย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501317625/cambodias-remittances-rise-to-1-25b/

ทางการกัมพูชาพร้อมเสนอนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาผ่าน ครม.

กระทรวงพาณิชย์พร้อมนำส่งร่างนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติประจำปี 2023-2028 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการพิจารณา นำโดย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งได้เปิดเผยแผนดังกล่าวในระหว่างการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา หากเมื่อนำนโยบายดังกล่าวมาใช้แล้วเชื่อว่าจะนำไปสู่การส่งเสริมและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาสิทธิของเจ้าของผลงาน ตราสินค้า และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของกัมพูชา รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลของกัมพูชา นอกจากนี้รัฐมนตรีฯ ยังแนะนำให้ NCIPR รับรองร่างกฤษฎีกาย่อยที่ครอบคลุมสำหรับการดำเนินการตามนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อนำมาใช้ต่อไปในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501317275/national-intellectual-property-policy-ready-for-council-of-ministers-review/

จีนพร้อมลงนาม MoU ร่วมกัมพูชา เพิ่มการส่งออกข้าว 5 แสนตัน

Lon Yeng เลขาธิการสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา รายงานว่า กัมพูชาและจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับการส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังตลาดจีนแล้ว 6 ฉบับ และพร้อมที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับที่ 7 รวมถึงฉบับอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้ Pan Sosak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ได้ประกาศเกี่ยวกับการลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับที่ 7 ในการส่งออกข้าว 500,000 ตัน ไปยังตลาดจีนในช่วงปี 2023-2024 ซึ่งหวังว่าการส่งออกข้าวของกัมพูชาเพิ่มมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้กัมพูชาได้ส่งออกข้าวจำนวน 400,000 ตัน ไปยังตลาดจีนตาม MoU ฉบับที่ 6 แสดงถึงความต้องการข้าวสารของกัมพูชาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501317088/china-ready-to-sign-7th-mou-with-cambodia-on-increasing-rice-purchase-by-500000-tonnes/

ทางการกัมพูชาคาดภาคบริการจะกลายเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจกัมพูชา

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวว่า ภาคบริการจะกลายเป็นส่วนสำคัญต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกัมพูชา แทนที่ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมเดิม ซึ่งหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กัมพูชาได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งยังทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศหยุดชะงัก โดยมีสถานประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกือบ 1,200 แห่ง ต้องปิดตัวลง ส่งผลให้แรงงานกว่า 22,000 คน ต้องตกลง ซึ่งในปีที่แล้ว ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นส่วนสำคัญของ GDP หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38 รองลงมาคือภาคบริการและภาคเกษตรกรรมที่ร้อยละ 35 และ 21 ตามลำดับ และด้วยสถานการณ์การท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ท้อนจากการให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 2.4 ล้านคน ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 530 ทำให้ทางการกัมพูชาคาดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะขึ้นมาเป็นส่วนสำคัญที่สุดของระบบเศรษฐกิจกัมพูชา โดยในปี 2019 ก่อนเกิดการแพร่ระบาด กัมพูชาให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวมากถึง 6.6 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศรวม 4.92 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501315918/service-sector-to-become-cambodias-largest-by-gdp/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังไทยขยายตัวร้อยละ 10 แตะ 480 ล้านดอลลาร์

ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกของกัมพูชาไปยังประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องที่มูลค่ารวมกว่า 480 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาไปยังไทย ได้แก่ สิ่งทอ สินค้าเกษตร อัญมณี วัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ในขณะเดียวกันการส่งออกของไทยมายังกัมพูชากลับปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 14 ที่มูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญจากไทย ได้แก่ ปลา เนื้อสัตว์ ผัก รถยนต์ ปุ๋ยอินทรีย์ อาหาร และวัสดุก่อสร้าง ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ด้านนายจีรนันท์ วงษ์มงคล ประธานสภาธุรกิจไทยในกัมพูชา (TBCC) กล่าวเสริมว่า การส่งออกที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ถึงความต้องการในสินค้าของกัมพูชาในตลาดไทย ซึ่งภาคส่วนดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าหมายปริมาณการค้าทวิภาคีกัมพูชา-ไทย มูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2025 โดยหวังให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมมือดำเนินการเพื่อให้ถึงเป้าหมายการส่งออกระหว่างกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501315920/kingdom-exports-to-thailand-surge-10-to-480-million/

Q1 PPAP สร้างกำไรจากการดำเนินงานในกัมพูชา 9.73 พันล้านเรียล

ท่าเรือพนมเปญ (PPAP) ประกาศผลกำไรจากการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกที่ลดลงกว่าร้อยละ 48.52 หรือคิดเป็นมูลค่า 9.73 พันล้านเรียล จากกว่า 18.90 พันล้านเรียล ในช่วงเดียวกันของก่อน ซึ่งรายงานดังกล่าวถูกยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) โดยกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงเนื่องจากการปริมาณการขนส่งสินค้าที่ลดลง อีกทั้งต้นทุนในการให้บริการและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง PPAP ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2015 ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ด้าน Hei Bavy ประธานบริษัทของ PPAP กล่าวเสริมว่า สำหรับไตรมาสแรกของปี 2023 รายได้รวมของบริษัทอยู่ที่ 30.76 พันล้านเรียล (7.5 ล้านดอลลาร์) นับเป็นการบรรลุเป้าหมายร้อยละ 17.63 ของเป้าหมายรายได้ประจำปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2022 กลับลดลง 5.53 พันล้านเรียล (1.4 ล้านดอลลาร์) หรือลดลงร้อยละ 15.25 นอกจากนี้ กำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐานในช่วงไตรมาสแรกอยู่ที่ 384.61 เรียล/หุ้น (0.09 ดอลลาร์)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501315220/ppap-q1-operating-profit-at-9-73-billion-riels/