‘สื่ออังกฤษ’ ตีบทความ โอกาสครั้งสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนาม

สื่ออังกฤษด้านธุรกิจและการเงิน ‘Financial Times’ ลงบทความที่ทำการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่นำไปสู่การผลักดันให้สัญญาต่างๆ และในโอกาสครั้งสำคัญของเศรษฐกิจเวียดนามที่จะไปสู่การเติบโตสูงสุด และการใช้ความได้เปรียบทางด้านการผลิต เพื่อการส่งเสริมประเทศในระยะยาว ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้ามาในประเทศสูงที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มูลค่ากว่า 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เข้ามาลงทุน อาทิเช่น เดลล์ (Dell), กูเกิล (Google), ไมโครซอฟท์ (Microsoft) และ แอปเปิล (Apple) บริษัททั้งหมดในข้างต้นทำการย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และมองหาโอกาสที่จะพัฒนามากขึ้นในอนาคตข้างหน้า นอกจากนี้ เวียดนามจำเป็นที่จะต้องยกระดับขีดความสามารถในการผลิตให้ดีขึ้น เพื่อตอบสนอบความต้องการที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economic-moment-has-arrived-financial-times/256097.vnp

‘เวียดนาม’ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทระดับโลก

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้าประเทศ มีมูลค่า 13.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพื่อให้เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาตินั้น ทางหน่วยงานได้เสนอให้รัฐบาลแก้ไขหรือปรับปรุงอย่างมีประสิทธิภาพของการลงทุนจากต่างประเทศ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทั้งนี้ ธนาคารโลก (WB) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เวียดนามประสบความสำคัญในแง่ของการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ความมั่งคงทางการเมืองและศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เติบโตอยู่ในระดับสูง อีกทั้ง บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก อาทิเช่น ซัมซุง (Samsung), แอลจี (LG) และ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) มีแผนที่จะย้ายสายการผลิตแห่งใหม่ในเวียดนาม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-remains-leading-destination-of-fdi-businesses-post1031393.vov

“EEC” ผนึกกำลัง “GBA” ขยายโอกาสการค้าการลงทุน ไทย-จีน

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เข้าร่วมปาฐกถาพิเศษภายในงาน ประชุมสัมมนาความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าจีน (กวางตุ้ง) และไทย หรือ China (Guangdong) – Thailand Economic Cooperation Conference ซึ่งจัดโดยรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมณฑลกวางตุ้ง หรือ CCPIT โดยมีนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย นายหวัง เว่ย โจง ผู้ว่าการมณฑลกวางตุ้ง และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ นักธุรกิจชั้นนำจากภาคเอกชนของทั้งประเทศไทย และประเทศจีน ถือเป็นการสร้างโอกาสความร่วมมือระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย และเขตความร่วมมือกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือด้านส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือ EEC ของไทย กับ GBA ของจีนครั้งนี้จะสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือของทั้งสองประเทศให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.tnnthailand.com/news/wealth/149853/

คาดความช่วยเหลือและการลงทุนของจีน มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาของกัมพูชา

Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวเมื่อไม่นานว่า ความช่วยเหลือและการลงทุนเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการของจีน มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงกัมพูชา โดยรัฐมนตรีกล่าวเสริมว่าด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งปัจจุบันจีนเข้าลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ และเสียมราฐ-นครวัด สนามบินนานาชาติและอื่น ๆ ในขณะที่ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022 ได้เพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501311086/chinas-aid-investment-greatly-contribute-to-cambodias-development/

‘อุตฯ เมียนมา’ เผยเดือน เม.ย. ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน 3.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและการบริหารจัดการของเมียนมา (DICA) เปิดเผยข้อมูลทางสถิติในเดือน เม.ย. 2566 ว่าภาคอุตสาหกรรมของเมียนมาดึงดูดเงินลงทุนกว่า 3.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการปรับเพิ่มเงินลงทุนจากผู้ประกอบการในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการจีนรายหนึ่งที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมของเมียนมา ด้วยมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รวมทั้งสิ้น 1.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2565-2566 (เม.ย.-มี.ค.) การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่า 271.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอ มีโรงงานผลิตกว่า 541 แห่งที่อยู่ภายใต้สมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มเมียนมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-manufacturing-sector-attracts-3-7-mln-in-april/#article-title

แห่ขอบีโอไอไตรมาสแรก 1.8 แสนล้าน เพิ่ม 77% “เกาหลีใต้” ลงทุนมากสุด

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่าสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรก (ม.ค. – มี.ค.) ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้น 397 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% และมีมูลค่าเงินลงทุน 185,730 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป เคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ

ทั้งนี้ ตัวเลข FDI ในช่วงไตรมาสแรก มีโครงการลงทุนจากเกาหลีใต้และสิงคโปร์เพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีโครงการใหญ่ที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่ในปีนี้ ขณะที่ตัวเลขการลงทุนจากจีนและญี่ปุ่น แม้จะอยู่ในอันดับ 3 และ 4 ตามลำดับ แต่ก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติที่เลือกใช้ไทยเป็นฐานผลิตสำคัญในภูมิภาคนี้

นอกจากนี้ การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดก็เพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยในไตรมาสแรก มีจำนวน 431 โครงการ เพิ่มขึ้น 25% เงินลงทุนรวม 123,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% เป็นสัญญาณที่ดีว่าในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า จะมีเม็ดเงินลงทุนเกิดขึ้นจริงมากขึ้น

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1298638

4 เดือนแรกของปี กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนมูลค่ารวม 588 ล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนาแห่งกัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนกว่า 65 โครงการ มูลค่าการลงทุนมากกว่า 588 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศจีนเป็นสำคัญ คิดเป็นกว่าร้อยละ 73.5 ของ FDI ทั้งหมดที่ได้เข้ามาลงทุนยังกัมพูชา ด้าน Chea Vuthy รองเลขาธิการ CDC กล่าวเสริมว่า FDI มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชา รวมถึงก่อให้เกิดการสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น และเป็นการเพิ่มปริมาณการส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยการลงทุนของจีนที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ อีกทั้งสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ไปจนถึงกัมพูชายังมีข้อตกลงการค้าเสรีในระดับทวิภาคีอีกหลายฉบับ อาทิเช่น FTA กัมพูชา-จีน, FTA กัมพูชา-เกาหลี และ RCEP

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501294135/588m-investment-projects-approved-in-four-months/

การค้าระหว่าง กัมพูชา-อินโดนีเซีย ขยายตัว 43% ในช่วง Q1

การค้าระหว่างกัมพูชาและอินโดนีเซียขยายตัวกว่าร้อยละ 43.2 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 304 ล้านดอลลาร์ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ซึ่งปริมาณการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมปีนี้ คิดเป็นการส่งออกสินค้าของกัมพูชาไปยังอินโดนีเซียมูลค่า 12 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 74 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะเดียวกันการนำเข้าของกัมพูชาจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 คิดเป็นมูลค่า 292 ล้านดอลลาร์ โดยในปัจจุบันกัมพูชาและอินโดนีเซียยังได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501277914/43-jump-in-trade-between-cambodia-indonesia-in-q1/

ฝ่าสุญญากาศการเมือง ดันโรงงานลงทุน 2.9 แสนล้าน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานว่า มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งปีสูงถึง 664,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ถือเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด ขณะที่จำนวนโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 2,119 โครงการ เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 นอกจากนี้การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นที่ใกล้จะลงทุนจริงมากที่สุดก็มีแนวโน้มที่ดี มีโครงการที่ออกบัตรส่งเสริม 1,490 โครงการ เพิ่มขึ้น 9% และมีมูลค่าเงินลงทุน 489,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% เป็นสัญญาณที่ดีว่า ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าจะมีการลงทุนจริงที่มากยิ่งขึ้น ด้านจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความเห็นว่า ปี 2566 กรมโรงงานฯ จะขับเคลื่อนการลงทุนผ่านการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ภายใต้นโยบาย MIND ใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการ ยกระดับศักยภาพ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ นโยบายยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเครื่องจักรให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2566 มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ มาตรการภาษีกระตุ้นการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ การผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ง่าย สิ่งทอเทคนิคทางการแพทย์ และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี)

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3888145

“เวียดนาม” เผยจังหวัดกาวบั่ง ต้องการเงินลงทุนเกินกว่า 6.83 พันล้านเหรียญสหรัฐ

จังหวัดกาวบั่ง (Cao Bang) จำเป็นที่ต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 160.2 ล้านล้านดอง (มากกว่า 6.83 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2573 ภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดปี 2564-2573 โดยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้อนุมัติแผนการดำเนินงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นแผนการของจังหวัดที่จะตั้งเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในภูมิภาค (GRDP) ขยายตัวเฉลี่ย 9.72% ต่อปี ภายในปี 2573 และคาดว่ารายได้ต่อหัวของจังหวัดจะสูงถึง 101.7 ล้านดองในปีนี้ ตลอดจนภายในปี 2593 จังหวัดกาวบั่ง ได้ตั้งเป้าที่จะเป็น 1 ใน 7 ของจังหวัดชั้นนำในแง่ของรายได้ต่อหัวในภาคเหนือของประเทศและยังเป็นหนึ่งในศูนย์กลางแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้ ทางจังหวัดจึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างสภาพแวดล้อมทางการลงทุน เพื่อดึงดูดนักลงทุนและส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจชุมชน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1493969/cao-bang-needs-more-than-6-83b-in-investment.html