ส่งออกนมไปคู่ค้า FTA โต 8.3% มูลค่ากว่า 357.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ากรมได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทย พบว่า การส่งออกยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (มกราคม-กรกฎาคม) ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดโลก มูลค่า 380.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.2% เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 357.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.3% คิดเป็นสัดส่วนถึง 94.1% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด ตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาเซียน เพิ่ม 6.9% จีน เพิ่ม 41.4% ฮ่องกง เพิ่ม 18.6% ออสเตรเลีย เพิ่ม 21.8% และอินเดีย เพิ่ม 137.6% สินค้าส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น นมพร้อมดื่มยูเอชทีนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม และหางนม (เวย์) เมื่อเจาะลึกลงไปในตลาด FTA ทั้งหมด ที่ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ พบว่า ตลาดอาเซียนมีการขอใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกสูงสุด เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าทุกรายการแล้ว โดยในช่วง 7 เดือนไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 81% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด ตลาดที่ขยายตัวได้ดี เช่น สปป.ลาว เพิ่ม 14.2% ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 13.3% และมาเลเซีย เพิ่ม 35.3% สินค้าที่ได้รับความนิยม เช่น นม UHT มูลค่า 86.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 16.7% นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต มูลค่า 78.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 14.4% เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม มูลค่า 12.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 18.8% และหางนม (เวย์) มูลค่า 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 41.8% ปัจจุบัน ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับคู่ค้า 18 ประเทศ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคู่ค้า FTA 14 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจากไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมบางส่วนให้ไทย เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 21.3-25.5% โยเกิร์ต อัตรา 21.3-29% และชีส อัตรา 22.4-40% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 26.8% โยเกิร์ต อัตรา 28.8% ชีส อัตรา 36% และอินเดีย ไม่เก็บภาษีนำเข้านมเปรี้ยวและโยเกิร์ตจากไทยแล้ว แต่ยังเก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 20-60% นอกจากนี้ ความตกลงความ RCEP ญี่ปุ่น ตกลงจะทยอยลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มนมที่มีนมผสมลงจนเหลือ 0% ในปี 2580

ที่มา : https://www.naewna.com/business/756491

“บีโอไอ” จัดงานจับคู่ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอ, สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย, บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ (ประเทศไทย) จะจัดงาน MIRA (Maintenance, Industrial Robotics and Auto mation) และ SUBCON EEC 2023 วันที่ 6-8 ก.ย.นี้ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นงานเดียวที่รวบรวมเอาสินค้า และบริการอุตสาหกรรมจากบริษัทชั้นนำจากทั้งในประเทศและต่างประเทศมาจัดแสดง อีกทั้งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมและจับคู่ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และคาดว่าจะเกิดการจับคู่ทางธุรกิจ 600 คู่ สร้างมูลค่า 2,000 ล้านบาท “การจัดงานครั้งนี้ มีความสำคัญต่อการพัฒนาผู้ประกอบการไทย ให้สามารถสร้างตลาดและเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก เพื่อสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบอัตโนมัติที่จะผลักดันให้ไทยมีขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ บีโอไอจึงได้จัดกิจกรรมที่จะช่วยสนับสนุนให้บริษัทต่างชาติสามารถเชื่อมโยงกับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ในประเทศให้มากที่สุด” นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธาน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า งานดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2723191

ผู้นำอาเซียน ชี้ วิกฤตเมียนมา ความขัดแย้งจีน-สหรัฐฯ และข้อพิพาททะเลจีนใต้ ยังเป็นปัญหาใหญ่

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าบรรดาผู้นำชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมตัวกันที่กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดประจำปี ซึ่งเป็นการหารือนัดสุดท้ายของกลุ่มประชาคมอาเซียนในปีนี้ ท่ามกลางความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มประเทศสมาชิก จากปัญหาวิกฤตเมียนมา การขับเคี่ยวของ 2 มหาอำนาจของโลก อย่างจีนและสหรัฐฯ และประเด็นพิพาททะเลจีนใต้ ซึ่งประเทศสมาชิกต่างมีความเห็นไม่ลงรอยกันและยังไม่พบทางออกของปัญหาดังกล่าว

ที่มา : http://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?ref=A&id=dE5wSll0YWRqRlU9

คาดอัตราการว่างงานกัมพูชาลดลงเหลือร้อยละ 0.3 ภายในปี 2023

คาดอัตราการว่างงานของกัมพูชาจะลดลงเหลือร้อยละ 0.3 ภายในปี 2023 จากร้อยละ 0.4 ในปีที่แล้ว ตามตัวเลขล่าสุดที่เผยแพร่โดยกระทรวงแรงงาน ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ของหน่วยงานสหประชาชาติ (UN) โดยตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าอัตราการว่างงานของกัมพูชาต่ำที่สุดในบรรดาประเทศที่มีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกันและต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อย่างเช่น ไทย เวียดนาม และ สปป.ลาว ในขณะที่อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ในปี 2023 จากร้อยละ 2.6 ในปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501354673/unemployment-rate-to-fall-to-0-3-percent-in-2023/

รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนชงผู้นำไฟเขียวทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล ยุทธศาสตร์คาร์บอน

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 55 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 19-22 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่า การประชุมครั้งนี้ ได้ผลลัพธ์สำคัญที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) และผู้นำอาเซียน ในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ก.ย.2566 โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ การจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) การจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน และปฏิญญาว่าด้วยกรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม ซึ่งผลลัพธ์ดังกล่าวถือเป็นกลไกการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ของอาเซียนที่ตอบสนองเชิงรุกต่อแนวโน้มการค้าของโลกสำหรับการเจรจาจัดทำความตกลง DEFA ได้ตั้งเป้าที่จะเริ่มเจรจาปลายปีนี้ และให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี โดยคาดว่า DEFA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน ให้สูงถึง 4-6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 ส่วนการจัดทำยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจสีเขียวและสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการเร่งรัดดำเนินการตามแผนงานของเสาเศรษฐกิจ เช่น การจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนความตกลง RCEP การใช้เอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน หรือ e-Form D ในระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบทั้ง 10 ประเทศ ภายในปี 2566 โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 124,609.5 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 71,968.5 ล้านดอลลาร์ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 52,641.0 ล้านดอลลาร์ และในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 67,916.2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 38,579.1 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศติดผนัง และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 29,337.1 ล้านดอลลาร์ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ มันสำปะหลัง ข้าวโพด ซึ่งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

ที่มา : https://corehoononline.com/index.php/set/company/showcontent/211469.html

อาเซียนดันการค้าดิจิทัล จัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 55 เมื่อวันที่ 19-22 ส.ค.66 ณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้สรุปผลลัพธ์สำคัญที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) และผู้นำอาเซียน วันที่ 3-7 ก.ย.66 โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) การจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน และปฏิญญาว่าด้วยกรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ของอาเซียนที่ตอบสนองเชิงรุกต่อแนวโน้มการค้าของโลก รวมถึงเตรียมจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนฉบับใหม่ที่จะใช้ภายหลังปี 68 เพื่อยกระดับการรวมตัวของอาเซียนไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ “ที่ประชุมเห็นชอบเอกสารที่จำเป็นในการเปิดเจรจาจัดทำความตกลง DEFA รวมถึงเอกสารผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบของ DEFA เอกสารแนวทางในการเจรจา และร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนในเรื่องนี้ โดยตั้งเป้าจะเริ่มเจรจาปลายปีนี้ และให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี คาดว่า DEFA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าด้านดิจิทัลในอาเซียนให้สูงถึง 400,000-600,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 73 ส่วนยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจสีเขียวและสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค”

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2721446

สปป.ลาว พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะรัฐมนตรีท่องเที่ยวและ Tourism Forum 2024

ขณะนี้ สปป.ลาว กำลังเร่งเตรียมการเพื่อเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีการท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 27 และการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน (ATF) ครั้งที่ 42 ณ นครเวียงจันทน์ ระหว่างวันที่ 22-27 มกราคม ปีนี้ นำโดย Khom Douangchantha อธิบดีกรมการตลาดการท่องเที่ยว ซึ่งได้เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว (MICT) ได้จัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการจำนวน 13 คณะ ซึ่งจะรับผิดชอบในการคัดเลือกสถานที่ และจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัย รวมถึงจัดทำการ์ดเชิญสำหรับผู้นำประเทศต่างๆ โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการประชุมมากกว่า 800-1,000 คน ขณะที่ทางการ สปป.ลาว คาดหวังเป็นอย่างมากว่าจะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 2.7 ล้านคน เพื่อหวังกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/08/28/laos-gears-up-to-host-asean-tourism-ministers-meeting-tourism-forum-2024/

7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังตลาดกลุ่ม RCEP กว่า 4.6 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มูลค่ารวมกว่า 4.59 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามคำแถลงของกระทรวงพาณิชย์ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของกลุ่มประเทศ RCEP คิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั่วโลก (GDP) รวมถึงคิดเป็นร้อยละ 28 ของมูลค่าการค้าโลก และมีเม็ดเงินลงทุนร้อยละ 32.5 ของมูลค่าการลงทุนทั่วโลก ซึ่งข้อตกลงนี้คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการรวมกลุ่มอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และป้องกันแนวโน้มต่อต้านโลกาภิวัตน์ รวมถึงฝ่าวิกฤตการกีดกันทางการค้าระดับโลก ด้านกัมพูชาคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันในตลาดและพัฒนาฐานการผลิตในอาเซียน ไปจนถึงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้อาเซียนเป็นตัวแปรหลักบนห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501346750/cambodias-exports-4-6b-to-rcep-markets-in-first-7-months/

ธนาคารกรุงเทพ วางยุทธศาสตร์สาขาฮ่องกง สู่เกตเวย์ ‘จีน-อาเซียน’

ธนาคารกรุงเทพ วางยุทธศาสตร์ ‘เกตเวย์ จีน-อาเซียน’ ดันสาขาฮ่องกงเป็นหัวหอก เปิดประตูการค้าเอเชียตะวันออก ปูทางสู่โอกาสลงทุนเขตเศรษฐกิจ GBA มั่นใจจุดแข็งประสบการณ์เกือบ 70 ปีในฮ่องกง แถมเครือข่ายสาขาครอบคลุมภูมิภาคอย่างแข็งแกร่ง ขานรับโอกาสจังหวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ขณะเดียวกันพร้อมเปิดต้อนรับเงินทุนจีนไหลเข้าไทย ชี้กลุ่มยานยนต์ EV-ทุนใหญ่ กำลังคึกคัก ชูธง ‘ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค’ พร้อมพาลูกค้าลุยตลาดอาเซียน เป็น ‘เพื่อนคู่คิด’ เติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1374506

เงินเฟ้อไทย ก.ค. 66 เพิ่ม 0.38% ยังต่ำสุดในอาเซียน

นายพูนพงษ์ นัยนาภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนกรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 107.82 เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2556 ที่อยู่ที่ 107.41 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นเพียง 0.38% ซึ่งสูงขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากเทียบเงินเฟ้อไทยกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือน มิ.ย. 2566) พบว่าอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และต่ำที่สุดในอาเซียน นอกจากนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในอีก 5 เดือนที่เหลือ เงินเฟ้อน่าจะเพิ่มขึ้นไม่เกินเดือนละ 1%

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1364174