อัตราเงินเฟ้อ สปป.ลาว แตะระดับ 25.35% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

สปป.ลาว ยังคงเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ขยายตัวอยู่ที่ 25.35% เพิ่มขึ้นจาก 24.44% ในเดือนก่อน โดยเงินเฟ้อในหมวดโรงแรมและร้านอาหารมีการปรับขึ้นราคาสูงสุด ขยายตัวที่ 35.1% แต่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับตัวเลขในเดือนก่อน ขณะที่สินค้าหมวดอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในเดือนนี้ ได้แก่ เสื้อผ้าและรองเท้า การรักษาพยาบาลและยา อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และการสื่อสารและการขนส่ง สินค้าทั้งหมดนี้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ 22.6% ถึง 35.1% โดยมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ประการแรก ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลเวียดนามและตรุษจีน ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น ประการที่สอง ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น โดยดีเซลเพิ่มขึ้น 7% และน้ำมันเบนซิน 5% ส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายลง ประการสุดท้าย การอ่อนค่าของเงินกีบเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐฯ และบาทไทย ส่งผลให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจตึงตัวมากขึ้น โดยเงินกีบอ่อนค่าลง 1.70% และ 0.61% ตามลำดับ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/03/01/laos-inflation-hits-25-35-percent-in-february/

คาด GDP กัมพูชาปีนี้พุ่งแตะ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์

คาด GDP กัมพูชาปีนี้ อาจเพิ่มขึ้นไปแตะมูลค่ารวม 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์ รายงานโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (MEF) นอกจากนี้คาดว่า GDP ต่อหัวจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,071 ดอลลาร์ ภายในปี 2024 เทียบกับมูลค่า 1,917 ดอลลาร์ ในปี 2023 ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 6.6 ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ในปีนี้ อันเป็นผลมาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ขยายวงกว้าง ด้าน Phan Phalla รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเสริมว่า ภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มในระบบเศรษฐกิจกำลังเติบโตได้ดี รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีขึ้น ขณะที่การเพิ่มขึ้นของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกัมพูชาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน นำมาโดยนักลงทุนจากประเทศจีน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501443985/cambodias-gdp-likely-to-touch-35b-this-year-ministry-says/

‘IMF’ ชี้แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม ขยายตัวสูง

นายเปาโล เมดาส หัวหน้าฝ่ายการคลังของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำประเทศเวียดนาม ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ‘Dau Tu’ บอกถึงข้อสังเกตของทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถส่งเสริมการบริโภคและการผลิต ขณะที่เร่งการเบิกจ่ายจากงบประมาณการลงทุนภาครัฐได้อีกด้วย และแนวโน้มชองเศรษฐกิจเวียดนามจะฟื้นตัวได้ดี

ทั้งนี้ ธนาคารกลางควบคุมอัตราเงินเฟ้อของประเทศและบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยไม่สูญเสียทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ดีในปัจจุบันยังไม่เห็นช่องทางในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง

นอกจากนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 5.8% ในปี 2567 เนื่องมาจากได้แรงหนุนจากการส่งออก แต่สิ่งสำคัญที่เวียดนามต้องเร่งแก้ไขอย่างรวดเร็ว คือ ภาคอสังหาฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อตลาดตราสารหนี้ขององค์กร

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-likely-to-maintain-high-economic-growth-in-medium-term-imf-expert-2251714.html

‘ธุรกิจแคนาดา’ เร่งศึกษาตลาดเวียดนาม ดันโอกาสสินค้าและบริการ

สำนักงานพัฒนาการส่งออกของแคนาดา (EDC) ได้ประสานงานกับสำนักงานการค้าเวียดนามในการจัดกิจกรรมสัมมนา ระหว่างวันที่ 27-29 มี.ค. มีคณะผู้แทนธุรกิจของแคนาดา 150 ราย เพื่ออัปเดตสถานการณ์เศรษฐกิจเวียดนาม และประเมินผลการดำเนินงานในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ทั้งนี้ เวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของแคนาดาในกลุ่มประเทศอาเซียน มีมูลค่าการค้าทวิภาคีราว 14 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 นอกจากนี้ยังเป็นคู่ค้าสำคัญของแคนาดาในข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งได้นำโอกาสให้กับสินค้าและบริการของแคนาดาในการเข้าถึงตลาดเวียดนามและอาเซียน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/canadian-enterprises-learn-about-vietnamese-market/279723.vnp

‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ชี้ปี 67แรงกดดันเงินเฟ้อของเวียดนามอยู่ภายใต้การควบคุม

นาย Nguyen Duc Do รองผู้อํานวยการสถาบันเศรษฐกิจและการเงิน กล่าวว่าแรงกดดันเงินเฟ้อของเวียดนามไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องมาจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัว ถึงแม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะมีทิศทางที่ชะลอตัว และมีผลให้การส่งออกของเวียดนามในปีนี้ขยายตัวอย่างค่อนเป็นค่อยไป ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้างและเศรษฐกิจโดยรวมจะได้รับผลกระทบและคาดว่าจะขยายตัวในระดับต่ำในปีนี้ ตลอดจนตลาดอสังหาฯ ของเวียดนามที่ยังคงอยู่ในภาวะซบเซา

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่าเวียดนามควรจับตามองปัจจัยต่างๆ ของภาวะเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเบิกจ่ายโครงการลงทุนภาครัฐ และสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-inflationary-pressure-under-control-this-year-say-experts-post1077608.vov

‘S&P Global’ เผยดัชนี PMI ภาคการผลิตของเวียดนามฟื้นตัวรอบ 5 เดือน

เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำระดับโลก รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเวียดนาม เดือน ม.ค.67 อยู่ที่ระดับ 50.3 จาก 48.9 ในเดือน ธ.ค.66 แสดงให้เห็นว่าภาคการผลิตของเวียดนามฟื้นตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยสาเหตุที่กลับมาฟื้นตัวมาจากยอดคำสั่งซื้อใหม่และผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ นาย Gabor Fluit ประธานหอการค้ายุโรปในเวียดนาม กล่าวว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามไปในทิศทางเชิงบวก และเพื่อรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เวียดนามจำเป็นที่จะต้องมุ่งไปที่การส่งเสริมนวัตกรรม การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับตลาดส่งออกหลักของประเทศ และยกระดับมูลค่าการส่งออก ในขณะเดียวกัน ดร. เลยวีบิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ Economica Vietnam มองว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวได้ดี สังเกตได้มาจากเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัว โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลักที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของสินค้าและบริการเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/sp-global-vietnams-pmi-rebounds-after-five-months/279506.vnp

‘กัมพูชา’ ส่งออกไปเวียดนาม ม.ค. พุ่ง 116%

กรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) เปิดเผยว่ากัมพูชาส่งออกไปยังเวียดนามในเดือน ม.ค.67 อยู่ที่ 373 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 116.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเวียดนามเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของกัมพูชา รองจากสหรัฐฯ

ทั้งนี้ นาย ลิม เฮง (Lim Heng) รองประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวว่าทิศทางการส่งออกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่กัมพูชามีข้อได้เปรียบทางด้านภาษีกับคู่ค้าหลายประเทศ ทั้งในรูปแบบข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีและพหุภาคี

นอกจากนี้ยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกของกัมพูชาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2567 จากการที่สินค้าส่งออกของกัมพูชามีความหลากหลายและมีคุณภาพสินค้าที่แข่งขันด้านราคาได้

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/cambodian-exports-to-vietnam-soar-116-in-january-2024-post1076923.vov

อัตราเงินเฟ้อของลาวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนมกราคม 2567

รายงานล่าสุดจากสำนักงานสถิติลาว ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อของลาว เดือนมกราคม 2567 ขยายตัวที่ 24.44% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 24.37% ในเดือนธันวาคม 2566 ตามราคาสินค้าในกลุ่มที่พักแรมและร้านอาหาร ซึ่งขยายตัว 35.98% เมื่อเทียบกับปีก่อน หมวดสินค้าอื่นๆ ที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อของลาวเดือนนี้ ได้แก่ หมวดเสื้อผ้าและรองเท้า ขยายตัว 33.38% หมวดการดูแลทางการแพทย์และยา ขยายตัว 31.03% หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัว 25.26% และหมวดของใช้ในครัวเรือน ขยายตัว 24.50% จากผลของความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล ส่งผลให้ราคาอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อของลาว ทั้งนี้ ธนาคารแห่ง สปป.ลาว (BOL) จะพยายามลดอัตราเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ 9.0% หรือตัวเลขหลักเดียวภายในสิ้นปี 2567 โดยรับประกันว่ารายได้จากการส่งออกจะเข้าสู่ระบบธนาคาร

ที่มา : https://english.news.cn/asiapacific/20240207/ac65e13de9894ca99c4f3743321973ee/c.html

IMF รายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชาโต 5.3% ในปี 2023

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในช่วงปี 2023 เติบโตกว่าร้อยละ 5.3 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม อย่างไรก็ตามความเสี่ยงก็ยังคงมีอยู่มาก โดยเฉพาะการเติบโตที่อ่อนแอของสหรัฐฯ ซึ่งครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของการส่งออกของกัมพูชาอีกทั้งเศรษฐกิจจีนยังคงมีความเสี่ยงในหลายด้าน นอกจากนี้ ภาวะการเงินที่ตึงตัวของสหรัฐฯ และระดับหนี้ภาคเอกชนในกัมพูชาที่สูงอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของประเทศ ภายใต้ภาวะขาดดุลทางด้านการคลัง โดยคาดว่านับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปการขาดดุลของกัมพูชาจะขาดดุลลดลง ตามความมุ่งมั่นของทางการกัมพูชาที่ได้กำหนดไว้ ภายใต้มาตรการที่กำหนดไว้อย่างอย่างครอบคลุม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501434518/cambodias-economy-projected-to-have-grown-by-5-3-in-2023-imf/

‘เวียดนาม-จีน’ ยอดค้าชายแดนพุ่ง โอกาสเติบโตสูงในอนาคต

คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจประตูชายแดนดงดัง-ลางเซิน เปิดเผยว่าสัปดาห์แรกของปีนี้ มีรถบรรทุกขนส่งสินค้าผ่านด่านชายแดน 6 แห่งในจังหวัดหลั่งเซิน จำนวนมากกว่า 300 คัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และมีรถบรรทุกสินค้าส่งออกเฉลี่ย 400 คัน และรถบรรทุกสินค้านำเข้าประมาณ 800 คัน โดยตัวแทนของคณะกรรมการระบุว่าความต้องการของตลาดจีนสำหรับสินค้าเกษตรและผลไม้สดของเวียดนามมีมากขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน ในขณะที่ผู้ประกอบการเวียดนามจำเป็นที่จะต้องนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและชิ้นส่วนประกอบเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศที่สูงขึ้น ทำให้มูลค่าการค้าชายแดนสูงขึ้นอย่างมาก

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-china-see-surge-in-border-trade-with-more-to-come/278112.vnp