นายกฯ คาดส่งออกข้าวปี 66 ทะลุ 8 ล้านตัน ดันไทยกลับเป็นที่ 2 ของโลก

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานความคืบหน้าการส่งออกข้าวของไทย และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทยตั้งแต่ปี 2563-2567 ผลักดันไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตและการตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก โดยนายกเชื่อมั่นว่าการส่งออกข้าวไทย ปี 2566 จะเป็นไปตามการคาดการณ์ ที่ยอดมากกว่า 8 ล้านตัน และไทยกลับมาเป็นอันดับที่ 2 ประเทศส่งออกข้าวของโลก ซึ่งยอดส่งออกข้าวในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 นี้ มีปริมาณสูงถึง 2.62 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.41 ด้านโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลผลักดันให้เกิดการกระชับสัมพันธ์คู่ค้าสำคัญ และการหากลุ่มลูกค้าใหม่ให้ครอบคลุมตลาดข้าวมากขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย ได้แก่ อิรัก อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และจีน ประกอบกับ ที่ผ่านมาไทยเพิ่มโอกาสทางการค้าด้วยการจัดคณะผู้แทนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ เช่น ฮ่องกง จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้ และเพิ่มโอกาสด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น งาน China–ASEAN Expo (จีน) งาน Fine Food (ออสเตรเลีย) และงาน ANUGA (เยอรมนี) เป็นต้น

ที่มา : https://www.naewna.com/business/740713

“เมียนมา” เผยเดือน พ.ค. ดันส่งออกพุ่ง 110,000 ตัน ในปีงบประมาณ 66-67

ตามข้อมูลของสหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) ระบุว่าเมียนมาส่งออกข้าวและปลายข้าวไปยังตลาดต่างประเทศในเดือน พ.ค. มากกว่า 110,000 ตัน ในปีงบประมาณ 2566-2567 รวมทั้งข้าว 46,786 ตัน และปลายข้าว 63,920 ตัน ทั้งนี้ ช่องทางการส่งออกข้าวส่วนใหญ่ของเมียนมาผ่านทางทะเล 102,801 ตัน ในขณะที่ผ่านทางชายแดน 7,905 ตัน นอกจากนี้ เมียนมาได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวไว้ที่ 2.5 ล้านตันในปีงบประมาณ 2566 และทำรายได้จากการส่งออกข้าวราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดจีนเป็นประเทศหลักของการส่งออกข้าวของเมียนมา ด้วยปริมาณมากกว่า 775,000 ตัน รองลงมาเบลเยียม 323,000 ตัน บังกลาเทศ 239,000 ตัน และฟิลิปปินส์ 202,000 ตัน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เมียนมาตั้งเป้าที่จะส่งเสริมการส่งออกข้าว 10% ต่อปี โดยให้ความสำคัญกับการส่งออกข้าวเกรดสูงและเพิ่มปริมาณการส่งออก

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-ships-over-110000-tonnes-of-rice-in-may-2023-2024-fy/#article-title

“เมียนมา” เผยเดือน เม.ย. ส่งออกข้าวลดลง 47,888 ตัน

กลุ่มสหพันธ์ข้าวของเมียนมา (MRF) เปิดเผยว่าปริมาณการส่งออกข้าวของเมียนมาในเดือน เม.ย. 2566 ลดลงเหลือ 47,888 ตัน หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ 144,034.86 ตัน โดยมาเลเซียเป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเมียนมาในเดือน เม.ย. ด้วยปริมาณ 8,050 ตัน ขณะที่เบลเยียมเป็นผู้นำเข้าข้าวหัก (Broken Rice) มากที่สุดจากเมียนมา มีปริมาณการนำเข้าสูงถึง 15,725 ตัน ทั้งนี้ เมียนมาทำรายได้จากการส่งออกข้าวและปลายข้าว อยู่ที่ 853,472 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นปริมาณการส่งออกมากกว่า 2.2 ล้านตัน ในช่วงปีงบประมาณ 2565-2566 นอกจากนี้ ข้าวเป็นพืชผลทางการเกษตรที่มีการเพาะปลูกมากที่สุดในเมียนมา รองลงมาถั่วและถั่วพัลส์ (Pulses)

ที่มา : https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2023/05/10/myanmar039s-rice-exports-decline-to-47888-tonnes-in-april

ไตรมาส 1 กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศขยายตัวร้อยละ 3.5

กัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังตลาดต่างประเทศปริมาณรวม 176,581 ตัน ในช่วงไตรมาสแรกของปี คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากปริมาณ 170,539 ตัน ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว รายงานโดยสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) ซึ่งจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวสารรายใหญ่ของกัมพูชาคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 48 ของการส่งออกข้าวสารทั้งหมดของกัมพูชา ในช่วงไตรมาสแรกที่ปริมาณ 84,773 ตัน ขณะที่ Chan Sokheang ประธาน CRF ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าวสารของกัมพูชาทั้งปีที่ 750,000 ตัน ในปี 2023 และขึ้นเพิ่มขึ้นไปแตะที่ 1 ล้านตัน ในช่วงปี 2025

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501279579/cambodias-milled-rice-export-up-3-5-pct-in-q1/

“เวียดนาม” เผยส่งออกข้าวพุ่ง หลังวิกฤตขาดแคลนข้าวโลก

จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าว 1.85 ล้านคัน คิดเป็นมูลค่า 981.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.4% และ 34.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ โดยฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากเวียดนามประมาณ 9 แสนตันในไตรมาสแรกของปีนี้ และคาดว่าจะสั่งซื้อข้าวเพิ่มขึ้นในอนาคตข้างหน้า ทั้งนี้ ฟิทช์ โซลูชันส์ (Fitch Solutions) บริษัทวิจัยด้านการเงินการลงทุน ชี้ว่าปัญหาการขาดแคลนข้าวทั่วโลก เป็นวิกฤตที่รุนแรงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าปริมาณการขาดแคลนข้าวทั่วโลกจะอยู่ที่ 8.7 ล้านตันในปี 2565-2566 ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าตลาดข้าวจะอยู่ในทิศทางที่เป็นบวก โดยเฉพาะข้าวของเวียดนามที่ได้รับประโยชน์ เนื่องจากความต้องการอาหารสำรองที่เพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-rice-exports-surge-on-supply-crunch-post1016127.vov

ราคาส่งออกข้าวเวียดนาม ‘พุ่ง’

จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม ระบุว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามเพิ่มขึ้น 9.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) อยู่ที่ 532 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน การส่งออกข้าวมีปริมาณกว่า 1.79 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 952 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากสัดส่วนของข้าวคุณภาพสูงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวหอม ข้าวเหนียวและข้าวพันธุ์พิเศษ เป็นต้น หากคิดเป็นสัดส่วนจะเห็นได้ว่าข้าวคุณภาพสูงมีสัดส่วนถึง 50% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด และในปัจจุบันราคาขายอยู่ที่ราว 600 – 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าสถานการณ์การส่งออกข้าวของเวียดนามยังอยู่ในทิศทางที่สดใส เนื่องจากส่วนแบ่งทางการตลาดของข้าวคุณภาพสูงที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก ทำให้ความต้องการอาหารในการสะสมเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/rice-export-prices-on-the-rise/251650.vnp

“เมียนมา” เผยราคาข้าวในประเทศขยับขึ้น

จากข้อมูลของศูนย์ค้าส่งข้าววาดัน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 เปิดเผยว่าราคาข้าวหอมปอว์ ซาน (Paw San) อยู่ที่ประมาณ 72,000 – 90,000 จั๊ตต่อกระสอบ ขึ้นอยู่กับพื้นที่การผลิต ได้แก่ Shwebo, Myaungmya, Dedaye, Pyapon และ Pathein เป็นต้น และจากข้อมูลเมื่อวันที่ 3 เมษายน พบว่าราคาข้าวหอมปอว์ ซาน ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นราว 75,000 – 93,000 จั๊ตต่อกระสอบ รวมถึงราคาข้าวพันธุ์ต่างๆ ขยับเพิ่มสูงขึ้น 1,000 – 3,000 จั๊ตต่อกระสอบภายในระยะเวลาเพียง 3 วันเท่านั้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/rice-price-move-upwards-in-domestic-market/#article-title

ไพรแวก ถูกจัดให้เป็นจังหวัดที่สามารถผลิตข้าวได้เป็นอันดับต้นๆ ของกัมพูชา

ไพรแวก ถูกจัดให้เป็นจังหวัดที่สามารถผลิตข้าวได้เป็นอันดับต้นๆ ของกัมพูชา โดยเฉพาะเพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ กล่าวโดย Chea Somethy ผู้ว่าการจังหวัดไพรแวง จากข้อมูลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจังหวัดไพรแวกสามารถผลิตข้าวเปลือกได้มากกว่า 7 ล้านตัน หรือเฉลี่ยมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งหลังหักจากการบริโภคภายในจังหวัดแล้ว พบว่ามีข้าวเปลือกส่วนเกินกว่า 5 ล้านตัน และได้ทำการกระจายไปยังตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างรายได้ประมาณกว่า 1,250 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบัน Ouk Samnang ผู้อำนวยการกรมวิชาการเกษตร ป่าไม้ และประมงจังหวัดไพรแวง กล่าวเสริมว่า การขยายตัวของผลผลิตข้าวในจังหวัดมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชลประทาน จนทำให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวได้หลายครั้งต่อปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501261721/prey-veng-the-biggest-rice-producer-in-cambodia/

“ข้าวเวียดนาม” ส่งออกเติบโตแข็งแกร่งในปี 2566

นาย Pham Van Chinh ผู้อำนวยสำนักงานการส่งออกและนำเข้าของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) กล่าวขอบคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนอย่างทันท่วงที ทำให้ในปีที่แล้ว เวียดนามส่งออกข้าวได้ 7.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13.8% ในเชิงปริมาณ และ 5.1% ในเชิงมูลค่า เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่งผลให้เวียดนามเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และในปีนี้คาดการณ์ว่าเวียดนามจะส่งออกข้าวประมาณ 6.5 – 7 ล้านตัน เนื่องจากความต้องการข้าวคุณภาพสูงของเวียดนามเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมอาหารเวียดนาม ระบุว่าราคาส่งออกข้าวของเวียดนามยังคงเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท เปิดเผยว่าการผลิตข้าวเพื่อการส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในขณะที่ในภูมิภาคอื่นๆ นั้นผลิตข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-rice-sector-expected-to-win-big-with-exports-in-2023-post1003250.vov

กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกข้าวสารแตะ 1 ล้านตัน ภายในปี 2025

สมาพันธ์ข้าวกัมพูชาตั้งเป้าส่งออกข้าวสารอย่างน้อย 1 ล้านตัน ภายในปี 2025 ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับตัวเลขการส่งออกในปี 2022 โดยภายในปี 2023 กัมพูชาตั้งเป้าที่จะส่งออกข้าวสารให้ได้ 750,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับการส่งออกในปี 2022 ที่ 637,004 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 414 ล้านดอลลาร์ รายงานโดย Chan Sokkheang ประธานสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) นอกจากนี้ CRF ยังร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ผ่านโครงการ Green Trade เพื่อเข้าถึงตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ และขยายศักยภาพทางการตลาดด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในโซนตะวันออกกลางและสหภาพยุโรป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501230991/cambodia-eyes-exporting-1-million-tons-milled-rice-by-2025/