‘ภูมิธรรม’ มอบนโยบาย ‘กรมเจรจาฯ’ ลุยเปิด FTA กับตลาดใหม่ หนุนเกษตรกร SMEs เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ตรวจเยี่ยมและประชุมมอบนโยบายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา พร้อมด้วยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คณะที่ปรึกษา และคณะทำงาน โดยนายภูมิธรรม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อขยายโอกาสให้สินค้าและบริการของไทย รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยเฉพาะสาขาเป้าหมายที่จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศ จึงได้สั่งการให้กรมมุ่งการเจรจาเชิงรุกเพื่อเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ๆ และจัดทำแผนการเจรจา FTA ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดลำดับความสำคัญและเร่งด่วน โดยคำนึงถึงประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหภาพยุโรป (อียู) ที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรมากกว่า 447 ล้านคน สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นนักลงทุนในระดับโลก และเกาหลีใต้ ที่จะเตรียมเปิดเจรจาเพิ่มเติมในปี 2567 ซึ่งจะช่วยสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีความเข้มแข็งในการผลักดัน Soft Power ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

ที่มา : https://www.dtn.go.th/th/content/category/detail/id/22/iid/12547

กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงพิมพานต์ดิบและยางแตะ 1.2 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรอย่างเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบและยางพารามูลค่ารวมกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2023 ตามรายงานของทางการกัมพูชา สำหรับการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมะดิบมีปริมาณรวมทั้งสิ้น 615,000 ตัน ที่มูลค่า 831 ล้านดอลลาร์ รายงานโดยสมาคมผู้ปลูกมะม่วงหิมะของกัมพูชา ซึ่งคิดเป็นการส่งออกไปยังเวียดนามในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมปีนี้ลดลงร้อยละ 16.7 ขณะเดียวกัน กรมการยางพารารายงานว่า กัมพูชาส่งออกยางแห้งปริมาณรวม 283,829 ตัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นด้านปริมาณร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่คิดเป็นมูลค่า 376.6 ล้านดอลลาร์ ลดลงในแง่มูลค่าร้อยละ 7.3

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501399578/cambodia-makes-1-2-bln-from-exports-of-raw-cashew-nuts-rubber-in-10-months/

นายกฯ สปป.ลาว แนะชาวพงสาลีผลิตสินค้าเกษตรและหัตถกรรมเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น

นายกรัฐมนตรี สนชัย สีพันโดน แนะนำหน่วยงานในเมืองพงสาลีให้กระตุ้นการพัฒนาแต่ละท้องถิ่นตามศักยภาพในการปลูกพืช ผลิตสินค้าหัตถกรรม และเลี้ยงปลา เพื่อการส่งออก และยังได้แนะนำให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสอนชาวบ้านถึงวิธีที่ดีที่สุดในการปลูกพืชและเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อเพิ่มผลผลิต ตลอดจนยกระดับมาตรฐานการศึกษาและขยายเครือข่ายการดูแลสุขภาพให้กับทุกหมู่บ้าน นอกจากนี้ ได้เข้าเยี่ยมชมหมู่บ้านหนองกินลี ซึ่งชาวบ้านบางส่วนถูกย้ายออกจากหมู่บ้านกอมานใหม่ หลังถูกน้ำท่วมขณะสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำอู โดยเจ้าหน้าที่หมู่บ้านหนองกินลีสรุปปัญหาที่ชาวบ้านกำลังเผชิญอยู่รวมถึงการดำเนินกิจการเหมืองถ่านหินบริเวณรอบหมู่บ้าน ซึ่งทำให้สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนแย่ลง นอกจากนี้ พวกเขาไม่มีที่ดินเพียงพอที่จะปลูกพืชผลและการเข้าถึงพื้นที่เพาะปลูกของพวกเขาก็ทำได้ยาก ปัญหาอีกประการหนึ่งคือไม่มีระบบชลประทานเพียงพอที่จะใช้เพาะปลูก ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ขอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาจัดสร้างระบบน้ำบาดาลให้มีน้ำเพียงพอกับความต้องการของชาวบ้าน

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_234_PM_y23.php

ผู้ประกอบการกัมพูชาคาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

สมาคมนักลงทุนนวัตกรรมและการพัฒนา (IDI) กล่าวว่า ผู้ประกอบการและผู้ผลิตชาวกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารแปรรูปไปยังตลาดสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น หลังผู้ประกอบการกว่า 90 ราย ได้ไปเยือนยังสหรัฐฯ เพื่อสำรวจโอกาสในการหาพันธมิตร เรียนรู้การปฏิบัติตามกฎหมายและขั้นตอนการส่งออก ตลอดจนทำความเข้าใจด้านโอกาสและความท้าทายในการส่งออกผลิตภัณฑ์ของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ โดยการเยือนครั้งนี้จัดขึ้นโดย Innovations and Development Investors Association (IDI) ภายใต้ความร่วมมือกับหอการค้ากัมพูชาในแคลิฟอร์เนีย (AmCham) และผู้ประกอบการกัมพูชา สำหรับตลาดสหรัฐฯ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา คิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาที่มูลค่า 6.8 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรก ลดลงร้อยละ 2.1 จาก 7 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตทั่วไป (GDCE)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501398041/cambodia-entrepreneurs-foresee-rise-in-exports-of-agri-food-products-to-us/

RCEP ดันการเข้าถึงตลาดต่างประเทศของกัมพูชา

Sok Siphana รัฐมนตรีอาวุโสฝ่ายความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการส่งออกของกัมพูชา ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ในระหว่างการบรรยายเรื่อง ‘การวิเคราะห์แง่มุมทางกฎหมายของข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค’ ณ กระทรวงสารสนเทศ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 พ.ย.) ซึ่งสิทธิพิเศษทางการค้าของ RCEP นอกจากจะกระตุ้นทางด้านการค้าแล้ว ยังส่งผลต่อภาคการลงทุน และการไหลเวียนของภาคประชาชนข้ามพรมแดนมากขึ้น จากการเร่งบูรณาการทางเศรษฐกิจและการค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ RCEP มูลค่ารวม 5.8 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มูลค่า 4.7 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นกว่าสัดส่วนร้อยละ 33 ของการส่งออกรวมกัมพูชาที่มีมูลค่ารวม 17.59 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 3 ไตรมาสของปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501395909/rcep-helps-international-market-access-to-cambodia/

อินโดนีเซียตั้งเป้าดันการค้าระหว่างกัมพูชาติดอันดับ 5 ประเทศคู่ค้ารายสำคัญ

ปัจจุบันอินโดนีเซียถือเป็นคู่ค้ารายสำคัญอันดับที่ 6 ของกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์ ในปัจจุบัน เน้นหนักไปที่การส่งออกถ่านหินของกัมพูชา และการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของอินโดนีเซียมายังกัมพูชา โดยอินโดนีเซียตั้งเป้าดันการค้าระหว่างกัมพูชาติดอันดับที่ 5 ภายในปีหน้า ซึ่ง ดร.Santo Darmosumarto เอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย ประจำกัมพูชา ได้กล่าวไว้ในระหว่างการพูดคุยกับ Khmer Times สื่อประจำท้องถิ่น รวมถึงยังได้พูดคุยถึงความท้าทายที่ต้องเผชิญต่อภาคการค้าระหว่างอินโดนีเซียและกัมพูชา โดยปัจจุบันความเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ภายในกัมพูชายังคงต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่สูง ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนามและไทย ได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตยังได้กล่าวเสริมว่ากัมพูชายังมีศักยภาพอีกมากมาย สำหรับการพัฒนาความร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น ภาคเกษตรกรรม รวมถึงศักยภาพของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งกำลังเร่งฟื้นตัวจากสถานการณ์ต่างๆ ในช่วงก่อนหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501395286/indonesia-aims-to-achieve-top-five-status-as-cambodias-trade-partner/

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้ายอดค้าระหว่างประเทศ แตะ 700 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เชื่อยากจะสำเร็จ

จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ระบุว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามมีรายได้จากการส่งออกและนำเข้า อยู่ที่ 558 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 9.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี การส่งออกและการนำเข้า ลดลง 9.6% และ 7.1% ตามลำดับ ซึ่งจากสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศดังกล่าว ทำให้ยากที่จะบรรลุเป้าหมายในปีนี้ เนื่องจากเผชิญกับความท้าทายหลายประการจากตลาดโลกในปัจจุบัน โดยได้ตั้งเป้ามูลค่าการนำเข้าและส่งออกในปีนี้จะอยู่ที่ 700 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเหตุนี้ ทางกระทรวงฯ จึงออกมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการส่งออกของธุรกิจ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/importexport-target-of-700-billion-usd-tough-to-complete/271561.vnp

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ลดลงเกือบ 17% หลังได้รับผลกระทบ

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) ลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคมการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวลดลงร้อยละ 16.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลการค้าล่าสุดของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งได้รายงานการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชาไว้ที่มูลค่า 8.96 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี ซึ่งลดลงอย่างมากจาก 10.78 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้ภาคการจ้างงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการจ้างงานลดลง ด้านผู้เชี่ยวชาญได้ระบุเสริมว่านอกจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากภาวะสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ภาคการส่งออกของกัมพูชายังได้รับผลกระทบจากการไม่ต่ออายุระบบสิทธิพิเศษทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และการลดสิทธิประโยชน์บางรายสินค้าจาก สิทธิพิเศษทางภาษี (EBA) ของสหภาพยุโรป (EU) ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT เป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ การส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยังสหภาพยุโรปของกัมพูชาลดลงจาก 4.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 เหลืออยู่ที่มูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 และลดลงร้อยละ 20 หรือคิดเป็นมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501393555/global-headwinds-keep-cambodias-gft-exports-down-nearly-17-percent/

ศูนย์อุตฯ ฮาลาล เพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทย

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ได้เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยไปยังตลาดโลก โดยจากข้อมูลในปี 2564 ตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2.325 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยเติบโตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี และในปี 2565 มูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยมีมูลค่า 213,816 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 2.7% เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ซึ่งอาหารฮาลาลส่งออกของไทยส่วนใหญ่ 78% เป็นฮาลาลโดยธรรมชาติ ส่วนที่เหลือ 22% ต้องผ่านการรับรองฮาลาล โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์และอาหารพร้อมรับประทาน ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ผ่านกลไกคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) และการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งภารกิจของศูนย์ดังกล่าวครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเร่งรัดจัดทำข้อตกลงทางการค้าเพื่อเปิดตลาด ส่งเสริมการขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ และประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ (National Focal Point) และด้านพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน

ที่มา : https://www.naewna.com/business/770216

โอกาสส่งออกของมะพร้าวเวียดนามในตลาดสหรัฐฯ และจีน

คุณ Bui Duong Thuat ผู้อำนวยการของบริษัท Mekong Fruit Export กล่าวว่าตลาดสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้ามะพร้าวรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน เนื่องมาจากได้มีการนำเข้ามะพร้าวสดประมาณ 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี ในขณะที่บริษัทเวียดนามส่งออกมะพร้าวสดไปยังตลาดสหรัฐฯ ราว 110-120 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อปี แสดงให้เห็นว่ายังมีโอกาสเติบโตของมะพร้าวเวียดนามในตลาดดังกล่าวอีกมาก นอกจากนี้ ในพื้นที่ของจังหวัดเบ๊นแจ (Ben Tre) พบว่ามีบริษัท 5 แห่งที่ทำการส่งออกมะพร้าวสดไปยังตลาดต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน (จีน) ออสเตรเลียและแคนาดา เป็นต้น และยังมีบริษัทประมาณ 20 แห่งที่ลงทะเบียนเพื่อรับรหัสหีบห่อและรหัสพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งช่วยให้สามารถส่งออกมะพร้าวไปยังตลาดจีนได้

ที่มา : https://en.nhandan.vn/opportunity-for-vietnams-coconut-exports-to-us-china-post131272.html