ส่งออกกับชาติคู่ค้า FTA คึกคัก 4 เดือนโต 13.18%

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าของไทยกับประเทศคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วยจำนวน 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ในช่วง 4 เดือนของปี 2564 (มกราคม-เมษายน) มีมูลค่า 108,826.75 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.18% คิดเป็นสัดส่วน 63.84% ของการค้ารวมของไทย โดยเป็นการส่งออกไป 18 ประเทศคู่ FTA มูลค่า 52,627.81 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.45%

ที่มา : https://www.naewna.com/business/577528

‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ชี้ ความตกลงการค้าเสรีของเวียดนาม ผลักดันการส่งออกและนำเข้า

ผู้เชี่ยวชาญ เผยไตรมาสแรก ยอดการส่งออกและนำเข้าของเวียดนาม เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบเป็นรายปี ได้รับแรงหนุนมาจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) หากแบ่งออกเป็นการส่งออก เพิ่มขึ้น 22% และการนำเข้า 26.3% ทำให้เวียดนามเกินดุลการค้าราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าประเทศกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งทั้งด้านการผลิตและการค้าในประเทศ ถึงแม้จะเผชิญโควิด-19 ระบาด ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. Pham Tat Thang อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าหลังจากข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรป (EVFTA) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ยอดการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ เพิ่มขึ้น 18% ในเดือนมกราคมจนถึงมีนาคม ปีนี้ ในขณะที่การส่งออกไปยังประเทศสมาชิกในข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก (CPTPP) เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาเดียวกัน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/expert-vietnams-ftas-driving-up-exportsimports/201562.vnp

กัมพูชาพยายามรักษาปริมาณการค้าระหว่างเกาหลีใต้

การส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ยังคงเติบโตในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการในสินค้าของกัมพูชาที่กำลังฟื้นตัวและจากข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ที่ส่งผลให้ปริมาณการค้าทวิภาคีเพิ่มสูงขึ้น โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนปีนี้กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีใต้มูลค่ารวม 124 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามข้อมูลของสมาคมการค้าระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ ส่วนกัมพูชาทำการนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้รวม 194 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นการค้าทวิภาคีรวม 318 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ซึ่งสินค้าสำคัญของกัมพูชาที่ส่งออกไปยังเกาหลีใต้ ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า สินค้าที่เกี่ยวกับเดินทาง เครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า ยาง ยา และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ในขณะที่สินค้านำเข้าหลักจากเกาหลี ได้แก่ ยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในครัว เครื่องดื่ม ยา และผลิตภัณฑ์พลาสติก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50858257/cambodia-maintains-exports-to-south-korea/

WTO ชมเวียดนามทำ FTA 15 ฉบับ-ลดความยากจน เหลือ 6% ดันจีดีพีโตฝ่าโควิด

สมาชิก WTO ถกทบทวนนโยบายการค้าเวียดนาม ชื่นชมเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ฝ่าโควิด ปี 63 โต 2.9% หลังเร่งเครื่องเอฟทีเอ 15 ฉบับ พร้อมลดความยากจนที่จาก 70% เหลือ 6% คาดเข้าขยับเป็นประเทศรายได้สูงที่พัฒนาแล้วได้ ปี 2585 ด้านไทยใช้โอกาสนี้แสดงความกังวลเรื่องขั้นตอนการนำเข้ารถยนต์-การวางตลาดผลิตภัณฑ์ยา ขอยึดมั่นในข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่ตนมีส่วนร่วมไว้อย่างเคร่งครัด

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-667895

ไทยร่วมถกอัปเกรดเอฟทีเอ “ออสซี-กีวี” ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ครั้งที่ 12 เพื่อปรับปรุงความตกลงให้ทันกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน หลังบังคับใช้มาครบ 10 ปี หรือตั้งแต่ปี 53 ว่า ที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นที่ควรจะปรับปรุง เช่น มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี, กฎถิ่นกำเนิดสินค้า, การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเอง, พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น ตั้งเป้าหมายปรับปรุงให้เสร็จภายในปี 65 สำหรับเอฟทีเอดังกล่าว มีบทบาทต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจากอาเซียนทุกรายการแล้ว ส่วนไทยได้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าจาก 2 ประเทศในสัดส่วน 98% ของสินค้าที่ค้าขายกัน การส่งออกของไทยไป 2 ประเทศไตรมาสแรกของปีนี้ มีมูลค่า 3,432.75 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 21.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวปีก่อน สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ขนส่งน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน, รถยนต์ขนาดเครื่องยนต์ 1,500-2,500 ซีซี,ปลาทูน่าแปรรูป เป็นต้น

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2090840

พาณิชย์ เร่งเครื่องปิดดีลเอฟทีเอพร้อมลุยเจรจากรอบใหม่

รมช.พาณิชย์ มอบนโยบายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งปิดดีล เอฟทีเอทั้งกับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา ซึ่งประเทศเหล่านี้จะเป็นประตูการค้าให้ไทยเข้าสู่ภูมิภาคต่างๆ เช่น เอเชียใต้ ยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง เป็นต้น รวมทั้งปรับปรุงเอฟทีเอ ที่มีอยู่ในปัจจุบันกับคู่ค้าที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูง เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย และอาเซียน-เกาหลีใต้ เป็นต้น เพื่อขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนของไทย โดยสามารถดำเนินการหารือได้ทันที ผ่านระบบการประชุมทางไกลออนไลน์ พร้อมเปิดเจรจาเอฟทีเอ คู่ค้าใหม่ อาทิ อียู เอฟต้า และแคนาดา เพื่อหาตลาดใหม่และสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าส่งออกของไทยในต่างประเทศ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/936435

ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่โตเร็วที่สุด นับตั้งแต่ปี 60

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ จำนวนยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่อยู่ที่ 44,200 ราย ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 27.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีจำนวนการจ้างงาน 340,300 คน เพิ่มขึ้น 17.5%, 41% และ 7.8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเติบโตเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2560 และเติบโตไปยังทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คุณ Pham Dinh Thuy ผู้อำนวยการแผนกอุตสาหกรรม สำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่าปัจจุบัน จำเป็นต้องกระตุ้นการลงทุนของผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อตลาดโลกกลับมาเปิดอีกครั้งและใช้โอกาสจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สนับสนุน เพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/newly-established-firms-grow-at-fastest-pace-since-2017/200948.vnp

จีนอนุมัติการส่งออกมะม่วงของกัมพูชาอย่างเป็นทางการ

จีนได้อนุมติให้กัมพูชาสามารถส่งออกมะม่วงที่ผลิตในท้องถิ่นของกัมพูชาและทำการแปรรูปในกลุ่มโรงงานขนาดเล็กที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ภายในประเทศกัมพูชาโดยจีน ซึ่งหน่วยงานบริหารทั่วไปของกรมศุลกากรจีน (GACC) อนุมัติโรงงานแปรรูปมะม่วง 5 แห่ง และสวนมะม่วงจำนวน 37 แห่ง อย่างเป็นทางการ โดย GACC ได้ทำการประกาศในสัปดาห์นี้และเปิดเผยรายชื่อโรงงานที่ได้รับอนุมัติได้แก่ Hyundai Mao Legacy Co Ltd., Shangda Jian Hui International Agriculture Product and Logistics Co Ltd., Al Jazeelan Food PTE Ltd., Long Wo Agriculture (Cambodia) Co Ltd. และ Boeung Ket Fresh Fruits Co Ltd. ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วเจ้าหน้าที่ของจีนและกัมพูชาได้ร่วมกันประเมินฟาร์มและโรงงานแปรรูปหลายแห่งเพื่อประเมินถึงความสามารถในการผลิตมะม่วงเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนได้หรือไม่ โดยทั้งจีนและกัมพูชาได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่าการส่งออกมะม่วงของกัมพูชาจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้สนธิสัญญาการค้าฉบับใหม่

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50846766/mangoes-receive-official-approval-for-export-to-china/

บทบาท RCEP ต่อการค้าในกลุ่มประเทศ CLMVT

โดย ดร.ปพน เกียรติสกุลเดชา (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2020 สมาชิกทั้ง 15 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ปิดฉากการเจรจาที่ยาวนานถึง 8 ปี ของข้อตกลงทางการค้าพหุภาคี (multilateral FTA) ฉบับล่าสุดนี้ ถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีขนาดเศรษฐกิจรวมคิดเป็น 29% (25.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ของ GDP โลก ครอบคลุมประชากรโลกราว 30% (2.3 พันล้านคน) และมีปริมาณการค้าสินค้าและบริการรวมกันคิดเป็น 25% (12.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ของทั้งโลก  ซึ่งในการเจรจา RCEP กลุ่มสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศถือเป็นหัวเรือใหญ่ในการรวบรวมข้อตกลงการค้าทวิภาคี ASEAN Plus One  (ซึ่งแต่ละฉบับเป็น FTA ระหว่างกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศกับคู่ค้าหลักร่วมกัน) เข้ากับ 5 ประเทศคู่ค้าสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

รูปที่ 1 : RCEP จะช่วยลดภาษีนำเข้าและมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ระหว่างสมาชิกในภาคี โดยประเทศที่ได้รับผลบวกจากการลดภาษีมากที่สุดคือญี่ปุ่น จีน และนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ประโยชน์จากการลดภาษีได้ในอัตราที่สูง ขณะที่ประเทศกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะ CLMVT จะได้ผลบวกน้อยกว่าเนื่องจากมีภาษีนำเข้าในอัตราที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว

สำหรับผลประโยชน์ทางการค้าจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้ RCEP นั้น คาดได้ว่าจะเอื้อประโยชน์กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์มากที่สุด ในขณะที่ผลประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะไทยและประเทศ CLMV นั้น คาดว่าจะอยู่ในวงจำกัด ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุจากการที่ RCEP นับเป็นข้อตกลงการค้าพหุภาคีฉบับแรกระหว่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งยังเป็นข้อตกลงการค้าเสรีแรกระหว่างญี่ปุ่นและนิวซีแลนด์ จึงทำให้อัตราภาษีนำเข้าของประเทศเหล่านี้ลดลงอย่างมากจากการเติมเต็มช่องว่างเครือข่ายทางการค้า ทางฝั่งอาเซียนและประเทศ CLMVT นั้น เผชิญกับระดับภาษีนำเข้าภายในภูมิภาคที่ต่ำอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากกลุ่มอาเซียนมีความเชื่อมโยงกันทั้งภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และ FTA แบบทวิภาคี ASEAN Plus One กับ 5 ประเทศคู่ค้าหลักที่มีอยู่เดิม

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB) ภายใต้ RCEP จะส่งผลดีกับสมาชิกทุกประเทศอย่างทั่วถึง ต่างจากมาตรการลดภาษี ซึ่งจะทยอยมีผลบังคับใช้ตามรายการสินค้า โดย NTB ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีต้นตอจากความแตกต่างของกฎหมายและระเบียบทางศุลกากร รวมถึงขั้นตอนการผลิตสินค้า ขั้นตอนการจดทะเบียนธุรกิจ และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในแต่ละประเทศในภาคี ซึ่งข้อตกลงการค้าสมัยใหม่ รวมถึง RCEP มีเป้าหมายพื้นฐานที่จะลดผลกระทบจาก NTB เหล่านี้ โดยบัญญัติข้อบทใหม่ต่าง ๆ ที่กำหนดหรือส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกใช้กฎหมายและระเบียบบนมาตรฐานเดียวกันเพื่อสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม

ข้อบทใหม่ที่สำคัญที่สุดสำหรับการยกระดับ FTA ในภูมิภาครวมกันเป็น RCEP ได้แก่ การทำให้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ครอบคลุมทั้งภูมิภาค โดยก่อนการเจรจา RCEP จะเกิดขึ้นกฎ Rules of Origin ที่มีอยู่เดิมครอบคลุมแค่ประเทศในภาคีเท่านั้น หมายความว่าสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากประเทศนอกภาคีเป็นสัดส่วนใหญ่จะไม่เข้าข่ายว่าเป็นสินค้าที่ผลิตภายในประเทศสมาชิก จึงไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA ได้ ตัวอย่างเช่น รถยนต์ที่ผลิตในไทยแต่ใช้ชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA ของอาเซียนได้ แต่หลัง RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว วัตถุดิบผลิตสินค้าจากทั้ง 15 ประเทศในภาคีจะถือรวมเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นทั้งหมด ทำให้ผู้ผลิตในประเทศสมาชิกสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้กฎ Rules of Origin ภายใต้ RCEP จะมีแนวโน้มช่วยยกระดับบทบาทของกลุ่มประเทศ CLMVT ในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ยังตามหลังด้านการพัฒนาอยู่ ซึ่งสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงจูงใจจากเรื่องตำแหน่งที่ตั้งและค่าแรงที่ต่ำกว่าอาจทำให้อุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกหันมาจ้างผลิตจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มากขึ้น

อีกประเด็นสำคัญใน RCEP ได้แก่ ความยืดหยุ่นในข้อตกลงที่มีต่อประเทศในระดับการพัฒนาที่แตกต่างกัน โดยสำหรับกัมพูชา ลาว และเมียนมา นั้น มีข้อปฏิบัติให้ลดภาษีนำเข้าลงเพียง 30% ในปีแรก (เทียบกับ 65% สำหรับประเทศอื่น) รวมทั้งขยายเวลาเป้าหมายลดภาษีนำเข้าให้ได้ 80% ภายใน 15 ปี (เทียบกับ 10 ปีสำหรับประเทศอื่น) นอกจากนี้กัมพูชายังได้รับการยืดระยะเวลาปรับปรุงเทคโนโลยีดิจิทัลที่ด่านศุลกากรออกไปอีกถึง 5 ปี อีกด้วย ข้อกำหนดเฉพาะข้างต้นจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจ CLM ให้เข้ามามีส่วนร่วมในเครือข่ายการค้า RCEP ได้มากขึ้น โดยให้เวลาเตรียมความพร้อมกับทั้ง 3 ประเทศเพื่อปรับขั้นตอนและกฎระเบียบภายในประเทศให้เข้ากับมาตรฐานสากล แต่จำกัดผลกระทบทางลบต่อธุรกิจท้องถิ่น การทยอยปฏิรูปและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในประเทศ บวกกับแรงผลักดันการปรับตัวจาก RCEP จะเป็นผลดีกับการพัฒนาผลิตภาพแรงงานในกัมพูชา ลาว และเมียนมา เพิ่มเติมจากผลประโยชน์จากการค้าที่จะได้รับ

ท้ายที่สุดนี้ คำถามสำคัญที่ตามมาคือประเทศไทยจะได้อะไรจาก RCEP และภาคธุรกิจไทยควรจะวางจุดยุทธศาสตร์อย่างไร ในระยะข้างหน้า หากมองจากผลประโยชน์ต่อการขยายเครือข่ายทางการค้าในภูมิภาคนั้นไทยจัดว่าได้ประโยชน์น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านเมื่อเทียบกับกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับข้อตกลงที่ยืดหยุ่นมากกว่า ในขณะเดียวกันเวียดนามก็ได้ขยายตลาดส่งออกไปกว้างกว่ามากจากสัญญาการค้าพหุภาคีขนาดใหญ่อื่น ๆ นอกเหนือจาก RCEP (EVFTA, CPTPP, EAEU) ซึ่งทางออกสำหรับการค้าของไทยในระยะต่อไปอาจเกิดจาก

1) การเร่งดำเนินการเจรจาเข้าร่วมข้อตกลงการค้าต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว

2) ประเทศไทยอาจสามารถใช้ประโยชน์จากการเติบโตของประเทศเพื่อนบ้าน CLM ในยุคหลัง RCEP โดยธุรกิจไทยสามารถย้ายฐานการผลิตที่ใช้แรงงานสูงไปยังประเทศเหล่านี้ และหันมาเน้นผลิตสินค้าในประเทศที่สร้างมูลค่าเพิ่มจากแรงงานทักษะสูงแทน ซึ่งกฎ Rules of Origin ภายใต้ RCEP จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อไป

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/7526

จุรินทร์’ ลุย MINI-FTA ดันส่งออกทะลุ 4%

จุรินทร์ จัดทัพส่งออกไทยลุยทำมินิเอฟทีเอ เจาะรายเมืองรายมณฑล นำร่องมณฑลไห่หนาน ลงนามปลายเม.ย. หวังยอดส่งออกโตเกิน 4% ด้านเอกชนช่วงเอสเอ็มอีจีนลงทุนร่วมหุ้นผู้ประกอบการไทยสาขาเกษตรและประมง ติดตามได้จากรายงาน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/930396