‘ผปก.ขนาดย่อมของเวียดนาม’ เติบโตสูงสุดรอบ 4 ปี

องค์กรบัญชีรายใหญ่ที่สุดของโลก ‘CPA Australia’ เปิดเผยผลสำรวจผู้ประกอบการขนาดย่อม พบว่า ปี 2567 ผู้ประกอบการขนาดย่อมของเวียดนามส่วนใหญ่ 82% ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ และ 77% เติบโตดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ในขณะที่ 92% หวังว่าธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ นายคริส ฟรีแลนด์ (Chris Freeland) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ CPA Australia กล่าวว่าการมองเขิงบวกในข้างต้นนั้น เป็นผลมาจากกลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมของเวียดนามที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และมีใจเป็นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเวียดนามที่มีอายุน้อย โดยกว่า 70% มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และมีวิสัยทัศน์ระยะยาว กล้ารับความท้าทายในระยะสั้น เพื่อผลกำไรในอนาคต พร้อมทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ แม้จะยังไม่ได้รับการพิสูจน์ก็ตาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-small-business-growth-soars-to-a-four-year-high-post312021.vnp

‘ดัชนี PMI’ ภาคการผลิตเวียดนาม ม.ค. หดตัว

เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) ระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนามในเดือน มกราคม 2568 ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 48.9 จากเดือนธันวาคม 2567 ที่อยู่ระดับ 49.8 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีฯ ในเดือนดังกล่าวปรับตัวลดลง คือ การลดลงของยอดคำสั่งซื้อใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ซึ่งสะท้อนถึงการชะลอตัวของความต้องการจากลูกค้า อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของกลุ่มบริษัทหรือกิจการต่างๆ พบว่าภาคธุรกิจยังคงเผชิญกับอุปสรรคความล่าช้าในการจัดหาวัตถุดิบ โดยระยะเวลาในการจัดส่งของซัพพลายเออร์ล่าช้ามากขึ้น และนับเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงแนวโน้มในปีหน้า พบว่าบริษัทต่างๆ ยังคงมองไปในทิศทางที่เป็นบวก และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 36% คาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1691543/viet-nam-s-manufacturing-pmi-slips-into-contraction-in-january.html

‘สหรัฐฯ’ ยืนยันสถานะทางเศรษฐกิจเวียดนาม หนุนโอกาสส่งออก

ในช่วงต้นเดือน พ.ค.67 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ จัดการประชุมการยอมรับทางเศรษฐกิจแบบตลาดของเวียดนาม พบว่าเวียดนามแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะบรรุหลักเกณฑ์ 6 ข้อที่ไว้ในการเป็นเศรษฐกิจแบบตลาดของประเทศ รวมถึงดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ และอื่นๆ ซึ่งจากการปะเมินของนักวิเคราะห์ ได้เห็นถึงศักยภาพของเวียดนามที่เปิดรับหลักเกณฑ์ต่างๆ ของสหรัฐฯ ได้ดีและเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่าอินโดนีเซีย แคนาดาและฟิลิปปินส์

ในขณะเดียวกัน นาง Nguyen Thi Thu Trang ผู้อำนวยการศูนย์ WTO และหอการค้าและการอุตสาหกรรมของเวียดนาม (VCCI) กล่าวว่าการที่เวียดนามคว้าโอกาสจากการยอมรับสถานะทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯ ถือว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญของผู้ประกอบการเวียดนาม โดยเฉพาะธุรกิจการผลิตและการส่งออก เนื่องจากได้รับการลดหย่อนภาษี นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ก็สามารถกระจายห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจได้มากขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/early-us-recognition-of-market-economy-to-increase-opportunities-for-vietnamese-exports-post288493.vnp

‘ADB’ ช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการหญิงในเวียดนาม

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และธนาคาร Lien Viet Post (LPBank) ร่วมลงนามข้อตกลงโครงการจัดหาเงินทุนทางการเงินให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของธุรกิจ (WSMEs) ในเวียดนาม มูลค่าเงินทุนสูงถึง 80 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการจัดหาเงินทุนดังกล่าว ประกอบไปด้วยเงินกู้จากเงินทุนสามัญของธนาคารเอดีบี 30 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินกู้ร่วม 50 ล้านเหรียญสหรัฐที่มาจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (CEXIM) และความร่วมมือระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ซูซาน กาบูรี ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการภาคเอกชน ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) กล่าวว่าความร่วมมือกับธนาคาร LPBank ในครั้งนี้ จะช่วยเหลือผู้ประกอบการสตรีในเวียดนามและมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ตลอดจนยังช่วยสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจในเวียดนามที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของธุรกิจ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/adb-supports-financial-access-for-women-owned-businesses-in-vietnam-post288523.vnp

‘เวียดนาม’ เผยผปก. SMEs เติบโตบนแพลตฟอร์มอเมซอน ดันส่งออกโต 50%

จากรายงานของแพลตฟอร์มชื่อดัง ‘อเมซอน (Amazon)’ เปิดเผยว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของเวียดนาม เล็งเห็นถึงประโยชน์จากแพลตฟอร์มอเมซอน ทั้งการเพิ่มยอดขายของสินค้าและการสร้างแบรนด์ให้สามารถตีตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งจากข้อมูลสถิติพบว่ายอดการส่งออกของคู่ค้าเวียดนามบนแพลตฟอร์มอเมซอน ขยายตัวกว่า 50% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเฉพาะสินค้าในหมวดของใช้ในครัว สุขภาพ เครื่องแต่งกายและความงามที่กลายเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้มากที่สุดบนแพลตฟอร์มอเมซอน และมีแนวโน้มที่จะผลิตและส่งออกสินค้าประเภทอื่นๆ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น

ทั้งนี้ อีคอมเมิร์ซเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จในการส่งออกของธุรกิจเวียดนาม โดยจำนวนพันธมิตรการขายบนแพลตฟอร์มของอเมซอน เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% และขยายไปสู่ธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่ผู้ค้าปลีกที่มีชื่อเสียงอย่าง ‘Lamer’ ไปจนถึงผู้ผลิตแบบดั้งเดิม ‘Beefurni’ และสตาร์ทอัพอย่าง ‘Tidita’ และ ‘Abera’ ได้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคต่างประเทศ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650393/vietnamese-smes-thrive-on-amazon-export-growing-50.html

บริษัทผู้ผลิตเหล็กมาเลเซีย จัดทำข้อตกลงร่วมกับผู้ประกอบการกัมพูชาในการจัดหาทรัพยากร

บริษัท LEFORM Bhd ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เหล็ก ได้ทำสัญญาร่วมกับ บริษัท Nim Meng Group Co., Ltd. ประเทศกัมพูชา ผ่านบริษัทย่อยอย่าง บริษัท Leform Metal SdnBhd ในการจัดหาทรัพยากรเผื่อการผลิตราวกั้นทางหลวง สำหรับโครงการปรับปรุงถนนแห่งชาติหมายเลข 5 ด้วยมูลค่าสัญญารวมกว่า 1.95 ล้านดอลลาร์ โดยโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งและประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ในกัมพูชา ซึ่งสัญญาดังกล่าวจะเริ่มต้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2024 และสิ้นสุดภายในเดือนธันวาคม 2024

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501398756/listed-malaysian-steel-products-manufacturer-leformbags-supply-deal-in-cambodia-worth-1-9-million/

ผู้ประกอบการกัมพูชาคาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

สมาคมนักลงทุนนวัตกรรมและการพัฒนา (IDI) กล่าวว่า ผู้ประกอบการและผู้ผลิตชาวกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารแปรรูปไปยังตลาดสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น หลังผู้ประกอบการกว่า 90 ราย ได้ไปเยือนยังสหรัฐฯ เพื่อสำรวจโอกาสในการหาพันธมิตร เรียนรู้การปฏิบัติตามกฎหมายและขั้นตอนการส่งออก ตลอดจนทำความเข้าใจด้านโอกาสและความท้าทายในการส่งออกผลิตภัณฑ์ของกัมพูชาไปยังสหรัฐฯ โดยการเยือนครั้งนี้จัดขึ้นโดย Innovations and Development Investors Association (IDI) ภายใต้ความร่วมมือกับหอการค้ากัมพูชาในแคลิฟอร์เนีย (AmCham) และผู้ประกอบการกัมพูชา สำหรับตลาดสหรัฐฯ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา คิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาที่มูลค่า 6.8 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วง 9 เดือนแรก ลดลงร้อยละ 2.1 จาก 7 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตทั่วไป (GDCE)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501398041/cambodia-entrepreneurs-foresee-rise-in-exports-of-agri-food-products-to-us/

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าดันส่งออกสินค้าเกษตรไปยังแอฟริกา

นายห่า กิม หงอก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม กล่าวในที่ประชุมเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ว่าแอฟริกายังคงเป็นเส้นทางการค้าระหว่างเวียดนามและตลาดโลก ในขณะที่เจ้าหน้าของกระทรวงฯ ได้อธิบายถึงข้อมูลในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าการค้าระหว่างทั้งสองประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.7% มูลค่า 4.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ว่าการค้าระหว่างเวียดนามและตลาดโลก หดตัว 11% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ทั้งนี้ จากจำนวนประชาชนแอฟริการาว 1 พันล้านคน และความพร้อมของเวียดนามที่ต้องการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังแอฟริกา ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการเวียดนามควรใช้มาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการส่งเสริมสินค้าเกษตรไปยังตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งด้านคุณภาพและราคาสินค้า

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-aims-to-promote-agricultural-exports-to-africa/270581.vnp

‘เวียดนาม’ เผยยอดจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ต.ค.66 กว่า 15,000 ราย

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (GSO) เปิดเผยว่าเดือนตุลาคม 2566 มีผู้ประกอบการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ จำนวน 15,435 ราย เพิ่มขึ้น 18.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ด้วยมูลค่าทุนจดทะเบียน 126 ล้านล้านดอง ทั้งนี้ จากข้อมูลตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงตุลาคม 2566 เวียดนามมีผู้ประกอบการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั่วประเทศ จำนวนรวมทั้งสิ้น 131,800 ราย ด้วยทุนจดทะเบียน 1.2 ล้านล้านล้านดอง ถึงแม้ว่าจะสะท้อนให้เห็นว่าจำนวนธุรกิจใหม่เพิ่มสูงขึ้น 4.7% อย่างไรก็ดีหากพิจารณาทุนจดทะเบียนกลับลดลง 12%

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnam-has-over-15000-new-market-entrants-in-oct/

CGCC ให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อในกัมพูชามูลค่ารวมกว่า 149 ล้านดอลลาร์

สถาบันค้ำประกันสินเชื่อประเทศกัมพูชา (CGCC) ให้การค้ำประกันสินเชื่อแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) มูลค่ารวมกว่า 149 ล้านดอลลาร์ ณ เดือนกันยายน 2023 โดยค้ำประกันให้กับภาคธุรกิจไปแล้วกว่า 1,762 แห่ง ซึ่งยังเหลือยอดเงินค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการในช่วงปีงบประมาณอีก 111 ล้านดอลลาร์ สำหรับโครงการค้ำประกันของ CGCC ได้ร่วมมือกับสถาบันการเงิน (PFI) กว่า 27 แห่ง ในการสนับสนุนการค้ำประกันเงินกู้และปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้ภาคธุรกิจ MSMEs มีเงินทุนในการขยายธุรกิจ ด้าน CGCC ถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจในกัมพูชาเกิดการเติบโต ซึ่งก่อนหน้าได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงวิกฤตเงินเฟ้อที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501378625/cgcc-provides-149m-credit-support/