‘เวียดนาม’ มุ่งยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดสหรัฐฯ

จากข้อมูลของสำนักงานการค้าต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และตัวเลขสถิติของคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา พบว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 สหรัฐฯ มีการนำเข้ายางพารา 1.43 ล้านตัน อย่างไรก็ดีเวียดนามส่งออกไปยังสหรัฐฯได้เพียง 20,370 ตัน มูลค่า 28.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในอันดับที่ 13 ในกลุ่มซัพพลายเออร์ยางพาราในตลาดสหรัฐฯ และคิดเป็นสัดส่วนราว 1.42% ของปริมาณการนำเข้ายางทั้งหมดของสหรัฐฯ โดยคู่แข่งรายใหญ่ ได้แก่ อินโดนีเซียและไทยที่มีส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐฯ มากที่สุด

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าประมง แสดงให้เห็นว่าในช่วง 10 เดือนของปีที่แล้ว เวียดนามส่งออกสินค้าประมงไปยังสหรัฐฯ อยู่ในระดับมาก และอยู่ในอันดับที่ 2 ของผู้ส่งออกรายใหญ่ โดยเฉพาะกุ้ง ปลาสวายและปลาทูน่า

นอกจากนี้ นาย Do Ngoc Hung ที่ปรึกษาด้านการพาณิชย์ของเวียดนาม แนะนำให้ผู้ประกอบการคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงและมีมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-strives-to-increase-competitiveness-for-agricultural-exports-to-us/278092.vnp

‘สหรัฐอเมริกา’ ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม

สหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เวียดนามกลายมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 7 ของสหรัฐฯ และยังเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยจากตัวเลขสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่ายอดการค้าระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 16% ต่อปี เพิ่มขึ้นเกินกว่า 550% จาก 21.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 ขึ้นมาอยู่ที่ 123 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับที่ 11 จาก 108 นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในเวียดนาม และมีการลงทุน 1,200 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 11.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ กิจการรายใหญ่ของสหรัฐฯ ยังคงให้ความสนใจและต้องการลงทุนระยะยาวในเวียดนาม รวมถึงมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความร่วมมือกับเวียดนามและร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/us-remains-vietnams-largest-export-market-post1058710.vov

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าส่งออกมะพร้าว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายกาว บา ดัง ควา รองเลขาธิการสมาคมมะพร้าวเวียดนาม (VCA) ระบุว่ามะพร้าวนับเป็นแหล่งรายได้ให้กับกลุ่มครัวเรือนเกษตรกร ประมาณ 390,000 ครัวเรือน และหากพิจารณาตัวเลขของมูลค่าการส่งออกมะพร้าวเมื่อปี 2552 พบว่าทำรายได้จากการส่งออกเพียง 1 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ว่าตัวเลขของการส่งออกดังกล่าวได้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 940 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ด้วยเหตุนี้ จากการประชุมของสมาคมฯ เมื่อวันที่ 28 ต.ค. มีมติที่ประชุมให้ตั้งเป้าการส่งออกมะพร้าวต่อปี อยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ มะพร้าวของเวียดนามยังได้รับการอนุมัติให้ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และบางประเทศในยุโรป

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-coconut-sector-aims-for-export-revenue-of-1-billion-usd-post130737.html

โอกาสสำหรับนักธุรกิจอเมริกาในประเทศกัมพูชา

สหรัฐอเมริกายังคงเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยมีสินค้าส่งออกรวมร้อยละ 37 ของยอดการส่งออกทั้งหมดที่มูลค่า 4.2 พันล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 กล่าวโดยนายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต หลังเข้าพบกับสมาชิกสมาคมกลุ่มนักธุรกิจอเมริกันในวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 ก.ย.) ในระหว่างงาน “US-Cambodia Business Forum” ในนครนิวยอร์ก ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับภาคธุรกิจของอเมริกันในการพบปะกับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกัมพูชา รวมถึงกัมพูชาพร้อมที่จะสนับสนุนต่อบริษัทอเมริกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ามาลงทุนยังกัมพูชาเพิ่มขึ้น เพื่อหวังดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนกัมพูชา เนื่องด้วยกัมพูชาสามารถเป็นซัพพลายเชนส่งต่อไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงมีโอกาสในการเป็นเจ้าของธุรกิจแบบ 100% ในการครอบครองธุรกิจ

อีกทั้งภาคแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานคนหนุ่มสาวกว่าร้อยละ 65 ของกลุ่มประชากร รวมถึงกัมพูชายังอยู่ภายใต้โครงการ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ที่เอื้อต่อภาคการส่งออกของกัมพูชา และกัมพูชายังมีสิทธิพิเศษอื่นๆ อาทิเช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และ ข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้ (CKFTA) เอื้อต่อภาคการส่งออกของประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501365721/an-opportunity-for-american-business-in-cambodia/

“เศรษฐา” ประกาศ ใส่เกียร์สูงดันเศรษฐกิจไทย ทวงคืนจุดหมายการลงทุนชั้นนำ

ณ โรงแรม St. Regis นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาในงานเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) โดยสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN business Council: USABC) และหอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce: USCC) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณสำหรับงานเลี้ยงที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติ ถือเป็นวาระสำคัญอันหนึ่งของการเยือนต่างประเทศครั้งแรกในครั้งนี้ การเข้าร่วมงานของแขกทุกคนในวันนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจ และความสำคัญที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ มีต่อประเทศไทย หวังว่างานในวันนี้จะเป็นพื้นฐาน (platform) ในการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงประเทศและเศรษฐกิจของไทยและสหรัฐฯ ถือเป็นหุ้นส่วนธรรมชาติและมีผลประโยชน์ร่วมกัน (natural and mutually-beneficial partners) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ ที่ในปีนี้ฉลองครบรอบ 190 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ การค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งแม้จะมีการแพร่ระบาดทั่วโลก ด้วยมูลค่ามากกว่า 65,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีผ่านมา ทำให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของไทยเป็นครั้งแรก ในรอบ 15 ปี ในขณะที่การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ “เกียร์สูง” (high gear) อาทิ นโยบาย digital wallet และ Blockchain เป็นต้น รวมถึงการบริโภคที่เพิ่มขึ้นควบคู่กับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น อาทิ การเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม เศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านพลังงาน การสร้างไทยให้เป็นประเทศนวัตกรรม ที่ครอบคลุม และบูรณาการสำหรับลูกหลานในอนาคต (an “Innovative, Inclusive and Integrated (3Is) Thailand”) อาทิ การเปิดตลาดใหม่ เร่งเดินหน้าเจรจา FTA การสร้างกลไกใหม่แห่งการเติบโตแบบครอบคลุม และการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อลดข้อจำกัด และข้อห่วงกังวล เพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างบรรยากาศที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนต่างประเทศ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/politics/1089603

“สหรัฐฯ” เร่งนำเข้าชิปจากเวียดนามและตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย

จากข้อมูลของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปี สหรัฐอเมริกานำเข้าผลิตภัณฑ์ชิปเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากกลุ่มประเทศในเอเชีย 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม อินเดียและกัมพูชา เป็นต้น โดยจากข้อมูลในเดือน ก.พ. สหรัฐฯ นำเข้าชิปเพิ่มขึ้น 17% คิดเป็นมูลค่า 4.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และหากคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าจากตลาดเอเชียอยู่ที่ 83% ของตลาดทั้งหมด โดยเฉพาะตลาดอินเดียที่สหรัฐฯ นำเข้าอย่างก้าวกระโดด มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้น 34 เท่า เป็นมูลค่าที่ 152 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ตลาดเวียดนามและไทยต่างครองส่วนแบ่งทางการตลาดของการผลิตชิปในสหรัฐฯ ที่มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วนทางการค้าเพิ่มขึ้น 75% และ 62% ตามลำดับ และในปัจจุบัน เวียดนามมีสัดส่วนการนำเข้าชิปจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 10% เป็นเวลา 7 เดือนติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ได้กระจายห่วงโซ่อุปทานอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ โดยทำการย้ายผู้ผลิตที่อยู่ในตลาดดั้งเดิมไปยังตลาดเกิดใหม่

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/us-increases-chip-imports-from-vietnam-and-emerging-asian-markets-2129952.html

บริษัทสหรัฐฯ เล็งสำรวจโอกาสลงทุนในเวียดนาม

ตัวแทนของบริษัทในสหรัฐฯ มากกว่า 50 แห่งจะเดินทางเยือนเวียดนามระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคม เพื่อหารือเกี่ยวกับการลงทุนและโอกาสทางธุรกิจภายใต้โครงการประจำปีที่จัดขึ้นโดยสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน ทั้งนี้ คุณ Vũ Tự Thành ตัวแทนสภาธุรกิจเวียดนาม กล่าวว่าองค์กรได้จัดงานดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี และในครั้งนี้นับว่าเป็นภารกิจที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาในประเทศ บริษัทสหรัฐฯ บางรายมีมุมมองที่น่าสนใจกับเวียดนามในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการผลิตและผู้ให้บริการ รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงถึง 8% ในปีที่แล้ว โดยหนึ่งในบริษัทสหรัฐฯ คือ สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ที่ต้องการให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในเวียดนามและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และยังรวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้แก่ Pfizer, Johnson & Johnson, Abbott, Visa, Citibank, Meta และ Amazon เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1499610/spacex-apple-pfizer-among-us-businesses-exploring-investment-opportunities-in-vie-t-nam.html

2022 กัมพูชาส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่ารวมกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์

การส่งออกของกัมพูชาไปยังสหรัฐอเมริกายังคงแข็งแกร่งในปีที่แล้ว แม้ระบบสิทธิพิเศษทั่วไปทางภาษี (GSP) ของสหรัฐฯ ที่มอบให้กับประเทศที่พัฒนาน้อย (LDCs) จะยังไม่ได้ต่ออายุ ซึ่งกัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวมกว่า 1.22 หมื่นล้านดอลลาร์ ไปยังสหรัฐฯ ในปี 2022 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าสินค้าของกัมพูชามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 450 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นกัมพูชาเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่ 1.09 หมื่นล้านดอลลาร์ รายงานโดยสำนักงานสำมะโนประชากรสหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมถึงสินค้าต่างๆ เช่น รองเท้า จักรยาน และเฟอร์นิเจอร์ภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้า GSP ขณะที่สินค้านำเข้าของกัมพูชาจากสหรัฐฯ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501237385/cambodias-export-to-us-tops-12b-last-year/

กัมพูชาส่งออกไปยังสหรัฐฯ พุ่งขึ้นเป็น 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์

ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2022 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังสหัรฐฯ มูลค่ารวมกว่า 11,391 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละกว่า 42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของสำนักสถิติสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากสหรัฐฯ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 428 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้กัมพูชาเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ กว่า 10,963 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่สินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชา ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า จักรยาน และเฟอร์นิเจอร์ ภายใต้สิทธิพิเศษทางการค้า GSP ขณะที่การนำเข้าสินค้าสำคัญของกัมพูชาจากสหรัฐฯ ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501216028/cambodias-export-to-us-surges-to-11-billion/

กัมพูชาเล็งส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังสหรัฐฯ

สหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการส่งออกของกัมพูชา โดยคิดเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมของปีนี้ ซึ่งในปี 2021 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากกัมพูชามีมูลค่าสูงถึง 8.7 พันล้านดอลลาร์ สินค้าส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องแต่งกาย รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง โดยปัจจุบันกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากในการผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารเพื่อเป็นการกระตุ้นภาคการส่งออกของประเทศ ซึ่งคาดว่าในอนาคตการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวจะเร่งขยายตัวอย่างรวดเร็วในระยะไม่กี่ปี ผ่านการสนับสนุนจากกระทรวงสำคัญๆ ของรัฐบาล ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF), กระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้ (MAFF), กระทรวงพาณิชย์ (MOC) สหรัฐอเมริกา, กรมวิชาการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกัมพูชา, หอการค้าอเมริกันในกัมพูชา (AmCham) และวิสาหกิจเขมร

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501196186/cambodia-eyes-food-product-export-to-us/