‘IMF’ เผยการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ดันโอกาสเศรษฐกิจเวียดนาม

นายกฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชียและแปซิฟิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าเศรษฐกิจของเวียดนามมีทิศทางที่จะขยายตัว 6.5% จากปัจจัยหนุนทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ จากการประเมินเศรษฐกิจในภูมิภาค คาดว่าจะขยายตัว 4.5% ปี 2567

อย่างไรก็ดี ผลการประเมินเศรษฐกิจดังกล่าวขึ้นอยู่กับพื้นฐานเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจอินเดียในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ความท้าทายของการดำเนินนโยบายการเงิน รัฐบาลควรให้ความสำคัญในเรื่องหนี้สาธารณะและการปรับกันชนทางการคลังให้ดีขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1654252/viet-nam-to-have-many-opportunities-from-digitalisation-green-transformation-imf.html

เศรษฐกิจ CLMV เร่งตัวปี 2567 แต่ยังโตช้ากว่าช่วงก่อนโควิด-19

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

เศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024 ตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งจะสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นผ่านการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ในระยะปานกลางเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจข้ามชาติออกไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ “China +1” เพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระยะต่อไป ในปีนี้ SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวต่อเนื่อง 6.0% (จาก 5.6% ในปี 2023) สปป.ลาว 4.7% (จาก 4.5%) เมียนมา 3.0% (จาก 2.5%) และเวียดนาม 6.3% (จาก 5.1%)

อัตราการขยายตัวของแต่ละประเทศใน CLMV ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 จากปัจจัยกดดันต่าง ๆ  อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเศรษฐกิจภูมิภาค CLMV มีความสัมพันธ์สูงทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกัน บางประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนามมีอัตราส่วนหนี้เสีย (Non-performing loans ratio) สูงขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือในช่วง COVID-19 สิ้นสุดลง ประกอบกับภาวะการเงินในประเทศที่ตึงตัวขึ้น อาจกระทบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและการเข้าถึงสภาพคล่องของธุรกิจได้ นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาต่อเนื่อง ในระยะสั้นการค้าโลกอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขนส่งบริเวณทะเลแดงและคลองปานามาที่แห้งแล้งและอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าส่งออกของภูมิภาค CLMV ได้ ในระยะยาวเศรษฐกิจ CLMV จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกที่มีแนวโน้มจะกีดกันการค้าและตั้งกำแพงภาษีมากขึ้น

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน ขึ้นกับปัจจัยเฉพาะประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาวที่เผชิญความเสี่ยงจากระดับหนี้สาธารณะซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกตึงตัว ทำให้เงินกีบอ่อนค่ารวดเร็ว ซ้ำเติมภาระการชำระหนี้ต่างประเทศ และทำให้เงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นมากและปรับตัวลดลงได้ช้าในปีนี้ ปัจจัยเหล่านี้กดดันศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยสปป.ลาวกำลังดำเนินการรัดเข็มขัดทางการคลัง ควบคู่กับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และการหาแหล่งระดมทุนใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลังไว้ ขณะที่เมียนมาเป็นอีกประเทศที่กำลังเผชิญปัจจัยกดดันเชิงโครงสร้าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2021 และทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2023 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศซบเซา ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินจัตอ่อนค่าและเงินเฟ้อเร่งตัว ตลอดจนปัญหาระบบขนส่งและโครงข่ายไฟฟ้าหยุดชะงัก การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังดูเป็นไปได้ยากในระยะสั้น เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ

ค่าเงินของกลุ่มประเทศ CLMV จะเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าลดลง

ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าประเทศกำลังพัฒนา รวมถึง CLMV มากขึ้น และจะกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตามต้นทุนการระดมทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเฉพาะประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อแนวโน้มค่าเงิน ส่งผลให้ค่าเงินบางประเทศอาจยังอ่อนค่าต่อ

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้ หลังจากค่อนข้างซบเซาในปี 2023 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าโลกที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิต และเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ภาวะการเงินโลกและไทยที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงบ้างในปีนี้จะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนให้บริษัทไทยลงทุนใน CLMV ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจของ CLMV บางประเทศที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก ทั้งนี้ในระยะยาว SCB EIC ยังมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคของโลกที่เติบโตสูง และยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ จากปัจจัยประชากรที่มีอายุเฉลี่ยน้อย การมีข้อตกลงสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และแหล่งที่ตั้งที่มีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ติดตลาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-outlook-mar24?utm_source=Twitter&utm_medium=Link&utm_campaign=CLMV_OUTLOOK_MAR_2024

 

มูดี้ส์ชี้จีดีพีไทยปีนี้ขยายตัว 3%

คุณจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า “มูดี้ส์” หรือ Moody’s Investors Service บริษัทจัดอันดับเครดิตยักษ์ใหญ่ชื่อดังระดับโลกจากสหรัฐฯ ได้ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระดับมีเสถียรภาพ เนื่องจากข้อแรก ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีความหลากหลาย มีนโยบายมหภาคที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิผล มูดี้ส์คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตจาก 1.9% ในปี 2566 เป็นประมาณ 3% ในปี 2567-2568 จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนของภาครัฐจะเพิ่มขึ้น หลังจากที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้

ในขณะที่ข้อที่สอง ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ของไทยยังมีความเข้มแข็ง แม้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลัง อย่างต่อเนื่อง ในระยะปานกลางรัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ และจะกลับเข้าสู่การดำเนินนโยบาย ทางการคลังอย่างระมัดระวังได้ (Conservative Fiscal Policymaking)

ที่มา : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2778901

AMRO คาดการณ์เศรษฐกิจกัมพูชาโต 6.2% ในปี 2024

แนวโน้มเศรษฐกิจระดับภูมิภาคซึ่งรายงานโดยสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน+3 (AMRO) ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 เม.ย.) คาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งภายในปี 2024 ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาจะเติบโตที่ร้อยละ 6.2 ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.3 ในปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ เป็นสำคัญ โดยในรายงานได้เสริมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาที่คาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 6.4 ในปี 2025 ภายใต้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 2.8

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501470536/cambodias-growth-forecast-at-6-2-pct-in-2024-amro/

รัฐบาล สปป.ลาว วางเป้าหมายการทูตทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน

กระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว หันมาใช้การทูตทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้จัดการประชุมระดับสูงเพื่อยกระดับการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยการประชุมได้มุ่งเน้นไปที่ความจำเป็นในการเผยแพร่ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับนโยบายการค้าและการลงทุนที่เอื้ออำนวยของ สปป.ลาว เน้นเป็นพิเศษในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ กำหนดกลยุทธ์และยุทธวิธีที่รัฐบาลใช้ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น การเพิ่มการค้า การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และการเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีและพหุภาคี ทั้งนี้ การลงทุนจากต่างประเทศของ สปป.ลาว ที่ผ่านมามีมากกว่า 463,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ภาคการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานผลิตไฟฟ้า เหมืองแร่ บริการ และการเกษตร

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_70_Govt_y24.php

ฮุน มาเนต คาดเศรษฐกิจกัมพูชาโต 6.6% ภายในปี 2024

ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา กล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 6.6 ในปี 2024 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.6 ในปี 2023 โดยแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ มาจากการขยายตัวของการส่งออกเสื้อผ้า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว อุตสาหกรรมการเกษตรที่เริ่มมีบทบาท รวมถึงภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มเห็นการเติบโต ซึ่งคาดว่าการเติบโตของกัมพูชาจะกลับคืนสู่ระดับร้อยละ 7 เท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19  ภายในปี 2028

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501466941/cambodias-economy-projected-at-6-6-pct-in-2024-pm/

‘เวียดนาม’ เผยความเชื่อมั่นธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง มีมุมมองเชิงบวก

จากผลการสำรวจของบริษัท Vietnam Report Joint Stock Company เปิดเผยว่าบริษัทรับเหมาก่อสร้างส่วนใหญ่ 52.5% มีมุมมองเชิงบวกในปีนี้ รองลงมา 36.9% มองว่ายังคงไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปี 2566 และ 10.5% แย่ลงในปีนี้ ถึงแม้ว่าภาพรวมของตลาดรับเหมาก่อสร้างจะไม่โดดเด่นหรือแสดงศักยภาพไม่มากนักในปี 2567 แต่องค์กรของภาคธุรกิจต่างๆ หวังว่าในปีนี้จะเป็นก้าวแรกของอนาคตที่ดีในการวางรากฐานและการฟื้นตัวครั้งใหม่

ทั้งนี้ คุณหวู ดัง วิง กรรมการผู้จัดการ บริษัท Vietnam Report กล่าวว่าองค์กรต่างๆ เชื่อมั่นว่าธุรกิจของตนเองจะได้รับการสนับสนุนจากความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ตลาดมีความสมดุลและอนาคตของตลาดอสังหาฯ ที่มีแนวโน้มเชิงบวกมากขึ้น โดยปัญหาคอขวดทางกฎหมายจะได้รับการแก้ไขและความเชื่อมั่นของตลาดจะดีขึ้น

นอกจากนี้ โครงการลงทุนจากต่างชาติที่มีการเบิกจ่ายเงินทุน ม.ค.-ก.พ. มูลค่า 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสอันดีให้กับภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-business-sentiment-in-construction-positive-in-2024/283807.vnp

‘เวียดนาม’ เผยผลผลิตอุตสาหกรรม ไตรมาสแรกปี 66 ขยายตัว 6%

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) รายงานว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสแรกของปี 2567 ขยายตัว 6.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) โดยการเติบโตของผลผลิตอุตสาหกรรมดังกล่าว ส่งผลให้มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจขยายตัว 2.02% ทั้งนี้สาขาการผลิตและแปรรูปของอุตสาหกรรมเป็นหัวใจสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่รายได้จากการค้าปลีกและบริการในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ มีมูลค่าที่ 61.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน

นอกจากนี้ นาย เหงียน ซิน นัท ตัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าผลลัพธ์ดังกล่าว สาเหตุมาจากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล การส่งเสริมการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐและโครงการอุตสาหกรรม รวมถึงการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีส่วนช่วยปรับปรุงกำลังการผลิตในประเทศอีกด้วย

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/industrial-production-expands-over-6-year-on-year-in-q1-moit-post1085962.vov

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/67 ชะลอตัวที่ 5.66%YoY คาดทั้งปี 67 เติบโต 5.8-6.0% หนุนโดยการส่งออก

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/67 ชะลอตัวที่ 5.66%YoY คาดทั้งปี 67 เติบโต 5.8-6.0% หนุนโดยการส่งออก

  • เศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 1/2567 เติบโตชะลอตัวลง จากการชะลอตัวของการลงทุนในภาพรวม
  • การส่งออกยังเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 1/2567 โดยมูลค่าการส่งออกเติบโตเร่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2%YoY ในไตรมาสที่ 1/2567
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทั้งปี 2567 เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตอยู่ที่ระดับ 8-6.0% จากแรงหนุนของการส่งออก

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-GDP-EBR4050-29-03-2024.aspx

เวียดนามเรียกร้องให้สถานะ ‘เศรษฐกิจแบบตลาด’

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่าเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนาม และนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

โดยทางรัฐมนตรีต่างประเทศของเวียดนาม กล่าวในที่ประชุมว่าเวียดนามเรียกร้องให้สหรัฐฯ กำหนดสถานะเวียดนามว่าเป็น ‘เศรษฐกิจแบบตลาด’ ในขณะที่ว่าหุ้นส่วนชาวอเมริกัรพูดถึงเวียดนามว่ามีความเข้มแข็ง อิสระ ยืดหยุ่นและเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และหวังว่าทั้งสองประเทศจะมีความสัมพันธ์ดำเนินไปได้ด้วยดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเวียดนามเสนอศักยภาพของอุตสาหสาหกรรมที่ได้รับความสนใจจากสหรัฐฯ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ แร่ธาตุที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และปัญญาประดิษฐ์ โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยยกระดับของเวียดนามในตำแหน่งห่วงโซ่คุณค่าระดับโลกและเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ อีกด้วย

นอกจากนี้ การลาออกของนายโว วัน เทืองที่ละเมิดและข้อบกพร่องของพรรค ไม่มีผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจ

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/vietnam-appeals-for-market-economy-status/