KE และ CMA ร่วมส่งเสริมการเข้าถึงทางด้านการเงินแก่ SMEs กัมพูชา

Khmer Enterprise (KE) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง ร่วมกับสมาคมการเงินรายย่อยของกัมพูชา (CMA) ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ในการส่งเสริมการเข้าถึงทางด้านการเงินสำหรับผู้ประกอบการ และ SMEs ในกัมพูชา โดย KE และ CMA ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อสร้างกรอบความร่วมมือสำหรับทั้งสองฝ่ายเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงบริการทางการเงินและร่วมจัดโปรแกรม/กิจกรรม เช่น การเสนอขาย งานแสดงสินค้า การจับคู่ทางธุรกิจและการสร้างเครือข่าย การส่งเสริมวัฒนธรรมผู้ประกอบการ การประชุมเชิงปฏิบัติการ การประชุมสัมมนาและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนา SMEs และสตาร์ทอัพของกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประมาณ 43,276 แห่ง ยื่นจดทะเบียนกับกระทรวง โดยสร้างงานให้กับคนในประเทศกว่า 435,905 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50979560/khmer-enterprise-and-cma-enter-into-partnership-to-boosting-access-to-financial-service-for-smes/

‘เวียดนาม-ญี่ปุ่น’ ลงนาม MOU ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการค้าและอุตสาหกรรม

นาย เหงวียน ฮ่ง เญียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ นายโยชิโนบุ นิซากะ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจการดำเนินการด้านการค้าและอุตสาหกรรม (MOU) เมื่อวันที่ 24 พ.ย. รัฐมนตรีเวียดนามมองว่ามีโอกาสอีกมากจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของทั้งสองประเทศ เพื่อส่งเสริมธุรกิจเวียดนามและญี่ปุ่น โดยได้ขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดวากายามะ ด้วยการสนับสนุนธุรกิจญี่ปุ่นให้เข้ามาทำการลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่ช่วยธุรกิจของจังหวัดวากายานมะในการเข้าถึงตลาดที่มีประชากร 100 ล้านคนเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าถึงประชากรในประเทศสมาชิกอาเซียนราว 600 ล้านคน หรือตลาดที่ใหญ่กว่า อาทิ RCEP และ CPTPP นอกจากนี้ การลงทุนของธุรกิจของจังหวัดวากายามะ จะทำให้เวียดนามสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตและการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรและทักษะความเชี่ยวชาญ ตลอดจนทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-industry-trade-ministry-japanese-prefecture-seal-cooperation-deal-907375.vov

กัมพูชาลงนาม MoU ร่วมกับออสเตรเลีย ลงทุนด้านอาหาร

กัมพูชาและออสเตรเลียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เกี่ยวกับการจัดหาเงินทุนสำหรับ Agri-Food Investment Desk (AFID) ที่สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) มีเป้าหมายเพื่อสร้างงานและปรับปรุงมาตรฐานในภาคการเกษตรของกัมพูชา โดยพิธีการดังกล่าวจัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์ ได้รับเกียรติจากเลขาธิการ CDC และรัฐมนตรี Sok Chenda Sophea พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นโดย CDC ร่วมกับกระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมง (MAFF) และกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย (DFAT) โดย CDC กล่าวว่า พิธีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ CDC, MAFF และ DFAT ในการส่งเสริมการลงทุนด้านการเกษตรภายใต้กรอบของโครงการห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรของกัมพูชา-ออสเตรเลีย (CAVAC) ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นตัวช่วยในการปรับปรุงความปลอดภัยทางอาหารและลดความยากจน ผ่านการสร้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อเดือนที่แล้ว CDC อนุมัติโครงการ 376 โครงการมูลค่าเกือบ 9.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งลงทุนในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50944283/deal-on-food-investment-signed-with-australia/

กัมพูชาร่วมกับสำนักงานสมาคมธุรกิจไทย ส่งเสริมการค้าระหว่างกัน

สมาคมสภาส่งเสริมการค้าธุรกิจกัมพูชา (CBC) และสมาคมธุรกิจไทยในกัมพูชา (TBCC) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อร่วมมือกันในการส่งเสริมกิจกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลักหลายประการ อาทิเช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการสารความสัมพันธ์สำหรับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการค้าและการพัฒนาตลาดร่วมกัน แลกเปลี่ยนเครือข่ายธุรกิจ สนับสนุนช่องทางการตลาดเพื่อส่งเสริมธุรกิจ เพิ่มโอกาสในการลงทุนระหว่างกัน และการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยลดลงในช่วงหกเดือนแรกของปี โดยลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1 มาอยู่ที่มูลค่า 3.98 พันล้านดอลลาร์ จาก 4.03 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปยังไทยลดลงร้อยละ 33 มาอยู่ที่ประมาณ 516 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าจากไทยถูกตรึงไว้ที่ 3.47 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50930585/cambodia-thai-business-councils-agree-more-trade/

กำหนดการศึกษาความเป็นไปได้ของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมใหม่

เจ้าหน้าที่จังหวัดพงสาลีได้ให้ไฟเขียวแก่กลุ่มธุรกิจจีนเพื่อดำเนินการสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมแห่งใหม่ (SEZ) หากได้รับการอนุมัติ โซนจะตั้งอยู่ในเขต Nhot-ou ของจังหวัดที่ชายแดนร่วมระหว่างลาว จีน และเวียดนาม  ภายใต้ MOU นั้น นักลงทุนจะต้องเริ่มการสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ภายใน 30 วันหลังจากลงนามในข้อตกลง ซึ่งมีอายุ 18 เดือน กลุ่มชาวจีนจะสำรวจพื้นที่ประมาณ 250 ตารางกิโลเมตรสำหรับโครงการ พื้นที่ดังกล่าวจะครอบคลุมพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตรสำหรับการบริการและการท่องเที่ยว ในขณะที่อีก 150 ตารางกิโลเมตรที่เหลือจะนำไปใช้เพื่อการเกษตรและการพัฒนาอุตสาหกรรม การศึกษาความเป็นไปได้และการสำรวจจะใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อจัดทำแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Feasibility167.php

HLH ร่วมกับ CMEC พัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 200 เมกะวัตต์ในกัมพูชา

นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Hong Lai Huat Group Ltd (SGX: CTO) และ China Machinery Engineering Corp (HKG: 1829) หรือ CMEC ได้ร่วมมือกันพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 200 เมกะวัตต์ที่ Aoral Eco-City ในกัมพูชา โดย HLH และ CMEC ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน (MoU) เพื่อสร้างนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) และทำงานร่วมกันเป็นเวลาอย่างน้อย 20 ปี ซึ่งโครงการดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาตามที่ผู้จัดการทั่วไปและกรรมการบริหารของ HLH ได้กล่าวไว้ โดย Aoral Eco-City เป็นโครงการ “การพัฒนาเมืองเชิงนิเวศเกษตรผสมผสานขนาดใหญ่” ที่พัฒนาโดย HLH ภายในกัมพูชา ด้วยการสร้างสวนพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ โดยใช้เงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง CMEC จะเป็นฝ่ายกำหนดโซลูชันที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจรสำหรับโครงการนี้ เมื่อเสร็จสิ้นสวนพลังงานแสงอาทิตย์จะสามารถขายไฟฟ้าให้กับ Electricite du Cambodge (EDC) ของรัฐ

ที่มา : http://khmertimeskh.com/50846094/hlh-cmec-to-co-develop-200-mw-solar-project-in-cambodia/

บริษัท จีนลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการพัฒนาการเกษตรในสปป.ลาว

Jiarun Agricultural Development Co. , Ltd. ของจีนและกระทรวงการวางแผนและการลงทุนสปป.ลาวได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยการศึกษาความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูป่าและการพัฒนาการเกษตรเชิงนิเวศ ในภาคใต้ของสปป.ลาว บริษัท จะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโครงการฟื้นฟูป่าและพัฒนาการเกษตรเชิงนิเวศในพื้นที่ 5,000 เฮกตาร์ในเขตสนามไซของแขวงอัตตะปือห่างจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 560 กม. โครงการนี้จะสร้างงานในท้องถิ่นกว่า 50,000 ตำแหน่งซึ่งจะส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่นและมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : http://www.xinhuanet.com/english/asiapacific/2021-04/08/c_139866707.htm

นำเข้ารถ 10 ประเทศ อาเซียนฉลุย MOU ใช้มาตรฐานเดียวตรวจสอบ

สถาบันยานยนต์เดินหน้าขานรับ ข้อตกลง “APMRA” การตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน เตรียมความพร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หวังรองรับปริมาณงานตรวจและทดสอบที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ของศูนย์ทดสอบยานยนต์และศูนย์ทดสอบยางล้อ โดยผู้อำนวยการ สถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยได้บรรลุข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Type Approval for Automotive Products : APMRA) และได้มีการลงนามในข้อตกลงครบทั้ง 10 ประเทศแล้วเมื่อ วันที่ 16 มกราคม 2564 ซึ่งประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงนี้ เนื่องจากมีความพร้อมในการผลิต ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์หลายประเภท และเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน สำหรับข้อตกลงยอมรับร่วม APMRA เป็นข้อตกลงที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกยอมรับผลการตรวจสอบรับรองจาก technical service ที่ได้รับการแต่งตั้ง จากคณะกรรมการยานยนต์อาเซียน (ASEAN Automotive Committee : AAC) ที่อยู่ภายใต้คณะทำงานด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วน (Automotive Products Working Group : APWG) และนำผลการตรวจสอบรับรองไปใช้ในการจดทะเบียนหรือขออนุญาตจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยานยนต์หรือชิ้นส่วนยานยนต์ ในท้องตลาด กับหน่วยควบคุมกฎระเบียบ ของประเทศสมาชิกโดยไม่มีการตรวจหรือทดสอบซ้ำ

ที่มา : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 1 – 4 เม.ย. 2564

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาลงนาม MoU สำหรับการพัฒนาภายในประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ (MoC) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) 2 ฉบับ ระหว่างบริษัทที่ปรึกษาด้านการค้าปลีกและการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ BRB และ อีกฉบับกับบริษัท โคคา โคลา ประจำประเทศกัมพูชา โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาด้านการค้าปลีกและการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ BRB คาดจะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมพัฒนาขีดความสามารถของชุมชนผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผา งานแฮนด์เมด งานหัตถกรรม และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในจังหวัดกำปงชนัง ซึ่งจัดให้มีการฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ ขยายตลาด และเพิ่มอัตราการผลิตผลิตภัณฑ์ รวมถึงการลงบันทึกความเข้าใจกับ โคคา โคลา มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาการค้าการเพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์ “Made in Cambodia” ปรับปรุงขีดความสามารถของวิสาหกิจกัมพูชาและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการค้า ภายใต้คอนเซ็ป “Made in Cambodia” ซึ่งรัฐบาลก็ได้เริ่มกระตุ้นให้ธุรกิจภายในประเทศยื่นขอฉลากคุณภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นร่วมด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ นอกจากนี้กระทรวงจะร่วมมือกับภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาและความท้าทายที่ต้องเผชิญในห่วงโซ่อุตสาหกรรมร่วมกันต่อไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50803679/ministry-of-commerce-signs-two-development-mous/

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาลงนาม MoU ในการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจการเกษตร

กระทรวงพาณิชย์ และ บริษัท Yamato Green ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการผลิตผักปลอดสารพิษจากญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียง ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในการร่วมพัฒนาภาคการเกษตรเมื่อวานนี้เพื่อพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าสำหรับการผลิตสินค้าภาคธุรกิจเกษตรในกัมพูชา โดยเชื่อว่าการลงนามฉบับนี้จะสร้างความร่วมมือที่ดีในการรับมือกับความท้าทายในห่วงโซ่คุณค่าเพื่อเสริมสร้างผลผลิตให้มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ทั้งเชื่อว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงชุมชนเกษตรกรจะสามารถสร้างห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในด้านการเจาะตลาดและกระจายตลาดไปยังต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50801454/commerce-ministry-signs-agri-business-value-chain-development-mou/