กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังประเทศกลุ่ม RCEP ขยายตัว 24%

การส่งออกของกัมพูชาไปยังกลุ่มประเทศความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในช่วงครึ่งแรกของปี มีมูลค่ารวมกว่า 4.07 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับประเทศที่กัมพูชาส่งออกสามอันดับแรกภายใต้ RCEP ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ เวียดนามที่มูลค่า 1.43 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 22, จีน 713 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 17 และญี่ปุ่นที่มูลค่า 545 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 1 รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา สำหรับ RCEP ประกอบด้วย 15 ประเทศ ในเอเชียแปซิฟิก และ 15 รัฐสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และคู่ค้าอีก 5 แห่ง ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501328587/cambodias-export-to-rcep-nations-rises-by-24-yoy-in-h1-2023/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ RCEP เพิ่มขึ้น 24% ในช่วงครึ่งแรกของปี

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังประเทศกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มูลค่าแตะ 4.07 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากมูลค่ารวม 3.28 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 ก.ค.) ซึ่งประเทศส่งออกสำคัญสามอันดับแรกของกัมพูชาภายใต้ RCEP ได้แก่ เวียดนาม จีน และญี่ปุ่น โดยแบ่งเป็นการส่งออกไปยังเวียดนามรวมเกือบ 1.43 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ขณะที่การส่งออกไปยังจีนมีมูลค่ารวม 713 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 17 และญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าจากกัมพูชามูลค่า 545 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1 ด้วยการเติบโตทางด้านการส่งออกนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากลุ่มประเทศ RCEP ถือเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา ด้วยเหตุผลดังกล่าวยังเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเดินทางมาลงทุนยังกัมพูชามากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501326651/cambodias-export-to-rcep-countries-up-24-percent-in-h1/

กัมพูชาหวัง RCEP-FTA กระตุ้นภาคการส่งออก

กัมพูชาตั้งความหวังไว้กับข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ในการกระตุ้นการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) กล่าวโดย Ly Khun Thai ประธานสมาคมรองเท้ากัมพูชา หลังการส่งออกรองเท้าไปยังจีนและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่กัมพูชาลงนามในข้อตกลก RCEP และ FTA ทวิภาคีของกัมพูชากับจีน รวมถึงเกาหลีใต้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งกล่าวเสริมว่าตลาดหลักในปัจจุบันสำหรับสินค้ากลุ่ม GFT ของกัมพูชา ได้แก่ ยุโรป สหรัฐฯ และแคนาดา โดยได้มีการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปแล้วมูลค่ารวมกว่า 5.26 พันล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ ลดลงที่ร้อยละ 18.7 จากมูลค่าการส่งออกที่ 6.47 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต ซึ่งอุตสาหกรรมสินค้ากลุ่ม GFT ถือเป็นแรงหลักของภาคการส่งออกกัมพูชา โดยมีผู้ประกอบด้วยโรงงานประมาณ 1,100 แห่ง สร้างการจ้างงานถึงประมาณ 750,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501325280/cambodia-hopes-rcep-bilateral-ftas-to-boost-exports-of-garment-footwear-travel-goods/

นายกฯ ผลักดันใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง RCEP เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด

15 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มุ่งผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์และขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดโลกภายใต้ความตกลง RCEP ซึ่งมีผลบังคับใช้กับชาติสมาชิกครบทั้ง 15 ประเทศแล้ว ครอบคลุมประชากรและ GDP กว่า 30% ของโลก โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งมีการลงนามครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2563 ได้มีผลบังคับใช้ครอบคลุมประเทศฟิลิปปินส์แล้ว เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ส่งผลให้ RCEP บังคับใช้โดยสมบูรณ์ในประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ ครอบคลุมประชากรและ GDP กว่า 30% ของโลก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมประเทศไทยในการขยายการค้าสินค้ากับและประเทศสมาชิก เพิ่มโอกาสทางการตลาดและการจ้างงานให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ และประชาชนชาวไทยได้อย่างมหาศาล รวมทั้งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า และเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้อีกด้วย ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับประโยชน์จาก RCEP ในเดือนมกราคม 2566 มีการส่งออกไปยัง 9 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์รวม 97.04 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 1,039 % เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 ที่ได้เริ่มบังคับใช้ความตกลง RCEP โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญภายใต้ความตกลง RCEP อาทิ น้ำมันหล่อลื่น มันสำปะหลังเส้น ปลาทูน่ากระป๋อง หัวเทียน เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวก และให้คำปรึกษาสำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าอย่างสูงสุด และสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

ที่มา : https://www.naewna.com/business/737438

Q1 กัมพูชา ส่งออกสินค้าไปยังกลุ่ม RCEP ขยายตัวร้อยละ 16

ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่ารวม 2.89 พันล้านดอลลาร์ ไปยังประเทศกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ขยายตัวร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งประเทศส่งออกสามอันดับแรกของกัมพูชาในกลุ่ม RCEP ได้แก่ เวียดนาม ที่มูลค่า 1.25 พันล้านดอลลาร์, ไทย มูลค่า 958 ล้านดอลลาร์ และจีน มูลค่า 328 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ขณะที่การนำเข้าสินค้าของกัมพูชาส่วนใหญ่นำเข้าจากจีนที่มูลค่ารวม 2.53 พันล้านดอลลาร์ รวมถึงไทยที่มูลค่า 957 ล้านดอลลาร์ และ เวียดนามที่มูลค่า 440 ล้านดอลลาร์ โดยข้อตกลง RCEP เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2022 ร่วมกับ 15 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก รวมถึง 10 ประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)  ซึ่งในปี 2022 กัมพูชาส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ RCEP มีมูลค่าสูงถึง 6.34 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เมื่อเทียบเป็นรายปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501290262/cambodia-q1-exports-to-rcep-countries-up-16/

ยอดการค้าระหว่างกัมพูชา-ญี่ปุ่น แตะ 1.948 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 65

สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นประธานพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างท่าเทียบเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์แห่งใหม่ที่ท่าเริอน้ำลึกสีหนุวิลล์ (PAS) และงานครบรอบ 70 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกัมพูชา-ญี่ปุ่น รวมถึงครบรอบ 137 ปี วันแรงงานสากลแห่งชาติ ที่เมืองสีหนุวิลล์ ในขณะเดียวกันได้มีการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขการส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดญี่ปุ่น อยู่ที่ 1.173 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา หวังว่าการส่งออกของประเทศไปยังญี่ปุ่นนั้น จะได้รับการส่งเสริมจากนายอุเอโนะ อัตสึชิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501282910/bilateral-trade-between-cambodia-and-japan-worth-1-948-billion-in-2022/

“พาณิชย์” เผยสถิติใช้สิทธิ FTA ส่งออกเดือน ม.ค. อาเซียนแชมป์ RCEP พุ่ง 1,039%

กรมการค้าต่างประเทศเผยสถิติการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA จำนวน 12 ฉบับ เดือน ม.ค. 66 มีมูลค่า 5,399.38 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 16.13% คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 71.79% อาเซียนนำโด่งใช้สิทธิสูงสุด ตามด้วยอาเซียน-จีน ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-ญี่ปุ่น และอาเซียน-อินเดีย ส่วน RCEP ใช้สิทธิเพิ่ม 1,039%

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9660000030822

‘RCEP’ ถกเข้ม เร่งติดตามการดำเนินงาน หนุนผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ คาดสมาชิก 15 ประเทศ พร้อมใช้ความตกลงปีนี้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลการประชุมคณะกรรมการร่วม RCEP ครั้งที่ 3 เร่งติดตามการดำเนินงานตามพันธกรณีความตกลง RCEP ทั้งการปรับโอนพิกัดศุลกากร การจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุน การจัดสรรงบประมาณ คาดสมาชิก 15 ประเทศ พร้อมใช้ความตกลงปีนี้ เดินหน้าหาแนวทางสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจผ่านแผนงาน มุ่งเน้นทั้งการค้าสินค้า บริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ สำหรับในช่วง 11 เดือน (ม.ค. – พ.ย. 2565) มีการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง RCEP เพื่อส่งออกไปตลาด RCEP มูลค่า 919.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการส่งออกไปเกาหลีใต้มากที่สุด รองลงมา คือ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ สำหรับสินค้าส่งออกที่ขอใช้สิทธิ์ RCEP สูงสุด อาทิ น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น ทุเรียนสด และเลนส์สำหรับกล้องถ่ายภาพ

ที่มา : http://www.acnews.net/detailnews.php?news_id=N256674555

นายกฯ ปลื้ม RCEP บังคับใช้ครบ 1 ปี ช่วยการค้าไทยกับประเทศสมาชิก ขยายตัวกว่า 7%

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พอใจผลรายงานความตกลง RCEP ซึ่งทำให้การค้าไทยกับประเทศสมาชิกขยายตัวร้อยละ 7.11 มูลค่าการค้ารวม 10 ล้านล้านบาท จากผลบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ครบ 1 ปี กับประเทศสมาชิก RCEP อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยแบ่งเป็นการส่งออกจากไทยไปประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.8 ล้านล้านบาท) โดยประเทศอาเซียน คือ อินโดนีเซีย กัมพูชา และสิงคโปร์ เป็นตลาดส่งออกอันดับต้น รองลงมาเป็น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย และการนำเข้าจากประเทศสมาชิก RCEP มูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.7 ล้านล้านบาท) ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าจากบรูไนดารุสซาลาม ออสเตรเลีย และเมียนมา เป็นอันดับต้น

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9660000012777

กัมพูชาส่งออกโต 16% มูลค่าแตะ 22.4 พันล้านดอลลาร์

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาพุ่งแตะ 52.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 9.1 จากปีก่อน โดยคิดเป็นการส่งออกของกัมพูชาที่มูลค่ากว่า 22.4 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งการขยายตัวของภาคการส่งออก เป็นผลมาจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในและต่างประเทศกลับมาดำเนินได้อีกครั้ง โดยทางการกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากที่จะรักษาการเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาค รวมถึงยังพยายามเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานโลกให้ได้มากที่สุด สำหรับทิศทางการค้าในปีหน้า กระทรวงฯ มีความมุ่งมั่นอย่างสูงในการผลักดันการเติบโตภาคการค้า เปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสผ่านการปฏิรูปเชิงลึกในทุกด้าน ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ การส่งออกของกัมพูชาไปยังตลาดต่างประเทศและการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจและการลงทุนในกัมพูชา อีกทั้งกัมพูชายังมีความตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CCFTA), ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และ FTA กัมพูชา-เกาหลี จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการส่งออก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501229569/cambodia-exports-surge-16-to-22-4b/