ผู้บริโภคชาวกัมพูชากำลังปรับตัวครั้งใหญ่ หลังผลิตภัณฑ์ไทยขาดตลาด

ผู้บริโภคชาวกัมพูชากำลังปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาด เนื่องจากสินค้าไทยกำลังหมดไปจากชั้นวางอย่างรวดเร็ว และถูกแทนที่ด้วยแบรนด์ใหม่จากประเทศอื่น ๆ สินค้าไทยเคยมีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภคชาวกัมพูชา จนกระทั่งความตึงเครียดบริเวณชายแดนปะทุขึ้น นำไปสู่การห้ามนำเข้าสินค้าทางบกจากประเทศไทย ทำให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน แม้ว่าสินค้าไทยจำนวนมากจะยังคงพบเห็นได้ในตลาดค้าปลีก แต่ผู้บริโภคชาวกัมพูชาก็กำลังเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่พวกเขาจะต้องเปลี่ยนแบรนด์โปรดไปใช้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นหรือจากประเทศอื่นๆ ด้านผู้ส่งออกสินค้าไทย กล่าวว่า ไม่มีการห้ามนำเข้าสินค้าไทยอย่างสมบูรณ์ แต่เป็นผลมาจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ผู้บริหารของบริษัทเภสัชกรรมและเครื่องสำอางไทยยังได้กล่าวเสริมว่าการนำเข้าทางบกหยุดลงทั้งหมด ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าทางเรือ ซึ่งเกิดความล่าช้า ขณะที่ตัวแทนซูเปอร์มาร์เก็ตระบุว่า แบรนด์จากเวียดนาม มาเลเซีย และออสเตรเลียกำลังพยายามเข้ามาแทนที่ช่องว่างที่สินค้าไทยทิ้งไว้ และคาดว่าผู้บริโภคชาวกัมพูชาจะปรับตัวเข้ากับรสชาติใหม่ในไม่ช้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501714033/consumers-adapting-to-new-tastes-as-thai-products-go-off-the-shelves/

ผู้ค้าผลไม้ไทยเผชิญความยากลำบากจากการที่กัมพูชาประกาศแบน

ผู้ส่งออกผลไม้ของประเทศไทย รวมถึงผู้ค้า และเกษตรกรกำลังเผชิญกับแรงกดดัน หลังจากที่กัมพูชาประกาศห้ามการนำเข้าผลไม้ เนื่องมาจากความตึงเครียดบริเวณชายแดนระหว่างสองประเทศ การแบนซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ค้าผลไม้ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูผลไม้ไทยที่ออกผลผลิตสูงสุด ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมชี้ว่าตลาดผลไม้ของทั้งสองประเทศมีความเชื่อมโยงกันอย่างมากผ่านการค้า การแปรรูป และการผลิตร่วมกัน Sinu Keeler ผู้ส่งออกผลไม้ไทยให้ความเห็นว่า แม้กัมพูชาจะไม่ใช่ผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุด แต่เป็นตลาดที่สร้างผลกำไรได้สูงเนื่องจากต้นทุนการขนส่งที่ต่ำ การแบนครั้งนี้จึงส่งผลกระทบต่อผลกำไรอย่างรุนแรง และการเปลี่ยนตลาดส่งออกในทันทีเป็นไปไม่ได้ ทำให้เกษตรกรต้องระบายผลผลิตสู่ตลาดภายในประเทศ ส่งผลให้ราคาตกต่ำลง Ritu Ahluwalia จาก Flora Capital กล่าวเสริมว่าการปิดด่านส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดภายในประเทศของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ผลไม้เมืองร้อน เช่น ทุเรียน ลำไย และเงาะ

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501710825/thai-fruit-traders-face-heat-over-cambodias-ban/

ไทยเผชิญความเสี่ยงส่งออกชายแดนลด 6 หมื่นล้านบาท หากชายแดนไทย-กัมพูชายังคงปิด

ไทยเผชิญความเสี่ยงส่งออกชายแดนลด 6 หมื่นล้านบาท หากชายแดนไทย-กัมพูชายังคงปิด กรมการค้าต่างประเทศ (DFT) เตือนว่าการปิดด่านชายแดนไทย-กัมพูชาอาจทำให้มูลค่าการส่งออกชายแดนลดลง 60,000 ล้านบาท หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นปี กล่าวโดยนางอรดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค.-พ.ค.) การค้าชายแดนไทย-กัมพูชายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่ารวม 80,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่การส่งออกของไทยไปยังกัมพูชามีมูลค่า 63,070 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และการนำเข้ามีมูลค่า 17,640 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 45,430 ล้านบาท หากการปิดด่านชายแดนยังคงดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นปี คาดว่าการส่งออกชายแดนจะลดลง 60,000 ล้านบาท ซึ่งอาจทำให้การเติบโตของการค้าชายแดนโดยรวมกับประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และมาเลเซีย) ลดลงประมาณร้อยละ 1

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501709852/thai-cambodian-border-closure-may-cause-60-billion-baht-export-loss-for-thailand/

กัมพูชาระงับการค้าข้ามพรมแดนทั้งหมดกับไทย

เมื่อวานนี้ (29 มิ.ย.) กรมตรวจคนเข้าเมือง (GDI) ได้ระงับการขนส่งสินค้าทั้งหมด ทั้งสินค้าส่งออกและนำเข้า ผ่านด่านชายแดนระหว่างประเทศ รวมถึงจุดตรวจข้ามพรมแดนอื่นๆ ตลอดแนวชายแดน กัมพูชา-ไทย โดยการเคลื่อนไหวของ GDI เกิดขึ้นไม่ถึง 30 นาทีหลังจากที่ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ตอบกลับจดหมายที่ทางการไทยส่งมาเมื่อวานนี้ เพื่อขอเปิดจุดผ่านแดนบางจุดเป็นการชั่วคราว  ซึ่งข้อจำกัดนี้จะยังคงมีผลบังคับใช้จนกว่ารัฐบาลไทย จะตกลงเปิดด่านระหว่างประเทศและจุดตรวจข้ามพรมแดนทั้งหมดอย่างสมบูรณ์ เพื่อฟื้นฟูการค้าและการขนส่งตามปกติ ด้านนักเศรษฐศาสตร์ Duch Darin กล่าวกับ Khmer Times ว่าการกระทำที่สร้างสรรค์ที่สุดที่ประเทศไทยสามารถทำได้คือการเปิดพรหมแดนให้สามารถข้ามได้ตามปกติ ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพและฟื้นฟูผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน ขณะที่ Darin กล่าวเสริมต่อไปว่าการเปิดชายแดนจากฝั่งไทยก่อนจะมอบประโยชน์ที่สำคัญให้กับธุรกิจ ผู้ส่งออก และอุตสาหกรรมของไทย ในส่วนของกัมพูชา มุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับเพื่อนบ้านที่ดีและผลประโยชน์ร่วมกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501709058/cambodia-suspends-all-cross-border-trade-with-thailand/

‘เซ็นทรัล รีเทล’ เดินหน้าทุ่มเงิน 1.38 พันล้านดอลลาร์ ลงทุนไทยและเวียดนาม

เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) เตรียมลงทุนกว่า 45 พันล้านบาท หรือประมาณ 1.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2027 เพื่อขยายตลาดสำคัญและเร่งการเติบโตทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม โดยกลยุทธ์ของทางบริษัทในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่ ‘New heights, Next growth’ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ด้านหลัก ได้แก่ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้า 26 ล้านราย การเร่งพัฒนาธุรกิจใหม่ และการขยายพื้นที่ทางภูมิศาสตร์

นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียมพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีรวมศูนย์ เพื่อเปิดประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบ Omnichannel และยกระดับ AI โดยมุ่งเป้าไปที่การเติบโตของยอดขายออนไลน์เป็นตัวเลขสองหลักอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเร่งขยายธุรกิจอาหารและห้างสรรพสินค้าในเวียดนาม และส่งเสริมให้ร้านค้าสามารถตกแต่งตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละพื้นที่

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/central-retail-unveils-138-billion-usd-expansion-plan-for-thailand-and-vietnam-post321602.vnp

‘เวียดนาม – ไทย’ ตั้งเป้าเพิ่มการส่งออกข้าวไปญี่ปุ่น

เวียดนามและไทย เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และคาดว่าจะส่งออกข้าวไปยังญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น โดยทางรัฐบาลไทย นำโดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ารัฐบาลต้องการที่จะเจาะตลาดที่ข้าวไทยสามารถขายได้ในราคาสูงและเพิ่มการส่งออกข้าวได้ โดยเฉพาะตลาดข้าวในญี่ปุ่น ในขณะที่สมาคมอุตสาหกรรมข้าวเวียดนาม (VIETRISA) เปิดเผยว่าเวียดนามเดินหน้าส่งออกข้าวแบรนด์ใหม่ ภายใต้ข้าวคาร์บอนต่ำ ปริมาณราว 500 ตัน โดยชูจุดเด่น คือ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระหว่างการเจริญเติบโตได้

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นจำเป็นที่จะต้องประเมินช่องว่างระหว่างราคานำเข้าข้าวและราคาข้าวที่ปลูกในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเกษตรกรในประเทศ และมีโอกาสที่จะเกิดการโต้เถียงกันได้จากเหตุการณ์ข้างต้น

ที่มา : https://www.nationthailand.com/blogs/news/40051487

การค้าระหว่าง กัมพูชา-ไทย ยังไม่หยุดชะงัก แม้เกิดการปะทะบริเวณชายแดน

กิจกรรมทางการค้าระหว่างกัมพูชาและไทยตามแนวชายแดนจังหวัดบันเตียเมียนเจยและสระแก้วยังคงดำเนินต่อไป แม้จะเกิดการปะทะกันของทหารตามแนวชายแดนเมื่อเร็วๆ นี้ ตามคำกล่าวของ Ly Sovannarith รองผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตียเมียนเจย โดยได้กล่าวไว้ว่าแม้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งตามแนวชายแดนจะยังไม่แน่นอน แต่บรรดานักธุรกิจ ผู้ค้า และนักท่องเที่ยวยังคงข้ามชายแดนตามปกติ รวมถึงได้เน้นย้ำว่ากิจกรรมทั้งหมดยังคงเหมือนเดิมก่อนเกิดความขัดแย้งที่ชายแดนหม่อมเบยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม และเรียกร้องให้ผู้ค้าและนักท่องเที่ยวไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยที่ด่านตรวจสอบ ด้านนายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธานหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การค้าชายแดนและการค้าข้ามพรมแดน เปิดเผยกับสื่อเมื่อวันพุธ (4 มิ.ย.) ที่ผ่านมาว่า แม้จะมีความตึงเครียดด้านความปลอดภัยบางประการ แต่การค้าระหว่างสองราชอาณาจักรยังไม่หยุดชะงัก อย่างไรก็ตาม รองประธานหอการค้าไทยชี้ให้เห็นว่ากำลังซื้อที่ลดลงเป็นความเสี่ยงหลักต่อการเติบโตของการค้าชายแดนต่อไป โดยระบุว่าต้องติดตามสภาพเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายอย่างใกล้ชิดในอีกหลายเดือนข้างหน้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501695895/trade-between-cambodia-and-thailand-remains-uninterrupted-despite-recent-border-skirmishes/

‘ไทย-เวียดนาม’ กระชับความสัมพันธ์ ตั้งเป้ายอดการค้าทวิภาคีทะลุ 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม และนาย มาริษ เสงี่ยมพงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย หารือและกล่าวแสดงความสำคัญของการเยือนในครั้งนี้ โดยเฉพาะกิจกรรมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเวียดนามและไทย ครบรอบ 50 ปี และการเยือนครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ เวียดนามและไทย ให้คำมั่นที่จะส่งเสริมการเชื่อมโยงการขนส่งและการท่องเที่ยว รวมถึงเห็นพ้องที่จะลดมาตรการกีดกันการค้า ส่งเสริมความร่วมมือในภาคส่วนเกิดใหม่ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล อีคอมเมิร์ซ และพลังงานหมุนเวียน ในชณะเดียวกัน เวียดนามและไทย ตั้งเป้าที่จะบรรลุการค้าทวีภาคี 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://www.chiangraitimes.com/news/thailand-and-vietnam-strengthen-bilateral-ties-with-25-billion-trade-target/

‘ศึกทุเรียน’ เวียดนาม-ไทย แข่งเดือดชิงตลาดส่งออกจีน

จีนยังคงเป็นผู้บริโภคทุเรียนรายใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยสัดส่วนสูงถึง 91% และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกหลายราย รวมถึงเวียดนาม ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย เข้ามาแข่งขันสูงขึ้นในการส่งออกทุเรียนไปยังจีน อย่างไรก็ดี ทุเรียนไทยที่เป็นผู้นำตลาดนี้ เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติ พบว่าการส่งออกทุเรียนเวียดนามไปยังตลาดจีนในกลางปี 2565 เติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นผลมาจากการลงนามข้อตกลงระหว่างเวียดนาม-จีน ทำให้มูลค่าการส่งออกในปี 2565 อยู่ที่ 421 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นมาอยู่ที่ 2.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า ด้วยเหตุนี้ ส่วนแบ่งตลาดทุเรียนของเวียดนามในตลาดจีน เพิ่มขึ้นจาก 5% ในปี 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ 35% ในปี 2566

นอกจากนี้ ทางการไทยได้เตือนว่าทุเรียนไทยเผชิญกับความท้าทายในอนาคต เนื่องจากการส่งออกทุเรียนเวียดนามที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดการณ์ว่าการส่งออกทุเรียนเวียดนาม มีแนวโน้วที่จะเท่ากับทุเรียนไทยในระยะเวลาไม่ถึง 1-2 ปีข้างหน้า

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-thailand-in-fierce-competition-exporting-durian-to-china-2369200.html

‘เวียดนาม’ ส่งออกข้าวไปยังสิงคโปร์ พุ่ง 25.45%

เวียดนามยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ในตลาดสิงคโปร์ ด้วยมูลค่าการส่งออก 128.9 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 28.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 และคิดเป็นสัดส่วน 28.25% ของตลาดข้าวสิงคโปร์ ทั้งนี้ อินเดียและไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุด ทำรายได้จากการส่งออกราว 148.19 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (32.48%) และ 137.75 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (30.19%) ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาผู้ส่งออกรายใหญ่ 3 ราย รวมกัน คิดเป็นสัดส่วน 90.93% ของตลาดข้าวในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ จากการประเมินชนิดของข้าวเวียดนาม แสดงให้เห็นว่าข้าวเวียดนามหลายชนิดมีการเติบโตอย่างโดดเด่น ได้แก่ ข้าวเหนียว (14.25 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 4.6 เท่า) ข้าวหัก (2.6 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 113.63%) และข้าวกล้อง (44.89 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 65.73%) อย่างไรก็ดี ข้าวขาว เป็นกลุ่มข้าวหลักของเวียดนามในตลาดสิงคโปร์ แต่มีการเติบโตเพียงเล็กน้อยที่ 0.24% คิดเป็นมูลค่า 64.67 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-rice-exports-to-singapore-post-strong-growth-post143582.html