แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจลาวอยู่ในระดับสูง แต่การจ้างงานต่ำ

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยรายงานข้อมูลอัปเดตเศรษฐกิจ เปิดเผยว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสปป.ลาว ในช่วงปี 2543-2561 ขยายตัวเฉลี่ย 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และการเติบโตทางการค้าเฉลี่ย 17% ต่อปี แต่ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ได้รับแรงผลักดันจากการค้าและการลงทุนในด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการขุดเจาะและพลังงาน ทั้งนี้ ตามรายงาน Lao Economic Monitor for October 2022: Tackling Macroeconomic Vulnerabilities พบว่าการจ้างงานนอกภาคการเกษตรปรับตัวลดลงจากปี 2555-2561 โดยส่วนใหญ่ได้รับงานจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การจ้างงานนอกภาคเกษตรยังไม่สามารถรองรับกับจำนวนแรงงานเกินที่อยู่ในภาคเกษตรได้ ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 4.1% ในปี 2555 มาอยู่ที่ 15.7% ในปี 2561 อีกทั้ง ปัญหาความยากจนส่งสัญญาลดลง แต่ยังคงช้ากว่าประเทศอื่น และในอีก 10 ปีข้างหน้า สปป.ลาวจะต้องสร้างงานกว่า 60,000 ตำแหน่งต่อปี เพื่อรองรับกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2023_Despite03.php

ไทยเล็งร่วมผลิตปิโตรเลียมกับกัมพูชา

คณะรัฐมนตรีของไทยจัดการหารืออย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (3 ม.ค.) เกี่ยวกับการร่วมมือในการผลิตปิโตรเลียมในอ่าว กัมพูชา-ไทย ภายใต้การบูรณาการร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งการหารือนำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กับ Suy Sem รัฐมนตรีกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชา โดยมีวัตถุประสงค์ในการพิจารณาความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานในภูมิภาค ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นจังหวะที่ดีในการรื้อฟื้นข้อตกลงการผลิตปิโตรเลียม บนพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน (OCA) ของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองประเทศกำลังเร่งเจรจากันเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน (OCA) 26,000 ตร.กม. ซึ่งคาดว่าจะมีทรัพยากรธรรมชาติทั้งน้ำมันและก๊าซใต้พื้นทะเลมากถึง 500 ล้านบาร์เรล ขณะที่กัมพูชายังมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นหลังเกิดสงครามยูเครน ซึ่งความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในกัมพูชาคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 ล้านตันในปี 2030 เพิ่มขึ้นจาก 2.8 ล้านตันในปี 2020

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501214065/thailand-keen-on-joint-petroleum-production-with-cambodia/

คาดตลาดอีคอมเมิร์ซกัมพูชาจะมีมูลค่าแตะ 1.78 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2025

Penn Sovicheat ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและโฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวถึงภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซภายในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งในปีที่ผ่านมา (2022) ตลาดอีคอมเมิร์ซกัมพูชามีมูลค่าสูงถึง 1.28 พันล้านดอลลาร์ และในปีนี้คาดว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1.50 พันล้านดอลลาร์ โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซจะขยับขึ้นไปแตะ 1.78 พันล้านดอลลาร์ในปี 2025 จากการเข้าถึงและการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างมาก ซึ่งในปี 2022 จากจำนวนประชากร 17.06 ล้านคน มีการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือ 22.06 ล้านครั้ง มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 13.44 ล้านคน และมีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย 12.6 ล้านคนในกัมพูชา ในปีที่แล้ว ซึ่งตลาดอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาคาดว่าจะขยายตัวด้วยอัตราการเติบโตต่อปีที่ร้อยละ 13.51 ในช่วงปี 2023-2027 ที่อาจทำให้มูลค่าตลาดสูงถึง 2.10 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2027 จากการวิจัยของ statista.com

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501214272/cambodias-e-commerce-market-eyes-1-78b-by-2025/

ผลสำรวจดัชนี ‘PMI’ ภาคการผลิตเวียดนามธ.ค. 65 หดตัว

ผลสำรวจของ S&P Global รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม ปรับตัวลงสู่ระดับ 46.4 ในเดือนธันวาคม 2565 จากระดับ 47.7 ในเดือนพฤศจิกายน สะท้อนให้เห็นว่าสัญญาภาคการผลิตของเวียดนามมีแนวโน้มแย่ลง ซึ่งเป็นการหดตัวสองเดือนติดต่อกันและอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาคการผลิตของเวียดนามในเดือนธันวาคม 2565 ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศทยอยปรับลดลง โดยกิจการต่างๆ ได้ลดการจ้างงานและชะลอคำสั่งซื้อ ในขณะที่ความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังอยู่ในระดับต่ำ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-manufacturing-pmi-falls-in-december-2022-post994561.vov

‘ยูโอบี’ ประมาณการ GDP เวียดนาม ปี 2566 โต 6.6%

กลุ่มธนาคารยูโอบี ประเทศสิงคโปร์ (UOB) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของเวียดนาม (GDP) ในปี 2566 ประมาณการเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ประมาณ 6.6% ถึงแม้ว่าทิศทางของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่อ่อนแอลง และตามรายงานบ่งชี้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ขยายตัว 5.92% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 13.67% ในไตรมาสที่ 3 เนื่องจากอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ลดลง ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม รายงานว่า GDP ของเวียดนามในปี 2565 ขยายตัว 8.02% จากที่เติบโตเพียง 2.58% ในปี 2564 ถือเป็นอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2540 อีกทั้ง ผู้เชี่ยวชาญของธนาคาร กล่าวว่าการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมและบริการในปี 2565 แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของเวียดนาม หลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://en.nhandan.vn/uob-maintains-vietnams-gdp-growth-forecast-at-66-post121526.html

เดือนพ.ย. 65 เขตเศรษฐกิจพิเศษ ‘ติละวา” ดูดเม็ดเงิน FDI กว่า 2.188 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

คณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) ของเมียนมา เผยตัวเลข การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ณ เดือนพฤษจิกายน 2565 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา (Thilawa SEZ)  มีมูลค่ากว่า 2.188 พันล้านดอลลาร์สหรัฐได้ภายใต้กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ปัจจุบัน มีโรงงานประมาณ 102 แห่งที่ดำเนินการในโซน A และ B ของ Thilawa SEZ โดยภาคพลังงานมีการลงทุนสะสมไปแล้วมากกว่า 3.121 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ DICA มีความยินดีและให้การต้อนรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการลงทุนในประเทศของชาวเมียนมาในทุกภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งกระทรวงกลาโหมและกระทรวงที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในการลงทุนอีกด้วย

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/thilawa-sez-attracts-over-us2-188-bln-as-of-nov-2022/#article-title

สมัชชาแห่งชาติ (NA) ตั้งเป้าเศรษฐกิจ สปป.ลาว โต 4.5% ปีนี้

สมัชชาแห่งชาติ (NA) ตั้งเป้าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน้อยร้อยละ 4.5 ในปี 2023 ตามที่รัฐบาล สปป.ลาว เสนอ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก โดยภาคการเกษตรคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 2.5 คิดเป็นร้อยละ 17.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโตที่ร้อยละ 5 คิดเป็นร้อยละ 34.2 ของ GDP ภาคบริการคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4.7 คิดเป็นร้อยละ 37.5 ของ GDP ในขณะที่การจัดเก็บภาษีคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 คิดเป็นร้อยละ 11.1 ของ GDP ซึ่งมูลค่าของ GDP คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 234,160 พันล้านกีบภายในสิ้นปีนี้ โดย GDP ต่อหัวอยู่ที่ 1,625 ดอลลาร์ และรายได้มวลรวมประชาชาติ (GNI) ต่อหัวอยู่ที่ 1,534 ดอลลาร์ ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2022 อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดกว่าที่ร้อยละ 38.46 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.75 ในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ปริมาณเงินในความหมายอย่างกว้าง (M2) หรือเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 ในปี 2023 เมื่อเทียบกับปี 2022

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten02_Na_23y.php

กัมพูชาส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ในปี 2022

สมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) กล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกข้าวสารของกัมพูชาในช่วงปี 2022 พุ่งแตะ 637,004 ตัน ไปยังตลาดต่างประเทศในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 จากปริมาณ 617,069 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่งออกไปยัง 59 ประเทศทั่วโลก ขณะที่การส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มูลค่ารวมอยู่ที่ 414 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจีนยังคงเป็นผู้นำข้าวข้าวสารรายใหญ่อันดับต้นๆ ของกัมพูชา โดยพันธุ์ข้าวที่ได้รับความนิยมในการส่งออก ได้แก่ ข้าวหอมพรีเมียม ข้าวหอม ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวนึ่ง ข้าวอินทรีย์ และข้าวเหนียว ด้าน Dith Tina รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมงของกัมพูชากล่าวเสริมว่าจีนจะยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญสำหรับสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพของกัมพูชาผ่านข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน (CKFTA)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501213617/cambodias-milled-rice-export-up-3-2-pct-in-2022/

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ RCEP โต 5% มูลค่า 5.6 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 5,671 ล้านดอลลาร์ ไปยังประเทศกลุ่มสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในช่วง 11 เดือนของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งประเทศปลายทางสำคัญสำหรับการส่งออกของกัมพูชาผ่าน RECP 3 อันดับแรก ได้แก่ เวียดนาม จีน และญี่ปุ่น คิดเป็นมูลค่าการส่งออกมูลค่า 1,894 ล้านดอลลาร์ 1,109 ล้านดอลลาร์ และ 1,069 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ โดยจีนยังคงเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าส่งออกกัมพูชา ด้วยมูลค่ารวม 9,470 ล้านดอลลาร์ รองลงมาคือเวียดนาม, ไทย และสิงคโปร์ ด้วยมูลค่า 3,617 ล้านดอลลาร์, 3,542 ล้านดอลลาร์ และ 3,169 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ซึ่งกัมพูชาคาดว่าการส่งออกจะเติบโตระหว่างร้อยละ 9.4 ถึงร้อยละ 18 ในปี 2023 ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตระหว่างร้อยละ 2 ถึงร้อยละ 3.8

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501213231/cambodias-export-to-rcep-countries-up-5-percent-at-5-6b/

ส่งออกข้าวไทย 11 เดือน โกย 1.2 แสนล้าน โตเกิน 100%

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึง การส่งออกข้าวช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย. 2565) มีปริมาณ 6,907,761 ตัน มูลค่า 123,511.3 ล้านบาท (3,552.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 26.8% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 29.2% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ส่งออกปริมาณ 5,445,810 ตัน มูลค่า 95,591.7 ล้านบาท (3,027.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) การส่งออกเดือน พ.ย. 2565 มีปริมาณ 706,270 ตัน มูลค่า 14,333.3 ล้านบาท ปริมาณลดลง 11.1%แต่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 794,224 ตัน มูลค่า 13,974.1 ล้านบาท เนื่องจากเดือน พ.ย. ส่งออกข้าวนึ่งและข้าวขาวลดลงจากเดือนก่อนที่มีการเร่งส่งมอบข้าวเพื่อให้ทันใช้ในช่วงเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ นายเจริญ กล่าวว่าการส่งออกข้าวหอมมะลิ พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อนมาก โดยมีปริมาณ 136,435 ตัน เพิ่มขึ้น 102.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวขาวมีปริมาณ 347,473 ตัน ลดลง 17.7% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศอิรัก จีน ญี่ปุ่น แองโกล่า โมซัมบิก ฟิลิปปินส์ แคเมอรูน เป็นต้น และข้าวนึ่งมีการส่งออกปริมาณ 118,321 ตัน ลดลง 43.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดหลักในแอฟริกา เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน บังคลาเทศ แคเมอรูน เบนิน เป็นต้น

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/update-news/news_7444370