ฉุดต้นทุนพุ่งธุรกิจทรุด! กกร.ห่วง “ค่าไฟ-ค่าแรง-ดอกเบี้ย” ขึ้น

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.กังวลใจเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจ จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 4 บาทต่อหน่วย เป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ในงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2565 เพราะจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และต้นทุนการประกอบการ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม จะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 20-30% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และภาคบริการ เช่น ธุรกิจโรงแรมจะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกือบ 30% ของต้นทุนทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีต้นทุนด้านแรงงานจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค.นี้ รวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่เป็นปัญหาสำคัญของภาคธุรกิจ และการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเก็บเงิน สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่เดือน ม.ค.66 ที่จะส่งผ่านไปยังดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้น ภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ กกร.ต้องติดตามภาวะของเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความเสี่ยงจะชะลอตัวกว่าที่คาดอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมองแนวโน้มดอกเบี้ยของไทย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ที่ระดับ 1.25% และมีโอกาสขยับขึ้นไปสู่ระดับ 1.5% ในช่วงเดือน มี.ค.66

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2494521

จีนและสหภาพยุโรป ยังคงเป็นตลาดศักยภาพสำหรับสินค้าเกษตรกัมพูชา

ตลาดจีนและสหภาพยุโรป ยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าเกษตรของกัมพูชา โดยกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเรียกร้องให้ผู้ส่งออกและบริษัทต่างๆ ให้ความสำคัญกับตลาดทั้ง 2 แห่ง ด้าน Song Saran ประธานสหพันธ์ข้าวกัมพูชา กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันสหพันธ์มีความตั้งใจเป็นอย่างสูงในการสนับสนุนผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดจีนและยุโรป เพื่อรักษาระดับการส่งออกของกัมพูชา ซึ่งจีนยังคงเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ของกัมพูชา คิดเป็นกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณการส่งออกข้าวของกัมพูชา และตลาดสหภาพยุโรปกินส่วนแบ่งมากกว่าร้อยละ 30 จากการที่กัมพูชามีข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณ 169,766 ตัน ไปยังจีนสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 89 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกข้าวสารไปยังสหภาพยุโรปอยู่ที่ปริมาณ 122,842 ตัน มูลค่า 86 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501145311/china-eu-remain-potential-markets-for-cambodias-agri-products/

กองทุนทรัสต์ ADB มอบเงินสนับสนุนกัมพูชา 18.4 ล้านดอลลาร์

กัมพูชารับมอบเงินทุนสนับสนุน 18.4 ล้านดอลลาร์ จากกองทุนทรัสต์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) สำหรับดำเนินโครงการภายในกัมพูชา 23 โครงการ โดยในปี 2021 ประเทศผู้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนทรัสต์ สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อินเดีย มูลค่า 41.5 ล้านดอลลาร์ สำหรับ 31 โครงการ, ศรีลังกา 32.3 ล้านดอลลาร์ สำหรับ 15 โครงการ และฟิจิ 27.9 ล้านดอลลาร์ สำหรับ 14 โครงการ ซึ่งในปัจจุบันกองทุน ADB Trust Funds ได้รับเงินบริจาคในปี 2021 มูลค่ารวม 353.4 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการลดลงประมาณร้อยละ 49 จากตัวเลขในปี 2020 โดยกองทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสมาชิก

ที่มา :https://www.khmertimeskh.com/501145513/cambodia-received-18-4m-from-adb-trust-funds-in-2021/

สรท. คงเป้าส่งออก 6-8% ชี้ยังเสี่ยงจาก เงินเฟ้อ-พลังงาน-ค่าระวางเรือสูง อ้อนขอปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนจริง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธาน สรท. เปิดเผยว่าภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ก.ค. 65 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,629 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 829,029 ล้านบาท ขยายตัว 17.0% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือน ก.ค.ขยายตัว 4.1%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,289 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 23.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 968,940 ล้านบาท ขยายตัว 38.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือน ก.ค. 65 ขาดดุลเท่ากับ 3,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (139,911 ล้านบาท)

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปีนี้ ได้แก่ 1.สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อโลกที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง  2.ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ 3.สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลยังทรงตัวในระดับสูงและเริ่มมีการปรับลดลงในหลายเส้นทาง 4.ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน นอกจากนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณา อนุญาตให้ภาคเอกชนสามารถปรับราคาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกลไกตลาด และต้นทุนการผลิตที่แท้จริงได้

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3546578

“เวียดนาม” เผย 8 เดือนแรก การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัว โต 9.4%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (IIP) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 เพิ่มขึ้น 9.4% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หากพิจารณาการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัว เพิ่มขึ้น 15.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี เป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจในเรื่องของการขยายขนาดการผลิต เพื่อชดเชยกับช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ ตามรายงานของสำนักงาน แสดงให้เห็นว่าในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ผลิตอุตสาหกรรมหลักบางรายการเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ ชิ้นส่วนโทรศัพท์ (19.6%), รถยนต์ (13.9%) และอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าศูนย์การผลิตภาคอุตสาหกรรม มีแนวโน้มในมทิศทางที่เป็นบวก อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการพยายามหาแนวทางที่จะฟื้นฟูการผลิต

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/industrial-production-recovers-quickly-with-growth-of-94-in-eight-months/236799.vnp

“อีคอมเมิร์ซ” กุญแจสำคัญ เพิ่มโอกาสขยายการค้าเวียดนาม-สหราชอาณาจักร

ภาคธุรกิจของเวียดนามได้รับการกระตุ้นให้มาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อที่จะขยายการเข้าถึงตลาดสหราชอาณาจักร (UK) หลังจากข้อตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA) มีผลบังคับใช้แล้ว โดยสหราชอาณาจักรเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อันดับที่ 4 ของโลกที่ทำรายได้กว่า 117.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 หากพิจารณาผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในตลาดอีคอมเมิร์ซของสหราชอาณาจักร คือเว็บไซต์ร้านค้า amazon.co.uk ทำรายได้ 17.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว รองลงมา tesco.com และ argos.co.uk คิดเป็นสัดส่วนทั้งสามร้านค้ารวมกัน 30% ของรายได้ออนไลน์ในสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมอิคอมเมิร์ซ เติบโตสูงถึง 53% ในปี 2564 ดังนั้น คุณ Bùi Thanh Hằng ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ ชี้ว่าข้อตกลง UKVFTA จะอนุญาติให้ใช้วิธีการใหม่ในการเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1312561/e-commerce-the-key-to-increase-bilateral-trade-between-viet-nam-and-the-uk.html

“เวียดนาม-สปป.ลาว” ตั้งเป้าดันการค้าแตะ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในปัจจุบัน สปป.ลาวเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 7 ของเวียดนามในกลุ่มประเทศอาเซียน และทั้งสองประเทศยังพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายทางการค้า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เวียดนามและลาวมีพรมแดนร่วมกันมากกว่า 2,300 กม. โดยเฉพาะประตูชายแดนระหว่างประเทศ มีจำนวน 9 แห่ง, ประตูหลัก 6 แห่ง, ประตูอื่นๆ อีก 18 แห่ง และเส้นทางต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันของทั้งสองประเทศ รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 9 แห่ง

ทั้งนี้ การส่งออกของเวียดนามไปยังสปป.ลาว มีมูลค่า 594.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4% ในขณะที่การนำเข้า 778.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 69.8%

นอกจากนี้ นาย โด ทั้งห์ หาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าเวียดนามพร้อมที่จะช่วยเหลืออุปสรรคของสปป.ลาว ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-laos-aiming-fo-2-billion-usd-in-bilateral-trade-2056831.html

เมียนมาส่งออกข้าวหักผ่านชายแดนมูเซไปจีนพุ่งสูงขึ้น

นาย อู มิน เต็ง รองประธานของ Muse Rice Commodity Exchange เผย รายได้จากส่งออกข้าวหักไปยังจีนผ่านชายแดนมูเซเพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าเงินจัตอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินหยวนของจีน ซึ่งการส่งออกข้าวหักไปจีนในแต่ละวันจะถูกลำเลียงผ่านชายแดนมูเซ – จี่งซานเจ้าะ ด้วยรถบรรทุกประมาณ 50 คัน โดยในตลาดชายแดน การส่งออกข้าวหักจะมีมากกว่าข้าวสารทั่วไป ซึ่งราคาข้าวหัก 50 กิโลกรัม ราคาจะอยู่ระหว่าง 140 -150 หยวน ส่วนราคาข้าวและข้าวหักในประเทศ มีแนวโน้วเพิ่มขึ้นตามราคาส่งออกข้าวหักที่สูงขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/broken-rice-export-rising-through-muse-border/