เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 1/2568 โตชะลอที่ 6.93%YoY คาด Reciprocal Tariffs กระทบเชิงลบต่อ GDP 1.5% แต่มีปัจจัยบวกหากการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ สำเร็จ

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/2568 เติบโตอยู่ที่ระดับ 6.93%YoY ชะลอจากไตรมาสที่ 4/2567 ที่ 7.55%YoY เนื่องจากการนำเข้าที่เร่งตัวขึ้นถึง 16.9%YoY ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าเครื่องจักรที่เพิ่มขึ้น หลังพายุไต้ฝุ่นยางิสร้างความเสียหายให้กับฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรม

เวียดนามเป็นประเทศที่ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ในอัตรา 46% และเสี่ยงส่งผลกระทบเชิงลบต่อ GDP สูงถึง 1.5%จากการที่เศรษฐกิจเวียดนามพึ่งพาการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสหรัฐฯ ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่น ๆ

ในเบื้องต้น Reciprocal Tariffs คาดส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตชะลอลงมาที่ 5.3% แต่ยังมีปัจจัยบวกหากการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ประสบผลสำเร็จ

อ่านต่อ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-GDP-EBR4144-KR-08-04-2025.aspx

เงินดองอ่อนค่ามากสุดเป็นประวัติการณ์และมีแนวโน้มอ่อนค่า คาดธนาคารกลางเวียดนามจะคงดอกเบี้ยนโยบายถึงสิ้นปี 2025

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เงินดองอ่อนค่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้ารอบใหม่ โดยเงินดองอ่อนค่า 0.6%YTD มาที่ระดับ 25,535 ดอง/ดอลลาร์ฯ ในวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงต่ำกว่าระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ก่อนหน้านี้ที่ทำไว้เมื่อปลายเดือนธันวาคม โดยปัจจัยหลักมาจากความเสี่ยงสงครามการค้ารอบใหม่ ที่เวียดนามเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.23 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2024 ประกอบกับธนาคารกลางเวียดนามยังปรับลดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงมาอยู่ที่ 24,522 ดอง/ดอลลาร์ฯ

ภายใต้นโยบายทรัมป์ 2.0 คาดเวียดนามเกินดุลการค้าน้อยลงในปีนี้ส่งผลให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันเงินดองอ่อนค่ารัฐบาลเวียดนามกำลังเผชิญแรงกดดันระหว่างการถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าเวียดนามหรือต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งสองทางเลือกล้วนส่งผลให้การเกินดุลการค้าลดลง

นอกจากนี้ ยังมีกระแสเงินทุนไหลออกจากทั้งตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และจากการลงทุนอื่นๆ ส่งผลให้เวียดนามขาดดุลบัญชีการเงิน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยกดดันค่าเงินดอง โดยปกติ เวียดนามจะมีเม็ดเงิน FDI ไหลเข้ามากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในแต่ละปี ซึ่งเป็นปัจจัยหลักหนุนการเกินดุลบัญชีการเงิน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2023 มีกระแสเงินไหลออกจากทั้งตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และจากการลงทุนอื่นๆ เช่น ภาคการเงินการธนาคาร รวมมากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ฯส่งผลให้เวียดนามขาดดุลบัญชีการเงินซึ่งหลักๆ สะท้อนอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในต่างประเทศตามการคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงของเฟด ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานของภาคการเงินเวียดนามที่ยังเปราะบาง

เงินดองยังมีแนวโน้มอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 25,600 ดอง/ดอลลาร์ฯ ภายในสิ้นปี 2025 จากปัจจัยเสี่ยงมาตรการภาษีทรัมป์ และเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย ส่วนโอกาสที่ธนาคารกลางเวียดนามจะเข้าพยุงค่าเงินดองคาดมีค่อนข้างจำกัด เพราะต้องรักษาระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เหมาะสม โดยตั้งแต่เดือน ก.พ.-ต.ค. 2024 ธนาคารกลางเวียดนามใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ฯเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินดองส่งผลให้ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงจากระดับเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 3.79 เดือน ในเดือน ก.พ. 2024 มาอยู่ที่ระดับเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 2.45 เดือน ในเดือน ต.ค. 2024 (IMF ได้ให้เกณฑ์สากลว่าประเทศควรมีทุนสำรองสามารถรองรับการนำเข้าสินค้าได้มากกว่า 3 เดือน)

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในเดือน ม.ค. 2025 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.63%YoY ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางเวียดนามอยู่ในกรอบไม่เกิน 4.5%

ดังนั้น เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินและบริหารจัดการอัตราเงินเฟ้อ คาดธนาคารกลางเวียดนามจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 4.5% ไปจนสิ้นปี 2025 ภายใต้สมมุติฐานว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 25 bps ในปีนี้

อ่านต่อ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/VN-Dong-EBR4126-FB-2025-02-14.aspx

เศรษฐกิจเวียดนามปี 2567 โตเร่งขึ้นมาที่ 7.09% คาด GDP ปี 2568 โต 6.8% ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้ารอบใหม่

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เศรษฐกิจเวียดนามปี 2567 เติบโตเร่งขึ้นมาที่ 7.09% สูงกว่า 5.05% ในปี 2566 โดยมีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของการส่งออก (14.32%) การลงทุนในภาพรวม (7.02%) และการบริโภคในประเทศ (6.57%) ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 4/2567 เติบโตเร่งขึ้นมาที่ 7.55%YoY สูงกว่าค่าเฉลี่ยผลการสำรวจของ Bloomberg ที่ 6.7% จากปัจจัยหนุนหลักคือการส่งออกที่เร่งตัวขึ้น

ภาคการส่งออกเวียดนามฟื้นตัวในปี 2567 โดยเติบโตเร่งขึ้นมาที่ 14.32% เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกในภาพรวม นำโดยความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

เศรษฐกิจเวียดนามปี 2568 คาดเติบโตที่ 6.8% ท่ามกลางความเสี่ยงสงครามการค้ารอบใหม่ โดยมีปัจจัยหนุนดังนี้

  • เม็ดเงิน FDI คาดยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากมองว่าเวียดนามมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนในสงครามการค้ารอบใหม่
  • การส่งออกยังคงเติบโตในเกณฑ์ดี แม้ว่าจะโตชะลอมาที่ 12.0% ในปี 2568 ตามภาวะเศรษฐกิจหลักของโลกที่ชะลอลงและมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้การส่งออกเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี ก่อนภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามมีความเสี่ยงสูงจากผลกระทบการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เนื่องจากพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากที่สุดในอาเซียนคิดเป็นสัดส่วน 22.4% ของ GDP โดยสินค้าที่เสี่ยงได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ เสื้อผ้าเฟอร์นิเจอร์ ของเล่น และเครื่องหนัง

อ่านต่อได้ที่ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-GDP-EBR4113-07-01-2025.aspx

 

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV ปี 2568 จะเติบโตชะลอลงเล็กน้อยตามเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลง แต่อุปสงค์ในประเทศช่วยบรรเทาผลกระทบได้บ้าง

เศรษฐกิจ CLMV ปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงเล็กน้อย

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV ปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงเล็กน้อยตามเศรษฐกิจโลกที่จะแผ่วลง จากผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมของนโยบาย Trump 2.0 เช่น ผลจากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนและประเทศอื่น ๆ สินค้าจีนราคาถูกเข้ามาตีตลาดในประเทศมากขึ้นทดแทนตลาดสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยนโยบายประเทศเศรษฐกิจหลักปรับลดน้อยกว่าที่เคยคาดไว้จากแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์ที่เร่งตัว อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศ CLMV มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการจ้างงาน ช่วยบรรเทาผลกระทบจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอตัวได้บ้าง นอกจากนี้ เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนที่เติบโตดีจะช่วยสนับสนุนภาคท่องเที่ยวของเศรษฐกิจ CLMV ให้ขยายตัวต่อเนื่องได้ รวมถึงเศรษฐกิจ CLMV จะได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติเพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และหลีกเลี่ยงอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่อาจปรับสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการส่งออกในระยะต่อไป ในปี 2568 SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 6.0% (ทรงตัวจากปี 2567) สปป.ลาว 4.3% (ลดลงจาก 4.5% ในปี 2567) เมียนมา 2.2% (ลดลงจาก 2.3% ในปี 2567) และเวียดนาม 6.5% (ลดลงจาก 6.8% ในปี 2567)

ปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศใน CLMV มีความสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ

เวียดนามมีแนวโน้มเติบโตดีที่สุดในกลุ่ม เนื่องจากได้ประโยชน์จากกระแสการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียน ด้วยห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่มีความพร้อม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงระยะทางการขนส่งไปตลาดจีนที่สั้น ตลาดในประเทศที่เติบโตดี และความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ กัมพูชาจะเติบโตดีรองลงมา จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ช่วยสนับสนุนตลาดแรงงานในประเทศ และเสถียรภาพการคลังที่ยังมั่นคงสามารถใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนที่เติบโตชะลอลงจะเป็นปัจจัยกดดันเพราะกัมพูชาพึ่งพาจีนสูงในหลายด้าน สปป.ลาวยังเปราะบางสูง แม้จะได้อานิสงส์จากอุปสงค์ในภูมิภาคอาเซียน แต่เสถียรภาพด้านการคลังและเสถียรภาพด้านต่างประเทศยังเปราะบางมาก ท่ามกลางค่าเงินกีบอ่อน เงินเฟ้อสูง ทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ และต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นหลังถูกจัดอันดับเครดิตที่ระดับ Speculative ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันศักยภาพเศรษฐกิจต่อไป เมียนมาขยายตัวต่ำต่อเนื่อง ผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจซบเซาท่ามกลางเหตุการณ์รุนแรงที่ยังไม่คลี่คลาย ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น เงินจัตอ่อนค่า เงินเฟ้อเร่งตัว และการขาดแคลนปัจจัยการผลิตจากเส้นทางการขนส่งและการค้าหยุดชะงัก

เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV อาจเผชิญกับความเสี่ยงในหลายด้าน

เศรษฐกิจ CLMV จะต้องเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำหลายด้าน ทั้งจากนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจมีการกีดกันการค้าประเทศวงกว้างกว่าที่ Trump หาเสียงไว้ โดยเฉพาะเวียดนามที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อาจแข็งขึ้นจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยปลายทาง (Terminal rate) ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่จะสูงกว่าคาดการณ์เดิม กดดันให้ค่าเงินกลุ่มประเทศ CLMV เผชิญแรงกดดันอ่อนค่ามากขึ้น ส่งผลทำให้เงินเฟ้อลดลงช้า และหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในบางประเทศที่พึ่งพาการกู้จากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน มูลค่าหนี้เสียที่ยังอยู่ในระดับสูงในบางประเทศอาจกดดันการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์และเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินในประเทศ รวมทั้งกดดันการลงทุนภายในประเทศ สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา เนื่องจากจะกระทบต่อผลผลิตการเกษตรและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ซึ่ง CLMV จัดว่าเป็นภูมิภาคที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลำดับต้น ๆ ของโลก

อ่านต่อได้ที่ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-outlook-dec24

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 3/2567 โตสูงกว่าคาดที่ 7.4%YoY หนุนโดยการส่งออกและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 3/2567 โตสูงกว่าคาดที่ 7.4%YoY หนุนโดยการส่งออกและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

  • เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 3/2567 เติบโตอยู่ที่ระดับ 7.40%YoY สูงกว่าค่าเฉลี่ยผลการสำรวจของ Bloomberg ที่ 6.1% และสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 2/2567 ที่ 7.09%Y โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออกและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ส่วนการบริโภคภาคครัวเรือนค่อนข้างทรงตัว
  • การส่งออกเวียดนามเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 3 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์โลกในสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องจักร และสินค้าเกษตร ส่วนการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เติบโตชะลอลง
  • ​ทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงที่เหลือของปี 2567 คาดว่าจะเติบโตชะลอลงจาก 9 เดือนแรกที่เติบโต 6.75%YoY จากการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลง ทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าคาดการณ์เดิมมาอยู่ที่ 6.6% จาก 6.0% จากตัวเลขเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 3/2567 ที่ออกมาดีกว่าที่คาดค่อนข้างมากเนื่องจากการฟื้นตัวของการส่งออกซึ่งมีการปรับเพิ่มคาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2024 มาอยู่ที่ระดับ 12.6% จากเดิม 7.5%
  • อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาหนี้สินอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนามที่ยังไม่คลี่คลาย

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-GDP-EBR4087-FB-07-10-24.aspx

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 2/2567 โตสูงกว่าคาด จากการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายในประเทศแต่แนวโน้มยังเผชิญความเสี่ยงหลายปัจจัย

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าเศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 2/2567 เติบโตอยู่ที่ระดับ 6.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่า consensus ที่ 5.8% และสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 1/2567 ที่ 5.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 2/2567 โตสูงกว่าคาดจากการลงทุนภาครัฐและการใช้จ่ายในประเทศแต่แนวโน้มยังเผชิญความเสี่ยงหลายปัจจัย

  • เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาสที่ 2/2567 เติบโตอยู่ที่ระดับ 6.9%YoY สูงกว่า consensus ที่ 5.8% และสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 1/2567 ที่ 5.9%YoY โดยมีปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนภาครัฐ แต่ก็มีปัจจัยฉุดจากการชะลอตัวของ FDI และการส่งออก
  • ทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 คาดว่าจะเติบโตชะลอลงจากครึ่งแรกที่เติบโต 6.42%YoY จากการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลง ทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าคาดการณ์เดิมมาอยู่ที่ 6.2% จาก 5.8%
  • ​อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนามยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงอยู่หลายปัจจัย ได้แก่ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ปัญหาหนี้สินอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนามที่ยังไม่คลี่คลาย ทิศทางการอ่อนค่าของเงินดอง และอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-EBR4069-KR-01-07-2024.aspx

การส่งออกชายแดนและผ่านแดน 4 เดือนแรกปี 2024 หดตัว 1.5%YoY คาดทั้งปียังโตต่ำ 0.6%

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

การส่งออกชายแดนและผ่านแดน 4 เดือนแรกปี 2024 หดตัว 1.5%YoY คาดทั้งปียังโตต่ำ 0.6%

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทั้งปี 2024 การส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยขยายตัวต่ำที่ 6% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 9.86 แสนล้านบาท แม้มีแรงหนุนจากการฟื้นตัวในตลาดหลัก
  • ในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่า การส่งออกชายแดนและผ่านแดนจะปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก 2024 จากผลของฐานสูงที่ทยอยลดลง การส่งออกไปเมียนมากลับมาดีขึ้นจากการเปิดด่าน การส่งออกทุเรียนไปจีน ได้อานิสงส์จากราคาที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงการส่งออกสินค้าสำคัญอย่าง HDDs กับยางพารายังดีได้ต่อเนื่อง

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/BorderTrade-CIS3498-FB-27-05-2024.aspx

เศรษฐกิจ CLMV เร่งตัวปี 2567 แต่ยังโตช้ากว่าช่วงก่อนโควิด-19

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

เศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในปี 2024 ตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งจะสนับสนุนให้อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นผ่านการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ในระยะปานกลางเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของธุรกิจข้ามชาติออกไปลงทุนในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ “China +1” เพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระยะต่อไป ในปีนี้ SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวต่อเนื่อง 6.0% (จาก 5.6% ในปี 2023) สปป.ลาว 4.7% (จาก 4.5%) เมียนมา 3.0% (จาก 2.5%) และเวียดนาม 6.3% (จาก 5.1%)

อัตราการขยายตัวของแต่ละประเทศใน CLMV ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 จากปัจจัยกดดันต่าง ๆ  อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเศรษฐกิจภูมิภาค CLMV มีความสัมพันธ์สูงทั้งด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวและภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกัน บางประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนามมีอัตราส่วนหนี้เสีย (Non-performing loans ratio) สูงขึ้นหลังมาตรการช่วยเหลือในช่วง COVID-19 สิ้นสุดลง ประกอบกับภาวะการเงินในประเทศที่ตึงตัวขึ้น อาจกระทบการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและการเข้าถึงสภาพคล่องของธุรกิจได้ นอกจากนี้ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยที่ต้องจับตาต่อเนื่อง ในระยะสั้นการค้าโลกอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการขนส่งบริเวณทะเลแดงและคลองปานามาที่แห้งแล้งและอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าส่งออกของภูมิภาค CLMV ได้ ในระยะยาวเศรษฐกิจ CLMV จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับโลกที่มีแนวโน้มจะกีดกันการค้าและตั้งกำแพงภาษีมากขึ้น

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน

ความเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV แตกต่างกัน ขึ้นกับปัจจัยเฉพาะประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาวที่เผชิญความเสี่ยงจากระดับหนี้สาธารณะซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเทียบกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกตึงตัว ทำให้เงินกีบอ่อนค่ารวดเร็ว ซ้ำเติมภาระการชำระหนี้ต่างประเทศ และทำให้เงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นมากและปรับตัวลดลงได้ช้าในปีนี้ ปัจจัยเหล่านี้กดดันศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยสปป.ลาวกำลังดำเนินการรัดเข็มขัดทางการคลัง ควบคู่กับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และการหาแหล่งระดมทุนใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพการคลังไว้ ขณะที่เมียนมาเป็นอีกประเทศที่กำลังเผชิญปัจจัยกดดันเชิงโครงสร้าง ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2021 และทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2023 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศซบเซา ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น การขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินจัตอ่อนค่าและเงินเฟ้อเร่งตัว ตลอดจนปัญหาระบบขนส่งและโครงข่ายไฟฟ้าหยุดชะงัก การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังดูเป็นไปได้ยากในระยะสั้น เนื่องจากจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ

ค่าเงินของกลุ่มประเทศ CLMV จะเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าลดลง

ธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่กลางปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้าประเทศกำลังพัฒนา รวมถึง CLMV มากขึ้น และจะกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศตามต้นทุนการระดมทุนที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเฉพาะประเทศยังคงเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อแนวโน้มค่าเงิน ส่งผลให้ค่าเงินบางประเทศอาจยังอ่อนค่าต่อ

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV

การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV มีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้ หลังจากค่อนข้างซบเซาในปี 2023 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าโลกที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการผลิต และเศรษฐกิจประเทศในภูมิภาคที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ภาวะการเงินโลกและไทยที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงบ้างในปีนี้จะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนให้บริษัทไทยลงทุนใน CLMV ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามเสถียรภาพเศรษฐกิจของ CLMV บางประเทศที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก ทั้งนี้ในระยะยาว SCB EIC ยังมีมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคของโลกที่เติบโตสูง และยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ จากปัจจัยประชากรที่มีอายุเฉลี่ยน้อย การมีข้อตกลงสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และแหล่งที่ตั้งที่มีความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ติดตลาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดีย

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-outlook-mar24?utm_source=Twitter&utm_medium=Link&utm_campaign=CLMV_OUTLOOK_MAR_2024

 

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/67 ชะลอตัวที่ 5.66%YoY คาดทั้งปี 67 เติบโต 5.8-6.0% หนุนโดยการส่งออก

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เศรษฐกิจเวียดนามไตรมาส 1/67 ชะลอตัวที่ 5.66%YoY คาดทั้งปี 67 เติบโต 5.8-6.0% หนุนโดยการส่งออก

  • เศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 1/2567 เติบโตชะลอตัวลง จากการชะลอตัวของการลงทุนในภาพรวม
  • การส่งออกยังเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 1/2567 โดยมูลค่าการส่งออกเติบโตเร่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2%YoY ในไตรมาสที่ 1/2567
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทั้งปี 2567 เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตอยู่ที่ระดับ 8-6.0% จากแรงหนุนของการส่งออก

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-GDP-EBR4050-29-03-2024.aspx

การลาออกของประธานาธิบดีเวียดนาม คาดไม่ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะยาว

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์การลาออกของประธานาธิบดีเวียดนาม ว่า กระแสการปราบปรามการคอร์รัปชั่นในเวียดนามส่งผลให้ประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง ยื่นใบลาออก หลังดำรงตำแหน่งเพียง 1 ปี และนับเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ที่ถูกกดดันให้ลาออกในช่วงปีที่ผ่านมา

การลาออกของประธานาธิบดีเวียดนาม คาดไม่ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะยาว

  • กระแสการปราบปรามการคอร์รัปชันในเวียดนามส่งผลให้ประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง ยื่นใบลาออก หลังดำรงตำแหน่งเพียง 1 ปี และนับเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ที่ถูกกดดันให้ลาออกในช่วงปีที่ผ่านมา
  • การลาออกของประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง อาจส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองและบรรยากาศในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในระยะสั้น แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานและการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในระยะยาว

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Vietnam-Econ-21-03-2024.aspx