10 ธุรกิจ ดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 2567

ม.หอการค้าไทย เผย 10 ธุรกิจ ดาวรุ่ง – ร่วง ปี 2567
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าผลสำรวจการจัดอันดับ 10 ธุรกิจดาวรุ่ง – ดาวร่วง ปี 2567

10 อันดับธุรกิจดาวรุ่งในปี 2567

1.ธุรกิจที่ทำการซื้อขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์หรือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจ YouTuber การรีวิวสินค้าและอินฟลูเอนเซอร์
2.ธุรกิจการแพทย์และความงาม ธุรกิจโฆษณาและสื่อออนไลน์ ธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสาร เช่น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือสัญญาณสื่อสารต่าง ๆ
3.โซเชียลมีเดียและออนไลน์เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ธุรกิจด้านการเงินธนาคาร ฟินเทค และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี ธุรกิจคลาวด์เซอร์วิส และธุรกิจบริการไซเบอร์ ซีเคียวริตี้
4.งานคอนเสิร์ต มหกรรมจัดแสดงสินค้า ธุรกิจอีเวนท์ ธุรกิจความเชื่อ เช่น สายมู หมอดู ฮวงจุ้ย ธุรกิจอัญมณี เช่น ทอง
5.ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต ธุรกิจEV และธุรกิจเกี่ยวข้อง ธุรกิจ Soft Power เช่น ซีรีส์ ภาพยนตร์
6.ธุรกิจอาหารเสริม ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ธุรกิจเกี่ยวกับน้ำตาล
7.ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่โมเดิร์นเทรด ธุรกิจโลจิสติกส์ เดลิเวอรี่ และคลังสินค้า ธุรกิจเงินด่วน โรงรับจำนำ
8. ธุรกิจสัตว์เลี้ยง ธุรกิจบันเทิงยามค่ำคืน ผับ บาร์ คาราโอเกะ
9. ธุรกิจอีสปอร์ต เกมส์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจตลาดเพื่อการท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรม ทัวร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
10. ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง

ส่วน 10 อันดับธุรกิจดาวร่วงในปี 2567 ได้แก่

อับดับ 1 โทรศัพท์พื้นฐาน, ธุรกิจร้านเช่าหนังสือ CD-VDO, ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่มีแพลตฟอร์มออนไลน์
อันดับ 2 ธุรกิจผลิต CD-DVD ที่จัดเก็บข้อมูลฮาร์ดดิสไดร์ฟ หรือเมมโมรี่ การ์ด, บริการส่งหนังสือพิมพ์
อันดับ 3 ธุรกิจคนกลาง, เครื่องปั้นดินเผา เซรามิก
อันดับ 4 ธุรกิจผลิตสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม
อันดับ 5 ธุรกิจผลิตสารเคมี
อันดับ 6 ร้านถ่ายรูป
อันดับ 7 ร้านขายเครื่องเล่นเกมส์ แผ่นเกมส์, ธุรกิจทอผ้าจากธรรมชาติ
อันดับ 8 ธุรกิจถ่ายเอกสาร
อันดับ 9 ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้
อันดับ 10 ร้านโชห่วย, ธุรกิจผลิตกระดาษ

สำหรับการจัดอันดับของธุรกิจดังกล่าวนำข้อมูลมาจากจากข้อมูลปฐมภูมิ ด้วยการสำรวจผู้ประกอบการรายสาขา สถานภาพธุรกิจไทย ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ รวมถึงข้อมูลทุติยภูมิต่างๆ เช่น ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก, ข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์, ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ได้มีเกณฑ์การให้คะแนนธุรกิจใน 5 ด้านรวม 100 คะแนน ประกอบด้วย ยอดขาย ต้นทุน กำไรสุทธิ ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและการแข่งขัน ความต้องการ-กระแสนิยม

ที่มา : https://shorturl.asia/JSjWB

เศรษฐกิจเวียดนามปีนี้คาดจะเติบโต 4.8-5.0% ต่ำกว่าเป้าหมายอัตราการเติบโตใหม่ 6.0% ที่รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าไว้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสที่ 4 จะเติบโตอยู่ที่ระดับ 6.3-7.0% และส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอยู่ที่ระดับ 4.8-5.0% ในปีนี้ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 4 คือภาคการส่งออกที่เริ่มขยายตัว และการเร่งการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ปัญหาการต่ออายุหุ้นกู้เดิมในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจเวียดนามไปจนถึงปลายปี 2567

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธนาคารกลางเวียดนามจะคงดอกเบี้ยนโยบายไปอีก 3 เดือน ท่ามกลางวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ยังไม่สิ้นสุด แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเวียดนามจะลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย 4.5% แต่แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะส่งผลให้เกิดสถานการณ์เงินทุนไหลออกและเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินดองอ่อนค่า จึงมองว่าธนาคารกลางเวียดนามจะรอดูสถานการณ์ต่อไปและจะยังไม่ปรับดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะ 3 เดือน ข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามูลค่าการส่งออกไทยไปเวียดนามจะขยายตัวขึ้น 2.7%YoY ในไตรมาสที่ 4 และส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2566 หดตัว -11.7%YoY โดยการขยายตัวของการส่งออกในไตรมาสที่ 4 จะเป็นผลพวงจากฐานต่ำและราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส ซึ่งน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 2 ของไทยไปเวียดนาม

นอกจากนี้ ปัจจัยกดดันการส่งออกไทยไปเวียดนามในไตรมาสที่ 4 ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัทไทยไปลงทุนในโครงการปิโตรคอมเพล็กซ์เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกในเวียดนาม ซึ่งจะเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้ และคาดว่าจะทำให้การส่งออกเม็ดพลาสติกซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 4 ของไทยไปเวียดนาม หดตัวอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Vietnam-EB4020-12-10-2023.aspx

3 เหตุผล ทำไมตลาดหุ้นเวียดนามยังน่าลงทุน

          โดย บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด

ในปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นเวียดนามเผชิญความผันผวนจากปัจจัยทั้งในประเทศจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางเวียดนาม ความกังวลต่อปัญหาในภาคอสังหาฯ และปัจจัยจากต่างประเทศอาทิ การ Lockdown ของประเทศจีน ,สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ,อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในปี 2023 ตลาดหุ้นเวียดนามกลับมาเป็นตลาดที่น่าจับตามองของเหล่านักลงทุนทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง โดยตั้งแต่ต้นปีตลาดหุ้นเวียดนามมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ +20% (YTD) (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ส.ค. 2023) ซึ่งเป็นตลาดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นลำดับ 3 รองจาก NASDAQ และ NIKKEI

 

ปัจจัยกดดันต่างๆเริ่มคลี่คลาย หลังธนาคารกลางปรับลดดอกเบี้ยแล้วถึง 4 ครั้ง เพื่อสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจภายในประเทศ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มกลับมาปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ภาคอสังหาฯ เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว พร้อมกับการผ่อนคลายนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อของเวียดนามมีแนวโน้มที่ลดลง สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อทั่วโลก สำหรับรายละเอียดในด้านต่างๆ มีดังนี้

ตัวเลขเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว

หน่วยงานสถิติเวียดนามเปิดเผยตัวเลข GDP ในไตรมาส 2 ขยายตัว 4.14% YoY สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.8% YoY และสูงกว่าไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 3.3% YoY ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของยอดส่งออกยังมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากที่จีนกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง แม้ว่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรปจะปรับตัวลดลง แต่คาดการณ์ว่าจะเป็นการปรับตัวลงในกรอบแคบมากขึ้น จากการการผ่อนคลายความตึงตัวของห่วงโซ่อุปทาน และคาดว่าการส่งออกไปยังจีนจะฟื้นตัวดีขึ้นจากการที่สหรัฐฯ ลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากจีน ในขณะที่ช่วงที่เหลือของปีคาดส่งออกเวียดนามจะได้รับอานิสงฆ์จากการ restock สินค้าจากสหรัฐฯ

ปัจจัยหนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อีกปัจจัยมาจากภาคการท่องเที่ยว โดยเวียดนามมีจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนสิงหาคมสูงถึง 1.2 ล้านคน และมีจำนวนทักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 เดือนแรกของปีนี้จำนวน 7.8 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 98% ของเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้จำนวน 8 ล้านคนภายในปีนี้ อีกทั้งทางรัฐบาลได้มีการออกนโยบายวีซ่าใหม่ จะยิ่งเป็นปัจจัยช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยได้มีการตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวใหม่ไว้ที่จำนวน 12 ล้านคนในปีนี้

นอกจากนี้เวียดนามยังมีเงินลงทุนไหลเข้าจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 8% YoY ในช่วง 8 เดือนแรกของปีหรือคิดเป็นมูลค่ารวม 18.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหลังจากเกิดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนและความเสี่ยงจากการ Lockdown ประเทศจาก COVID ส่งผลให้บรรดาผู้ผลิตย้ายฐานการผลิตออกจากจีน นอกจากนี้เวียดนามยังมีแรงงานที่มีคุณภาพ และค่าจ้างแรงงานที่ถูก รวมถึงเรื่องสิทธิประโยชน์ทางการค้าผ่านการทำข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ จึงเป็นแรงดึงดูดให้เวียดนามเป็นประเทศเนื้อหอมต่อนักลงทุนต่างประเทศ

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2023 ทางรัฐบาลได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปเพียง 35.5% แสดงให้เห็นว่าทางภาครัฐยังคงมีเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกค่อนข้างมากที่ช่วงที่เหลือของปี ซึ่งในปี 2023 รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะอัดฉีดเม็ดเงินอยู่ที่ระดับ 707 Trillion Dong ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นที่จะต้องอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนอีกประมาณ 65-70 Trillion Dong ต่อเดือนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

รัฐบาลเวียดนามและธนาคารกลางออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

การปรับลดอัตราดอกเบี้ย – ธนาคารกลางเวียดนามมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินตั้งแต่ต้นปี โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกัน 3 ครั้งแล้วในปีนี้จากระดับ 6% ลงมาสู่ระดับ 4.5% หลังจากที่เงินเฟ้อของเวียดนามผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยลดลงจากระดับ 4.89% ในเดือนม.ค. มาสู่ระดับ 2.96% ในเดือนสิงหาคม ขณะที่โอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงไปอีกยังคงมีอยู่ แต่ยังคงต้องจับตาอัตราเงินเฟ้อจะชะลอลงได้อีกหรือไม่

ปรับลดภาษี VATรัฐบาลเวียดนามมีแผนในการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% มาอยู่ที่ระดับ 8% ตั้งแต่เดือนก.ค. -ธ.ค. 2023 เพื่อเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย โดยเป็นการเพิ่มอำนาจการใช้จ่ายระยะสั้น ทั้งในภาคการบริโภค และกิจกรรมทางธุรกิจ ยกเว้นกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ธนาคาร หลักทรัพย์ ประกันภัยและธุรกิจสื่อสาร

เพิ่มระยะเวลา VISA ท่องเที่ยว – นายกฯรัฐมนตรีของเวียดนามได้มีการสั่งแก้ไขนโยบายเกี่ยวกับวีซ่าใหม่ โดยขยายระยะเวลาของกลุ่มแรกที่ต้องของวีซ่าครอบคุม 80 ประเทศ ในการพำนักในประเทศจากเดิมสูงสุดได้เพียง 30 วัน เป็น 90 วัน กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นวีซ่า 13 ประเทศ จากเดิมที่อยู่ได้ไม่เกิน 15 วัน ขยายเพิ่มเป็น 45 วัน ขณะที่ประเทศจากกลุ่มอาเซียนสามารถอยู่ในเวียดนามโดยไม่ต้องมีวีซ่าได้นานถึง 30 วัน

ผ่อนคลายการควบคุมตลาดตราสารหนี้ – รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฎหมาย “Decree 8/2023” เพื่อบรรเทาความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาฯ โดยอนุญาตให้บริษัทผู้ออกตราสารหนี้ปรับโครงสร้าง และยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปได้ 2 ปี โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นก่อน พร้อมทั้งอนุญาตให้ให้ใช้สินทรัพย์ที่จับต้องได้ (physical assets) ชำระหนี้ได้ รวมถึงผ่อนคลายความเข้มงวดด้านเครดิตของผู้ออกตราสารหนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น

 

นักลงทุนรายย่อยกลับเข้าตลาด หลังดอกเบี้ยเงินฝากลดลง ขณะที่ตลาดหุ้นยังเทรดไม่แพง

ธนาคารเวียดนามหลายแห่งได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังจากธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ประกาศปรับลดเพดานดอกเบี้ยเงินฝาก โดยล่าสุดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือน ปรับตัวลดลงมาจากระดับ 9% ลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 6.50% ขณะเดียวกัน Bond Yield Vietnam 10Y ปรับตัวลดลงจากระดับ 4.63% ในเดือนม.ค. สู่ระดับ 2.66% ในเดือนส.ค. (ข้อมูล 31 ส.ค. 2023) ดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราผลตอบแทนพัธบัตรที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ตลาดหุ้นกลับมาเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น ทำให้ปริมาณการเทรดในตลาดหุ้นเวียดนามกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นเวียดนามยังคงมีปัจจัยหนุนหลายปัจจัย และมองว่าตลาดหุ้นเวียดนามในช่วงนี้ถือเป็นจังหวะที่น่าลงทุน โดยหากพิจารณาจาก Fwd P/E ที่อยู่ที่ระดับ 9.8 เท่า ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ระดับประมาณ 12 เท่า อีกทั้งได้มีการปรับ Earning Growth เพิ่มขึ้น ในขณะที่ดัชนียังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับ P/E ไม่ได้มีการปรับตัวขึ้นตามมากนัก ส่งผลให้ในปีนี้ตลาดเวียดนามกลายเป็นที่น่าจับตามองและเป็นที่น่าสนใจแก่นักลงทุน

ที่มา : Bloomberg, Vnexpress, Mirae Asset

โอกาสและความท้าทายตลาดพลังงานของกัมพูชา

โดย AEC Connect ธนาคารกรุงเทพ

ตลาดพลังงานของกัมพูชาก็เหมือนกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายๆ ประเทศที่มีทั้งความท้าทายและโอกาส โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของกัมพูชาในตลอดทศวรรษที่ผ่านมาทำให้อุปสงค์ด้านพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก

หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญในตลาดพลังงานของกัมพูชาคือการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่แข็งแรงและน่าเชื่อถือ ขณะที่ โครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ส่งผลให้พื้นที่ในชนบทไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้

ความท้าทายข้างต้นนับเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของกัมพูชา เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ นอกจากนั้น โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่มีอยู่ก็พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นำเข้าและไฟฟ้าพลังน้ำอย่างหนัก ทำให้กัมพูชาอยู่ในภาวะที่อ่อนแอและถูกโจมตีได้ง่ายจากราคาพลังงานโลกที่ผันผวนและระดับน้ำที่มีความแปรปรวนในแต่ละฤดู

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักลงทุนและบริษัทด้านพลังงานต่างๆ เนื่องจากความต้องการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเปิดโอกาสในตลาดนี้ให้แก่บริษัทต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิต การส่งผ่านและการจ่ายไฟฟ้า อีกทั้งพันธสัญญาของรัฐบาลที่จะเพิ่มส่วนของพลังงานทดแทนในแผนการผสมผสานพลังงานหลายประเภทของประเทศก็นับเป็นโอกาสของบรรดาบริษัทที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา กัมพูชามีความก้าวหน้าอย่างมากเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทนซึ่งจะเห็นได้ชัดจากที่กัมพูชาเป็นประเทศที่มีแสงแดดมากจึงกลายเป็นแหล่งผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ชั้นเลิศ โดยในปี 2563 กัมพูชาได้เปิดทำการโรงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ขณะที่ พื้นที่ชายฝั่งและบริเวณที่ราบสูงมีศักยภาพอย่างมากด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมซึ่งยังคงมีโอกาสอีกมากมายสำหรับบริษัทต่าง ๆ

แม้ว่าจะมีพัฒนาการเชิงบวก แต่ภาคพลังงานทดแทนในกัมพูชายังคงเผชิญความท้าทายอีกหลายด้าน เช่น การไม่มีกรอบข้อบังคับที่ชัดเจนสำหรับพลังงานทดแทนนั้นถือว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อความเติบโตของภาคธุรกิจนี้ อีกทั้งค่าใช้จ่ายล่วงหน้าที่สูงของโครงการพลังงานทดแทนและการขาดแคลนทางเลือกแหล่งเงินทุนที่มีราคาเหมาะสมก็เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับบริษัทที่สนใจลงทุนในภาคอุตสาหกรรมนี้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลกัมพูชาได้ให้คำมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ เหล่านี้ โดยได้ตั้งเป้าหมายที่จะผลิตพลังงานทดแทนและกำลังเสาะหาการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมาย รวมถึงกำลังพัฒนากรอบข้อบังคับที่ครอบคลุมซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนมีความชัดเจนและความมั่นคงมากขึ้น

โดยสรุป ตลาดพลังงานของกัมพูชามีความซับซ้อนและเต็มไปด้วยพลังซึ่งจะเห็นได้จากที่มีทั้งความท้าทายและโอกาสอย่างมาก แต่รัฐบาลกัมพูชาจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมการกำกับดูแลที่เหมาะสมและจัดหาการเข้าถึงทางเลือกของแหล่งเงินทุนต่าง ๆ สำหรับนักลงทุน เพื่อช่วยให้บริษัทต่าง ๆ ประสบกับความสำเร็จด้านธุรกิจขณะที่กัมพูชาเองก็บรรลุเป้าหมายด้านพลังงานด้วย

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/aec-connect-opportunities-and-challenges-in-cambodias-energy-market

อ้างอิง : Exploring Cambodia’s energy market, challenges and opportunities – Khmer Times (khmertimeskh.com)

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ขยายตัวต่อเนื่องจากแรงส่งการบริโภคและภาคการท่องเที่ยว แม้มีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความเสี่ยงเฉพาะประเทศ

โดย ปัณณ์ พัฒนศิริ และ ดร.ฐิติมา ชูเชิด จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2023

โดยประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 5.9% สปป.ลาว 4.0% เมียนมา 3.0% และเวียดนาม 5.0% ตามลำดับ จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการเปิดประเทศของจีน ทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายต่อคน ตลอดจนการบริโภคภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นตามตลาดแรงงานและแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง ทั้งนี้เศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปและยังต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยช่วงก่อน COVID-19 ในปีนี้ ส่วนหนึ่งจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยฟื้นตัวแต่ยังต่ำกว่าระดับก่อน COVID-19 การส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ค่อนข้างซบเซาตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลง และปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศ

.

ปัจจัยกดดันเฉพาะประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวรายประเทศไม่เหมือนกัน

ประเทศที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูง เช่น กัมพูชา มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้นในปีนี้ ช่วยลดทอนผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลงต่อการส่งออกได้ ขณะที่สปป.ลาวได้ประโยชน์จากโครงการโลจิสติกส์ต่าง ๆ อาทิ รถไฟความเร็วสูงจีน – สปป.ลาว และจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าท่าแห้งท่านาแล้ง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและการขนส่งภายในภูมิภาค แม้อัตราเงินเฟ้อสูงยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจอยู่ สำหรับเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงมาก เนื่องจากพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ อีกทั้ง ยังเผชิญภาวะการเงินในประเทศตึงตัวขึ้นมาก ส่งผลให้ธุรกิจบางกลุ่ม โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ ระดมทุนได้ยาก ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นและการลงทุนภาคเอกชนไประยะหนึ่ง

.

ความเปราะบางเชิงโครงสร้างกดดันให้เศรษฐกิจ CLMV บางประเทศขยายตัวต่ำกว่าอดีต

ในระยะปานกลาง SCB EIC คาดว่า กัมพูชาและเวียดนามจะสามารถกลับมาขยายตัวใกล้ค่าเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในปีนี้เป็นปัจจัยชั่วคราวและคาดว่าจะทยอยคลี่คลายได้ แต่สปป.ลาวและเมียนมามีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตไปอีกระยะ ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยสปป.ลาวมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพภาคต่างประเทศและภาคการคลัง จากระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่ไม่สูงนักในภาวะเงินกีบอ่อนค่าเร็ว และหนี้สาธารณะสูง ส่งผลให้ภาครัฐต้องใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังตึงตัวมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินและอาจพิจารณาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ สำหรับเมียนมาความไม่สงบทางการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ ส่งผลให้ฟื้นความเชี่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคได้ยาก ขณะที่ชาติตะวันตกขยายมาตรการคว่ำบาตรให้ครอบคลุมบุคคลและนิติบุคคลเพิ่มเติม ส่งผลให้สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในเมียนมาไม่เอื้อต่อการลงทุน และกดดันให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวต่ำในระยะปานกลาง

.

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของ CLMV

แม้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง ทิศทางนโยบายการเงินยังขึ้นกับบริบทเศรษฐกิจรายประเทศ อัตราเงินเฟ้อทยอยชะลอตัวในทุกประเทศตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง แต่ทิศทางนโยบายการเงินจะคำนึงถึงบริบทเศรษฐกิจการเงินในประเทศนั้น ๆ เช่น เวียดนามปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและออกมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องในตลาดการเงินเพื่อบรรเทาอุปสรรคการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ตึงตัวขึ้นมาก โดย SCB EIC คาดว่านโยบายการเงินเวียดนามจะผ่อนคลายต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มซบเซาในปีนี้ และภาคอสังหาฯ ยังคงอ่อนแอคาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะก่อนจะทยอยฟื้นตัวได้ ขณะที่นโยบายการเงินสปป.ลาวมีแนวโน้มตึงตัวต่อไป เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังสูงแม้จะเริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งเป็นผลจากเงินกีบอ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นมาก ธนาคารกลางสปป.ลาวจึงต้องเน้นดูแลเสถียรภาพด้านราคาในปีนี้

.

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV

แนวโน้มการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างไทยกับ CLMV ยังคงซบเซาในปีนี้ สอดคล้องกับการชะลอตัวของการค้าภายในภูมิภาคและความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกไทยไป CLMV จะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจ CLMV จะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นและฐานส่งออกปีก่อนต่ำกว่าช่วงครึ่งแรกของปี สำหรับการลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV ยังคงมีแนวโน้มซบเซาจากหลายปัจจัย อาทิ ต้นทุนการระดมทุนในประเทศสูงขึ้น เศรษฐกิจ CLMV ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในบางประเทศไม่เอื้อต่อการลงทุนและขยายกิจการ ในระยะต่อไป SCB EIC ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ CLMV โดยมองว่า ยังเป็นตลาดสำคัญของธุรกิจไทย เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านจำนวนแรงงานและค่าแรง ตลาดในประเทศเติบโตต่อเนื่อง การเข้าร่วมสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ และทำเลที่ตั้งซึ่งสามารถเชื่อมไทยไปยังตลาดสำคัญในภูมิภาคได้

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-190723

ส่องความพร้อม ศักยภาพตลาด และโอกาสการค้า e–Commerce ใน CLMV

Bangkok Bank SME ขอพาทุกท่านมาสำรวจตลาดการค้า e–Commerce ของประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ว่าในแต่ละประเทศมีการพัฒนา และปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลอย่างไรบ้าง  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจจะนำไปสู่การปรับกลยุทธ์การค้า การลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของ SME ไทยเพิ่มมากขึ้น

.

กัมพูชา (Cambodia)

ตลาด e–Commerce ที่น่าจับตามอง
การค้า e–Commerce ภายในประเทศกัมพูชา มีการพัฒนาระบบการชำระเงินมากขึ้น ขณะที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ มีการปรับใช้ระบบ GPS ในการให้บริการมากขึ้นเช่นกัน ทว่ายังพบว่ามีปัญหาในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน และระบบ ICT (Information And Communication Technology) รวมถึงยังขาดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เหมาะสม ประกอบกับปัญหาในการจัดเก็บและรวบรวมฐานทะเบียนที่อยู่ประชากร ที่ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการจัดส่งสินค้าบ่อยครั้ง สำหรับแพลตฟอร์ม e–Commerce ยอดนิยม ได้แก่ Glad Market ซึ่งเป็นตลาดออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด รองลงมาคือ Shop168 และ MALL855 ซึ่งพัฒนารูปแบบการให้บริการเป็นแอปพลิเคชัน โดยเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีบนอุปกรณ์แอนดรอยด์
.

สปป.ลาว (Lao)

e–Commerce ระยะตั้งต้น แต่โอกาสการเติบโต..ไม่ควรมองข้าม
เนื่องจากแพลตฟอร์ม e–Commerce ภายในประเทศลาวยังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จำนวนผู้ใช้งานยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งประชากรลาวส่วนใหญ่ยังซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างไม่เป็นทางการ รวมถึงยังมี Official shop account ของผู้ประกอบการไม่มาก ซึ่งต้องอาศัยยุทธศาสตร์ในการพัฒนาตลาด e–Commerce ให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบฐานทะเบียนที่อยู่ และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม แพลตฟอร์ม e–Commerce ยอดนิยม ได้แก่ Plaosme ซึ่งสนับสนุนให้กลุ่ม SME มีพื้นที่ขายสินค้าทั้งในประเทศและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
.

เมียนมา (Myanmar)

ระบบ e–Commerce ที่ยังต้องพัฒนาอีกมาก
ระบบการค้า e–Commerce ของประเทศเมียนมาร์ยังขาดความพร้อมในการพัฒนา ไม่ว่าจะมองในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ICT โลจิสติกส์ ระบบการชำระเงิน และอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังขาดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและอาชญากรรมทางไซเบอร์โดยเฉพาะ  ประกอบกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ยังไม่ครอบคลุม ทำให้อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรมีเพียง 33.4% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมืองใหญ่อย่าง ย่างกุ้ง ทว่าประชากรในประเทศเมียนมาร์ เริ่มมีความสนใจการใช้งานระบบการค้า e–Commerce มากขึ้นจากเดิม และยังมีแพลตฟอร์มซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอีกด้วย  แพลตฟอร์ม e–Commerce ยอดนิยม ได้แก่ BaganMart, OneKyat และ Shop.com.mm
.

เวียดนาม (Vietnam)

ตลาด e–Commerce ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว 
นับว่าเป็นประเทศที่ตลาด e–Commerce มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วขึ้นมาก โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ประชากรในประเทศนิยมซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น อีกทั้งยังมีการพัฒนาในส่วนของระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบ ICT ระบบการขนส่ง ระบบการชำระเงิน และการส่งเสริมตลาด e–Commerce จากทั้งภาครัฐฯ และภาคเอกชนด้วย  แพลตฟอร์ม e–Commerce ยอดนิยม ได้แก่ Lazada ซึ่งเข้ามาลงทุนในตลาดเวียดนามตั้งแต่ปี 2555 นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ Thegioididong ที่สามารถรองรับการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต และการทำธุรกรรมผ่านธนาคารได้อีกด้วย
.

ส่องแผน PDP 8 ของเวียดนาม อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าไทย

โดย นพมาศ ฮวบเจริญ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

เมื่อกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทางการเวียดนามเพิ่งประกาศแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (Power Development Plan VIII: PDP 8) แม้ว่าจะมีความล่าช้าไปกว่า 2 ปี แต่ก็ถือว่าเป็นแนวทางหลักของการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในเวียดนาม รวมถึงแนวทางของส่วนผสมพลังงานเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า (Energy mixed)

5 ข้อสรุปสำคัญของ PDP 8 ได้แก่

  • กำลังการผลิตในปี 2030 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2020 ที่ 69 GW เป็น 150 GW ในปี 2030
  • ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าราว 1.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และพัฒนาสายส่งอีก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • แหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าและมีการเติบโตสูง คือ ก๊าซธรรมชาติและพลังงานลม โดยปี 2030 มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 43% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2020 ทั้งนี้ผลจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่มากขึ้น มีผลให้เวียดนามต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากขึ้น จากเดิมที่ใช้แต่ก๊าซธรรมชาติในประเทศ ในส่วนของการพึ่งพาพลังงานลม ถือว่าสอดคล้องไปกับศักยภาพของภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพื้นที่ชายฝั่งที่ยาวถึง 3,000 กิโลเมตร และมีกำลังลมเฉลี่ยสูงกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนลดลงจาก 24% ในปี 2020 เป็น 13% ในปี 2030 ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนระบบสายส่งที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตจากพลังงานลม อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามกลับมีแผนสนับสนุนให้ติดตั้ง Solar rooftop หรือ Solar farm เพื่อการใช้ด้วยตัวเอง (Self-consumption) ซึ่งมีเป้าหมายติดตั้งถึง 10 GW ภายในปี 2030 ด้วยการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 15.5 GWh
  • การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แม้สัดส่วนต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดลดลง (เหลือ 20% ในปี 2030 จาก 31% ในปี 2020) แต่กำลังการผลิตปี 2030 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น 41% เทียบกับ 10 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2050 เวียดนามมีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า

 

เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

แม้ก๊าซธรรมชาติจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในช่วงทศวรรษที่จะเกิดขึ้น แต่เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy : RE) โดยตั้งเป้าว่าการผลิตไฟฟ้าจาก RE จะมีสูงถึง 30.9-39.2% ภายในปี 2030 และ 67.5-71.5% ในปี 2050 โดยการพึ่งพิงพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ เป็นเพียงแหล่งพลังงานที่ใช้ทดแทนถ่านหินในช่วงเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน (Energy transition) เพราะในท้ายที่สุดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติก็จะลดบทบาทลงเหลือเพียง 7-8% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2050 นอกจากนี้ ในการผลิตไฟฟ้าจาก RE เวียดนามถือว่าเป็นตลาดสำคัญของ ASEAN ด้วยสัดส่วนมากถึงราว 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก RE ที่มีใน ASEAN ทั้งหมด

 

นัยของแผน PDP 8 ต่อไทย

เม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางการเวียดนามมองว่า ต้องอาศัยเงินลงทุนจากต่างชาติด้วย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการลงทุนในตลาดเวียดนามอยู่แล้ว เพื่อเข้าไปรับประโยชน์จากแผนการขยายกำลังการผลิตในช่วง 10 ปีที่จะเกิดขึ้นนี้ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสำคัญ แต่จากแผนใหม่ที่เกิดขึ้น ที่ลดความสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง ทำให้กลุ่มทุนไทยอาจจะต้องหันมาพิจารณาโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมมากขึ้น เนื่องจากทางการเวียดนามให้การสนับสนุนและกำลังการผลิตมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด (จากกำลังการผลิตที่ 1 GW ในปี 2020 เป็น 28 GW ในปี 2030)

ในส่วนของโรงไฟฟ้าจาก Fossil fuel อาจจะเหมาะสมกับกลุ่มทุนที่มีความได้เปรียบในเชิง Scale ที่ใหญ่เพียงพอ เพื่อสร้างความได้เปรียบได้การจัดหาแหล่งวัตถุดิบในราคาต่ำ ทั้งนี้กลุ่มก๊าซธรรมชาติ ที่แม้ความต้องการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้ายังสูงในช่วง 10 ปี แต่การพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ทำให้อาจเป็นข้อจำกัดในการจัดหา LNG ในราคาที่เหมาะสม ขณะที่กลุ่มถ่านหิน หากพิจารณาที่ปริมาณกำลังการผลิตที่เวียดนามต้องการยังคงมีมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตตามเศรษฐกิจ แต่แนวโน้มตลาดที่โตต่ำเมื่อเทียบกับพลังงานกลุ่มอื่น ๆ อาจทำให้ความน่าสนใจมีน้อยลง

แม้ว่า PDP 8 ที่เพิ่งออกมา จะสร้างโอกาสในการลงทุนของโรงไฟฟ้าไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจโรงไฟฟ้าในเวียดนาม ยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการเป็นสำคัญ ทำให้ต้องติดตามรายละเอียดของการเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่จะเกิดขึ้นจากแผน PDP 8 รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และพยายามปิดความเสี่ยง เพื่อจะได้รับประโยชน์จากโอกาสในตลาดโรงไฟฟ้าของเวียดนามที่เติบโต เช่น กรณีที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้าไม่เสร็จทันตามสัญญา ทำให้เมื่อก่อสร้างเสร็จ ยังไม่สามารถดำเนินการขายไฟฟ้าให้กับทางการเวียดนามได้ เนื่องจากติดปัญหาการกำหนด FiT ใหม่ ดังนั้น สำหรับในโครงการใหม่ที่จะเข้าไปลงทุน อาจต้องมีแผนสำรองในความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวลง เป็นต้น

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/PDP8-Vietnam-120623

ผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566  รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ร่วมกับผศ.ดร.วชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจไทย โดยสำรวจผู้ประกอบ 600 ราย ระหว่างวันที่ 1-15 มีนาคม 2566 พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลและสภาพธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากต้นทุนที่สูงขึ้น มีผลต่อยอดขายและกำไรลดลง แต่ภาระหนี้เพิ่มขึ้น

 

ซึ่งปัจจัยเชิงลบสำคัญ คือ ภาวะเงินเฟ้อสูง  และมองว่าเงินเฟ้อที่เหมาะสมควรสูงไม่เกิน 2-3% อัตราดอกเบี้ยที่สูงกระทบต่อโอกาสผิดนัดชำระหนี้ อัตราค่าจ้างแรงงานกว่า 22% มองว่าเหมาะสมอยู่ที่ 325 บาท/วัน จากเฉลี่ยอยู่ที่ 328-354 บาท/วัน หากปรับขั้นค่าแรงอีก 10% กว่า 50% ระบุว่าอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้า และเลิกจ้างแรงงานบางส่วน

 

ด้านค่าไฟฟ้าส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่จะลดจาก 5.69 บาทต่หน่วน เหลือ 5.33 บาทต่อหน่วยยังสูง ที่เหมาะสมมองที่ 3.94 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับภาระค่าน้ำมันดีเซลที่สูง ธุรกิจ 80% ระบุว่าจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าทันที ขณะที่ส่วนใหญ่ 95% ไม่ได้เตรียมรับมือเงินบาทผันผวน

 

สำหรับผลกระทบจากแบงก์สหรัฐล้ม ส่วนใหญ่เกือบ 90% ระบุว่าได้รับผลกระทบน้อยถึงไม่ได้รับผลกระทบ รวมถึงไม่ได้รับผลกระทบและได้รับผลกระทบน้อยจากการส่งออกหรือนำเข้า แต่อย่างไรก็ตาม บางส่วนกังวลในปานกลางหากผลกระทบแบงก์ล้มจะขยายวงกว้างกว่านี้ ส่วนปัจจัยเชิงบวกต่อธุรกิจวันนี้ คือ การกลับมาท่องเที่ยวไทยของชาวจีนภายหลังจากการเปิดประเทศ

 

ส่วนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ผู้ประกอบการมองว่าจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4/2566 และจีดีพีทั้งในปีนี้ขยายตัวได้ 3.35-3.82% แม้ธุรกิจ 37% ยังมองเศรษฐกิจปีนี้โตต่ำกว่า 3% โดยยังกังวลถึงเสถียรภาพการเมืองไทยและปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ ภายนอกประเทศ

 

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่ช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่

  • ดูแลต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่สูงเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่ เศรษฐกิจกาลังฟื้นตัว ณ ปัจจุบัน เช่น ไม่ปรับขึ้นค่าพลังงาน ต้นทุนอัตราดอกเบี้ย ค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น
  • เร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการ และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้
  • ส่งเสริมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและในประเทศให้เหมาะสม เพื่อเป็นปัจจัยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ฟื้นตัวในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน
  • ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและอ่อนค่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการส่งออกให้ขยายตัว
  • ดูแลสถานการณ์หนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจ โลกถดถอยโดยให้ธุรกิจและประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้อย่างดีและมีเงื่อนไขในการปรับโครงสร้างหนี้ หากมีปัญหาทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น

 

ที่มา: https://bit.ly/42nzc1f

เปิดหน้าต่างบานใหม่ของการส่งออกไทยในยามเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

โดย วิชาญ กุลาตี, ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

การส่งออกสินค้าไทยหดตัวต่อเนื่อง ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอลง

การส่งออกสินค้าที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มหดตัวตามอุปสงค์โลกที่ชะลอลง ในระยะต่อไปการส่งออกไทยดูไม่สดใสนัก สะท้อนจากดัชนี Global Manufacturing PMI ในเดือนมกราคมที่ยังหดตัว กอปรกับยอดคำสั่งซื้อใหม่และยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ การส่งออกไทยจะเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการค้าโลก เช่น การเริ่มใช้ภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป รวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยของอินเดียที่จะส่งผลต่อสินค้าส่งออกไทยหลายชนิด โดย SCB EIC คาดว่าการส่งออกสินค้าไทยจะขยายตัวได้เพียง 1.2% ในปี 2023 (ตัวเลขในระบบดุลการชำระเงิน)

 

ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดตะวันออกกลาง CLMV และลาตินอเมริกา

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวชะลอลงเป็น 1.7% ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการค้าโลกที่กำลังเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทย ภาคเอกชนและภาครัฐจึงจำเป็นต้องหาตลาดส่งออกใหม่ SCB EIC ประเมินว่า มีตลาดสามแห่งที่มีศักยภาพน่าจับตา ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลางที่อาจได้รับอานิสงส์จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ตลาด CLMV ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตดีและได้รับการผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐ และตลาดลาตินอเมริกาที่เป็นตลาดส่งออกเป้าหมายใหม่ในเชิงนโยบายของไทย

 

ตลาด CLMV

SCB EIC ประเมินว่า การส่งออกจากไทยไป CLMV จะขยายตัวได้ในช่วง 6-8% ในปี 2023 โดยมีแนวโน้มที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางตามเศรษฐกิจ CLMV ที่จะเติบโตได้สูงกว่าเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงตลาดนี้ยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐต่อเนื่อง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-140223

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้นในปี 2023 สวนกระแสเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่การเติบโตจะยังต่ำกว่าศักยภาพเมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19

โดย ปัณณ์ พัฒนศิริ และ ดร.ฐิติมา ชูเชิด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2023 ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในช่วงก่อนการระบาด COVID-19 โดยมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ โดยประเมินว่าในปีนี้กัมพูชาจะขยายตัวได้ 5.5%, สปป.ลาวและเมียนมา 3.0% และเวียดนาม 6.2%

 

CLMV มีแนวโน้มฟื้นตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยว

เศรษฐกิจ CLMV ในปี 2023 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศมีปัจจัยบวกจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากการจ้างงานในเวียดนามในไตรมาส 4 ปี 2022 ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เกิดการระบาด COVID-19 ขณะเดียวกัน ภาคบริการจะได้อานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีความสำคัญต่อ CLMV คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-35% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2019 โดยจีนอนุมัติให้กรุ๊ปทัวร์สามารถเดินทางมากัมพูชา และสปป.ลาวได้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ และคาดว่าจะเพิ่มรายชื่อประเทศที่สามารถเดินทางมาได้เร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้กัมพูชาและเวียดนามจะได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวมากที่สุด เนื่องจากพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงอยู่ที่ 18.2% และ 9.8% ต่อ GDP ตามลำดับ

 

ในทางกลับกัน อุปสงค์จากต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำ ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจ CLMV ผ่านช่องทางการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเวียดนามจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับห่วงโซ่อุปทานโลกสูงมาก และเป็นปัจจัยที่ทำให้ SCB EIC ประเมินว่า เวียดนามเป็นประเทศในเดียวใน CLMV ที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวในปีนี้หลังขยายตัวสูงถึง 8% ในปีก่อน อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศของจีนอาจช่วยพยุงให้การส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไม่ชะลอตัวมากนัก แต่ต้องจับตาความเสี่ยงหากอุปสงค์จากต่างประเทศซบเซาอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึง
อุปสงค์ภายในประเทศ ภาคการผลิต และการจ้างงาน

 

แนวโน้มนโยบายการเงินของ CLMV

นโยบายการเงินใน CLMV มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นเล็กน้อยในปี 2023 แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัว SCB EIC ประเมินอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มชะลอตัวในปีนี้ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง แต่จะไม่ลดลงเร็วมากเนื่องจากราคาจะยังคงอยู่ในระดับสูง กอปรค่าเงินที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าในบางประเทศ เช่น สปป.ลาวและเมียนมา จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้านำเข้าอยู่ในระดับสูงต่อไป ธนาคารกลางกลุ่มประเทศ CLMV มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเล็กน้อยในปีนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แต่จะสามารถชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจาก 1) ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะลดแรงกดดันค่าเงิน CLMV อ่อนค่า 2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบาง และ 3) ธุรกิจในบางประเทศ เช่น เวียดนาม เริ่มเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องหลังไม่สามารถกู้ยืมเพื่อชำระหนี้เก่าได้ (Rollover) ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ หากภาวะการเงินยังคงตึงตัว

 

สปป.ลาวและเมียนมามีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ๆ จากปัจจัยความเสี่ยงเฉพาะประเทศ

สปป.ลาวมีเสถียรภาพค่อนข้างเปราะบางในด้านราคา ด้านการคลัง และด้านต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพในระยะต่อไป โดยสปป.ลาวเผชิญเงินเฟ้อสูง ซึ่งกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนหนึ่งจากเงินกีบอ่อนค่ารุนแรงและฐานะทางการคลังที่ไม่แข็งแรงนัก สะท้อนจากภาระการชำระหนี้สาธารณะสกุลเงินต่างประเทศของภาครัฐที่สูง เฉลี่ยประมาณ 1.2-1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในช่วง 4 ปีข้างหน้า ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ เดือนกันยายน 2022 สำหรับเมียนมา สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในระยะปานกลางและกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศซบเซาต่อเนื่อง แม้เมียนมาได้วางแผนที่จะจัดการเลือกตั้งในปีนี้ SCB EIC ประเมินว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะไม่ปรับลดลงมากนัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพต่อไป

 

การลงทุนของไทยใน CLMV

การลงทุนจากไทยไป CLMV ซบเซาในช่วงปี 2022 แต่คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับต่ำในปีนี้ ปัจจัยกดดันในช่วงที่ผ่านมาได้แก่ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง เงินเฟ้อที่สูงขึ้นซึ่งเพิ่มต้นทุนต่อธุรกิจ และความเสี่ยงรายประเทศ เช่น สถานการณ์การเมืองในเมียนมา ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน นอกจากนี้ การลงทุนในต่างประเทศจำเป็นต้องใช้เวลาการเตรียมความพร้อมค่อนข้างนาน และสถานการณ์ COVID-19 ได้ส่งผลให้โครงการต่าง ๆ ถูกเลื่อนออกไปในปี 2023 ปัจจัยกดดันดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ แต่เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่ทยอยลดลง ตลอดจนข้อจำกัดการเดินทางภายในภูมิภาคที่หมดไปจะกระตุ้นให้การลงทุนสามารถฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในระยะปานกลาง SCB EIC มองว่า CLMV ยังเป็นกลุ่มประเทศที่น่าสนใจต่อนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากมีค่าแรงค่อนข้างต่ำ ตลาดในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง และมีสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ กับประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี นอกจากนี้ ยังสามารถเป็นฐานการผลิตไปตลาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดียได้อีกด้วย

 

ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นประเด็นที่ต้องจับตาในระยะต่อไป โดยจะมีผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อ CLMV 

ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อ CLMV มากที่สุด ได้แก่ความตึงเครียดระหว่าง จีน สหรัฐฯ และไต้หวัน ซึ่งอาจลุกลามมาถึงแถบทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นช่องทางการค้าสำคัญในภูมิภาคและอาจส่งผลให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานขาดตอนในภาคการผลิตได้ นอกจากนี้ ชาติมหาอำนาจมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมของตน ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงต่อผู้ส่งออกใน CLMV ที่จะเผชิญต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็อาจส่งผลบวกต่อ CLMV เช่นกัน ผ่านแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่ง CLMV ได้เปรียบทั้งด้านที่ตั้งที่ใกล้กับจีน รวมถึงค่าแรงต่ำและข้อตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ชาติมหาอำนาจอาจเร่งการแข่งขันกันเพื่อขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้มากขึ้น เช่น โครงการ Belt and Road Initiative ของจีน หรือ Indo-Pacific Economic Framework ของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ CLMV ในระยะต่อไปผ่านความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพของแต่ละประเทศ

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-310123