สปป.ลาว-เวียดนามปฏิญาณกระชับความสัมพันธ์ความเป็นปึกแผ่นพิเศษ

ประธานาธิบดีสปป.ลาว Mr.Thongloun Sisoulith ได้ให้คำมั่นที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Mr.Nguyen Xuan Phuc ประธานาธิบดีแห่งรัฐที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ของเวียดนามเพื่อยกระดับความสัมพันธ์การร่วมมือและความเป็นปึกแผ่นพิเศษระหว่างทั้งสองประเทศให้อยู่ในระดับที่สูงขึ้น หลายปีมานี้เวียดนามได้ให้การสนับสนุนต่อสปป.ลาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งความช่วยเหลือของเวียดนามในการฟื้นฟูสปป.ลาวจากภัยพิบัติ รวมถึงการช่วยสปป.ลาวในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด -19 ท่ามกลางวิกฤตการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศและโลก เวียดนามถือเป็นประเทศหนึ่งที่สปป.ลาวมีการพึ่งพาทั้งด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งเวียดนามเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่อันดับสามในสปป.ลาวรองจากจีนและไทยในปี 2563 มูลค่าลงทุนจากเวียดนามทั้งหมด 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านการค้ามีมูลค่าอยู่ที่ 815 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_LaosViet_68.php

เซ็นทรัลเดินหน้าลุยลงทุนเวียดนาม 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ อีก 5 ปีข้างหน้า

บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดแผนการลงทุนในเวียดนามอีก 5 ปีข้างหน้า จำนวน 35 ล้านบาท (1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ) นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานกรรมการบริษัท กล่าวว่าตลอดระยะเวลา 9 ปีของธุรกิจที่ดำเนินกิจการในเวียดนาม กลุ่มธุรกิจอาหารยังคงเป็นภาคที่สำคัญ ด้วยสัดส่วน 70% ของรายได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน บริษัทตั้งเป้าที่จะพัฒนาธุรกิจที่มิใช้ประเภทอาหารและ “Omni Channel Platform” ทั้งนี้ คุณ Philippe Broianigo ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – เซ็นทรัลรีเทล เวียดนาม กล่าวว่าบริษัทได้จัดทำแผนโรดแมป เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยมุ่งที่จะขยายธุรกิจในลักษณะการเจาะตลาดหลายช่องทางทั้งศูนย์กลางเมือง ขานเมืองและชนบท รวมถึงปรับปรุงแบรนด์ธุรกิจอาหาร เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทได้เปิดตัวศูนย์การค้า GO! หลายจังหวัดในเวียดนาม และปีนี้ ธุรกิจยังคงขยายกิจการ 6 พันล้านบาท (191.8 ล้านเหรียญสหรัฐ)

 ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/917608/central-retail-to-invest-11-billion-in-viet-nam-in-next-5-years.html

HSBC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนาม

ธนาคาร HSBC ปรับคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ จาก 7% เป็น 6.6% หลังจากในไตรมาสแรก การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ GDP ขยายตัว 4.48% ในไตรมาสแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของเทคโนโลยีเพิ่มสูงขึ้นและเม็ดเงิน FDI ที่ไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามร่วมลงนามหลายฉบับ ทำให้เวียดนามยังคงเป็นดาวเด่นในเอเชีย ทั้งนี้ การส่งออกในไตรมาสแรก พุ่ง 20% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรสูงขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกและภูมิภาคแปซิฟิกในปี 2564 ด้วยอัตราการขยายตัว 6.6% อีกทั้ง ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามโต 6.1% และ 6.5% ตามลำดับ

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/hsbc-grows-less-bullish-on-vietnam-growth-prospects-4256989.html

เวียดนามเผย CPI มี.ค. หดตัว -0.27%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าความต้องการในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค หลังเทศกาลเต็ต (Tet)  และราคาอาหารปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากปริมาณอาหารเหลือเฟือ ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมีนาคม ติดลบ 0.27% จากช่วงเดียวกันของเดือนก่อน ในขณะที่ เพิ่มขึ้น 1.16% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าตัวเลขดังกล่าว อยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559 ทั้งนี้ ดัชนี CPI ในไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้น 0.29% เหตุจากราคาข้าวปรับตัวพุ่ง 8.55% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตั้งแต่ช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. อันเป็นผลของราคาสินค้าโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและความต้องการข้าวเกรดพรีเมี่ยมจำนวนมาก ในช่วงเทศกาลเต็ต

ที่มา : https://en.dangcongsan.vn/economics/march-cpi-decreases-0-27-571880.html

กัมพูชาส่งออกสินค้าเกษตรกว่า 1.3 ล้านตัน ไปยังเวียดนามในไตรมาสแรก

กัมพูชาส่งออกสินค้าด้านเกษตรไปยังเวียดนามมากกว่า 1.3 ล้านตัน ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ แม้จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม โดยรายงานจากกระทรวงเกษตรป่าไม้และการประมง (MAFF) ระบุว่าสินค้าเกษตรสำคัญของกัมพูชาที่ทำการส่งออกไปยังเวียดนามในช่วงตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2021 ได้แก่ ข้าวเปลือก มะม่วงสด อ้อย และมันสำปะหลังสด ซึ่งปริมาณสินค้าสำคัญที่ส่งออกจาก 3 จังหวัด (สวายเรียง ไพรแวง และตาแก้ว) ส่งออกข้าวเปลือกสูงถึง 1,031,476 ตัน, มะม่วงสด 145,807 ตัน, อ้อย 146,041 ตัน และมันสำปะหลัง 2,271 ตัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50832767/over-1-3-million-tonnes-of-agricultural-products-exported-to-vietnam-in-q1/

“อีคอมเมิร์ซ” หนุนโอกาสแก่ธุรกิจค้าปลีกเวียดนาม

สมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนาม (VECOM) จับมือกับ Google และพาร์ทเนอร์ ประกาศจัดกิจกรรม “Retail University” เพื่อส่งเสริมอีคอมเมิร์ซของผู้ค้าปลีกเวียดนาม โดยงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและภาคครัวเรือนเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจผ่านทางอีคอมเมิร์ซ ทั้งนี้ นาย Nguyen Thanh Hung ประธานสมาคมฯ กล่าวว่าอีคอมเมิร์ซของเวียดนาม ขยายตัวราว 15% เมื่อปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่า 13.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2568 นอกจากนี้ ตามตัวเลขสถิติของจำนวนคนใช้อินเทอร์เน็ตในเวียดนาม ปี 2563 พบว่าคนเวียดนามใช้โซเชียลมีเดียมากกว่า 68 ล้านคน ชี้ให้เห็นถึงโอกาสครั้งยิ่งใหญ่แก่ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และธุรกิจแบบดั้งเดิมที่หันมาพัฒนาธุรกิจดิจิทัลและยกระดับทักษะทางการตลาด

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/e-commerce-opportunities-for-vietnamese-retailers-846985.vov

เวียดนามเผยไตรมาสแรก ยอดตั้งธุรกิจใหม่ลดลง

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าสถิติการจดทะเบียนธุรกิจรายใหม่ในไตรมาสแรกของปีนี้ มีจำนวน 29,300 แห่ง ด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวม 447.8 ล้านล้านดอง ในแง่ของจำนวนธุรกิจใหม่ ลดลง 1.4% แต่เพิ่มขึ้น 27.5% ในแง่ของเงินทุน เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะเดียวกัน ธุรกิจเลิกกิจการ มีจำนวน 40,300 แห่ง เพิ่มขึ้น 15.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยธุรกิจส่วนใหญ่ที่ปิดกิจการชั่วคราวและเลิกกิจการ ล้วนเป็นธุรกิจขนาดเล็กและมีความเปราะบางที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ ทั้งนี้ ตามผลสำรวจของสำนักงาน ในประเด็นแนวโน้มธุรกิจของอุตสาหกรรมการผลิต พบว่าธุรกิจส่วนใหญ่ 51% คาดว่าการผลิตและการดำเนินธุรกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 64 จะดีกว่าเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก รองลงมา 34.1% มองว่าอยู่ในระดับไม่เปลี่ยนแปลง และ 14.9 มองว่ามีปัญหา/อุปสรรคในการทำธุรกิจมากกว่าไตรมาสแรก

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/915721/newly-established-firms-down-in-q1.html

เวียดนามเกินดุลการค้ากว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาสแรกของปีนี้

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามมีมูลคาการส่งออก 76.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการนำเข้า 74.61 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้เกินดุลการค้าแตะ 2.14 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ หากประเมินเพียงเดือนมีนาคม จะพบว่ายอดการค้าระหว่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 35.9% เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ด้วยมูลค่า 55.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ สินค้าประเภทโทรศัพท์และชิ้นส่วนยังคงเป็นสินค้าส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 14.07 พันล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 9.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี รองลงมาคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (11.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และอาหารทะเล (1.68 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในขณะเดียวกัน สินค้าประเภทคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ เป็นสินค้านำเข้าชั้นนำของเวียดนาม ด้วยมูลค่ากว่า 10 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietnam-enjoys-trade-surplus-of-over-us2-billion-in-q1-846808.vov

ไตรมาส 1 ปี 64 เศรษฐกิจเวียดนามโต 4.48%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปี 2564 อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัว 4.48% เป็นผลมาจากการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดี ภาคเกษตรกรรม ป่าไม้และประมง ขยายตัว 3.16% ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง 6.3% และภาคบริการ 3.34% โดยทั้ง 3 ภาคเศรษฐกิจมีส่วนผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ 8.34% 55.96% และ 35.7% ตามลำดับ ภาคบริการมีการขยายตัวในเชิงบวก เนื่องจากผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี ทั้งนี้ ในไตรมาสแรก กิจกรรมการส่งออกและนำเข้ากลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ด้วยมูลค่าราว 152.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี นอกจากนี้ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 สภาพเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนามในไตรมาสแรก ยังคงมีเสถียรภาพและอยู่ในทิศทางที่เป็นบวก ประกอบกับควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ คือ การควบคุมการระบาดของไวรัส และดำเนินการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง ตลอดจนช่วยเหลือภาคเอกชนและเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุนของภาครัฐ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/915081/vietnamese-economy-expands-448-per-cent-in-q1.html

Moody’s รายงานการจัดอันดับเครดิตเรตติ้งของกัมพูชา

ฝ่ายบริการนักลงทุนของ Moody’s ประกาศถึงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ 6 ประเทศ ในกลุ่มอาเซียนรวมถึงกัมพูชา โดยในรายงานภายในอาเซียนฉบับเดือนมีนาคมสถาบันจัดอันดับของสหรัฐฯกล่าวว่าแนวโน้มด้านเครดิตเรตติ้งของกัมพูชายังคงมีเสถียรภาพ ซึ่งถูกจัดอยู่ในอันดับ B2 โดยอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่จัดเครดิตเรตติ้งอยู่ที่ Baa2, มาเลเซียถูกจัดอยู่ในอันดับ A3, สิงคโปร์ Aaa และไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ Baa1 ในขณะเดียวกันสำหรับ สปป.ลาว ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ Caa2 ซึ่งถือเป็นเรตติ้งที่อยู่ในทิศทางลบ จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ส่วนสำหรับเวียดนามอยู่ที่อันดับ Ba3

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50831628/moodys-says-outlook-stable-for-cambodias-credit-rating/