“เวียดนาม” เผย ม.ค.-เม.ย. ดึงดูด FDI เข้าประเทศ 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำนักงานการลงทุนต่างประเทศ กระทรวงวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 20 เม.ย. พบว่าเวียดนามดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการเบิกจ่ายเงินทุน FDI มูลค่า 5.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สิ่งเหล่านี้ได้ส่งสัญญาเชิงบวกท่ามกลางความผันผวนของการลงทุนจากต่างประเทศ หลังจากมีการกำหนดภาษีเงินได้นิติบุคคลทั่วโลก (Global Minimum Tax : GMT) ที่อัตรา 15% ของกลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้เกินกว่า 750 ล้านยูโร หรือประมาณ 829.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ณ วันที่ 20 เม.ย. 2566 โครงการที่ได้รับอนุญาตใหม่มีจำนวน 37,100 โครงการ ด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวม 445.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 279.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 62.8% ของจำนวนเงินทุนที่จดทะเบียนโครงการใหม่ทั้งหมด

ที่มา : https://tuoitrenews.vn/news/business/20230425/foreign-investors-pledge-nearly-89bn-to-vietnam-in-janapr/72817.html

“เวียดนาม” เผยส่งออกข้าวพุ่ง หลังวิกฤตขาดแคลนข้าวโลก

จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ เวียดนามส่งออกข้าว 1.85 ล้านคัน คิดเป็นมูลค่า 981.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 23.4% และ 34.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ โดยฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากเวียดนามประมาณ 9 แสนตันในไตรมาสแรกของปีนี้ และคาดว่าจะสั่งซื้อข้าวเพิ่มขึ้นในอนาคตข้างหน้า ทั้งนี้ ฟิทช์ โซลูชันส์ (Fitch Solutions) บริษัทวิจัยด้านการเงินการลงทุน ชี้ว่าปัญหาการขาดแคลนข้าวทั่วโลก เป็นวิกฤตที่รุนแรงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าปริมาณการขาดแคลนข้าวทั่วโลกจะอยู่ที่ 8.7 ล้านตันในปี 2565-2566 ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าตลาดข้าวจะอยู่ในทิศทางที่เป็นบวก โดยเฉพาะข้าวของเวียดนามที่ได้รับประโยชน์ เนื่องจากความต้องการอาหารสำรองที่เพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnams-rice-exports-surge-on-supply-crunch-post1016127.vov

“เมียนมาเฮ” รับราคามะม่วงเซ่งตะโลงพุ่ง ปี 66

นาย U Kyaw Soe Naing เลขาธิการสมาคมพัฒนาตลาดมะม่วงและเทคโนโลยีเมียนมาร์ (มัณฑะเลย์) กล่าวว่าราคาส่งออกของมะม่วงเพชรน้ำหนึ่ง (Sein Ta Lone) หรือมะม่วงพันธุ์ “เซ่งตะโลง” ไปยังตลาดจีนนั้น มีราคาค่อนข้างสูงในช่วงต้นฤดูมะม่วงของปีนี้ ซึ่งการที่ได้ราคาที่ดีนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินค้าและการขนส่ง ในขณะที่ผู้ปลูกบางรายได้เก็บผลมะม่วงก่อนกำหนดของฤดูกาลในปีที่แล้ว ทำให้ผู้ปลูกรายอื่นขาดทุน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/seintalone-mango-fetches-good-price-this-year/#article-title

สปป.ลาว-เกาหลีใต้ หารือร่วมกันในการหนุนภาคการท่องเที่ยว

หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของ สปป.ลาว-เกาหลีใต้ กำลังเร่งหารือร่วมกันในการผลักดันภาคการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ ซึ่งในปีก่อนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายัง สปป.ลาว มากกว่า 1.29 ล้านคน นับเป็นนักท่องเที่ยวเกาหลี 34,326 คน สำหรับภาคการท่องเที่ยวถือเป็นเสาหลักทางเศรษฐกิจที่สำคัญของ สปป.ลาว และเป็นส่วนช่วยในการผลักดันเศรษฐกิจและสังคมในหลายประเทศ แต่ในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากสถานโควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกต้องหยุดชะงักอย่างรุนแรง จนส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย ถึงอย่างไรในปัจจุบันด้วยการยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางทั่วโลก คาดว่าจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยขณะนี้รัฐบาล สปป.ลาว กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวและดึงดูดผู้มาเยือน สปป.ลาว ให้มากขึ้น ทั้งการสนับสนุนการจ้างงานคนในท้องถิ่น

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten78_Lao_S_y23.php

GDT ประกาศการจัดเก็บ VAT ธุรกิจ e-Commerce ในช่วงไตรมาส 1

กรมภาษีอากร (GDT) รายงานการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มูลค่ารวม 21 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ล้านดอลลาร์ในช่วง 3 เดือนแรกของปี ซึ่งการซื้อขายสินค้าผ่านตลาดอีคอมเมิร์ซขยายตัวหลังจากการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการเงิน รวมถึงการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและการใช้โทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือในกัมพูชามีจำนวนรวมอยู่ที่ 19.5 ล้านราย ตามรายงานของหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมของกัมพูชา (TRC)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501278433/gdt-earns-21-million-on-e-commerce-vat-income-in-q1/

CGCC ค้ำประกันสินเชื่อแก่ SMEs กัมพูชากว่า 113 ล้านดอลลาร์

สถาบันค้ำประกันสินเชื่อ ประเทศกัมพูชา (CGCC) ให้การค้ำประกันสินเชื่อมูลค่ารวม 113.6 ล้านดอลลาร์ แก่ภาคธุรกิจ SMEs ในกัมพูชา เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยได้ปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจเกือบ 1,300 แห่ง จนถึงขณะนี้ CGCC ได้จัดทำแผนการค้ำประกัน 3 รูปแบบ ได้แก่ โครงการการรับประกันการฟื้นตัวของธุรกิจ (BRGS) ที่เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2022, โครงการการรับประกันทางการเงินร่วม (CFGS) เปิดตัวในช่วงเดือนกันยายน 2021 และโครงการการรับประกันผู้ประกอบการหญิง ซึ่งเปิดตัวในเดือนเมษายน 2022 โดยปัจจุบัน CGCC ได้ขยายระยะเวลาโครงการ BRGS นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2023 ไปจนกว่าจะครบตามวงเงินกู้ที่ได้กำหนดไว้ที่มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501278434/credit-guarantees-to-smes-reach-113-million/

ครม.ส่งต่อเมกะโปรเจ็กต์อีอีซี ไฮสปีด 3 สนามบิน-อู่ตะเภา ให้รัฐบาลใหม่

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานประจำปี 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยมีผลงานที่สำคัญ ดังนี้ 1.โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project List) มีโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแล้วรวม 5 โครงการ โดยทุกโครงการมีความก้าวหน้า 2.เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เป็นพื้นที่ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใน EEC มี 2 รูปแบบ 3.แผนผังการพัฒนาพื้นที่ EEC แบ่งประเภทการใช้ที่ดินออกเป็น 4 กลุ่ม ตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ พื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม และพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.ความก้าวหน้าโครงการ EECi และ EECd 5.การให้บริการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (EEC-OSS) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ 6.การชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ โดยเน้น 4 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมการบิน-โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล บนแนวคิดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว 7.การประชาสัมพันธ์และการสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ 8.แผนงานบูรณาการ EEC ขับเคลื่อนแผนบูรณาการฯ สานต่อโครงการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (EEC Project List) และการพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม 9.ความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผน และมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC อาทิ ร่วมลงนาม MOU ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากร ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 5G 10.กองทุนพัฒนาอีอีซี มีการดำเนินการ เช่น โครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบโครงการยกระดับการผลิตทุเรียนพรีเมี่ยมด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืนเป็นต้น และ 11.ระเบียบประกาศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายได้พิจารณากลั่นกรองความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎระเบียบข้อบังคับประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC มีผลบังคับใช้แล้วรวม 10 ฉบับ

ที่มา : https://www.prachachat.net/politics/news-1272541

‘ถอดบทเรียนเวียดนาม’ การเมืองนิ่ง เศรษฐกิจรุ่ง

ถ้าจะพูดถึงเพื่อนบ้านอาเซียนในฝั่งอินโดจีนเวียดนามถือว่ามีพัฒนาการมากที่สุด การเขียนถึงเวียดนามในวันนี้นับเป็นเวลาอันเหมาะสม ใกล้ถึงวันครบรอบ “ไซ่ง่อนแตก” 30 เม.ย.2518 ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์เวียดนามยุคใหม่  เมื่อแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้หรือเวียดกงเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนของเวียดนามใต้ สหรัฐผู้สนับสนุนแตกกระเจิงกลับประเทศ นำไปสู่การรวมชาติในนาม “สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” ในวันที่ 2 ก.ค.2519

ช่วงรวมชาติได้ใหม่ๆ เวียดนามยังเป็นประเทศยากจนเพราะเพิ่งผ่านศึกสงคราม จากการที่เวียดนามมีสหภาพโซเวียตเป็นลูกพี่ใหญ่ แน่นอนว่าต้องเป็นศัตรูกับสหรัฐ (ก็เพิ่งไล่เขากลับประเทศไปหมาดๆ) ส่วนจีนที่เป็นเพื่อนบ้านก็ไม่ได้ญาติดีกัน กับเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมองหน้ากันได้ไม่สนิทนัก ตอนตั้งสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็เคยถูกเวียดนามวิจารณ์

แต่สถานการณ์เปลี่ยนเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามตัดสินใจปฏิรูปประเทศใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบตลาดทีละน้อยๆ ปี 2530 เวียดนามออกกฎหมายว่าด้วยกฎหมายการลงทุนของต่างชาติ ความเปลี่ยนแปลงในทางบวกค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างที่เราเห็นในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติแห่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ที่น่าสนใจคือธุรกิจค้าปลีกเพราะเป็นตัวชี้วัดว่าไลฟ์สไตล์คนเวียดนามเปลี่ยนไป ชนชั้นกลางเติบโตขึ้น รายได้มากขึ้น พร้อมจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการเพื่อความสะดวกสบายในชีวิตไปจนถึงเพิ่มความหรูหรา นอกจากนี้เวียดนามยังเป็นประเทศที่ประชากรหนุ่มสาวมาก พวกเขาสนใจในเทคโนโลยี ยังไม่เข้าสู่สังคมสูงวัยเหมือนไทย โอกาสที่เศรษฐกิจเติบโตจึงมีอีกมาก เรียกได้ว่า เข้าไปลงทุนทำอะไรในเวียดนามตอนนี้มีแต่ได้กับได้

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/politics/1064510

“แบงก์ชาติเวียดนาม” เตรียมปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจที่ประสบปัญหา

ธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Vietnam: SBV) เตรียมที่จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของธุรกิจที่ประสบปัญหา รวมถึงความสามารถในการชำระเงินกู้และอื่นๆ เป็นต้น นายฟาม มินห์ ชินห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ขอให้ธนาคารกลางทำการร่างข้อมติเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของธุรกิจและขยายกรอบระยะเวลา โดยบริษัทเวียดนามหลายแห่งในปัจจุบันที่เป็นศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคกำลังเผชิญกับอุปสรรค ท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอและภาวะการส่งออกที่หดตัว 11.9% ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง 3.32% ในไตรมาสแรกของปีนี้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ร้องขอให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน

ที่มา : https://www.investing.com/news/economy/vietnam-central-bank-plans-loan-restructuring-for-struggling-businesses-3062243

“บ.ต่างชาติ 3 แห่ง” รุกเวียดนามทุ่มเงิน 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงวางแผนและการลงทุน (MPI) เปิดเผยว่าบริษัทต่างชาติจำนวน 3 แห่ง ทุ่มเงินลงทุนไปยังเวียดนาม มูลค่ากว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินทุนดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากเกาหลีใต้ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไหลเข้าไปยังอุตสาหกรรมหนักและโลจิสติกส์การผลิต ตามมาด้วยนักลงทุนเยอรมนีเล็งมองหาโอกาสที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเงินทุนประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และนักลงทุนญี่ปุ่นที่วางแผนจะเข้าไปลงทุนในอุปกรณ์การแพทย์ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ นาย Nguyen Chí Dung รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน กล่าวว่าเวียดนามจำเป็นต้องเตรียมสิทธิประโยชน์และเงื่อนไขต่างๆ ที่จะสนับสนุนการลงทุนใหม่ที่เป็นไปตามอัตราภาษีขั้นต่ำทั่วโลกตั้งแต่ปี 2567 เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถทางการแข่งขัน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1524531/three-foreign-groups-plan-to-pour-3-7-billion-into-viet-nam.html