เงินเฟ้อทำคน สปป.ลาว กังวลหนักเรื่องค่าครองชีพ

ราคาสินค้าเกือบทุกประเภท เช่น อาหาร พลังงาน ไปจนถึงการขนส่ง ใน สปป.ลาว ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 19.69 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี ซึ่งในเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียว ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 36.75 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.05 ที่ได้มีการบันทึกไว้ในเดือนกันยายน และร้อยละ 30.01 ในเดือนสิงหาคม ตามรายงานล่าสุดจากสำนักงานสถิติ สปป.ลาว โดยราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก ความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจและการอ่อนค่าของค่าเงินกีบ เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อใน สปป.ลาว ส่งผลทำให้ต้นทุนค่าครองชีพของคนในประเทศ สปป.ลาว ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เป็นที่น่ากังวลของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อได้รับการปรับขึ้นเป็นร้อยละ 17 ภายในสิ้นปี 2022 จากราคาน้ำมันที่สูงกว่าที่คาดการณ์ และค่าเงินกีบอ่อนค่าลงตามรายงานล่าสุดของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten228_Inflation.php

ธุรกิจกว่า 19,300 แห่ง เข้าจดทะเบียนกับกระทรวงเศรษฐกิจ และการคลังกัมพูชา

ธุรกิจมากกว่า 19,300 แห่ง ได้เข้าจดทะเบียนกับกระทรวงเศรษฐกิจ และการคลัง ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน โดยได้รับการอนุมัติด้วยทุนจดทะเบียนรวม 5.51 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานจากระบบการลงทะเบียนธุรกิจออนไลน์ ของกระทรวงเศรษฐกิจ และการคลัง ซึ่งจำนวนมูลค่าการลงทุนตามภาคส่วนนำโดยภาคการก่อสร้างร้อยละ 17 หรือคิดเป็นมูลค่า 963 ล้านดอลลาร์, ภาคอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 12 มูลค่า 643 ล้านดอลลาร์, กิจกรรมที่ปรึกษาด้านการจัดการร้อยละ 5 มูลค่า 289 ล้านดอลลาร์, ภาคการผลิตร้อยละ 5 มูลค่า 269 ล้านดอลลาร์, กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัยร้อยละ 5 มูลค่า 250 ล้านดอลลาร์ และภาคส่วนอื่นๆ ร้อยละ 56 มูลค่า 3.1 พันล้านดอลลาร์ โดยกระทรวงและสถาบันของรัฐหลายแห่ง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กรมภาษีอากร กระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ กระทรวงมหาดไทย และสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา ถูกรวมเข้ากับระบบการลงทะเบียนธุรกิจบนแพลตฟอร์มด้วย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Single Portal เพื่อเสริมเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนและเจ้าของธุรกิจ ให้สะดวกในการเข้าจดทะเบียนเนื่องจากก่อนหน้าได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501189424/over-19300-businesses-registered-with-mef-portal/

กัมพูชาจัดฟอรั่มหารือจีนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-กัมพูชา ครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นในวันนี้ (23 พ.ย.) ซึ่งงานจัดขึ้นโดย Asian Vision Institute (AVI) ร่วมกับ Economic Daily และ China Economic Net ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ตั้งแต่เวลา 13:00-17:00 น. โดย AVI กล่าวว่าฟอรั่มนี้จะเน้นไปที่การทบทวนและประเมินความร่วมมือระหว่างกัมพูชากับจีน รวมถึงความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดในกรอบทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับโลก อาทิเช่น ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI), แผนริเริ่มการพัฒนาโลก (GDI) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นสำคัญ ด้านกรมศุลกากรและสรรพสามิต กล่าวเสริมว่า ปริมาณการค้าระหว่างกัมพูชาและจีนเติบโตขึ้นร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 9.62 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักของกัมพูชาที่ส่งไปยังจีน ได้แก่ ข้าวสาร กล้วย มะม่วง มันสำปะหลัง และเครื่องแต่งกาย ในขณะที่กัมพูชาเน้นไปที่การนำเข้าวัตถุดิบตัดเย็บเสื้อผ้า เครื่องจักร ยานพาหนะ อาหาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501189596/forum-set-to-discuss-cambodia-china-trade-ties/

ส.อ.ท.เผยยอดส่งออกรถยนต์ ต.ค. โต 15.51% จำนวน 94,228 คัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน ต.ค.2565 อยู่ที่ 94,228 คัน ขยายตัว 15.51% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 84,917.32 ล้านบาท จาก 71,410.68 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ยอดส่งออกขยายตัวดีขึ้นหลังปัญหาชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลาย ทำให้สามารถผลิตได้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มมากขึ้นกว่าจำนวนรถที่ส่งออกไปเนื่องจากเป็นรถยนต์ PPV ทีมีมูลค่าสูงกว่ารถยนต์นั่งและรถยนต์กระบะ ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.65) อยู่ที่ 800,672 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.48% โดยมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์อยู่ที่ 727,468.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.60%

ที่มา : https://moneyandbanking.co.th/article/news/fti-export-cars-24112022

ปีนี้ไทยเสียแชมป์ข้าวหอมโลกให้กับกัมพูชา

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุปีนี้ข้าวหอมมะลิไทยต้องเสียแชมป์ให้ “ข้าวผกาลำดวน” ของกัมพูชาในเวทีประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2022 ที่ภูเก็ต จากกลิ่นหอมข้าวไทยน้อยไป และแพ้เพียง 1 คะแนน ระบุน่าจะเกิดจากปัญหาน้ำท่วมอุบลนานทำให้กลิ่นไม่ค่อยหอม ชี้ปีหน้าส่งข้าวหอมมะลิไทยชิงใหม่พร้อมแนะภาครัฐไม่ควรนิ่งนอนใจประเทศเพื่อนบ้านผลิตข้าวหอมมะลิเทียบของหอมไทยแล้วควรเร่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวหอมมะลิไทยให้ดียิ่งขึ้น

ที่มา : https://tna.mcot.net/business-1062465

‘เวียดนาม-กัมพูชา’ ร่วมการหารือความร่วมมือด้านการเกษตร

นายเล มิน ฮวาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าพบนาย Dith Tina รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมงของกัมพูชา เมื่อวันที่ 21 พ.ย. เนื่องในโอกาสที่นายเวือง ดิ่งห์ เหวะ ประธานสภาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เดินทางมาเยือนกัมพูชา ทางด้านรัฐมนตรีว่าการฯ ฮวาน กล่าวว่าความร่วมมือด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบทได้รับความสนใจจากผู้นำพรรคและรัฐบาลของทั้งสองประเทศ โดยเวียดนามและกัมพูชาต่างใช้ประโยชน์จากการส่งเสริมการผลิต การแปรรูปและการจัดจำหน่าย นอกจากนี้ รัฐมนตรีทั้งสองประเทศได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยเรื่องการถ่ายทอดโมเดลเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบริเวณโตนเลสาบ (Tonle Sap) ด้วยเงินทุนราว 70 พันล้านดอง (2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501189133/vietnam-cambodia-enhance-bilateral-cooperation-in-agriculture/

MoC ออกใบอนุญาตส่งออกข้าวภายใต้ MoU ไปบังกลาเทศ

ระหว่างเดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนมกราคม 2566 กระทรวงพาณิชย์เมียนมา (MoC) ได้อนุญาตส่งออกข้าวจำนวน 191,700 ตันที่จะส่งไปบังกลาเทศตามบันทึกข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ (MoU) โดยจะมีการส่งออกข้าวจำนวน 200,000 ตันด้วยการชำระเป็นเงินหยวนของจีน ตามสัญญา ข้าวขาว (ATAP) พันธุ์ GPCT Broken STX ราคา FOB ที่ส่งออกจะอยู่ที่ 2,788.56 หยวนต่อตัน ซึ่งกรมการค้าของเมียนมาได้ออกใบอนุญาตส่งออกข้าวกว่า 191,700 ตัน มูลค่ากว่า 534 ล้านหยวน ให้กับบริษัทส่งออกข้าว 41 แห่ง ซึ่ง MOU ฉบับนี้ บังคลาเทศได้ตกลงที่จะซื้อข้าวขาว 250,000 ตันและข้าวนึ่งอีก 50,000 ตัน ตั้งแต่ปี 2565-2570 ทั้งนี้ กรมอาหารของบังกลาเทศและสมาพันธ์ข้าวแห่งเมียนมา (MRF) ได้ลงนาม MoU ร่วมกัน โดยได้ส่งข้าวเป็นครั้งแรกในปี 2560 จำนวน 100,000 ตัน และในปี 2564 เป็นครั้งที่ 2

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/moc-issues-export-licence-for-rice-to-be-shipped-to-bangladesh-under-mou/

‘สปป.ลาว’ จำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ตามรายงาน Lao Economic Monitor ฉบับประจำเดือนตุลาคม 2565 เปิดเผยว่าการปฏิรูปจะสามารถช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รายงานดังกล่าวยังระบุว่าเงินกีบอ่อนค่าลง 68% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงเดือนตุลาคม เป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ในขณะที่หนี้สาธารณะและหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน คาดว่าจะเกินกว่า 100% ต่อ GDP ในสิ้นปีนี้ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารโลกจึงปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจสปป.ลาว ในปี 2565 เหลืออยู่ที่ 2.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.8% ถึงแม้ว่าการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นในช่วงกลางเดือนของปีนี้ ตารายได้ของคนลาวกลับเพิ่มตามมาไม่ทันเงินเฟ้อ ดังนั้น ธนาคารโลกได้เสนอให้ทำการปฏิรูป 5 ประการ ได้แก่ การยกเว้นภาษี เพิ่มรายได้ของรัฐบาลและปกป้องการใช้จ่ายทางสังคม, ปรับปรุงการบริหารการปกครองสาธารณะ, ปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ, เสริมสร้างความมั่งคงของภาคการเงิน และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten227_Reform_y22.php

รัฐบาลกัมพูชาเพิ่มทุนจัดซื้อข้าวภายในประเทศ 10 ล้านดอลลาร์

รัฐบาลกัมพูชาประกาศเพิ่มวงเงินจัดซื้อข้าวภายในประเทศ 10 ล้านดอลลาร์ ผ่านธนาคารแห่งรัฐเพื่อการพัฒนาชนบทและการเกษตร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจัดซื้อข้าวและช่วยรักษาเสถียรภาพราคาข้าวให้กับเกษตรกร โดยรัฐบาลได้พิจารณาอย่างรอบคอบและตัดสินใจที่จะจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมให้กับกองทุนจัดซื้อข้าวขั้นต้นมูลค่า 83 ล้านดอลลาร์ ผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาชนบทและการเกษตรเพื่อสนับสนุนโรงสีข้าว และผู้ส่งออกข้าวในการจัดหาข้าวจากเกษตรกร ซึ่งในช่วงไม่กี่วันมานี้ราคาข้าวภายในประเทศเกิดความผันผวนในบางจังหวัดที่มีการผลิตข้าว โดยเฉพาะพระตะบองและบันทายมีชัย เนื่องจากเป็นฤดูเก็บเกี่ยวประจำปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501189189/additional-10-million-released-by-royal-government-for-rice-procurement/

กัมพูชา-เวียดนาม ตั้งเป้ามูลค่าการค้าแตะหมื่นล้านดอลลาร์

กัมพูชาและเวียดนามตั้งเป้าดันมูลค่าการค้าทวิภาคีให้ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ และยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ โดยเป้าหมายดังกล่าวยังถูกย้ำในการประชุมเมื่อวันจันทร์ (21 พ.ย.) ระหว่างนายกรัฐมนตรีฮุน เซน และประธานรัฐสภาแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม Vuong Dinh Hue ซึ่งระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2022 การค้าระหว่างกัมพูชา-เวียดนามแตะ 8.45 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในปี 2021 มูลค่าการค้าทวิภาคีเคยพุ่งไปแตะถึง 9.54 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่การลงทุนเวียดนามมีโครงการการลงทุนกว่า 198 โครงการในกัมพูชา ด้วยทุนจดทะเบียน 2.92 พันล้านดอลลาร์ โดยสื่อให้เห็นถึงความร่วมมือในหลายมิติทั้งทางด้านการค้า การลงทุน และการจ้างงาน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501188711/cambodia-vietnam-firm-on-10-billion-trade-target/