‘เวียดนาม-ไทย’ ถกหารือเชื่อมโยงทางคมนาคม

นายฟาน จี๊ ทัญ (Mr. Phan Chi Thanh) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย ได้เข้าพบกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 โดยเอกอัครราชทูตฯ แจ้งกับทางการไทยให้ทราบถึงการเปิดประเทศของเวียดนามอย่างเต็มรูปแบบและจะสนับสนุนการฟื้นตัวทางด้านคมนาคมและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ หลังจากหยุดชะงักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ ทางถนนที่เชื่อมโยงระหว่างเวียดนาม สปป.ลาวและไทย จะช่วยให้ทั้งสามประเทศสามารถเข้าถึงตลาดใหญ่ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น นอกจากนี้ ในประเด็นเกี่ยวกับการบิน เอกอัครราชทูตฯ เสนอให้ทางการไทยยกเลิกข้อจำกัดเที่ยวบินพาณิชย์จากไทยไปเวียดนาม เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงทางอากาศของทั้งสองประเทศและส่งเสริมการค้าระดับทวิภาคี การลงทุนและการท่องเที่ยว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/thailand-interested-in-transport-cooperation-with-vietnam/223635.vnp

 

‘บริษัทญี่ปุ่น’ เล็งขยายการลงทุนอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ภาคการผลิตในเวียดนาม

องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยผลการสำรวจกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นในเวียดนาม 700 ราย พบว่าในภาพรวม บริษัทญี่ปุ่นเข้าไปขยายการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ภาคการผลิต (Non-manufacturing Industries) มากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมการปลีก การศึกษา การดูแลสุขภาพ พลังงาน การเงินการประกันภัย การขนส่งและอสังหาริมทรัพย์ โดยยังพบว่าบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในภาคการผลิตอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ 51.7% วางแผนที่จะขยายธุรกิจในเวียดนามอีก 1-2 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะเดียวกันเมื่อสอบถามถึงกลุ่มบริษัทที่ไม่ใช่ภาคการผลิตส่วนใหญ่ 58.7% ต้องการทำเช่นเดียวกัน เพิ่มขึ้น 12.1% ทั้งนี้ นาย Hirai Shinji หัวหน้าตัวแทนของ JETRO สาขานครโฮจิมินห์ กล่าวว่าบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในเวียดนามดำเนินธุรกิจการผลิตอุตสาหกรรม แต่ในปัจจุบันเม็ดเงินทุนจากต่างชาติกำลังไหลเข้าไปยังอุตสาหกรรมอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค การค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1165354/japanese-firms-in-viet-nam-eye-non-manufacturing-industries.html

 

จีนระงับการนําเข้าสินค้า 7 รายการจากเมียนมาผ่านทางชายแดน

หอการค้าชายแดนมูเซ-น้ำคำ รายงานว่า หน่วยเฉพาะกิจป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ในเมืองรุ่ยลี่ ประเทศจีน แจ้งคณะทำงานของเชายแดนมูเซว่าจะมีการระงับการนำเข้าสินค้า 7 รายการ หนึ่งในนั้นรวมไปถึงข้าวจากเมียนมา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของ COVID-19 โดยสินค้าที่ถูกระงับการนำเข้าทั้ง 7 รายการ ได้แก่ ข้าว, ข้าวหัก, พริกสด, สินค้าที่ขนส่งในระบบห่วงโซ่ความเย็น, สินค้าแช่แข็ง, สินค้าประมง และ สินค้าประเภทของใช้ประจำวัน รวมถึงสินค้าอาหารบรรจุหีบห่อ ณ ด่านตรวจว่านติง-มังมาน ณ วันที่ 4 มี.ค. 2565 ของงบประมาณย่อย (ต.ค. 2564- มี.ค. 2565) การปิดชายแดนมูเซทำให้มูลค่าการค้า  ลดลงเหลือ 579.48 ล้านดอลลารณ์สหรัฐฯ  ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวลดลงอย่างมากจาก 2.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณก่อน โดยปกติเมียนมาส่งออกสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว ถั่วและข้าวโพด และผลิตภัณฑ์ประมง เช่น ปู กุ้ง เป็นต้น นอกจากนี้ การค้าผ่านชายแดนมูเซ-รุยลี เมียนมาส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังจีน ด้านการนำเข้าจะเป็นวัตถุดิบ CMP ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2563-2564 การค้าชายแดนมูเซ ระหว่างจีน-เมียนมา มีมูลค่า 4.057 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นการส่งออกมูลค่า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้ามูลค่า 1.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/china-to-temporarily-halt-imports-of-seven-items-including-rice/#article-title

 

อัตราเงินเฟ้อพุ่ง 7.3 % แตะระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี

อัตราเงินเฟ้อปีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.3 ในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดที่นับแต่มีการบันทึกสถิติมา ราคาผู้บริโภคที่พุ่งสูงขึ้นได้รับแรงหนุนจากต้นทุนเชื้อเพลิงและสินค้านำเข้าอื่นๆ ที่พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากการอ่อนค่าของ kip อย่างต่อเนื่อง และราคาน้ำมันโลกที่พุ่งสูงขึ้น ด้านนักเศรษฐศาสตร์กังวลว่าราคาน้ำมันอาจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่องจากอุปสงค์และอุปทานไม่ตรงกัน รัฐบาลอาจเริ่มปรับราคาน้ำมันทุก 5-7 วัน แทนที่จะเป็นทุกสองสัปดาห์ หากราคาน้ำมันโลกยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มการผลิตเพื่อลดการนำเข้า และเพื่อควบคุมราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชนทั่วไป รัฐบาลได้ตัดสินใจลดภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 7 ในปีนี้ และลดปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าราคาน้ำมันสำรองในปัจจุบันอยู่ที่ 0 กีบ/ลิตร ซึ่งจะช่วยบรรเทาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Inflation54.php

GMAC ร่วมมือกับ Euro Cham เร่งส่งออกเสื้อผ้ากัมพูชา

สมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชา (GMAC) และ Euro Cham ร่วมมือพัฒนาและส่งเสริมภาคการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชาไปยังตลาดสหภาพยุโรป (EU) โดยปัจจุบัน Euro Cham ถือเป็นตัวแทนของแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของสหภาพยุโรปที่มีฐานการผลิตอยู่ในกัมพูชา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของกัมพูชาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในฝั่งของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในท้องถิ่น (SMEs) ซึ่งทาง Euro Cham จะเน้นการพัฒนาไปที่ห่วงโซ่อุปทานและการผลักดันกฎหมายแรงงานของสหภาพยุโรปมาปรับใช้ในกัมพูชาเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกของกัมพูชา โดยในปี 2021 การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและสหภาพยุโรปมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4,500 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นการส่งออกเสื้อผ้ามูลค่า 2,207 ล้านดอลลาร์, รองเท้า 383 ล้านดอลลาร์ และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมูลค่า 93 ล้านดอลลาร์ รวมเป็นเงิน 2,683 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณการค้าทั้งหมด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501042572/gmac-euro-cham-pact-set-to-boost-cambodian-garment-exports/

กัมพูชาส่งออกไปยังเกาหลีใต้ 64 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี

กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 64.5 ล้านดอลลาร์ ไปยังเกาหลีใต้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลของสมาคมการค้าระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์กัมพูชานำเข้าสินค้าจกาเกาหลีใต้มูลค่าแตะ 130 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 หรือคิดเป็นมูลค่า 195.2 ล้านดอลลาร์ ผ่านข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลี (CKFTA) ซึ่งจะมีผลบังคับในเร็วๆ นี้ โดย CKFTA คาดว่าจะครอบคลุมสินค้าของกัมพูชามากกว่า 10,000 รายการ ที่ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501042577/cambodian-exports-to-south-korea-reach-64m-in-two-months/

ข้อตกลง ‘UKVFTA’ กระตุ้นการค้าระหว่างประเทศ

นาย Tran Quoc Khanh รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม เปิดเผยในงานจัดสัมมนาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่าด้วยเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหราชอาณาจักร (UKVFTA) ถือเป็นทางด่วนทางการค้าที่ช่วยกระตุ้นการค้าระดับทวิภาคี ถึงแม้ว่าผลบังคับใช้ของข้อตกลงการค้าเสรีอยู่ในช่วงการแพร่ระบาด แต่อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศสูงถึง 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยการส่งออกของเวียดนามไปยังสหราชอาณาจักร ขยายตัว 16% ทั้งนี้ ข้อตกลงการค้าเสรีดังกล่าวจะเปิดโอกาสมากขึ้นสำหรับทั้งสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการประสานความร่วมมือและพึ่งพาความแข็งแกร่งของกันและกัน ส่งผลให้มูลค่าการค้าทวิภาคีเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ คุณ Nguyen Thu Trang ผู้อำนวยการศูนย์ WTO กล่าวว่าข้อตกลงการค้าเสรี “UKVFTA” ดีกว่าข้อตกลงอื่นๆ เนื่องจากมีกรอบระยะเวลาเตรียมการถึง 5 เดือน สำหรับบริษัทเวียดนามในการปรับตัวให้เข้ากับกฎการค้าใหม่

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1165295/ukvfta-boosts-bilateral-trade.html

‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ บีบให้เวียดนามค้นหาซัพพลายเออร์ปุ๋ยรายอื่นทดแทน

ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้เวียดนามต้องค้นหาซัพพลายเออร์ปุ๋ยรายอื่น เพื่อรองรับกับปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและราคาที่สูงขึ้น กระทรวงเกษตรและพัฒนาบท (MARD) เปิดเผยว่าความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดปุ๋ยในประเทศ ซึ่งประสบปัญหากับการขาดแคลนทางด้านอุปทานและราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น เหตุจากการได้รับผลกระทบของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการหยุดชะงักห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ รัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกปุ๋ยที่มีต้นทุนต่ำที่สุดรายใหญ่ของโลก โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงอุตฯ ของรัสเซียประกาศให้ผู้ผลิตปุ๋ยของประเทศทำการหยุดการส่งออกชั่วคราว ด้วยเหตุนี้ ราคาปุ๋ยทำสถิติสูงสุดในรอบ 50 ปี ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับราคาน้ำมันและก๊าซที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของต้นทุนการผลิต ทำให้ผลักดันราคาปุ๋ยให้สูงขึ้นเช่นเดียวกัน

ที่มา : https://vir.com.vn/russia-ukraine-conflict-forces-vietnam-to-look-for-alternative-fertiliser-suppliers-91979.html

ราคาถั่วชิกพีพุ่งขึ้นเป็นสองเท่าในปีนี้

ผู้ค้าถั่วในมัณฑะเลย์ เผยความต้องการราคาถั่วชิกพีมีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาพุ่งไปอยู่ที่ 132,000 จัตต่อถุง จาก 80,000 จัตต่อถุง ชาวเมียนมาส่วนใหญ่ชื่นชอบการบริโภคถั่วชิกพีเพราะมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์และรสชาติที่เข้มข้น แกงที่ทำจากถั่วชิกพีเป็นหนึ่งในอาหารที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ความต้องการในประเทศที่สูงขึ้นกระตุ้นให้โรงงานในมัณฑะเลย์เร่งเปิดดำเนินการ สามารถสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นได้อีกด้วย ด้านการส่งออกตลาดหลัก คือ อินเดีย ปากีสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี เป็นต้น ทั้งนี้พื้นที่การเพาะปลูกถั่วชิกพีทั่วประเทศอยู่ที่ 890,000 เอเคอร์ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ พะโค ซะไกง์ อิรวดี และเนปิดอว์ การเพาะปลูกจะอยู่ในช่วงเดือนต.ค.และพ.ย.และเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนม.ค.ถึงเม.ย. ของแต่ละปี

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/chickpea-prices-rise-to-double-this-year/

ทางรถไฟสายเวียงจันทน์-หวุงอ่าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤศจิกายน

การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมเมืองเวียงจันทน์กับท่าเรือหวุงอ่างในจังหวัดห่าติ๋งตอนกลางของเวียดนาม คาดว่าจะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทางรถไฟดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเส้นทางที่รัฐบาลสปป.ลาวและเวียดนามได้ตกลงที่จะร่วมกันพัฒนาซึ่งจะช่วยให้สปป.ลาวที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลสามารถเข้าถึงท่าเรือน้ำลึกเพื่อเพิ่มช่องทางการขนส่งอีกทางได้ โครงการรถไฟดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Lao Logistics Link ซึ่ง PetroTrade เป็นบริษัทในเครือของ PTL Holding Company Limited ได้รับไฟเขียวให้ร่วมมือกับรัฐบาลสปป.ลาวและเวียดนามเพื่อพัฒนา นอกจากเป็นการเชื่อมต่อระหว่างสปป.ลาวและเวียดนามแล้ว ทางรถไฟจะเชื่อมต่อตลาดขนส่งสินค้าของไทยและเมียนมาร์โดยตรงกับท่าเรือหวุงอ่าง ซึ่งสปป.ลาวถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 60 ของโครงการและที่เหลือเป็นของรัฐบาลเวียดนาม ท่าเรือนี้อยู่ในตำแหน่งที่ดีเพื่อใช้เป็นประตูระหว่างเวียดนามตอนกลาง สปป.ลาวกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในการเชื่อมการค้ากัน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Work53.php