‘เวียดนาม’ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 6% มีผล 1 ก.ค.

จากพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 38 ที่เสนอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยกระทรวงแรงงาน ผู้พิการ และสวัสดิการสังคม (MOLISA) รายงานว่าค่าแรงขั้นต่ำในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้น 6% ทั้งค่าจ้างรายเดือนและรายชั่วโมง เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ซึ่งจะช่วยค่าครองชีพของแรงงานและคนในครอบครัว รวมถึงหนุนตลาดแรงงานเวียดนามฟื้นตัวดีขึ้นและส่งเสริมการผลิตและการดำเนินธุรกิจของกิจการ อย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคใหม่บางประการที่มีผลต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 200,000-280,000 ดองต่อเดือน เมื่อเทียบกับระดับปัจจุบัน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/minimum-wage-to-increase-by-6-from-july-1-2263650.html

‘วินฟาสต์’ ผู้ผลิตรถ EV สัญชาติเวียดนาม วางขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทย

วินฟาสต์ (VinFast) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติเวียดนาม ประกาศเมื่อวันอังคารว่าทางบริษัทวางแผนที่จะขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย และร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในการเปิดโชว์รูม อย่างไรก็ดี วินฟาสต์ที่เริ่มส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อปีที่แล้ว เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดไทยจากคู่แข่งรถยนต์สัญาชาติจีน ‘บีวายดี’ รวมถึงเทสลา ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากสหรัฐฯ ก็เริ่มเข้าสู่ตลาดรถยนต์นี้ ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหมดจะเข้าร่วมงานบางกอก มอเตอร์โชว์

ทั้งนี้ จากรายงานของ เคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช บริษัทวิจัยตลาด เปิดเผยว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของไทย คิดเป็นสัดส่วน 58% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2565 แซงหน้าเวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ว่าเมื่อพิจารณามูลค่าของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังคงมีสัดส่วนเล็กน้อยที่ 0.5% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าโลกในปี 2565

ที่มา : https://www.khaosodenglish.com/news/2024/03/27/vietnamese-automaker-vinfast-to-start-selling-evs-in-thailand/

อุปสงค์จากต่างประเทศที่ซบเซาส่งผลให้ราคาข้าวโพดลดลง

ตามข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา รายงานว่า เนื่องจากความต้องการในตลาดข้าวโพดลดลง ราคาข้าวโพดจึงขยับลงไปที่ประมาณ 1,000 จ๊าดต่อviss ในช่วงปลายเดือนมีนาคม หลังจากที่แตะ 1,200 จ๊าดต่อviss ในต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 โดยเมียนมาส่งออกข้าวโพดไปยังจีนและไทยผ่านทางชายแดน และส่งออกผ่านช่องทางเดินเรือ ไปยัง จีน อินเดีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ดี ประเทศไทยที่ถือเป็นผู้นำเข้าข้าวโพดชั้นนำของเมียนมา อนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้อัตราภาษีเป็นศูนย์ (พร้อมแบบฟอร์ม D) ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ถึง 31 สิงหาคม โดยที่ประเทศไทยกำหนดอัตราภาษีสูงสุดที่ร้อยละ 73 สำหรับการนำเข้าข้าวโพด เพื่อปกป้องสิทธิของผู้ปลูกหากข้าวโพดนำเข้าในช่วงฤดูข้าวโพดของประเทศไทย นอกจากนี้ จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ระบุว่า เมียนมาส่งออกข้าวโพดไปทั่วโลกจำนวน 934,883 ตัน ในปีงบประมาณปัจจุบันปี 2566-2567 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน โดยมีมูลค่ารวม 279.042 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยลงมากหากเทียบกับฤดูข้าวโพดปี 2565-2566 ที่เมียนมาส่งออกข้าวโพดมากกว่า 2 ล้านตันไปยังคู่ค้าต่างประเทศ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/sluggish-foreign-demand-drives-corn-prices-down/

ราคาทองคำในประเทศเมียนมาเกิน 4.3 ล้านจ๊าดต่อ tical

หลังจากที่ราคาทองคำพุ่งขึ้นเหนือ 2,170 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ และค่าเงินจ๊าดในตลาดอ่อนค่าลงประมาณ 3,740 จ๊าดเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ราคาทองคำในประเทศแตะจุดสูงสุดใหม่ที่ 4.31 ล้านจ๊าดต่อ tical (1 tical = 0.578 ออนซ์ หรือ 0.016 กิโลกรัม) ในขณะเดียวกัน สมาคมผู้ประกอบการทองคำย่างกุ้ง (YGEA) กำหนดราคาอ้างอิงที่ 3.7989 ล้านจ๊าดต่อ tical ซึ่งแสดงถึงช่องว่างระหว่างราคาที่แท้จริงในตลาดกับราคาอ้างอิงกว่า 500,000 จ๊าดต่อ tical อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจสอบสาเหตุของความผันผวนของราคา และกำลังดำเนินคดีตามกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ YGEA จึงขอให้ตัวแทนจำหน่ายทำธุรกรรมทองคำให้ต่ำกว่าราคาอ้างอิงที่ตั้งไว้ และหลีกเลี่ยงการเผยแพร่ข่าวเท็จและการบิดเบือนราคา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/domestic-gold-price-exceeds-k4-3-mln-per-tical/#article-title

ภูมิธรรม พบทูตเช็ก ดึงลงทุนเข้า EEC ขอเสียงหนุนเจรจา FTA ไทย-อียู

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังหารือกับนายปาเวล ปีเตล (H.E. Mr.Pavel Pitel) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย ว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าในโอกาสที่ไทยและเช็กฉลองสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตครอบรอบ 50 ปี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ต้องการให้ผลักดันและสานความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน ผมได้เชิญชวนให้ ทูตสาธารณรัฐเช็ก ขยายการลงทุนเพิ่มในไทย ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในสาขาอุตสาหกรรมที่เช็กมีความเชี่ยวชาญ เช่น การผลิตรถยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการป้องกันประเทศ โดยเช็กสามารถใช้ไทยเป็นศูนย์กลางเพื่อขยายการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนได้ นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ได้หารือประเด็นการค้าสำคัญอื่นๆ เช่น ความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่ไทยและเช็กมีศักยภาพ และผลักดัน soft power เช่น มวยไทย การท่องเที่ยว ให้เป็นรูปธรรมต่อไป รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ที่อยู่ระหว่างการเจรจา โดยได้ขอให้เช็กในฐานะประเทศสมาชิกของ EU สนับสนุนการเจรจาดังกล่าว เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้โดยเร็ว เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก EU 27 ประเทศ รวมถึงเช็กด้วย ซึ่งท่านทูตเช็กได้แจ้งพร้อมให้การสนับสนุนการเจรจา FTA กับไทยอย่างเต็มที่ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า เช็กเป็นคู่ค้าอันดับที่ 43 ของไทย และอันดับที่ 8 จาก EU โดยในปี 2566 ไทยและเช็กมีการค้าระหว่างกันรวม 1,137.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (39,387.75 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.62 มีสัดส่วนการค้ารวมคิดเป็นร้อยละ 0.20 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปเช็ก 784.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (27,064.81 ล้านบาท) และไทยนำเข้าจากเช็ก 353.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (12,322.94 ล้านบาท) สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ https://www.prachachat.net/economy/news-1531031

ก.สาธารณสุข สปป.ลาว สั่งเฝ้าระวังหลังพบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ 54 ราย ในแขวงจำปาสัก

กระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศเฝ้าระวังภายหลังมีรายงานผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ 54 ราย ใน 2 เมืองของแขวงจำปาสัก โดยสั่งให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการติดตามแหล่งที่มาของการติดเชื้อ รวบรวมข้อมูลที่จำเป็น กักกันพื้นที่เสี่ยงและกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อ ทั้งนี้ พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงจะถูกแบ่งออกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคแอนแทรกซ์ และโรงฆ่าสัตว์บางแห่งจะถูกห้ามฆ่าวัวและควาย กรมควบคุมโรคติดต่อแนะนำเจ้าของสัตว์ควรเฝ้าระวังอาการโรคแอนแทรกซ์ในสัตว์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนจับตาดูสัตว์เลี้ยงของตนอย่างใกล้ชิดเพื่อดูสัญญาณของการเจ็บป่วย และรายงานกรณีที่น่าสงสัยให้สัตวแพทย์ประจำหมู่บ้านทราบทันที กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ในเมืองสุขุมา แขวงจำปาสัก ที่ได้รับผลกระทบ ติดตามการฆ่าสัตว์และการบริโภคเนื้อสัตว์ในพื้นที่ที่เกิดการติดเชื้อ รวมถึงมอบหมายให้ฆ่าเชื้อทุกพื้นที่ที่ตรวจพบผู้ป่วย เพื่อป้องกันการระบาด กรมวิชาการเกษตรประจำเขตได้ออกประกาศให้ทุกภาคส่วนทั้งผู้อยู่อาศัยและธุรกิจขนาดเล็ก ห้ามค้าสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์นอกเขต

ที่มา : https://english.news.cn/20240325/a4456b16c86a45f09f9de397d530ddef/c.html

โครงการ Green CUP ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวสินค้ากาแฟและชาของ สปป.ลาว

กาแฟและชาเป็นมากกว่าเครื่องดื่มยอดนิยมใน สปป.ลาว แต่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในประเทศ ภายใต้ความร่วมมืออันยาวนานระหว่างฝรั่งเศสและ สปป.ลาว ด้วยตระหนักถึงคุณค่าของกาแฟและชาที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาล สปป.ลาว และพันธมิตรด้านการพัฒนาในยุโรปจึงได้ทำงานร่วมกันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงการผลิต คุณภาพ และการเข้าถึงตลาดสำหรับกาแฟและชา ปัจจุบันกาแฟและชามีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของ สปป.ลาว โดยมีมูลค่าการส่งออกเกือบ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ทำให้ สปป.ลาว เป็นผู้ส่งออกกาแฟอันดับที่ 34 ของโลก และชาอันดับที่ 63 ของโลก โครงการ Green CUP พยายามที่จะสนับสนุนการค้าและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจสีเขียวสำหรับภาคส่วนการผลิตกาแฟและชา ผ่านวิถีชุมชนเกษตรกร ห่วงโซ่คุณค่าที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และการเข้าถึงตลาดที่ยั่งยืนและมีมูลค่าสูง โดยเฉพาะตลาดยุโรป

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_62_Bolstering_y24.php

กัมพูชา-สปป.ลาว ขยายความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้า

นายกรัฐมนตรี ฮุน มานิต ของกัมพูชา และนายกรัฐมนตรี Sonexay Siphandone แห่ง สปป.ลาว ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 3 ฉบับ และ บันทึกความเข้าใจ (MoUs) อีก 4 ฉบับ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นการขยายความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ด้านการค้าพลังงานไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาด้านพลังงานในกัมพูชา โดยทั้งสองท่านได้ร่วมเป็นประธานในการลงนามเอกสารทั้งเจ็ดฉบับ ซึ่งห้าฉบับเป็นความตกลงด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของกัมพูชา โดยเฉพาะโครงการระหว่างกระทรวงเหมืองแร่และพลังงาน (MME) และ การไฟฟ้าแห่งประเทศ สปป.ลาว (EDL) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อซื้อพลังงานสีเขียวจากโครงการ Green Energy Supply ซึ่งวางแผนจัดหาพลังงานมายังกัมพูชา 1,000 เมกะวัตต์ จากโครงการพลังงานน้ำ พลังงานลม และ พลังงานความร้อนใต้พิภพ (พลังงานหมุนเวียนที่ได้จากแก่นโลก) มายังกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501462332/kingdom-laos-agree-to-widen-energy-cooperation/

สกุลเงินเรียลของกัมพูชาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในสถาบันการเงินขนาดย่อม

การใช้สกุลเงินเรียลกัมพูชา (KHR) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในด้านเงินฝาก สินเชื่อ และธุรกรรมการชำระเงิน โดยเฉพาะในฝั่งของสถาบันการเงินขนาดย่อย (CMA) สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในพฤติกรรมการออมเงินของประชาชน ซึ่งในปี 2023 สินเชื่อที่ปล่อยเป็นสกุลเงินเรียลมูลค่ารวม 5.56 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 1.38 พันล้านดอลลาร์) หรือคิดเป็นร้อยละ 25 จากการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด และเงินฝากมูลค่ารวม 1.52 ล้านล้านเรียล (ประมาณ 375 ล้านดอลลาร์) หรือคิดเป็นร้อยละ 16 จากปริมาณเงินฝากทั้งหมดเป็นสกุลเงินเรียล สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นในสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ ด้านธนาคารชาติกัมพูชา (NBC) รายงานเสริมว่า การเติบโตของการทำธุรกรรมผ่านระบบการชำระเงิน Bakong ของกัมพูชา โดยมีธุรกรรมสกุลเงินเรียลเพิ่มขึ้นถึง 3.4 เท่า ซึ่งมากกว่าการทำธุรกรรมด้วยเงินสกุลดอลลาร์ ถือเป็นสัญญานที่ดีต่อการใช้สกุลเงินเรียลในระบบเศรษฐกิจของกัมพูชา เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางด้านการเงินกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501462314/riel-usage-in-microfinance-transactions-increases/

‘แบงก์ชาติเวียดนาม’ แจ้งสถาบันผู้ออกบัตร เร่งตรวจสอบขั้นตอนการออกบัตร

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ประกาศคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการทบทวนในเรื่องขั้นตอนการออกบัตรและการจัดการบัตรธนาคาร (Bank Card) ซึ่งธนาคารกลางให้ความสำคัญมากที่สุดในการรักษาความปลอดภัย สิทธิของผู้บริโภคและธนาคารที่ได้รับความคุ้มครอบภายใต้กฎหมายและระเบียบในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะต้องเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียม อัตราดอกเบี้ย วิธีการคำนวณดอกเบี้ย เป็นต้น การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของธนาคารกลางอย่างเคร่งครัดและจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกค้าได้รับแจ้งสิทธิและภาระผูกพันของตน โดยเฉพาะบัตรเครดิต

นอกจากนี้ ธนาคารกลางเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ใช้มาตรการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลและทราบถึงสิทธิของตน รวมถึงให้คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1652701/central-bank-told-card-issuers-to-review-procedures.html