“เมียนมา” เผยการค้าระหว่างประเทศ ทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลทางสถิติของกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 21 เม.ย. เปิดเผยว่ายอดการค้าระหว่างประเทศของเมียนมา มีมูลค่าอยู่ที่ 1.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 1.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีงบประมาณ 2566-2567 ตัวเลขดังกล่าวแบ่งเป็นรายได้จากการส่งออกกว่า 606.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้จากการนำเข้า 1.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อด่านชายแดนของเมียนมาและจีนกลับมาเปิดพรมแดนอีกครั้ง ส่งผลให้ยอดการค้าชายแดนพุ่งสูงขึ้นแตะ 503.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การค้าทางทะเลของเมียนมาที่ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของเมียนมาส่วนใหญ่เป็นสินค้าทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์สัตว์และป่าไม้ แร่ธาตุและสินค้าสำเร็จรูป ในขณะเดียวกันเมียนมานำเข้าสินค้าประเภททุน วัตถุดิบป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมและสินค้าอุปโภคบริโภค

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-foreign-trade-crosses-us1-bln-as-of-21-april/#article-title

“รมต.ต่างประเทศจีน” เยือนชายแดนเมียนมา

นายฉิน กัง (Qin Gang) รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน เรียกร้องให้มีความมั่งคงและการปราบปรามอาชญากรรมบริเวณพรมแดนของประเทศที่ติดกับประเทศเมียนมา โดยพรมแดนเมียนมาที่ติดกับประเทศจีนมีระยะทาง 2,129 กิโลเมตร มีภูเขาที่มีป่าไม้หนาทึบและมีชื่อเสียงในการลักลอบขนยาเสพติดเข้าสู่ประเทศจีน ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ ระบุว่าการผลิตฝิ่นในเมียนมากลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง หลังจากกองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐบาลในปี 2564 การเพาะปลูกฝิ่นป๊อบปี้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาลงและปัญหาอาชญากรรมที่ไม่เข็มงวด ทำให้ผู้คนหันมาซื้อยาเสพติดกันสูงขึ้น

อีกทั้ง รัฐมนตรีฯ ต่างประเทศของจีน กล่าวระหว่างการเยือนเมียนมาว่าพรรคคอมมิวนิสต์ท้องถิ่น หน่วยงานรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเข้าร่วมระบบเสริมสร้างป้องกันชายแดนและจำเป็นต้องมีการประสานงานการจัดการชายแดน เพื่อที่จะพัฒนาการค้าชายแดนและความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4880184

“เมียนมา” ชี้ธุรกิจอาหารแปรรูป 1,270 แห่ง ขึ้นทะเบียน GACC ภายใน 18 เดือน

กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามีบริษัทและโรงงานอาหารแปรรูปในเมียนมา จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,270 แห่ง ทำการยื่นขอจดทะเบียนกับศุลกากรจีน (GACC) ประกอบไปด้วย 2,200 รายการ ภายในระยะเวลาเพียง 18 เดือน โดยการขึ้นทะเบียนตามระเบียบ 248 และ 249 ผู้ส่งออกอาหารจำเป็นต้องขึ้นทะเบียน GACC ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ทั้งนี้ จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 – 28 เม.ย. 2566 พบว่ามีโรงงานทำการยื่นคำขอจดทะเบียน GACC จำนวน 1,270 แห่ง และจำนวนรายการวมทั้งสิ้น 2,279 รายการที่มาจากกรมส่งเสริมการเกษตร 2,136 รายการ ตามมาด้วยกรมประมง 120 รายการ, กรมปศุสัตว์ 14 รายการ และสำนักงานอาหารและยา 9 รายการ

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/over-1270-myanmar-food-processing-businesses-apply-for-gacc-within-18-months/#article-title

“เมียนมา” เผยเครื่องชาร์จรถไฟฟ้า EV Charger มาถึงเมืองย่างกุ้ง

ตามรายงานของคณะกรรมการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เปิดเผยว่าเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่มาจากประเทศจีน ขนาด 7 กิโลวัตต์ (kW) จำนวน 10 เครื่อง ตามมาด้วยขนาด 11 kW จำนวน 10 เครื่อง, ขนาด 22 kW จำนวน 10 เครื่อง, ขนาด 60 kW จำนวน 6 เครื่อง และขนาด 240 kW จำนวน 2 เครื่อง ได้ส่งมายังเมืองย่างกุ้งแล้ว โดยเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าดังกล่าวนำเข้ามาจากบริษัท Super Seven Stars Motors Industry ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการฯ อย่างไรก็ดี การนำเข้าเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเหล่านี้ได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากร

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/ev-chargers-arrive-in-yangon/#article-title

“เมียนมาเฮ” รับราคามะม่วงเซ่งตะโลงพุ่ง ปี 66

นาย U Kyaw Soe Naing เลขาธิการสมาคมพัฒนาตลาดมะม่วงและเทคโนโลยีเมียนมาร์ (มัณฑะเลย์) กล่าวว่าราคาส่งออกของมะม่วงเพชรน้ำหนึ่ง (Sein Ta Lone) หรือมะม่วงพันธุ์ “เซ่งตะโลง” ไปยังตลาดจีนนั้น มีราคาค่อนข้างสูงในช่วงต้นฤดูมะม่วงของปีนี้ ซึ่งการที่ได้ราคาที่ดีนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินค้าและการขนส่ง ในขณะที่ผู้ปลูกบางรายได้เก็บผลมะม่วงก่อนกำหนดของฤดูกาลในปีที่แล้ว ทำให้ผู้ปลูกรายอื่นขาดทุน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/seintalone-mango-fetches-good-price-this-year/#article-title

“เมียนมา” เผยราคาเมล็ดมัสตาร์ดสูงขึ้นในตลาดมัณฑะเลย์

คุณ U Soe Win Myint เจ้าของศูนย์ค้าส่งในเมืองมัณฑะเลย์ เปิดเผยว่าราคาเมล็ดมัสตาร์ด (Mustard Seeds) ในปีที่แล้ว อยู่ที่ 3,200 จั๊ตต่อ Viss แต่ในปัจจุบันราคาขยับเพิ่มสูงขึ้นที่ 5,100 จั๊ตต่อ Viss และการค้าขายเป็นไปได้ด้วยดี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการจากประเทศอินเดียเพิ่มสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้เกษตรกรชาวเมียนมาจึงควรขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ที่เป็นเนินเขา นอกจากนี้ การเพาะปลูกเมล็ดมัสตาร์ดส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณภาคเหนือและภาคใต้ของรัฐฉาน รัฐกะฉิ่น รัฐกะยาและภาคซะไกง์ตอนบน จากนั้นจะถูกขายไปยังตลาดมัณฑะเลย์

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/mustard-seed-fetching-higher-prices-marketable-in-mandalay/#article-title

“เมียนมา” เผยผลผลิตถั่วลูกไก่น้อย ดันราคาพุ่งสูงขึ้น

ศูนย์ค้าส่งสินค้าในเมืองมัณฑะเลย์ เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 22 เม.ย. 2566 พบว่าราคาถั่วลูกไก่ (Chick Pea) ขยับเพิ่มสูงขึ้นจาก 201,000 – 206,500 จั๊ตต่อ 56.25/57.25 Viss มาอยู่ที่ราว 207,000 – 219,000 จั๊ตต่อ 56.25/57.25 Viss โดยตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากภายในช่วง 3 สัปดาห์ ทั้งนี้ ถั่วลูกไก่เป็นพืชผลเมืองหนาวและมักจะปลูกในเดือน ต.ค. และ พ.ย. ในขณะที่ฤดูเก็บเกี่ยวเริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. จนถึงเดือน เม.ย. นอกจากนี้ เมียนมาส่วนใหญ่เพาะปลูกข้าวเปลือก ข้าวโพด ฝ้ายและถั่วชนิดต่างๆ ซึ่งกำลังการผลิตที่ใหญ่เป็นอันดับสอง คือ ถั่วพัลส์และบีน มีสัดส่วน 33% ของผลผลิตทางการเกษตร และยังครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 20% ของทั่วประเทศ ตลอดจนในจำนวนผลผลิตดังกล่าว ถั่วดำ ถั่วลูกไก่และถั่วเขียว มีสัดส่วนรวมกัน 72% ของพื้นที่เพาะปลูกถั่วทั่วประเทศ บ่งชี้ให้เห็นว่าถั่วต่างๆ เป็นหนึ่งในสินค้าหลักของเมียนมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/small-supply-of-chickpeas-pushes-up-prices/#article-title

“กองกำลังว้า” ระงับการทำเหมือง เดือน ส.ค. ราคาดีบุกพุ่ง

กองทัพรวมแห่งรัฐว้า (UWSA) กองกำลังชนกลุ่มน้อยในเมียนมา ประกาศจะระงับการทำงานเหมืองในพื้นที่ภายใต้การควบคุมของกองกำลัง ตั้งแต่เดือน ส.ค. แร่บุกของเมียนมาส่วนใหญ่มาจากเหมืองในพื้นที่รัฐว้า และจากเหตุการณ์ในข้างต้นส่งผลให้ราคาดีบุกพุ่งสูงขึ้น 12% ในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตดีบุกรายใหญ่ที่สุดในโลก และราคาดีบุกดังกล่าวอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนหลังจากทราบข่าวระงับเหมือง โดยตลาดเมียนมามีสัดส่วน 77% ของการนำเข้าดีบุกของประเทศจีนในปี 2565 ทั้งนี้ รัฐว้าถือเป็นแหล่งผลิตดีบุกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมียนมาและผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศจีน การระงับการทำเหมืองในครั้งนี้จะทำให้ผลผลิตของเหมืองดีบุกอยู่ในสถานการณ์ที่เข้มงวดขึ้น อย่างไรก็ดี สถานการณ์ยังไม่ชัดเจนว่าจะระงับการทำเหมืองหรือไม่ เนื่องจากไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการแจ้งเตือนและหน่วยงานหลักของรัฐว้าไม่ได้รับการแจ้งเตือน

ที่มา : https://www.reuters.com/article/tin-myanmar/myanmars-wa-militia-to-suspend-mining-in-its-zone-from-aug-tin-prices-jump-idUSKBN2WE0KH

“เมียนมา” เผยปี 65-66 ส่งออกถั่วพุ่ง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าในช่วงปีงบประมาณ 2565-2566 เมียนมาส่งออกถั่วพัลส์ (Pulses) ไปยังต่างประเทศกว่า 1.9 ล้านตัน ทำรายได้ราว 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และหากพิจารณาช่องทางการค้าของสินค้าดังกล่าว พบว่าในปีที่แล้ว เมียนมาส่วนใหญ่ส่งออกถั่วพัลส์และถั่วชนิดอื่นๆ ผ่านทางทะเล ปริมาณมากกว่า 1,640,777.1 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านด่านพรมแดนทางบก ปริมาณ 1,919,156.1 ตัน มูลค่า 1.47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ อินเดียมีความต้องการและบริโภคถั่วดำและถั่วแระมากขึ้น โดยอินเดียนำเข้าถั่วดำจากเมียนมา 250,000 ตัน และถั่วแระ 100,000 ตัน เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ทั้งสองประเทศร่วมลงนาม MOU เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-bags-over-1-4-bln-from-pulses-exports-in-past-fy2022-2023/#article-title

“เมียนมา” เผยราคาข้าวโพดในประเทศ ขยับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ตามข้อมูลของหอการค้าและอุตสาหกรรมในเมืองย่างกุ้ง ณ วันที่ 6 เม.ย. เปิดเผยว่าราคาข้าวโพดปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 1,200 จั๊ตต่อ viss ผู้ค้าข้าวโพดรายหนึ่งกล่าวว่าความต้องการข้าวโพดที่แข็งแกร่งและราคาข้าวโพดที่สูงขึ้นในตลาดไทย โดยตลาดไทยเป็นผู้ซื้อหลักข้าวโพดจากเมียนมาและยังได้ผลักดันราคาให้สูงขึ้น ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เมียนมาส่งออกข้าวโพดไปจีนและไทยผ่านด่านพรมแดน ตลอดจนส่งออกข้าวโพดไปยังจีน อินเดีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ผ่านทางเรืออีกด้วย นอกจากนี้ ประเทศไทยอนุญาตให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้ภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ (แบบ Form-D) ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. – 31 ส.ค. อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้กำหนดอัตราภาษีสูงสุดที่ 73% สำหรับการนำเข้าข้าวโพด เพื่อปกป้องสิทธิของผู้เพาะปลูกในประเทศ หากมีการนำเข้าข้าวโพดในช่วงฤดูข้าวโพดของประเทศไทย

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/corn-price-moves-slightly-up-in-domestic-market/#article-title