สปป.ลาวจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ยังคงอยู่ในระดับสูง

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด -19 รายใหม่ที่บันทึกไว้ในลาวยังคงอยู่ในระดับสูงแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเสริมเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส เมื่อวันพุธที่ผ่านมามีการยืนยันผู้ป่วยรายใหม่ 46 รายทำให้ทั่วประเทศมีผู้ป่วยสะสมรวมเป็น 1,072 รายแต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ทั้งนี้รัฐบาลสปป.ลาวได้มีการประกาศกรขยายเวลา Lockdown ไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที 15 พฤษภาคม 64 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันโครงการฉีดวัคซีนกำลังเร่งดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่า 22 เปอร์เซ็นต์ของประชากรจะได้รับการฉีดวัคซีนภายในสิ้นปีนี้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Number86.php

ธนาคารหัตถาประจำประเทศกัมพูชาได้รับการอนุมัติให้ปล่อยกู้เพิ่มได้

ธนาคารหัตถาประจำประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนากรุงศรีแห่งประเทศไทย ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ให้ระดมทุนเพิ่มเติมอีก 25 ล้านดอลลาร์ ในการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าเพื่อช่วยเหลือการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาด โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารยืนยันว่าหัตถาได้รับการอนุมัติให้เพิ่มทุนในวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ถือเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจของกัมพูชา โดยสถานการณ์ในเดือนมีนาคมสมาชิกสมาคมไมโครไฟแนนซ์แห่งกัมพูชา (CMA) ได้ปรับโครงสร้างเงินกู้ให้กับลูกค้ามากกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์ สำหรับผู้กู้เกือบ 300,000 ราย นับตั้งแต่ NBC ออกคำสั่งครั้งแรกตามที่ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร CMA กล่าว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50851507/hattha-bank-receives-greenlight-to-raise-25-million-in-capital/

กัมพูชาพิจารณาให้โรงงานในเขตพื้นที่สีเหลืองกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง

โรงงานและสถานประกอบการอย่างน้อย 95 แห่ง ในเขตพื้นที่สีเหลืองเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตใหม่อีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลกัมพูชาได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเมืองพนมเปญและในเขตตาเขมาแบ่งออกเป็นสามโซน โดยโรงงานในเขตพื้นที่สีเหลืองเป็นโซนแรกที่ได้รับอนุญาตให้กลับมาดำเนินการได้ตามปกติอีกครั้งภายใต้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวด ซึ่งทางการกัมพูชากล่าวถึงการเริ่มห่วงโซ่การผลิตใหม่ในโรงงานและสถานประกอบการข้างต้นถือเป็นสัญญาณที่ดีในภาคการผลิตภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบัน แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะยังไม่สิ้นสุดลงก็ตาม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่าคนงานมากกว่าครึ่งหนึ่ง สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่ส่วนที่เหลือที่อยู่ในเขตพื้นที่สีส้มและสีแดงทางรัฐบาลยังคงจำเป็นต้องล็อกดาวน์และให้ทำงานจากทางบ้านอยู่จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะดีขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50851509/nearly-100-factories-reopen-in-yellow-zones-but-virus-remains/

ครม. ไฟเขียวยืดเวลาศึกษาการเข้าร่วม “CPTPP” อีก 50 วัน

ครม. ไฟเขียว กนศ. ขยายระยะเวลาศึกษา CPTPP อีก 50 วัน ก่อนกลับมาให้ ครม. พิจารณา ชี้หากเดินหน้าเจรจาจะกำหนดท่าทีและข้อสงวนในการเจรจาให้เป็นประโยชน์กับประชาชนคนไทยสูงที่สุด เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 64 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ขอขยายระยะเวลาในการศึกษาการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้า สำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP ได้ส่งข้อเสนอมายังรัฐบาลออกไปอีก 50 วันจากเดิมที่สิ้นสุดกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา ทั้งนี้การขยายระยะเวลาในการศึกษาเนื่องจากคณะทำงาน 8 คณะที่รัฐบาลได้จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับกรณีเข้าร่วม CPTPP ยังต้องการระยะเวลาในการศึกษารายละเอียดต่างๆให้ครอบคลุมรอบด้านในทุกประเด็นก่อนที่จะเสนอข้อมูลให้ ครม. และนายกรัฐมนตรีรับทราบ

ที่มา : https://www.posttoday.com/economy/news/652097

การ Lockdown ในสปป.ลาวจะขยายไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม

คณะทำงานแห่งชาติเพื่อการป้องกันและควบคุมโควิด -19 สปป.ลาว ประกาศที่จะดำเนินมาตรการขยายระยะเวลาในการ Lockdown ในเต่ละแขวงจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม หลังจากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 60 ราย(ข้อมูลวันที่ 4 พฤษภาคม 64 ) ยอดรวมสะสม 1,026 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ดร.คิเคโอ คำพิทูน รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “สถานการณ์การระบาดยังไม่ลดลงเละยังมีความกังวลในการเกิดกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ๆในแต่ละพื้นที่ ถึงอย่างไรรัฐบาลได้กำชับเจ้าหน้าที่ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและดำเนินมาตรการให้เหมาะสมทันท่วงที” รัฐบาลยังได้ระดมความช่วยเหลือจากภาคส่วนที่เป็นพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับการระบาดครั้งนี้ โดยสปป.ลาวได้รับความช่วยเหลือจากจีน เวียดนามและไทย ในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ วัสดุอุปกรณ์และเงินทุนสำหรับการตอสู้กับการระบาดในครั้งนี้ มูลค่ากว่า 12.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Lock_85.php

รับมือโรคระบาดดี เศรษฐกิจเติบโตสุดในอาเซียน ความสำเร็จของเวียดนามท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

ในขณะที่หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนประสบกับภาวะถดถอยกันทั่วหน้า อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคร้ายโควิด-19 และบางประเทศถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาทางการเมืองภายใน แต่เวียดนามกลับกลายเป็นประเทศที่โดดเด่นที่สุดในสถานการณ์โลกและภูมิภาคนี้เผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ รายงานเศรษฐกิจประจำปี 2021 ของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 28 เมษายน เปิดเผยว่า แม้ว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศจะอยู่ในภาวะติดลบ แต่เวียดนามกลับมีความเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 2.9% เมื่อปี 2020 และคาดการณ์ว่าในปีนี้เศรษฐกิจของเวียดนามจะเติบโตมากถึง 6.7 เปอร์เซ็นต์ จัดได้ว่าสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียน รองลงมาได้แก่สิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของทั้งคู่จะอยู่ที่ 6% เท่ากัน

ที่มา : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2083880?utm_source=PANORAMA_TOPIC

เวียดนามเผยราคาวัสดุก่อสร้างฟื้นตัว

ราคาวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก อิฐและทราบ กลับมาฟื้นตัวหลังได้รับผลกระทบของโควิด-19 ที่มีผลต่อกำไรของผู้รับเหมา ทางด้านคุณ Cao Van Hong ผู้รับเหมารายหนึ่งกล่าวกับหนังสือพิมพ์ Thanh Nien ว่าราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ รองศาสตราจารย์ Ngo Tri Long อดีตอธิการบดีของกระทวงการคลังและศูนย์วิจัยการตลาด กล่าวว่าราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นราว 20% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ ทรายก่อสร้าง เริ่มหายากในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งซัพพลายเออร์ที่สำคัญของประเทศ ผู้ซื้อมีความต้องการอย่างมากและจะจ่ายเงินมากกว่าราคาที่เสนอไว้ในตอนแรก ทั้งนี้ ประธานสมาคมผู้รับเหมาก่อสร้างเวียดนาม กล่าวว่าผู้รับเหมาหลายรายลงนามสัญญาแบบราคาคงที่ ทำให้ได้รับผลกระทบเมื่อต้นทุนสูงขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/construction-material-prices-recover/200947.vnp

ยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่โตเร็วที่สุด นับตั้งแต่ปี 60

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) ระบุในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ จำนวนยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่อยู่ที่ 44,200 ราย ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 27.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีจำนวนการจ้างงาน 340,300 คน เพิ่มขึ้น 17.5%, 41% และ 7.8% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเติบโตเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2560 และเติบโตไปยังทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คุณ Pham Dinh Thuy ผู้อำนวยการแผนกอุตสาหกรรม สำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่าปัจจุบัน จำเป็นต้องกระตุ้นการลงทุนของผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อตลาดโลกกลับมาเปิดอีกครั้งและใช้โอกาสจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและเวียดนาม นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สนับสนุน เพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/newly-established-firms-grow-at-fastest-pace-since-2017/200948.vnp

กัมพูชาส่งออกยางพารามูลค่าเกือบ 100 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรก

กัมพูชาส่งออกยางธรรมชาติราว 99.87 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนของปีนี้ ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรป่าไม้และประมง โดยรวมแล้วมีการส่งออกยางธรรมชาติ 61,056 ตันในช่วงสี่เดือน ซึ่งส่งผลทำให้รายรับจากการส่งออกยางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2020 ที่ทำได้ที่ 97.43 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของกระทรวง โดยรายงานล่าสุดของ MAFF ระบุว่าราคายางพาราภายในประเทศกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 1,584 ดอลลาร์ต่อตันในปี 2021 ต่ำกว่ารายงานแนวโน้มราคาตลาดของ WTO ณ เดือนเมษายน อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งรายงานได้รายงานว่าราคายางในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจาก 1.73 ดอลลาร์ / กก. ในปี 2020 เป็น 2.25 ดอลลาร์ / กก. ในปี 2021 โดยในปี 2019 กัมพูชาส่งออกยางพารารวมทั้งสิ้นจำนวน 242 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่งออกไปยังเวียดนามกว่าร้อยละ 67.5 ตามข้อมูลของ Observatory of Economic Complexity (OEC)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50850637/rubber-exports-approach-100-million-january-april/

Q1 กัมพูชาส่งออกเสื้อผ้ามูลค่ารวม 2.4 พันล้านดอลลาร์

การส่งออกผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าของกัมพูชาหดตัวในไตรมาสแรก เป็นผลมาจากโรงงานหลายร้อยแห่งยังคงหยุดดำเนินการเป็นการชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเขตพื้นที่จังหวัดพนมเปญและจังหวัดกันดาล โดยการส่งออกเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าด้านการเดินทางของกัมพูชามีมูลค่าการส่งออกรวม 2.4 พันล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปี 2021 ซึ่งลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามตัวเลขของกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน โดยรัฐบาลคาดว่าห่วงโซ่การผลิตจะกลับมาเป็นปกติเมื่อสถานการณ์ โควิด-19 ดีขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันจำเป็นต้องปฏิบัติตามแนวทางมาตรการด้านสุขภาพของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50850644/q1-garment-exports-valued-at-2-4-billion/