‘นายกฯ เวียดนาม’ สั่งจัดงบประมาณปี 68 มุ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

นายฟาม มินห์ จิญ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ลงนามคำสั่งว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และจัดทำงบประมาณปี 2568 โดยตั้งข้อสังเกตไว้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปีหน้านั้น ได้มีการร่างขึ้นมาแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ที่รวดเร็วและคาดการณ์ไม่ได้ ในขณะที่ในปี 2568 ถือเป็นปีที่สำคัญของเวียดนาม เนื่องจากตรงกันกับช่วงการประชุมสมัชชาของพรรคทุกระดับ ก่อนที่จะไปสู่การประชุมสมัชชาพรรคแห่งชาติครั้งที่ 14

ทั้งนี้ ตามแผนการทำงานดังกล่าว ทางนายกฯ เรียกร้องให้กระทรวง หน่วยงานกลางและท้องถิ่น ระบุประเด็นหลักของแผนพัฒนาปี 2568 และตรวจสอบให้แน่ใจว่าสามารถบรรลุเป้าหมายได้และแนวทางการแก้ไข รวมถึงชี้แจงรายละเอียดของเนื้อหา ระยะเวลาและความคืบหน้า ในขณะเดียวกัน การจัดทำแผนงบประมาณปี 2568 ต้องมีรายละเอียดของการใช้จ่ายงบประมาณและการจัดเก็บงบประมาณ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/pm-orders-building-socio-economic-development-plans-budget-estimates-for-2025-post287427.vnp

‘เวียดนาม’ พึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศมากเกินไป จำเป็นที่ต้องพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม

จากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน มีสัดส่วนราว 90% ของการส่งออกรวม และมีสัดส่วน 25.8% ของจำนวนงานทั้งหมดในประเทศ ในขณะที่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของการลงทุนทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนสภาพจากการลงทุนของรัฐไปเป็นของการลงทุนที่มิใช้รัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปยังภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป ทั้งนี้ ธุรกิจข้ามชาติหรือธุรกิจ FDI เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากธุรกิจในประเทศประสบปัญหากับการยกระดับขีดความสามารถทางด้านการผลิตและการบริหาร รวมถึงการขาดเทคโนโลยีขั้นสูงและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1656090/vn-too-heavily-dependent-on-fdi-must-improve-industrial-ecosystem.html

‘อีคอมเมิร์ซ’ ดันโอกาสสินค้าเวียดนามสู่ตลาดโลก

จากการประชุมอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัล จัดขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และ Amazon Global Selling Vietnam เมื่อวันที่ 22 พ.ย. พบว่าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีมูลค่า 7.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 และผลักดันรายได้ให้กับองค์กรและโซลูชั่นทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่รายได้จากอีคอมเมิร์ซค้าปลีก เติบโตเฉลี่ย 20% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเวียดนามอยู่ใน 10 ประเทศชั้นนำที่มีอัตราการเติบโตทางด้านอีคอมเมิร์ซ

ทั้งนี้ สำนักงานอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม เร่งดำเนินมาตรการในการพัฒนาตลาดอีคอมเมิร์ซและสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาอีคอมเมิร์ซระดับชาติ ปี 2564-2568

นอกจากนี้ สำนักงานยังร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าประจำจังหวัดต่างๆ เพื่อที่จะส่งเสริมการเชื่อมโยงอีคอมเมิร์ซระดับภูมิภาคและท้องถิ่น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/e-commerce-helps-vietnamese-goods-go-global-conference-post287404.vnp

‘เวียดนาม’ นำเข้าโทรศัพท์และชิ้นส่วน ไตรมาส 1/67 เกินกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่ายอดการนำเข้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนในไตรมาสแรกของปีนี้ มีมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเป็นสินค้านำเข้าสำคัญ อันดับที่ 5 ของสินค้านำเข้าของเวียดนาม โดยแหล่งนำเข้ารายใหญ่ของเวียดนาม ได้แก่ จีน เกาหลีใต้และฮ่องกง

ทั้งนี้ เวียดนามนำเข้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนจากประเทศจีนมากที่สุด คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าเกินกว่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 25% เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาเกาหลีใต้และฮ่องกง ในขณะเดียวกัน เวียดนามส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วน อยู่ที่ 18.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีก่อน และนับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ อันดับที่ 2 ของสินค้าส่งออกเวียดนาม

นอกจากนี้ บริษัทวิจัยการตลาดชั้นนำระดับโลก “Statista” รายงานว่าตลาดสมาร์ทโฟนเวียดนาม จะมีมูลค่าอยู่ที่ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีอัตราการเติบโต 1.45% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2567-2571

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1656013/vn-imports-over-us-3-billion-in-mobile-phones-and-components-in-q1.html

‘เวียดนาม’ คาดตลาดสมาร์ทโฟน แตะ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ

กรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยข้อมูลตัวเลขการค้าเบื้องต้น พบว่ายอดการนำเข้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนในเดือน เม.ย. อยู่ที่ 789.72 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่งผลให้การนำเข้าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่ามากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ตลาดนำเข้าหลักของสินค้าโทรศัพท์และชิ้นส่วนของเวียดนาม ได้แก่ จีน เกาหลีใต้และฮ่องกง ในขณะที่การส่งออกโทรศัพท์และชิ้นส่วนของเวียดนามในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 18.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งโทรศัพท์และชิ้นส่วนเป็นสินค้าส่งออกหลักอันดับ 2 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม รองจากคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เสริม

อีกทั้ง เวียดนามกลายมาเป็นผู้ส่งออกสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากจีน ตั้งแต่ปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 12% ของส่วนแบ่งตลาดโลก และจากตัวเลขการคาดการณ์ของ Statista ได้คาดการณ์ว่าตลาดสมาร์ทโฟนของเวียดนาม จะมูลค่าสูงถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 1.45% ตั้งแต่ปี 2567-2571

ที่มา : https://en.vneconomy.vn/trade-turnover-from-phones-and-components-increases-in-4m.htm

‘รัฐบาลเวียดนาม’ เร่งดำเนินแก้ปัญหาฉ้อโกงซื้อขายออนไลน์

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม มีมูลค่าสูงถึง 20.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่รายงานค้าปลีกออนไลน์ในปี 2566 และแนวโน้มในปี 2567 พบว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ทำรายได้จากธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) สูงถึงราว 500 ล้านล้านด่อง หรือประมาณ 19.64 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 และคาดว่ามูลค่าจะสูงถึงราว 650 ล้านล้านด่องในปีนี้

อย่างไรก็ดี ผู้ไม่ประสงค์ดีจำนวนมากใช้ประโยชน์จากความไว้วางใจของผู้บริโภคและใช้ช่องโหว่ทางนโยบายการขายสินค้าคุณภาพต่ำ โดยปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าของแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ด้วยเหตุนี้ ทางหน่วยงานของภาครัฐฯ จึงมักได้รับรายงานว่ามีสินค้าลอกเลียนแบบบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องมีทรัพยากร โดยเฉพาะเครื่องมือ วิธีการและบทลงโทษที่เหมาะสม

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/e-commerce-frauds-require-utmost-in-attention-from-regulators-2282406.html

‘อุตสาหกรรมเหล็กเวียดนาม’ คว้าอันดับ 12 ด้านการผลิตเหล็กกล้าดิบของโลก

สมาคมเหล็กเวียดนาม (VSA) ได้ประกาศความสำเร็จของเวียดนามที่คว้าอันดับ 12 ด้านการผลิตเหล็กกล้าดิบของโลก ผลของความสำเร็จในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมเหล็กเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการผลิตและความหลากหลายของสินค้า

ทั้งนี้ คุณ Nghiêm Xuân Da ประธานสมาคมเหล็กเวียดนาม กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2558 อุตสาหกรรมกลายมาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในอาเซียน ทั้งด้านการผลิตและการบริโภคเหล็กสำเร็จรูป และต่อมาในปี 2566 กำลังการผลิตเหล็กกล้าดิบของเวียดนาม อยู่ที่ 20 ล้านตัน ส่งผลให้เวียดนามก้าวมาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเหล็กชั้นนำของโลก

นอกจากนี้ ภาคกลางของประเทศเป็นที่ตั้งของศูนย์อุตสาหกรรมสำคัญหลายแห่ง รวมถึงศูนย์กลางผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ภายใต้ชื่อว่า ‘หวาฟัตสุงกว๊าต’ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเหล็กปิดขนาดใหญ่และมีความทันสมัยในระดับภูมิภาค

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655840/vn-s-steel-industry-ranks-12th-in-world-crude-steel-production.html

‘สถาบันวิจัย’ คาดเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้ ขยายตัว 6%

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจและนโยบายของเวียดนาม (VEPR) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2567 จะขยายตัว 5.6% – 6% โดยได้ปัจจัยหนุนมาจากการส่งออก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงอ่อนแอ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ จะเห็นได้ว่าทิศทางของเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวในไตรมาสแรก บ่งชี้ให้เห็นสัญญาณเชิงบวก อย่างไรก็ดียังมีความไม่แน่นอนอยู่ นอกจากนี้ เวียดนามยังได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศและการผลิตของภาคอุตสาหกรรม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1655818/vepr-forecasts-vietnamese-economy-growth-at-below-6-per-cent.html

‘ข้าวเวียดนาม’ ราคาพุ่ง แต่กลับขายดี

กรมศุลกากรเวียดนาม (GDC) รายงานว่าการส่งออกข้าวของเวียดนาม มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านตันในเดือน เม.ย. ปี 2566 คิดเป็นมูลค่ากว่า 620 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่ายอดการส่งออกข้าวของเวียดนามสูงถึง 3.17 ล้านตัน มูลค่า 2.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.5% และ 33.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ โดยราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 644 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 22% ถึงแม้ว่าราคาข้าวจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ฟิลิปินส์ที่เป็นตลาดนำเข้าข้าวเวียดนามรายใหญ่กลับซื้อข้าวปริมาณมาก

นอกจากนี้ นาย Phung Van Thanh ที่ปรึกษาการค้าเวียดนามในฟิลิปปินส์ กล่าวว่าเวียดนามมีศักยภาพและโอกาสที่จะส่งออกไปยังตลาดแห่งนี้ และแนะนำว่าผู้ส่งออกข้าวเวียดนามควรร่วมมือกับผู้นำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพข้าวที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ได้ ตั้งแต่ผู้ที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงผู้ที่มีรายได้สูง

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/prices-stay-high-but-vietnam-s-rice-selling-well-2281252.html

‘เวียดนาม’ ดาวรุ่งในอินโดแปซิฟิก

สำนักงานพัฒนาการส่งออกแคนาดา (EDC) เผยแพร่บทความเรื่อง ‘การทำธุรกิจในเวียดนาม: จับตาดาวรุ่งในอินโดแปซิฟิก’ รายงานว่าเวียดนามกลายมาเป็นดินแดนแห่งมังกร รวมถึงกลายมาเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าในอุดมคติ ในขณะที่จากข้อมูลของการประชุม World Economic Forum (WEF) เปิดเผยว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 8% ต่อปีแบบทบต้นในปีที่แล้ว และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม ขยายตัว 5% โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีนี้และปีหน้า จะขยายตัว 6% และ 7% ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้ จากตัวเลขเศรษฐกิจจึงทำให้สำนักงานฯ เลือกเวียดนามเป็นตัวแทนดาวรุ่งในเอเชียแปซิฟิก

นอกจากนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่าถึงแม้ค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มขึ้น แต่ค่าแรงของเวียดนามยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่ากลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก อีกทั้งการเติบโตของคนชนชั้นกลางเวียดนาม แซงหน้าประเทศในภูมิภาค ถึงแม้ว่าขนาดของเศรษฐกิจเวียดนามจะมีขนาดเล็กกว่าประเทศเพื่อนบ้านบางแห่ง แต่ประชากรเวียดนามมีจำนวนเกือบ 100 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่ากลุ่มประชากรครึ่งหนึ่งมีอายุต่ำกว่า 30 ปี

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-rising-star-in-indo-pacific-canadian-agency-post286074.vnp