‘เมียนมา’ ส่งออกสินค้าเกษตร ไตรมาสแรกปี 66 โกย 862 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าเมียนมาส่งออกสินค้าเกษตรในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566-2567 อยู่ที่ 862.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขดังกล่าวปรับตัวลดลงจากไตรมาสแรกของปีที่แล้วที่มีมูลค่า 1,091.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา ได้แก่ ผลผลิตทางการเกษร สัตว์และอาหารทะเล แร่ธาตุ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้และสินค้าอุตสาหกรรม นอกจากนี้ จากข้อมูลของสหพันธ์ข้าวแห่งเมียนมาร์ (MRF) ระบุว่าเมียนมาส่งออกข้าวและปลายข้าวมากกว่า 2.26 ล้านตันในปีงบประมาณ 2565-2566

ที่มา : https://borneobulletin.com.bn/myanmar-earns-over-usd862m-from-agricultural-exports-in-q1/

เกาหลีใต้มอบทุนสนับสนุน 4.25 ล้านดอลลาร์ ยกระดับท่าเรือลุ่มแม่น้ำโขง สปป.ลาว

สาธารณรัฐเกาหลีได้บริจาคเงินทุนกว่า 4.25 ล้านดอลลาร์ ให้กับโครงการพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลท่าเรือแม่น้ำโขง (Port-MIS) 5 แห่ง ในประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การดำเนินงานของท่าเรือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังรวมถึงโครงการพัฒนาแผนแม่บทสำหรับการเสริมสร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อีกทั้งยังพัฒนาระบบแอปพลิเคชั่นในการดำเนินการท่าเรือร่วมด้วย ซึ่งการร่วมมือดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศของเกาหลี (KOICA) และกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว​ ในการจะจัดหาอุปกรณ์ ICT เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ICT ของท่าเรือทั้ง 5 แห่ง โครงการห้าปีจะดำเนินการจนถึงปี 2570

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_131_SKorea_y23.php

FSA อนุมัติหลักการประกาศร่างการลงทุนกองทุนรวมในกัมพูชา

Council of Non-Bank Financial Services Authority (FSA) หน่วยงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (MEF) ได้อนุมัติในหลักการร่างประกาศเพื่ออนุญาตให้นักลงทุนสามารถซื้อขายกองทุนรวมภายในตลอดหลักทรัพย์กัมพูชาได้ ซึ่งร่างประกาศดังกล่าวได้รับการอนุมัติเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (5 ก.ค.) โดยมี Aun Pornmoniroth รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวง MEF เป็นประธาน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ FSA รวมทั้ง Sou Socheat ผู้อำนวยการทั่วไปของ Securities and Exchange Regulator (SERC) ของประเทศกัมพูชา ซึ่งร่างดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนสำหรับการออกหน่วยลงทุน รวมถึงการดำเนินการของผู้บริหารกองทุนรวม เพื่อเป็นการรับรองกรอบความรับผิดชอบและความโปร่งใส ตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หลักการกฎหมายและข้อบังคับ อีกทั้ง FSA ยังอนุมัติคำขอของบริษัทต่างชาติอย่าง บริษัท Binance KH Co. Ltd. สำหรับการวางแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลใน FinTech Regulatory Sandbox ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำร่อง แต่ถึงอย่างไร FSA จำเป็นต้องเตรียมการและออกประกาศอื่นเพิ่มเติม เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติที่จำเป็นสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501321301/fsa-approves-draft-scheme-proclamation/

กระทรวงฯ พร้อมหนุน SMEs เพื่อความยั่งยืน

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในกัมพูชา ถือมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (MISTI) จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมให้ SMEs ด้วยหลักการของความยั่งยืนให้เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ ผ่านกลยุทธ์ IBeeC ซึ่งได้หารือกันในระหว่างการประชุม Sustainable Business Forum ที่จัดโดย Oxfam and Young Entrepreneurs Association of Cambodia (YEAC) เพื่อเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ร่วมกับภาคองค์กรพัฒนาเอกชนจะสามารถช่วยให้ SME/MSMEs ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความยั่งยืนในอนาคต ในขณะเดียวกัน Credit Guarantee Corporation of Cambodia (CGCC) พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการโดยในช่วงที่ผ่านมาองค์กรได้ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการไปแล้วมูลค่ากว่า 113.6 ล้านดอลลาร์ ในไตรมาสแรกของปีนี้ กระจายไปยังภาคธุรกิจต่างๆ เกือบ 1,300 แห่ง ทั่วประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501321304/ministry-urges-smes-to-embrace-sustainability-inclusiveness/

พาณิชย์หนุนโมเดล “คาเฟ่อเมซอน” ปักหมุด สปป.ลาว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้นำคณะเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ระหว่างวันที่ 7-8 ก.ค. 2566 และได้พบหารือกับผู้บริหารบริษัท ปตท. และ Cafe Amazon สาขาเมืองหลวงพระบาง เพื่อหารือเรื่องโอกาสการขยายการค้า และการลงทุนใน สปป.ลาว พร้อมเยี่ยมชมกิจกรรมฟาร์มควายนมแห่งแรกของหลวงพระบาง เพิ่มทางเลือกทางโภชนาการสำหรับผู้แพ้นมวัว โดยพบว่า สปป.ลาว เป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนร้านคาเฟ่ แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 7.5 ล้านคน แต่เป็นแหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่อเสียงของโลก

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว ในช่วง 5 เดือนแรก 111,816.37 ล้านบาท ไทยส่งออก 67,564.83 ล้านบาท นำเข้า 44,251.54 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 23,313.29 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่าการค้า 112,940.02 ล้านบาท ไทยส่งออก 64,289.16 ล้านบาท นำเข้า 48,650.86 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 15,638.3 ล้านบาท

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1343466

‘เวียดนาม’ ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทระดับโลก

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้าประเทศ มีมูลค่า 13.43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพื่อให้เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาตินั้น ทางหน่วยงานได้เสนอให้รัฐบาลแก้ไขหรือปรับปรุงอย่างมีประสิทธิภาพของการลงทุนจากต่างประเทศ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทั้งนี้ ธนาคารโลก (WB) ได้ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เวียดนามประสบความสำคัญในแง่ของการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน ความมั่งคงทางการเมืองและศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เติบโตอยู่ในระดับสูง อีกทั้ง บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก อาทิเช่น ซัมซุง (Samsung), แอลจี (LG) และ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) มีแผนที่จะย้ายสายการผลิตแห่งใหม่ในเวียดนาม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-remains-leading-destination-of-fdi-businesses-post1031393.vov

‘เศรษฐกิจเวียดนาม’ แนวโน้มกลับมาฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ประจำประเทศไทยและเวียดนาม กล่าวว่าแนวโน้มเศรษฐกิจระยะกลางของเวียดนามมีทิศทางที่สดใส สาเหตุสำคัญมาจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยว การเปิดกว้างทางเศรษฐกิจและความมีเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 7% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ คาดว่าจะลดลงเหลือ 2.8% ต่ำกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.3% อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการค้ายังคงซบเซา ซึ่งเป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของประเทศ ถึงแม้ว่าเวียดนามจะเกินดุลการค้ามากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่ว่าภาพรวมของภาคการส่งออกกลับลดลงในปี 2565

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-economy-set-to-rebound-in-h2-report/

‘เมียนมา’ เผยไตรมาสแรก ปี 66 ส่งออกถั่วพัลส์ เกิน 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 ทำรายได้จากการส่งออกถั่วพัลส์ (Pulse) ประมาณ 333.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปริมาณ 424,187.70 ตัน ในช่วงปีงบประมาณ 2566-2567 โดยส่วนใหญ่ส่งออกผ่านทางทะเล 284.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านทางชายแดน  48.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมียนมาได้ส่งออกถั่วเขียวผิวดำ ถั่วเขียวและถั่วแระ ไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอินเดีย จีนและยุโรป อีกทั้ง ตลาดอินเดียมีความต้องการถั่วเขียวผิวดำเพื่อการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น และจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเมียนมา-อินเดีย เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2564 ส่งผลให้อินเดียนำเข้าถั่วเขียวผิวดำและถั่วแระจากเมียนมา 250,000 ตัน และ 100,000 ตัน เป็นระยะเวลา 5 ปี ติดต่อกัน และยังไม่ส่งผลกระทบต่อโควต้าประจำปีของอินเดียที่กำหนดไว้

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmars-export-earnings-in-pulses-surpass-over-us330-mln-in-q1/#article-title

2024 สปป.ลาว ตั้งเป้ารับนักท่องเที่ยว 4.6 ล้านคน

รัฐบาล สปป.ลาว หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างน้อย 4.6 ล้านคน ภายในช่วงปี 2024 ผ่านแคมเปญ Visit​ Laos Year​ 2024 โดยคาดว่าจะสร้างรายได้เข้าประเทศประมาณกว่า 712 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดการณ์ว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ข้อมูลข้างต้นกล่าวโดย Suanesavanh Vignaket​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป.ลาว ซึ่งคาดว่าเทศกาลธาตุหลวงในเวียงจันทน์ การเฉลิมฉลองปีใหม่ สปป.ลาว และการเฉลิมฉลองในแขวงหลวงพระบางเพื่อเฉลิมฉลองวันออกพรรษา จะเป็นช่วงที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ออกมาเที่ยวมากที่สุด เช่นเดียวกับเทศกาลอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่กล่าว ด้านกระทรวงฯ กำลังเร่ง​ส่ง​แผนการกระตุ้นการท่องเที่ยว​ให้กับ​รัฐบาล ในการ​อนุมัติเพื่อทำการจัดแคมเปญต่อไป โดยในปี 2018 ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สปป.ลาว ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวมากถึง 4.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับปี 2017

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laostargeting130.php

ท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐในกัมพูชา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 98%

ณ วันที่ 30 มิ.ย. Sin Chanserivutha เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศและโฆษกสำนักงานเลขาธิการการบินพลเรือนกัมพูชา ระบุว่า การก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐ อังกอร์ ซึ่งมีกำหนดเปิดใช้ในเดือน ต.ค. นี้ แล้วเสร็จแล้วร้อยละ 98 โดยสนามบินแห่งใหม่นี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Siem Reap Angkor International Airport” และมีชื่อรหัสว่า VDSA (รหัส ICAO) และ SAI (รหัส IATA) ซึ่งถือเป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งขนาดใหญ่ของกัมพูชาที่ใช้เม็ดเงินลงทุนประมาณกว่า 880 ล้านดอลลาร์ ในปี 2019 และเพิ่มขึ้นเป็น 1,100 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 โครงการสนามบินดังกล่าวตั้งอยู่ในชุมชน Tayek เขต Sot Nikum ห่างจากเมืองเสียมราฐประมาณ 51 กม. และห่างจากนครวัด 40 กม.

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501320870/siem-reap-new-international-airport-construction-98-complete/