จีนผุดโรงงานรถอีวีในอีอีซี กลุ่ม GAC AION พร้อมทุ่มลงทุนบะละฮึ่ม

คณะผู้บริหาร GAC AION นำโดยนายเสี่ยว หยง (Mr.Xiao Yong) รองประธาน GAC AION ได้นำเสนอภาพรวมสถานการณ์การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศจีน ที่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งการแนะนำถึงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของ GAC AION ที่ปัจจุบันมียอดขายเติบโตเป็น 1 ใน 3 อันดับของผู้ผลิต EV ในจีนและภาพรวมการลงทุนอื่นๆ ด้านนวัตกรรมอัจฉริยะ ระบบ Ai ระบบ Automation การพัฒนาด้านพลังงานสะอาดอย่างครบวงจร โดยเลขาธิการอีอีซีได้รับมอบหนังสือจากคณะ GAC AION ที่สนใจจะขยายฐานการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์อีวี มูลค่าการลงทุนขั้นต่ำ 6,400 ล้านบาท และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง อาทิ การลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในพื้นที่อีอีซี เป็นต้น ที่กำลังพิจารณาพื้นที่ก่อสร้างโรงงานรวมกว่า 1,000 ไร่ โดยอีอีซีและ GAC AION จะประสานความร่วมมือเพื่อขยายโอกาสการเข้าลงทุนของอุตสาหกรรมอีวีอย่างครบวงจร โดยเฉพาะการเตรียมการด้านสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ การพัฒนาทักษะบุคลากรรองรับเพื่อต่อยอดให้พื้นที่อีอีซีก้าวสู่ศูนย์กลางการผลิตอีวีแห่งภูมิภาคต่อไป ด้านนายจุฬา เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า การที่ GAC AION ตัดสินใจลงทุนในไทย อีอีซีจะช่วยส่งเสริมพื้นที่การลงทุน การสร้างงานพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน รวมถึงกฎระเบียบที่จะช่วยสนับสนุนด้านการลงทุน ไทยเป็นตลาดรถยนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแนวโน้มในการเจริญเติบโตดีที่สุดและรัฐบาลไทยได้ออกนโยบายสนับสนุนการผลิตและการขายรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/investment/2674061

“เวียดนาม” ชี้เดือน มี.ค. ส่งออกพุ่ง 13.5%

จากข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าการส่งออกในเดือนมีนาคม มีมูลค่าอยู่ที่ 29.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.5% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะเดียวกัน มูลค่าการการนำเข้าอยู่ที่ 28.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.4% จากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกรวมในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 79.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 11.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่าที่ 75.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 14.7% ส่งผลให้ในไตรมาสแรก เวียดนามเกินดุลการค้า 4.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-export-revenue-up-135-in-march-customs-data-post123884.html

“ADB” คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนาม ปี 66 โต 6.5%

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2566 ปรับชะลอตัวเล็กน้อย 6.5% ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้น 6.8% ในปีหน้า และคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 4.5% ในปีนี้ ทั้งนี้ นาย แอนดรูว์ เจฟฟรีส์ (Andrew Jeffries) ผู้อำนวยการ ADB ประจำเวียดนาม กล่าวว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะถูกจำกัดในปีนี้ เนื่องจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ความเข็มงวดทางการเงินและผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ทั่วโลก อย่างไรก็ดาม ยังได้มีการเน้นย้ำถึงการลงทุนของภาครัฐฯ ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศและการเติบโตในปีหน้า ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงทำการเบิกจ่ายงบประมาณกว่า 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ โดยเงินงบประมาณกว่า 90% ถูกจัดสรรไปยังกระทรวงและจังหวัดต่างๆ ในเดือนมกราคม 2566

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/adb-anticipates-economic-growth-of-65-for-vietnam-this-year-post1011747.vov

“เมียนมา” เผยราคาข้าวในประเทศขยับขึ้น

จากข้อมูลของศูนย์ค้าส่งข้าววาดัน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 เปิดเผยว่าราคาข้าวหอมปอว์ ซาน (Paw San) อยู่ที่ประมาณ 72,000 – 90,000 จั๊ตต่อกระสอบ ขึ้นอยู่กับพื้นที่การผลิต ได้แก่ Shwebo, Myaungmya, Dedaye, Pyapon และ Pathein เป็นต้น และจากข้อมูลเมื่อวันที่ 3 เมษายน พบว่าราคาข้าวหอมปอว์ ซาน ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นราว 75,000 – 93,000 จั๊ตต่อกระสอบ รวมถึงราคาข้าวพันธุ์ต่างๆ ขยับเพิ่มสูงขึ้น 1,000 – 3,000 จั๊ตต่อกระสอบภายในระยะเวลาเพียง 3 วันเท่านั้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/rice-price-move-upwards-in-domestic-market/#article-title

ธนาคารโลกปรับแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาค หลังจีนเปิดประเทศ

ธนาคารโลก (WB) คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก รวมถึง สปป.ลาว คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในปี 2023 เนื่องจากการเปิดประเทศของจีนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ แต่ถึงอย่างไรก็ตามต้องคอยติดตามสถานการณ์ต่างๆ อาทิเช่น การชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจโลก, ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น และสภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน ซึ่งธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่าประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะขยายตัวขึ้นร้อยละ 5.1 ในปี 2023 จากการขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ในปี 2022 ขณะที่ สปป.ลาว คาดว่าจะฟื้นตัวในเชิงบวกหลังจากทางการได้เปิดพรมแดนใหม่อีกครั้ง รวมถึงได้มีการเปิดเส้นทางเดินรถไฟระหว่างประเทศสาย สปป.ลาว-จีน ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทั้งทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten66_World_y23.php

2022 เกาหลีใต้กลายเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 14 ของกัมพูชา

ในปี 2022 เกาหลีใต้กลายเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 14 ของกัมพูชา เนื่องจากปริมาณการค้าทวิภาคีอยู่ที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 780 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 โดยกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีมูลค่ารวม 234 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาจากเกาหลีลดลงเล็กน้อยร้อยละ 6 หรือคิดเป็นมูลค่า 545 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับสินค้าส่งออกไปยังเกาหลีผ่านข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลี (CKFTA), หุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP), ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (ASEAN-Korea FTA) และระบบสิทธิพิเศษทั่วไปภายใต้กรอบ WTO โดยผลิตภัณฑ์หลักของกัมพูชาที่ส่งออกไปยังเกาหลี ได้แก่ รองเท้า เสื้อผ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และอะลูมิเนียม ในขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ยานพาหนะ เครื่องดื่ม หนังเฟอร์ เครื่องหนัง เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า และผ้าถัก เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501267568/korea-becomes-cambodias-14th-largest-trading-partner-in-2022/

OECD คาด GDP กัมพูชาโต 5.4% ในปีนี้

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์เศรษฐกิจของกัมพูชาจะเติบโตร้อยละ 5.4 ในปี 2023 หลังจากที่ขยายตัวประมาณร้อยละ 5.1 เมื่อปีที่แล้ว ภายใต้การฟื้นตัวของภาคการผลิต และภาคการท่องเที่ยวที่จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตในปีนี้ อีกทั้งทางการจีนได้ยกเลิกมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้าน Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวเสริมว่า ความก้าวหน้าของการพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในโซนเอเชีย ได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นต่อความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก สะท้อนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ แม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทาย เช่น อัตราเงินเฟ้อสูงและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501267156/oecd-sees-cambodia-gdp-growth-at-5-4/

FTA อาเซียน-จีน ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพ ACFTA 10-12 เม.ย.นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานตามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) สมัยพิเศษ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 10-12 เมษายนนี้ กรุงเทพฯ โดยจะเป็นการประชุมแบบพบกันครั้งแรก หลังจากประชุมผ่านระบบออนไลน์ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเร่งปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2548 ให้ทันสถานการณ์และรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตั้งเป้าหาข้อสรุปและเจรจาให้เสร็จภายในปี 2567 การประชุมครั้งนี้ จะประกอบด้วยการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าเพื่อกำกับดูแลภาพรวมการเจรจา และการประชุมคณะทำงาน 5 คณะ ได้แก่ การค้าสินค้า การลงทุน เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจดิจิทัล และการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ไทยในฐานะผู้ประสานงานฝ่ายอาเซียนและเป็นตัวแทนของอาเซียน จะทำหน้าที่เป็นประธานร่วมการประชุมกับฝ่ายจีน โดยจะผลักดันให้การเจรจาคืบหน้ามากที่สุด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการหาข้อสรุปให้ได้ภายในปี 2567 ตามที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งการปรับปรุง FTA อาเซียน-จีน จะช่วยขยายการค้าระหว่างสมาชิก และเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/561013

กระทรวงฯ ชี้เวียดนามเผชิญกับความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปี 2566

กระทรวงการวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าเวียดนามเผชิญกับความท้าทายหลายประการในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ 6.5% ในปีนี้ หลังจากเศรษฐกิจในไตรมาสแรกส่งสัญญาชะลอตัว 3.32% ลดลงจาก 5.92% ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ตลอดจนการส่งออกหดตัว 11.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอ ทั้งนี้ สถานการณ์โลกยังไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก

ที่มา : https://www.channelnewsasia.com/business/vietnam-faces-challenge-meeting-2023-growth-target-planning-ministry-3393391

ดัชนี PMI ภาคการผลิตของเวียดนามเดือน มี.ค. กลับมาลดลง

ผลการสำรวจของ S&P Global รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของเวียดนาม ลดลงสู่ระดับ 47.7 ในเดือนมีนาคม จากระดับ 51.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนียังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ส่งสัญญาแนวโน้มปรับตัวลดลง ทั้งนี้ คำสั่งซื้อใหม่ลดลงเป็นครั้งที่ 4 ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ค่อนข้างอ่อนแอ ขณะที่ธุรกิจใหม่จากตลาดต่างประเทศลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่าท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงในไตรมาสแรก ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นเริ่มชะลอตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมในปีที่แล้ว

อย่างไรก็ดี ดัชนีที่กลับมาลดลงในเดือนมีนาคม หวังว่าจะเป็นเพียงปัญหาชั่วคราว เนื่องจากบริษัทต่างๆ ยังมีความมั่นใจแรงอุปสงค์และสภาวะตลาดที่มีเสถียรภาพในปีหน้า

ที่มา : https://english.news.cn/20230403/d5edf52a2f1140bc86fa87b826e3073b/c.html