ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจกัมพูชายังคงขยายตัว แม้หลายประเทศในภูมิภาคมีแนวโน้มหดตัว

ธนาคารโลก (World Bank: WB) ระบุว่าประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษ และมีความผันผวนน้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่หลังจากวิกฤตการเงินในเอเชียช่วงปี 1997-1998 ภูมิภาคนี้เริ่มมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ค่อนข้างจำกัด ส่งผลทำให้การเปลี่ยนแปลงเชิงผลิตภาพขยายตัวเพียงเล็กน้อย แม้จะเปิดกว้างสำหรับภาคการค้าและการลงทุนในภาคการผลิต ผลที่ตามมาคือ การเติบโตของผลิตภาพในเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหลายแห่งปรับตัวลดลงตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008-2009 ถึงอย่างไรภาคอุตสาหกรรมของทั้งกัมพูชาและเวียดนามกลับมีการเติบโตที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดย WB คาดการณ์ GDP ของกัมพูชาในปี 2023 ไว้ที่ร้อยละ 5.2

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501265854/cambodia-is-regional-exception-to-falling-trend-in-manufacturing/

กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน 5 โครงการ

รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน 5 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวม 520 เมกะวัตต์ หวังช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้กับกริดไฟฟ้าของประเทศ และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากข้อมูลของ Phay Siphan รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า 1 ใน 5 โครงการ เป็นการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Stung Russey Chrum Kandal ขนาดกำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ Stung Veay Thmar Kambot ขนาดกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ ในจังหวัดเกาะกง ขณะที่อีก 4 โครงการ เป็นโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยโครงการขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 150 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดโพธิสัตว์ โครงการถัดมา 2 โครงการ มีขนาดกำลังการผลิตที่ 60 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดกำปงชนังและในจังหวัดสวายเรียง และโครงการสุดท้ายมีขนาดกำลังการผลิตอยู่ที่ 80 เมกะวัตต์ ในจังหวัดไพรแวง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501265922/five-renewable-energy-investment-projects-with-installed-power-generating-capacity-of-520-mw-approved/

เช็คลิสต์สินค้าไทยโอกาสทองส่งออกไปCLMV

หลังจากการสถานการณ์การค้าชายแดนและผ่านแดนเริ่มคลี่คลายหลังจากสถานการณ์โควิดมีทิศทางที่ดีขึ้นและประเทศเพื่อนบ้านเริ่มเปิดด่านและมีกิจกรรมจากเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลให้การค้าชายแดนและผ่านแดนในปีที่ผ่านมากลับคึกคัก โดยการค้าชายแดนและผ่านแดนของปี 2565 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,790,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.44% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามแม้ว่าการค้าชายแดนและผ่านแดนในเดือนมกราคาละลดลงแต่สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็น  น้ำยางข้น เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ ของรถยนต์ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป  รถยนต์นั่ง (เครื่องสันดาปภายใน) รถปิคอัพ รถบัส และรถบรรทุก (เครื่องสันดาปภายใน) เครื่องดื่มอื่นๆ (นม UHT น้ำมะพร้าว กาแฟ) และโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟนยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดเพื่อนบ้าน แสดงให้เห็นว่าโอกาสของสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องทั้งปี  ซึ่งปัจจัยสนับสนุนการส่งออกยังคงเป็นค่าเงินบาท ซึ่งช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น   บวกกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสินค้าจำเป็นทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งสินค้าไทยยังคงได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการในตลาดเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศ CLMV และการฟื้นตัวในภาคการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า/เศรษฐกิจโลก

ที่มา : https://www.thansettakij.com/business/economy/560221

“เวียดนาม” เผยไตรมาสแรกปี 66 เม็ดเงินทุนต่างชาติไหลเข้าลดลง 39%

จากรายงานของสำนักงานส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศของเวียดนาม (FIA) ระบุว่าในไตรมาสแรกของปี 2566 เวียดนามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ มีมูลค่าราว 5.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และจากตัวเลขการลงทุนข้างต้น มีเงินทุนกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไหลเข้าไปยังโครงการใหม่ จำนวน 522 โครงการ ตามมาด้วยเงินทุนกว่า 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไหลเข้าไปยังโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 228 โครงการ

ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมสำคัญของเวียดนาม พบว่าอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปมีสัดส่วนการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 73% รองลงมาอสังหาริมทรัพย์ 14.1% ในขณะที่ประเทศที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามมากที่สุด คือ สิงคโปร์มีมูลค่าการลงทุน 1.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 31% ของการลงทุนจากต่างประเทศ รองลงมาจีนและไต้หวัน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1502972/viet-nam-s-foreign-investment-plunges-39-per-cent-in-q1.html

“เวียดนาม” เผย CPI ไตรมาสแรกปี 66 พุ่ง 4.3%

กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และสาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนี CPI ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาจากราคาที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น 7.2% และราคาอาหาร เพิ่มขึ้น 4.5% โดยราคาที่อยู่อาศัยและวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากค่าเช่าและต้นทุนปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ได้แก่ ปูนซีเมนต์ เหล็กและทราย เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้นและยังทำให้ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 1% นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้ประเมินสถานการณ์ของภาวะเงินเฟ้อไว้ 3 สถานการณ์ (Scenarios) ในช่วงไตรมาสที่ 2 และในช่วงที่เหลือของปี 2566 ตลอดจนคาดการณ์ว่าดัชนี CPI เฉลี่ยในปีนี้ เพิ่มขึ้น 3.9% – 4.8%

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-cpi-inches-up-in-q1-2125534.html

“เมียนมา” ชี้ราคาข้าวในประเทศกลับมาฟื้นตัว

ศูนย์ค้าข้าววาดัน (Wahdan) เปิดเผยว่าราคาข้าวที่บริโภคในประเทศส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มสูงข้นอย่างมาก และจากข้อมูล ณ วันที่ 17 มี.ค. 2566 ราคาข้าวหอม ปอว์ ซาน (Paw San) อยู่ที่ 70,000 – 85,000 วอนต่อกระสอบ อย่างไรก็ตามราคาข้าวขึ้นอยู่กับพื้นที่เพาะปลูกของแต่ละเมือง อาทิเช่น Shwebo, Myaungmya, Dedaye, Pyapon และ Pathein เป็นต้น และเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ราคาข้าวหอม ปอว์ ซาน ขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 72,000 – 90,000 วอนต่อกระสอบ และราคาข้าวพันธุ์อื่นๆ เพิ่มขึ้น 500 – 4,500 วอนต่อกระสอบภายในช่วง 2 สัปดาห์ ในขณะเดียวกัน การสต็อกข้าวเก่ามีปริมาณลดลง ทำให้ราคาข้าวเปลือกและข้าวสารสูงขึ้น

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/rice-prices-rebound-in-domestic-markets/#article-title

รัฐบาล สปป.ลาว ประกาศลงนาม MOU จัดตั้ง Asia-Potash International

รัฐบาล สปป.ลาว และ SINO-KCL ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในโครงการ “Asia-Potash International Intelligent Circular Industrial Park” ในเขตท่าแขกและหนองบกของแขวงคำม่วน โดยรัฐบาลและ บริษัท SINO-AGRI International Potash Co., Ltd. (SINO-KCL) ได้ลงนาม MOU ในเวียงจันทน์ ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการ ซึ่งโครงการวางแผนพัฒนาพื้นที่ 3 สวน ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมปุ๋ยโพแทช, สวนอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่โพแทช และเอเชีย-โพแทชทาวน์ โดยโครงการนี้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,000 เฮกตาร์ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 4.31 พันล้านดอลลาร์ ด้วยข้อได้เปรียบจากการสนับสนุนของรัฐบาล สปป.ลาว รวมถึงทรัพยากรภายในประเทศที่มีอยู่ ซึ่งเอื้อต่อการผลิตแร่โพแทช โดยบริษัท วางแผนผลิตปุ๋ยในสวนอุตสาหกรรมให้ได้ 3 ล้านตัน ภายในปี 2023 และขึ้นไปแตะ 5 ล้านตัน ภายในปี 2025 ขณะที่ Asia-Potash Town ถูกสร้างขึ้นให้เป็นเมืองคอมเพล็กซ์ที่ทันสมัยและใช้งานได้หลากหลาย เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการดูแลสุขภาพ การศึกษา การพาณิชย์ กีฬา และบริการด้านต่างๆ ซึ่งหลังจากโครงการ Asia-Potash Industrial Park เริ่มดำเนินการ คาดว่า สปป.ลาว จะมีรายได้ประมาณ 320 ล้านดอลลาร์ต่อปี สร้างการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่น 30,000-50,000 คน

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten61_National_y23.php

NBC กำหนดนโยบายทางการเงิน หวังลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ในระบบ

ภาคธนาคารถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกัมพูชา จากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 โดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ได้ดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายและรอบคอบเพื่อตอบสนองความต้องการของระบบเศรษฐกิจ ซึ่ง NBC ยังได้พยายามเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่าน เพื่อที่จะลดระดับความสำคัญของสกุลเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมการใช้สกุลเงินเรียล (KHR) ที่เป็นสกุลเงินท้องถิ่น หลังจากการทบทวนเสถียรภาพทางการเงินปี 2021 ของ NBC ซึ่งปัจจุบันระบบเศรษฐกิจของกัมพูชามีการใช้เงินดอลลาร์มากกว่าร้อยละ 80 จนส่งผลทำให้เกิดข้อจำกัดต่อบทบาทของ NBC ในการควบคุมปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ ขณะที่ปัจจุบัน NBC ได้กำหนดกฎระเบียบที่มุ่งส่งเสริมทางด้านสินเชื่อโดยอ้างอิงสกุลเงินเรียล เพื่อผลักดันการใช้สกุลเงินท้องถิ่น ด้วยการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศปล่อยสินเชื่อด้วยสกุลเงินเรียลอย่างน้อยร้อยละ 10 ของการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501263299/riel-based-deposits-and-lending-help-nbcs-de-dollarisation-efforts-2/

การส่งออกของกัมพูชาในช่วงเดือน ก.พ. ขยายตัวร้อยละ 1

แม้การส่งออกของสินค้ากลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะหดตัว แต่มูลค่าการส่งออกโดยภาพรวมกลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2023 เทียบกับการลดลงร้อยละ 23.6 ในช่วงเดือนมกราคม ตามรายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง โดยการส่งออกเครื่องแต่งกายลดลงร้อยละ 4.5 ในช่วงเดือน ก.พ. จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดหลักที่ลดลง อาทิเช่น ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 14.7, สหราชอาณาจักรลดลงร้อยละ 10.8, ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 3.5 และส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนลดลงร้อยละ 5.2 ขณะที่การส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังจีนกลับขยายตัวกว่าร้อยละ 16.4 และส่งออกไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.7 ในช่วงเวลาเดียวกัน การส่งออกของสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มขยายตัวร้อยละ 8.6 ในช่วงเดือนดังกล่าว เทียบกับการลดลงร้อยละ 24.7 ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งสินค้าที่ขยายตัวโดดเด่นทางด้านการส่งออก ได้แก่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า, จักรยาน, ไม้, ข้าว, มันสำปะหลัง, กล้วย, มะม่วง และสินค้าเกษตรอื่นๆ ขณะที่การนำเข้าของกัมพูชาปรับตัวลดลงร้อยละ 14.7 ในช่วงเดือน ก.พ.

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501263373/cambodian-exports-value-up-1-in-february/

นักการทูตนานาชาติชื่นชม “ทางรถไฟจีน-ลาว” เอื้อประโยชน์แก่อาเซียน

สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเทศบาลนครฉงชิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ว่ารายงานระบุว่า บรรดาคณะผู้แทนทางการทูตต่างชาติประจำประเทศจีนล้วนมีความประทับใจ กับความสำเร็จหลากหลายด้านของเทศบาลนครฉงชิ่ง ทั้งในด้านการผลิต การคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และอีกมากมาย อนึ่ง เทศบาลนครฉงชิ่งได้รับการขนานนามเป็น “เมืองภูเขา” เนื่องจากถือเป็นประตูสู่ทิศตะวันตกของการเดินรถไฟจีน-ยุโรป และยังเป็นประตูสู่ทิศใต้ ซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเมืองแห่งนี้ได้เชื่อมโยงตนเองเข้ากับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ผ่าน “ทางรถไฟจีน-ลาว” ซึ่งก่อสร้างเสร็จสิ้น และเปิดใช้งานตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2564

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/2146323/