“เวียดนาม” เผยหนี้อสังหาฯ แตะ 1,200 ล้านล้านดอง

กระทรวงการก่อสร้าง เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 พบว่ายอดสินเชื่อคงค้างของภาคอสังหาริมทรัพย์ มีมูลค่าสูงถึง 1,200 ล้านล้านดอง และภาระหนี้ดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากธนาคาร ประมาณ 800 ล้านล้านดอง และพันธบัตรอสังหาริมทรัพย์ 419 ล้านล้านดอง ทั้งนี้ ในปี 2565 เพียงปีเดียว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้กู้เงิน 180.7 ล้านล้านดอง เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับโครงการที่อยู่อาศียและการพัฒนาเมือง โดยเงินกว่า 144.1 ล้านล้านดอง หรือคิดเป็น 18.16% ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ถูกใช้ไปกับการก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่เงินอีก 85.2 ล้านล้านดองถูกใช้ไปซื้อที่ดิน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/real-estate-sector-s-debt-hits-vnd1-200-trillion-2105830.html

S&P Global ชี้ “ภาคการผลิตเวียดนาม” เพิ่มขึ้น 6.6%

ตามข้อมูลจาก S&P Global Market Intelligence ระบุว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเวียดนาม เพิ่มขึ้น 6.6% ในปี 2566 อย่างไรก็ตามภาคอุตสาหกรรมยังคงเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายด้านในปีนี้ อาทิเช่น ยอดคำสั่งซื้อใหม่และการผลิตที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเวียดนาม อยู่ที่ระดับ 47.4 จุดในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นจาก 46.4 จุด ในเดือนธันวาคม แสดงให้เห็นถึงภาวะที่ถดถอยอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ นาย Andrew Harker ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของ S&P Global Market Intelligence กล่าวว่าถึงแม้สภาวะอุปสงค์สำหรับบริษัทผู้ผลิตในเวียดนามจะยังคงเผชิญกับความท้าทายในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งนำไปสู่การลดลงของผลผลิต คำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน แต่ก็มีสัญญาณเชิงบวกจากผลการสำรวจดัชนี PMI และหนึ่งในปัจจัยบวกสำคัญในเดือนมกราคม คือ ยอดคำสั่งส่งออกใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://en.baophuyen.vn/1/52010/vietnam%E2%80%99s-industrial-production-to-rise-6-6-in-2023–s-p-global.html

ญี่ปุ่นรับเปิดรับแรงงานเมียนมา กว่า 1,000 คน

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำกรุงโตเกียว เผย บริษัทญี่ปุ่น 312 แห่งจะเริ่มเปิดรับสมัครแรงงานเมียนมาจำนวน 1,043 คน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 17 ถึง 31 มกราคม 2566 สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาได้ทำการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการจัดตั้งบริษัทและโรงงานของญี่ปุ่น หลังจากนั้นจึงส่งเอกสารที่รับรองแล้วไปยังกระทรวงแรงงานของเมียนมาเพื่อดำเนินการออกจดหมายอนุญาตให้กับบริษัทจำนวน 312 แห่งในการวางแผนรับสมัครแรงงานต่อไป

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/japanese-companies-to-recruit-over-1000-myanmar-workers/#article-title

สถานีรถไฟคำสะหวาด สปป.ลาว พร้อมเปิดให้บริการ

โครงการก่อสร้างสถานีรถไฟคำสะหวาด ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟ สปป.ลาว-ไทย ในเวียงจันทน์ ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการแล้ว โดยมีกำหนดจะเปิดให้ใช้บริการในอีกไม่ช้า ซึ่งสถานีตั้งอยู่ในหมู่บ้านคำสะหวาด ห่างจากสถานีท่านาแล้ง 7.5 กิโลเมตร เชื่อมต่อกับจังหวัดหนองคายของประเทศไทย รายงานโดย Athipu Chitranukroh รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง และรองอธิบดีกรมศุลกากร Kitjaluck Srinuchsart ในระหว่างการเยี่ยมชมสถานี เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้าง ซึ่งหลังจากการพูดคุยทางการ สปป.ลาว ได้พิจารณาที่จะเปิดสถานีในระหว่างการประชุมสุดยอดยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ 10 ที่ สปป.ลาว เป็นเจ้าภาพ โดยความการดังกล่าวถือเป็นส่วนขยายที่ได้รับทุนสนับสนุนจากประเทศไทย ผ่านสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 994.7 ล้านบาท (ประมาณ 235.6 พันล้านกีบ) ในจำนวนนี้ร้อยละ 30 อยู่ในรูปของเงินให้เปล่า และร้อยละ 70 เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten23_Khamsavath_y23.php

สมาคมส่งเสริมพริกไทยกัมปอต รายงานการส่งออกพริกไทยลดลงร้อยละ 30.7 ในปี 2022

พริกไทยกัมปอต หนึ่งในผลิตภัณฑ์ของกัมพูชาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของสหภาพยุโรป ลดลงเกือบหนึ่งในสามในปี 2022 รายงานโดย Nguon Lay ประธานสมาคมส่งเสริมพริกไทยกัมปอต (KPPA) ซึ่งกล่าวเสริมว่ากัมพูชาส่งออกพริกไทยเพียง 79 ตันในปีที่แล้ว ลดลงร้อยละ 30.7 จากปริมาณ 114 ตันในปีก่อนหน้า โดยกว่าร้อยละ 85 ของการส่งออกพริกไทยถูกส่งไปยังยุโรป และอีกร้อยละ 15 ถูกส่งออกไปยังประเทศต่างๆ อาทิเช่น สหรัฐฯ แคนาดา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันพริกไทยกัมปอตมี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สีดำ สีแดง และสีขาว โดยมีราคาอยู่ที่ 15 ดอลลาร์, 25 ดอลลาร์ และ 28 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ตามลำดับ แต่ถึงอย่างไรกัมพูชาและจีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกพริกไทยไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการปูทางสำหรับการส่งออกพริกไทยกัมพูชาไปยังจีนในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501231393/kampot-pepper-promotion-association-says-cambodias-pepper-exports-declined-by-30-7-percent-in-2022/

กัมพูชาตั้งเป้าส่งออกข้าวสารแตะ 1 ล้านตัน ภายในปี 2025

สมาพันธ์ข้าวกัมพูชาตั้งเป้าส่งออกข้าวสารอย่างน้อย 1 ล้านตัน ภายในปี 2025 ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับตัวเลขการส่งออกในปี 2022 โดยภายในปี 2023 กัมพูชาตั้งเป้าที่จะส่งออกข้าวสารให้ได้ 750,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับการส่งออกในปี 2022 ที่ 637,004 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 414 ล้านดอลลาร์ รายงานโดย Chan Sokkheang ประธานสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) นอกจากนี้ CRF ยังร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ผ่านโครงการ Green Trade เพื่อเข้าถึงตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ และขยายศักยภาพทางการตลาดด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในโซนตะวันออกกลางและสหภาพยุโรป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501230991/cambodia-eyes-exporting-1-million-tons-milled-rice-by-2025/

เจรจา FTA ไทย-อียู จุรินทร์ทิ้งทวนก่อนเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารเข้าหารือกับนายวัลดิส โดมโบรฟสกิส (H.E. Mr. Valdis Dombrovskis) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า หรือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของสหภาพยุโรป ที่กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เพื่อหารือประเด็นเปิดเจรจา FTA ไทย-อียู หากนับย้อนกลับไปการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ไม่ได้ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะไทยได้เริ่มเจรจากับ EU มาแล้ว 4 รอบ นับตั้งแต่ปี 2557 ตามข้อมูลกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุว่า สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากอาเซียน จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าประมาณ 7% ของการค้ากับโลก และไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 22,794 ล้านเหรียญสหรัฐ (843,378 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.17% ซึ่งจากการที่ไทยปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบให้มีความทันสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ส่งผลให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1191554

EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ปี’66 ขยายตัวแกร่ง แต่ต่ำกว่าศักยภาพก่อน COVID-19

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2566 ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในช่วงก่อนการระบาด COVID-19 โดยมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ โดยประเมินว่าในปีนี้กัมพูชาจะขยายตัวได้ 5.5% สปป.ลาวและเมียนมา 3.0% และเวียดนาม 6.2% อีกทั้ง เศรษฐกิจ CLMV ในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศมีปัจจัยบวกจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากการจ้างงานในเวียดนามในไตรมาส 4 ปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เกิดการระบาด COVID-19 ขณะเดียวกัน ภาคบริการจะได้อานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีความสำคัญต่อ CLMV คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-35% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562 โดยจีนอนุมัติให้กรุ๊ปทัวร์สามารถเดินทางมากัมพูชา และสปป.ลาวได้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ และคาดว่าจะเพิ่มรายชื่อประเทศที่สามารถเดินทางมาได้เร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้กัมพูชาและเวียดนามจะได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวมากที่สุด เนื่องจากพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงอยู่ที่ 18.2% และ 9.8% ต่อ GDP ตามลำดับ

ที่มา : https://thaipublica.org/2023/02/eic-expects-stronger-clmv-economic-growth-in-2023/

“เวียดนาม” พัฒนาเกษตรสีเขียว รับการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มมากขึ้น

เวียดนามให้ความสนใจที่จะพัฒนาเกษตรสีเขียว โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังสหภาพยุโรป และจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่ารายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมงในปีที่แล้ว ทำสถิติมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 53.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ตลาดยุโรปมีสัดส่วนเพียง 11.3% ของส่วนแบ่งตลาดทั้งหมด ซึ่งตัวเลขข้างต้นนับว่าเป็นมูลค่าเล็กน้อย ถึงแม้ว่าภาคการเกษตรของเวียดนามมีข้อได้เปรียบหลายประการจากข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ดังนั้น เวียดนามควรส่งเสริมการส่งออกภาคการเกษตรที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-develops-green-agriculture-to-increase-exports-to-eu-post999144.vov

“เวียดนาม” เผย ม.ค. ต่างชาติลงทุน FDI หดตัวลง 20%

ตามข้อมูลของหน่วยงานควบคุมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FIA) กระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่ายอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเดือนมกราคม อยู่ที่ 1.69 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 80.2% ของยอดเงินทุนรวมจากต่างประเทศในเดือนมกราคม 2565 ทั้งนี้ จากข้อมูลในเดือนที่แล้ว พบว่าจำนวน 153 โครงการเป็นโครงการที่ได้ใบรับรองการจดทะเบียนการลงทุน พร้อมกับเงินทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยการลงทุนจากต่างประเทศส่วนใหญ่จะลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป รองลงมาภาคการค้าปลีกค้าส่ง และภาคการขนส่งและการก่อสร้าง ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามมากที่สุด ด้วยมูลค่าการลงทุน 814 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 48.3% ของเงินทุนรวมจากต่างประเทศ รองลงมาจีน เกาหลีใต้และไต้หวัน

ที่มา : https://vietreader.com/business/74014-january-fdi-down-20-per-cent-on-year.html