กัมพูชาคาดปีนี้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว 1.3 ล้านคน

คาดภาคการท่องเที่ยวกัมพูชาจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย โดยในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดกัมพูชาได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 6.6 ล้านคน ซึ่งในปีนี้กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชามีความคาดหวังเป็นอย่างมากที่จะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวให้ถึง 1.3 ล้านคน ตามข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยว โดยในปัจจุบันกัมพูชาได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไปแล้ว 500,000 คน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี ซึ่งรัฐบาลกัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากในการส่งเสริมการฟื้นฟูของภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ ด้วยการเพิ่มสิ่งจูงใจต่างๆ ให้กับนักท่องเที่ยว โดยล่าสุดรัฐบาลได้เปิดตัวโครงการ “Tourism Recovery Co-Financing Scheme” สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภาคการท่องเที่ยวให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูธุรกิจวงเงินสูงสุด 400,000 ดอลลาร์ ด้วยวงเงินสินเชื่อรวม 150 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501133269/cambodia-expects-to-receive-1-3-million-tourists-this-year/

“อีอีซี” ทุ่มงบ 1.8 ล้านล้าน หนุนอุตสาหกรรมยุคใหม่

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือนายคณิศ แสงสุพรรณ ออกมาเปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 4 ประจำปี 2565 ในวันจันทร์ที่ 15 ส.ค.2565 ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้มีการรับทราบ ความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของอีอีซี ในช่วง 4 ปีแรก (2561–2565) โดยเกิดความสำเร็จและการเกิดการเติบโตที่ดีครบทุกมิติ ผลประโยชน์ตรงถึงประชาชน แบ่งได้ดังนี้ 1.เกิดการอนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาท ใน 5 ปีที่เป็นแผนแรกของอีอีซี 2.สามารถดึงเทคโนโลยีใหม่ผ่านการลงทุน โดยใน 4 ปีที่ผ่านมา การอนุมัติการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 S-curve มีสัดส่วน 70% ของการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และ 5 New S-Curve มีสัดส่วนการลงทุน 36% และเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ 3.สร้างระบบการพัฒนาบุคลากรตามความต้องการของตลาด (Demand Driven) แก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่ทำงานกับนวัตกรรมใหม่ อบรมไปได้แล้ว 16,114 คน สิ้นปี 66 จะดำเนินการได้ 100,000 คน และ 4.ผลประโยชน์ตกถึงประชาชน และมีระบบดูแลอย่างยั่งยืน

ที่มา : https://www.tnnthailand.com/news/wealth/122232/

หอการค้าเชียงรายวอนรัฐพื้นฟูค้าชายแดน-ท่องเที่ยว

นางสาวผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย และประธานหอการค้าแม่สาย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอำเภอแม่สาย เป็นอำเภอชายแดนเดียวของจังหวัดเชียงราย ที่ยังไม่ได้เปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 1 โดยจุดผ่านแดนถาวรสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 แม้จะเปิดให้ขนส่งสินค้า แต่บุคคลข้ามไม่ได้ ซึ่งการขนส่งสินค้ายังต้องไปแล้วกลับภายในวันเดียว โดยปกติจังหวัดเชียงรายมูลการค้าการค้าชายแดน ทั้ง 3 ด่านชายแดนคือ อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงของ และอำเภอเชียงแสน  ปีละประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้มูลค่าการค้าส่งออกสินค้าหายไปกว่าร้อยละ 80 เนื่องจากด่านชายแดนของจีนปิด ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ที่มา : https://www.nationtv.tv/news/region/378883182

“เวียดนาม” เสือตัวใหม่แห่งเอเชีย

กลุ่มเมย์แบงก์ (Malayan Banking Berhad: Maybank) ธนาคารอันดับหนึ่งของประเทศมาเลเซีย เปิดเผยว่าเวียดนามก้าวขึ้นเป็นดาวรุ่งในห่วงโซ่อุปทานโลกและมีศักยภาพที่จะเป็นเสือตัวใหม่แห่งเอเชีย ต่อจากเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวันและฮ่องกง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไปยังเวียดนามและการส่งออกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงมากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรศัพท์ที่แซงหน้ากลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จนกลายมาเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดในแง่ของยอดการส่งออกรวม แสดงให้เห็นว่าเวียดนามได้ยกระดับตำแหน่งในห่วงโซ่มูลค่าโลกและผลิตภาพแรงงานของเวียดนามยังเติบโตได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกด้วย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-able-to-become-new-tiger-in-asia-economist/235680.vnp

ARDB ลงนามในสัญญาเงินกู้วงเงิน 30 ล้านดอลลาร์ ส่งเสริมภาคการเกษตรกัมพูชา

ธนาคารเพื่อการเกษตรและการพัฒนาชนบท (ARDB) ของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของกัมพูชา ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้มูลค่า 30 ล้านดอลลาร์ ให้กับธนาคาร 3 แห่ง และสถาบันการเงินขนาดเล็ก เพื่อช่วยในการสนับสนุนภาคเกษตรกรรมภายในประเทศ โดยสัญญาเงินกู้อยู่ภายใต้โครงการสร้างความหลากหลายทางการเกษตรของกัมพูชา (CASDP) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากธนาคารโลก มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการเงินและสนับสนุนห่วงโซ่การผลิต กระจายไปยังเขตพื้นที่เป้าหมาย 13 แห่ง ได้แก่ พนมเปญ, พระตะบอง, มณฑลคีรี, สตึงแตรง, รัตนคีรี, ปราสาทพระวิหาร, กัมปงจาม, ทบงคำ, กระแจะ, เสียมราฐ, กันดาล, กำปงสปือ และ กำปงชนัง ซึ่งธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่ต้องการในภาคการเกษตรที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ยกเว้นภาคที่เกี่ยวกับข้าวที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของกัมพูชาอยู่แล้ว โดยการส่งออกสินค้าเกษตร (ไม่รวมข้าว) ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมมีปริมาณรวม 3.23 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.13 ล้านตัน จากปีก่อนหน้า ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 1.4 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501132346/ardb-inks-30m-loan-pact-to-promote-agri-sector/

กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไปยังเวียดนามลดลง 37%

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ดิบไปยังเวียดนามปริมาณรวม 670,000 ตัน มูลค่า 1 ล้านดอลลาร์ ลดลงเป็นอย่างมากกว่าร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของสมาคมเม็ดมะม่วงหิมพานต์แห่งกัมพูชา (CAC) โดย Uon Siloth ประธาน CAC กล่าวว่า ปริมาณการส่งออกที่ลดลงเป็นผลเนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้าย ซึ่งส่งผลทำให้ผลผลิตลดลง ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของเวียดนามได้อย่างเต็มที่ โดยปัจจุบันราคาของเม็ดมะม่วงหิมพานต์ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันราคาจะอยู่ในช่วงระหว่าง 550-720 เรียลต่อกิโลกรัม ในขณะที่การเพาะปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์ในปี 2021 มีพื้นที่ราว 800,000 เฮกตาร์ ทั่วประเทศ แต่ด้วยสาเหตุข้างต้นทำให้เหลือพื้นที่เพาะปลูกเพียง 70,000 เฮกตาร์ โดยกระทรวงพาณิชย์และสถาบันที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งเตรียมร่างนโยบายระดับชาติว่าด้วยเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ประจำปี 2022-2027 เพื่อผลักดันให้เป็นสินค้าเกษตรสำคัญของกัมพูชา ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพของกัมพูชาทั้งการ จัดเก็บ แปรรูป บรรจุ ตลาด จัดจำหน่ายและส่งออก ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเม็ดมะม่วงหิมพานต์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501132348/cashew-exports-to-vietnam-decline-37/

“กิจการเวียดนาม” มีส่วนร่วมจำกัดในห่วงโซ่อุปทานโลก

คุณ Pham Tuấn Anh รองผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าในปัจจุบัน เวียดนามมีบริษัทผลิตและแปรรูป จำนวน 5,000 รายที่จัดหาชิ้นส่วน อะไหล่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องกล โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 70% เป็นผู้ผลิตอุตสาหกรรมในประเทศ, 8% เป็นผู้ส่งออก และ 17% ทำทั้งสองอย่าง ในขณะที่ผู้ประกอบการเพียง 30% เท่านั้นที่มีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานโลกและห่วงโซ่คุณค่า

ทั้งนี้ คุณ Đỗ Thị Thúy Hương รองประธานสมาคมอุตสาหกรรมสนับสนุนและเกี่ยวเนื่อง กล่าวว่าความเฉพาะของอุตสาหกรรมนั้น ต้องการแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของผู้ประกบอการเวียดนาม นอกจากนี้ ความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจในเวียดนามยังมีอยู่อย่างจำกัดและอ่อนแอ เพราะกิจการไม่ได้ตระหนักถึงประโยชน์จากการเชื่อมโยงของธุรกิจท้องถิ่นหรือกิจการในประเทศและต่างประเทศ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1298262/vietnamese-enterprises-limited-in-global-supply-chain.html

ชาวเมียนมา โวย ! ปั้มน้ำมันหลายแห่งจำกัดการขายน้ำมันในประเทศ

คณะกรรมการกลางของเมียนมา เปิดเผยว่า ประชาชนสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนเรื่องที่มีสถานีบริการน้ำมันหลายๆ แห่ง มีการจำกัดโควต้าในการขายน้ำมันเชื่อเพลิงซึ่งส่งผลให้ประชาชนมีความเดือดร้อนและกังวลเป็นอย่างมาก โดยเรื่องนี้ทางรัฐบาลเมียนมาได้ออกมาชี้แจงแล้วว่าในเดือนนี้ (เดือนส.ค.2565) ปริมาณน้ำมันเชื่อเพลิงเพียงพอต่อการบริโภคอย่างแน่นอน ทั้งยังร่วมงานกับสมาคมการค้าปิโตรเลียมแห่งเมียนมาในการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อไม่ให้ขาดแคลนและลดความกังวลของประชาชนในประเทศ ปัจจุบัน (วันที่ 16 ส.ค.2565) ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นทุกชนิด โดยราคาน้ำมันออกเทน 92 พุ่งจาก 2,365 จัตต่อลิตร, ราคาน้ำมันออกเทน 95 อยู่ที่ 2,445 จัตรต่อลิต, ราคาดีเซลพรีเมียมอยู่ที่ 2,780 จัตรต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 2,700 จัตรต่อลิตร

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-ships-249-mln-worth-of-over-733000-mt-of-rice-in-past-4-months/

กสิกรไทยบุกเวียดนาม เล็งปล่อยสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท มีลูกค้า 1.2 ล้านราย ในปีหน้า

ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าต่อสู่เป้าหมายธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3 ทุ่มงบกว่า 2,700 ล้านบาท เพื่อเสริมแกร่งเครือข่ายบริการในภูมิภาค พร้อมประกาศความมุ่งมั่นรุกตลาดเวียดนามเต็มตัว เอาใจลูกค้าทุกเซกเมนต์ด้วยบริการดิจิทัล ตั้งเป้าในปี 2566 กวาดยอดสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท และลูกค้าบุคคล 1.2 ล้านราย

ทั้งนี้ นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เวียดนามมีแนวโน้มเติบโตรวดเร็วที่สุดในอาเซียน เนื่องจากศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลก ที่ผ่านมาแทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด19 มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่ำกว่า 60% ของ GDP และยังมีแนวโน้มเติบโตในระยะข้างหน้า คาดว่าภายในปี 2573 เวียดนามจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงและเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2588

ที่มา : https://pineapplenewsagency.com/th/c30880

“ธนาคารโลก” ชี้เวียดนามต้องการแรงงานมีทักษะ ขับเคลื่อนศก.รายได้ปานกลาง-สูง ปี 2578

ตามรายงานของธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยว่าเวียดนามต้องการแรงงานที่มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ในขณะที่ปัจจุบันเศรษฐกิจขับเคลื่อนจากแรงงานที่มีทักษะต่ำและค่าแรงงานที่ต่ำทั้งด้านการผลิตและบริการ ไปสู่นวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งสร้างขึ้นมาจากอุตสาหกรรมและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม แรงงานของเวียดนามจะต้องได้รับทักษะในระดับที่สูงขึ้นและมีทักษะที่หลากหลาย โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของรัฐบาลเวียดนาม ปี 2564-2573 มีเป้าหมายที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล รวมถึงส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนหลักทางด้านผลผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต อย่างไรก็ดีเวียดนามจำเป็นต้องปฏิรูประบบการศึกษาและเพิ่มทักษะที่จำเป็นแก่ประชาชน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-business-news-august-9-2047767.html