“ตลาดสปป.ลาว” เนื้อหอมนักลงทุนเวียดนาม

คุณ Le Thi Phuong Hoa ที่ปรึกษาการค้าเวียดนามในประเทศสปป.ลาว กล่าวว่าตลาดสปป.ลาว ยังเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ของนักลงทุนชาวเวียดนามจำนวนมาก เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นประเทศเพื่อนบ้านและสปป.ลาวได้การรับรองจากประเทศผู้ส่งออก นอกจากนี้ สินค้าเวียดนามที่ส่งออกไปยังสปป.ลาว ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในอัตราศูนย์และอยู่ในความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) รวมถึงข้อตกลงการค้าทวิภาคีของทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้ จากข้อมูลทางสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า พบว่าในปีที่แล้ว เวียดนามส่งออกไปยังตลาดสปป.ลาว มีมูลค่า 594.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะที่การนำเข้าจากสปป.ลาวเพิ่มขึ้น 69.8% อยู่ที่ 778.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี เวียดนามได้ลงทุนในสปป.ลาว อยู่ที่ราว 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 417 โครงการ ทำให้เวียดนามขึ้นมาเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ และสปป.ลาวให้ความสำคัญกับนักลงทุนชาวเวียดนามในหลายด้านด้วยกัน อาทิ การเกษตรปลอดพิษ การผลิตและแปรรูป เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1269814/laos-market-favoured-by-many-vietnamese-investors-trade-counsellor.html

“เมืองก่าเมา” มั่นใจบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติเมืองก่าเมา (Ca Mau) แสดงให้เห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 4.23% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ ขยายตัว 6.41%, 0.61% และ 7.03% ตามลำดับ ในขณเะที่การส่งออกขยายตัว 53% คิดเป็นมูลค่า 728 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ คุณ Huynh Quoc Viet ประธานคณะกรรมการประชาชนของจังหวัด กล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมเพื่อจะบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภายในปีนี้และการศึกษาแผนการดำเนินงาน รวมถึงตั้งเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ อยู่ที่ 7% นอกจากนี้ ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตและการค้า ตลอดจนส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดที่เวียดนามลงนามข้อตกลงการค้าเสรีไว้

อย่างไรก็ดี ได้มีการขอความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนของจังหวัด วางตำแหน่งอันดับของดัชนีการบริหารงานภาครัฐ (PAPI) และดัชนีการปฏิรูประเบียบราชการ (PAR-index)

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1269649/ca-mau-confident-of-achieving-economic-growth-targets.html

จีนรุกลงทุนสปป.ลาว 16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

คำเจน วงโพสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของ สปป.ลาว กล่าวว่าจีนยังคงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในสปป.ลาว ด้วยเม็ดเงินทุนสะสมประมาณ 16.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวม 833 โครงการ โดยการลงทุนของจีนดังกล่าวมีความหลากหลายสาขาธุรกิจและส่วนใหญ่เงินทุนเข้าไปยังธุรกิจขนาดย่อม ขนาดกลางและขนาดใหญ่, รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชน ทั้งนี้ เงินลงทุนหลักที่มีจำนวนมากเข้าไปยังโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ได้แก่ ทางด่วยเวียงจันทร์-วังเวียง, ทางรถไฟสายลาว-จีน, เขตพัฒนาไซเสดถา, เขตเศรษฐกิจบ้านบ่อหาน-บ่อเต็น. สายส่งไฟฟ้าแรงสูงและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten137_Chinese_y22.php

กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังจีนเพิ่มขึ้น 17% ในช่วงครึ่งแรกของปี

กัมพูชาส่งออกข้าวสารปริมาณรวมกว่า 168,280 ตัน ไปยังประเทศจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจีนยังคงเป็นผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญของกัมพูชาคิดเป็นกว่าร้อยละ 51.4 ของการส่งออกข้าวสารทั้งหมดของกัมพูชา ซึ่งหลังจากข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ทางประธานสหพันธ์ข้าว (CRF) ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าปริมาณการค้าข้าวสารกับจีนและกัมพูชาจะต้องปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501115402/cambodias-rice-export-to-china-up-over-17-pct-in-h1/

ปริมาณการค้าผ่าน SEZ กัมพูชา พุ่ง 38% ในช่วงครึ่งปีแรก

ปริมาณการค้าทั้งการนำเข้าและส่งออกของกัมพูชา ซึ่งดำเนินการผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) มีมูลค่ากว่า 1.37 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเติบโตในช่วงครึ่งแรกของปีนี้สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่นหลังได้รับผลกระจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้านปลัดกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชาและโฆษก Penn Sovicheat กล่าวเสริทว่า SSEZ ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญจากความร่วมมือภายใต้กรอบ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนช่วยในการส่งเสริมเศรษฐกิจของกัมพูชาในยุคหลังการแพร่ระบาด

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501115409/chinese-invested-economic-zone-in-cambodia-registers-trade-increase-of-38-pct-in-h1/

ราคาข้าวเมียนมาในประเทศ ดิ่งฮวบ!

ศูนย์ค้าส่งข้าววะดาน เผย ราคาข้าวหักในในประเทศราคาร่วงลงอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างวันที่ 11 – 15 ก.ค.2565 ราคาข้าวหักที่เคยสูงถึง 35,000 จัตต่อถุง (108 ปอนด์) ราคาลดฮวบเหลือ 28,000 จัตต่อถุงในวันที่ 18 ก.ค.2565  ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 7,000 จัตต่อถุงภายใน 3 วัน ราคาข้าวปัจจุบันอยู่ในช่วงระหว่าง 31,200 จัตต่อถุง ถึง 55,000 จัตต่อถุงขึ้นอยู่กับสายพันธ์ ตั้งแต่ ไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2565-2566 (เม.ย.-มิ.ย.2565) เมียนมาส่งข้าวและข้าวหักกว่า 550,000 ตัน โดยส่งออกทางทะเลกว่า 510,000 ตัน และผ่านชายแดนอีก 33,000 ตัน โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์, จีน, เบลเยียม, สเปน ฯลฯ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563-2564 ที่ผ่านมา เมียนมา มีรายได้กว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการส่งออกข้าว 2 ล้านตัน

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/broken-rice-prices-fall-again/#article-title

ชาวประมงรัฐยะไข่ มุ่งเลี้ยงหอยนางรม-ปลาเก๋าดอกแดง สร้างรายได้งาม

กรมประมงของรัฐยะไข่ เผย ชาวประมงเริ่มเพาะเลี้ยงหอยนางรมและปลาเก๋าดอกแดง เพื่อส่งขายไปยังย่างกุ้งและเมืองอื่นๆ โดยราคาหน้าฟาร์มจะอยู่ระหว่าง 1,500 ถึง 2,000 จัต ส่วนที่ส่งไปยังโรงแรมและร้านอาหาร ราคาจะขายได้มากกว่า 5,000 จัต ขึ้นอยู่กับการแปรรูป ซึ่งหอยนางรมและปลาเก๋าดอกแดงส่วนใหญ่แล้วจะถูกเพาะเลี้ยงบริเวณป่าชายเลนของรัฐยะไข่ เขตตะนาวศรี และย่างกุ้ง โดยการเลี้ยงปลาเก๋าดอกแดงใช้เวลาประมาณ 6 เดือนจึงสามารถส่งขายได้ ราคาจะอยู่ระหว่าง 15,000-30,000 จัต ทั้งนี้ หอยนางรมและปลาเก๋าดอกแดงส่วนใหญ่มีการเพาะเลี้ยงในเมืองตั่งตแว, กวะ, มานออง, ย่าน-บแย และ เจาะตอ ของรัฐยะไข่

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/rakhine-state-produces-oysters-orange-spotted-groupers-on-commercial-scale/#article-title

H1 กำปอตกัมพูชา สร้างผลผลิตสินค้าประมงแตะ 12,000 ตัน

ครึ่งปีแรกชาวประมงจังหวัดกำปอตสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตสินค้าทางการประมงปริมาณกว่า 12,000 ตัน ด้าน Sar Surin อธิบดีกรมประมง กรมวิชาการเกษตร ป่าไม้ และประมงจังหวัดกำปอต กล่าวเสริมว่า มาจากปลาน้ำจืด 2,300 ตัน และจากปลาน้ำเค็ม 9,803 ตัน โดยจังหวัดกำปอตมีลักษณะทางภูมิศาตร์ติดกับทะเลและแม่น้ำ รวมถึงยังมีโรงเพาะสัตว์น้ำอีกกว่า 15 แห่ง ซึ่งสามารถผลิตปลาได้ถึง 5 ล้านตัว และยังมีสถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประเภทอื่นๆอีกหลายแห่ง ในขณะที่อธิบดี กล่าวเสริมอีกว่าปัจจุบันทางการกัมพูชาได้เร่งอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างใกล้ชิด และได้ปลูกป่าชายเลนไปแล้ว 29,700 ต้น ใน 8 ชุมชนประมงในจังหวัด เพื่อเป็นการรักษาระบบนิเวศภายในพื้นที่

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501114704/kampot-clocks-in-more-than-12000-tonnes-of-seafood-yield-in-h1/

จีนเร่งโครงการทางด่วนในกัมพูชา หวังพัฒนาศักยภาพโลจิสติกส์

โครงการทางด่วน พนมเปญ-สีหนุวิลล์ ภายใต้การลงทุนของ บริษัท China Road and Bridge Corporation ซึ่งโครงการก่อสร้างทางด่วนมีระยะทางทอดยาวกว่า 187 กม. โดยโครงการได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2019 ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งในขณะนี้แล้วเสร็จกว่าร้อยละ 94 และมีกำหนดเปิดให้ทดลองใช้ในเดือนกันยายนปีนี้ โดยทางด่วน พนมเปญ-สีหนุวิลล์ ถือเป็นทางด่วนจากความร่วมมือระหว่างกัมพูชาและจีนภายใต้กรอบ Belt and Road ด้านรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและคมนาคมกัมพูชา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นมากกว่า 3,000 ตำแหน่ง และจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะถัดไป

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501114676/chinese-invested-expressway-speeds-up-travel-helps-develop-talents-for-cambodia/

“วิกฤติห่วงโซ่อุปทาน” กระทบ สปป.ลาว เร่งผลิตปุ๋ย-อาหารสัตว์เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน รัฐบาลสปป.ลาว พยายามผลักดันนโยบายจำกัดการนำเข้าและสนับสนุนการผลิตปุ๋ยในประเทศ โดยเกษตรกรมีความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี แต่ผลิตได้เพียง 600,000 ตันหรือ 30% ของความต้องการทั้งหมด ด้าน ดร.เพชร พรมพิภักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ได้ให้ข้อมูลว่า ได้เชิญผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่จากเวียดนามมาพบกับผู้ประกอบการสปป.ลาว ในการหารือเพื่อผลิตปุ๋ยร่วมกัน ในขณะเดียวกัน เกษตรกรทั่วประเทศต้องการอาหารสัตว์ประมาณ 600,000 ตัน แต่โรงงานจำนวน 6 แห่งในประเทศผลิตได้ต่ำกว่า 400,000 ตัน ซึ่งธุรกิจจำนวนมาก สนใจในการตั้งโรงงานกันมากขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการนำเข้าจากไทยที่มีราคาสูง นอกเหนือจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นและการค่าเงินกีบที่อ่อนตัวลง ด้าน นาย Nadav Eshcar อดีตเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสปป.ลาวและเวียดนาม ชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสปป.ลาวและอิสราเอลจะมีส่วนช่วยพัฒนาด้านการเกษตรให้มากขึ้น และเชื่อว่าเทคโนโลยีของอิสราเอลสามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์และประสบความสำเร็จในสปป.ลาว อย่างแน่นอน

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/07/18/laos-to-produce-more-fertilizer-and-animal-feed-amid-supply-chain-turmoil/