กัมพูชาวางแผนลดบทบาทสกุลเงินดอลลาร์ในระบบเศรษฐกิจ

รัฐบาลกัมพูชาได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเป็นหลักภายใต้กลยุทธ์การพัฒนาภาคการเงินในประเทศ โดยกล่าวถึงความมั่นคงของค่าเงินเรียลที่ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของรัฐบาลในการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในด้านเสถียรภาพทางเงิน ซึ่งคำนึงถึงปริมาณเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในระบบเป็นสำคัญ โดยธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ได้ตัดสินใจที่จะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่มีการจัดการและเข้าแทรกแซงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา NBC มีส่วนในการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ที่ประมาณ 4,050 เรียลต่อดอลลาร์ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 4 และเป็นการลดความผันผวนที่อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้นำเข้าและส่งออกภายในประเทศกัมพูชาที่จะต้องทำการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์กลับมาเป็นสกุลเงินเรียล

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50829303/de-dollarisation-finds-willing-and-eager-base-in-rural-communities/

นายกฯ ปลื้มโครงสร้างพื้นฐาน 5 จี ไทยอันดับ 1 ในอาเซียน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอีเอส) ว่าวันนี้เป็นการประชุมดีอีเอส หารือเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์แผนแม่บทต่างๆ ในการดำเนินการแผนต่างๆ ซึ่งวันนี้ก็มีความก้าวหน้าโดยจากการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลของประเทศ การใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในเรื่องของการบริหารจัดการหลายๆอย่าง เพื่อให้สะดวกต่อการให้บริการประชาชน และเพื่อเป็นการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐบนฐานข้อมูลเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบคลาวด์ (Cloud) หรืออะไรต่างๆ ก็ได้มีการหารือกันในที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว ที่จะต้องดำเนินเดินหน้าต่อไป โดยถือเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล ในการดำเนินการในฐานะเป็นผู้กำหนดนโยบายลงไปยังกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจที่เราเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยเฉพาะในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน 5 จี

ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/97130

INFOGRAPHIC : เวียดนามเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พุ่ง 1.52%

ดัชนีราคาผู้บริโภคของเวียดนาม (CPI) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.52% จากช่วงเดียวกันของเดือนที่แล้ว และ 0.7% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO)

Vingroup ของเวียดนาม กำลังเจรจากับ Foxconn เพื่อผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนอื่นๆ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

Vingroup หนึ่งในบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเวียดนาม ได้ออกมาเปิดเผยว่ากำลังเจรจากับ Foxconn ผู้ประกอบ iPhone ชาวไต้หวัน เพื่อผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนอื่นๆ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทั้งสองกำลังต้องการเจาะ ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่สำหรับ Vingroup ซึ่งเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังต้องการเข้าสู่ตลาดรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง และ Foxconn Technology Group ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลกและซัพพลายเออร์รายสำคัญของ Apple “Vingroup ได้รับข้อเสนอจาก Foxconn แต่ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม” โฆษกของ Vingroup กล่าว “ความร่วมมือนี้จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาชิ้นส่วนแบตเตอรี่และ EV แต่ยังไม่มีการตัดสินใจที่จะทำงานร่วมกันเพื่อผลิต EV” ทั้งนี้ Vingroup มีความกระตือรือร้นที่จะขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และพิสูจน์ให้เห็นว่าแบรนด์ท้องถิ่นสามารถเอาชนะใจผู้บริโภคชาวต่างชาติได้ โดยกลุ่มบริษัทเริ่มต้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ตั้งแต่นั้นมาได้ย้ายเข้าสู่ภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่การท่องเที่ยวและการดูแลสุขภาพไปจนถึงโทรศัพท์และสกูตเตอร์

ที่มา : https://thestandard.co/vingroup-and-foxconn-in-talks-over-electric-cars/

บริษัทเทคฯ เวียดนาม ส่งออกสมาร์ทโฟน “Bphone” ล็อตแรกไปยังยุโรป

นาย Nguyen Tu Quang ประธานกรรมการ กล่าวว่าบริษัท Bkav เป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีสัญชาติเวียดนาม ได้ทำการส่งออกสมาร์ทโฟน “Bphone” ล็อตแรกไปยังสหภาพยุโรป บริษัทร่วมลงนามว่าด้วยการจัดหาซัพพลายกับพาร์ทเนอร์จากกลุ่มประเทศอียู ซึ่งการร่วมมือดังกล่าว คาดว่าจะเปิดตัวโมเดลการทำธุรกิจแบบใหม่ พร้อมกับสร้างจุดแข็งของธุรกิจ อาทิ การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และการผลิตฮาร์ดแวร์ระดับพรีเมียม เป็นต้น รวมถึงหวังว่าผู้นำในยุโรปจะใช้สมาร์ทโฟนสัญชาติเวียดนามในสักวันหนึ่ง ทั้งนี้ บริษัทยังวางแผนที่จะเปืดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ ตั้งแต่ระดับท็อปไปจนถึงระดับกลาง-ต่ำ ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตามคงไม่ได้เปิดเผยวันที่จำหน่ายและชื่อผลิตภัณฑ์ได้ นอกจากนี้ บริษัท Bkav ได้ประกาศว่าจะเปิดตัวชุดหูฟังไร้สาย “AirB” ที่จะใช้ชิปเซ็ต Qualcomm พร้อมปล่อยจำหน่ายตามเวลาที่กำหนด

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnamese-tech-firm-exports-first-bphone-smartphones-to-eu-316743.html

เวียดนามนำเข้ายานยนต์พุ่ง 20% ในเดือนก.พ.

กรมศุลกากรเวียดนาม เผยว่าในเดือนกุมภาพันธ์ เวียดนามนำเข้ายานยนต์จำนวน 10,039 คัน คิดเป็นมูลค่า 209 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.3% เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ในแง่ของจำนวน และหดตัว 1.88% ในแง่ของมูลค่า โดยส่วนใหญ่ราว 90% นำเข้ามาจากไทย (5,200 คัน), อินโดนีเซีย (3,300 คัน) และจีน (589 คัน) ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในภาพรวม จะเห็นว่าในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามนำเข้ายานยนต์ประมาณ 18,400 คัน เพิ่มขึ้น 23.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะยานยนต์นั่งส่วนบุคคลที่มีสัดส่วนมากที่สุดถึง 66.3% ของส่วนแบ่งการตลาด อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขสถิติของกรมศุลฯ ชี้ให้เห็นว่าเวียดนามนำเข้าชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์ 345 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ และส่วนใหญ่นำเข้าจากเกาหลีใต้ ไทย จีนและอินเดีย

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-car-imports-surge-over-20-in-february-316742.html

ประธานาธิบดีสปป.ลาวคนใหม่เผชิญกับหนี้จีนที่เพิ่มขึ้นและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาสมาชิกสภาแห่งชาติสปป.ลาวได้เลือกนายทองโหลน สีสุลิธ เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศโดยมอบความไว้วางใจให้ผู้นำคนใหม่นำสปป.ลาวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนหนึ่งของอุปสรรคและความท้าทายของผู้นำคนใหม่คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ถึงแม้สปป.ลาวจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักแต่ประเทศที่สปป.ลาวพึ่งพาอย่างไทย จีน ล้วนได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากโควิด-19 ทำให้สปป.ลาวได้รับผลกระทบไปด้วย เห็นได้ชัดจากกรณีการปิดด่านชายแดนและมาตรการที่เข้มงวดส่งผลให้การค้าชายแดนหดตัวอย่างมาก นอกจากนี้ปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือหนี้จากการกู้ยืมจากจีน ซึ่งถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดของสปป.ลาวในการกู้มาเพื่อลงทุนหากไม่ได้รับการแก้ไข หนี้ก่อนนี้อาจทำให้สปป.ลาวต้องสูญเสียพื้นตามแนวรถไฟให้แก่จีนเพื่อเป็นการชดใช้หนี้ อย่างไรก็ตามขณะนี้รัฐบาลเริ่มมีการรัดเข็มขัดด้านงบประมาณและเข้มงวดด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้นเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดของการใช้งบประมาณ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแนวทางเพื่อการรชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : https://asia.nikkei.com/Politics/New-Laos-president-faces-rising-China-debt-and-battered-economy

จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้อินเตอร์เน็ตในกัมพูชาเพิ่มขึ้นในปี 2020

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกัมพูชาเพิ่มขึ้นในปีที่แล้วเนื่องจากมีความต้องการใช้สื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานซิมการ์ดภายในประเทศลดลง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคม (MPT) กล่าวว่ามีผู้ใช้งานมากกว่า 16 ล้านคน ในกัมพูชาได้ลงทะเบียนใช้อินเทอร์เน็ตเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือและโทรศัพท์พื้นฐาน โดยการเติบโตของจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมาจากการได้รับการสนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมเป็นหลัก และเนื่องจากการแพร่ระบาดทำให้ผู้คนหันมาใช้อินเทอร์เน็ตบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการด้านโทรศัพท์มือถือ 5 ราย ในกัมพูชา ได้แก่ Smart, Cellcard, Viettel, Cootel และSeaTel และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตพื้นฐานอีก 42 ราย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50828681/number-of-registered-internet-subscribers-increases-in-2020/

บริษัท ซีพี (กัมพูชา) ลงทุน 67 ล้านดอลลาร์ ในการผลิตอาหารสัตว์

ซีพี (กัมพูชา) ลงทุนมากกว่า 67 ล้านดอลลาร์ ในการผลิตและแปรรูปอาหารจากสัตว์ รวมถึงโรงฆ่าสัตว์ในกัมพูชา โดยการลงทุนครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายและแผนพัฒนาภาคเกษตรของรัฐบาลกัมพูชาปี 2019-2023 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MAFF กล่าวว่าปัจจุบัน ซีพี (กัมพูชา) มีโรงงาน 2 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดกำปงสปือและจังหวัดไพลิน ซึ่งโรงงานทั้งสองแห่งนี้สามารถผลิตเนื้อสัตว์ได้ 55,000 ตันต่อเดือน และผลิตข้าวโพดแดงได้รวม 200,000 ตัน รวมถึงมันสำปะหลังแห้งอีกกว่า 100,000 ตันต่อปี โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นภายในประเทศกัมพูชาเป็นหลัก ซึ่งการลงทุนในระยะนี้ ซีพี (กัมพูชา) ได้ขออนุญาตกระทรวงฯ ในการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแม่ไก่ที่คาดว่าจะสามารถผลิตลูกไก่ได้สูงถึง 700,000 ตัวต่อสัปดาห์ และการนำเข้าแม่พันธุ์สุกรเพื่อให้เพียงพอที่จะผลิตลูกสุกรให้ได้ถึง 20,000 ตัวต่อสัปดาห์ ภายใต้แผนที่จะเพิ่มการผลิตอาหารและสัตว์อีกร้อยละ 15 ถึง 20 เพื่อรองรับกับตลาดในประเทศที่เติบโตขึ้นทุกปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50828866/cp-cambodia-invests-67-mn-in-animal-food-production/

EDF พักโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเมียนมา

Electricite de France SA (EDF) หนึ่งในบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปสั่งเบรคโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมาที่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทค้าขายสินค้าอุปโภค-บริโภคจากญี่ปุ่นอย่าง Marubeni ซึ่งการเบรคโครงการมีผลจากการรัฐประหารเมื่อเดือนที่แล้ว Marubeni เป็นกลุ่มที่ผลักดันให้สร้างสถานีไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่บนแม่น้ำเชวลี (Shweli) ในรัฐฉาน รัฐบาลฝรั่งเศสเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน EDF บริษัทได้วางแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 671 เมกะวัตต์ภายในปี 2569 ด้วยต้นทุนประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์ทำให้เป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่งในเมียนมา EDF ได้แจ้งว่าเพื่อเป็นการเคารพสิทธิมนุษยชนในเมียนมาจึงได้ระงับโครงการไว้ก่อน นอกจากนี้ยังปรึกษากับรัฐบาลฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปเพื่อเผ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด Marubeni ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในโครงการรวมถึงขนาดของการลงทุน ซึ่งในการแถลงการล่าสุดบริษัทจะจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้ประเมินทิศทางในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร

ที่มา : https://elevenmyanmar.com/news/marubeni-involved-hydropower-project-in-myanmar-to-be-frozen