รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา รับรองแผนพัฒนาภาคการศึกษาและการกีฬา (ESSDP)

Mrs.Sengdeuane Lachanthaboun รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ได้ให้การรับรองแผนพัฒนาภาคการศึกษาและการกีฬา (ESSDP) พ.ศ. 2564-2568 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสนับสนุนให้ประชาชนสปป.ลาวมีการศึกษาที่ดีขึ้นนอกจากนี้แผนยังครอบคลุมถึงการจัดการโครงสร้างทรัพยากรอย่างเหมาะสม ซึ่งแผนพัฒนาESSDP จะมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินงาน 5 ปี โดยกระทรวงจะมุ่งเน้นไปที่ความรับผิดชอบและโครงการพัฒนาที่เฉพาะเจาะจงเช่น การศึกษานอกระบบการศึกษาปฐมวัย รวมถึงโครงการพัฒนาอาชีวศึกษา  Mrs.Sengdeuane Lachanthaboun กล่าวเพิ่มเติมว่า      “สิ่งสำคัญในการจะบรรลุเป้าหมายของแผนดังกล่าวได้ คือการประสานระหว่างหน่วยงานทั้งในและนอกประเทศที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้แก่สปป.ลาว รวมถึงการติดตามรายงานผลอย่างต่อเนื่องเพื่อกำหนดทิศทางของกลยุทธ์และแนวทางนโยบายต่างๆต่อไป”

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Education150.php

รายงานภาวะเศรษฐกิจครึ่งปี 63 เศรษฐกิจสปป.ลาวมีแนวโน้มที่ดี

ตามรายงานการประเมินเศรษฐกิจมหภาคที่เปิดเผยโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติพบว่าตัวชี้วัดเศรษฐกิจสปป.ลาวบางประการมีแนวโน้มที่ดีในช่วงครึ่งปีนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงตกต่ำและมีความไม่แน่นอนทั่วโลกจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ด้านการส่งออกพบว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตั้งแต่เดือนมิถุนายนเมื่อทางการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างสปป.ลาวและเพื่อนบ้าน ด้านการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติในสปป.ลาวลดลงร้อยละ 60 ในช่วงครึ่งปีนี้ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตราการเพื่อบรรเทาและช่วยเหลือภาคต่างๆ รวมถึงธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินได้ชะลอการชำระคืนเงินกู้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเพื่อตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเพื่อบรรเทาและช่วยเหลือภาคธุรกิจ ปัจจุบันถึงแม้สถานการณ์การ COVID-19 ในสปป.ลาวจะดีขึ้นแต่ตัวชี้วัดสำคัญอย่างอัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสม ทำให้รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกลับแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Study.php

ทุนญี่ปุ่น เบนเข็มสู่อาเซียน ใครได้ประโยชน์?

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (มิติ) ของญี่ปุ่น ได้ประกาศว่ามีกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นรวม 87 แห่งมีความประสงค์ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้เงินอุดหนุนในการโยกย้ายหรือกระจายการลงทุนในวงเงิน 70,000 ล้านเยน หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาฐานการผลิตในจีน และเพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สาเหตุการย้ายฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นออกจากจีน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม หลายอุตสาหกรรมต้องชะงักงันจากการปิดประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง ส่งผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชน ทั้งนี้ 87 บริษัทญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตออกจากจีนแล้วไปไหน พบว่า 57 บริษัทจะย้ายการดำเนินการกลับไปญี่ปุ่น โดยใช้วัสดุท้องถิ่นทั้งหมด ขณะที่อีก 30 บริษัทจะย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียน ซึ่งพบว่าจะย้ายมาเวียดนาม 15 บริษัท อาทิ บริษัทผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดไดร์ฟ บริษัทผลิตแร่เหล็กหายาก, ไทย 6 บริษัท ได้แก่ บริษัทผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อ บริษัทผลิตโลหะผสม บริษัทผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ บริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ บริษัทผลิตเสื้อกาวน์, มาเลเซีย 4 บริษัท อาทิ บริษัทผลิตถุงมือยาง, ฟิลิปปินส์ 3 บริษัท, ลาว 2 บริษัท, อินโดนีเซีย 1 บริษัท และเมียนมา 1 บริษัท

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/894038?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic=10473&index

ย่างกุ้งเตรียมผลักดันโครงการ FDI ขนาดใหญ่ 3 โครงการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

คณะกรรมการการลงทุนของย่างกุ้งเปิดเผยว่ากำลังเร่งจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการของเขตอุตสาหกรรม 3 แห่ง ซึ่งจะช่วยธุรกิจในท้องถิ่นและสร้างโอกาสในการทำงานในภูมิภาคเนื่องจากการลงทุนใหม่อื่น ๆ อาจใช้เวลาเนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โครงการทั้ง 3 ได้แก่ Hlegu Industrial Park, Yangon Amata Smart Eco City และ Korea-Myanmar Industrial Complex ซึ่งทั้ง 3 โครงการได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการลงทุนของเมียนมา (MIC) โดยโครงการ Hlegu Industrial Park มีมูลค่า 230.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งพัฒนาโดยกลุ่มบริษัท Sembcorp Industries ในสิงคโปร์ครอบคลุมพื้นที่ 566 เฮกตาร์ในเมืองแลกูและเมืองย่างกุ้ง ข้อตกลงสำหรับโครงการนี้ลงนามโดย Sembcorp CSSD Myanmar Co และพันธมิตรในพื้นที่ Phatama Group Co Ltd และ Myanmar Agribusiness Public Corp (MAPCO) โครงการที่ 2 ศูนย์อุตสาหกรรมเกาหลี – เมียนมาร์ (Korea-Myanmar Industrial Complex : KMIC) เป็นโครงการของรัฐกับรัฐ (G2G) ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งอยู่ในเมืองแลกูและเมืองย่างกุ้งซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อนสิ้นปีนี้ โครงการที่ 3 Yangon Amata Smart Eco City  มีมูลค่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการนี้จะเกี่ยวข้องกับกรมพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยและอมตะเอเชีย (เมียนมา) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศไทยคืออมตะคอร์ปอเรชัน การพัฒนาจะอยู่ในเขตเมือง East Dagon โครงการการลงทุนใหม่นี้เป็นโครงการจากต่างประเทศ 2 โครงการมูลค่า 6.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐและการลงทุนในประเทศ 1 โครงการมูลค่า 2.17 พันล้านจัตในภาคการผลิต คาดว่าจะสร้างโอกาสในการทำงาน 1,073 คน

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/yangon-push-three-large-fdi-projects-boost-economy.html

ตลาดอีคอมเมิร์ซเวียดนามโต 25% ปี 2562

จากรายงาน “e-Commerce White Book 2020” ของหน่วยงานเศรษฐกิจดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซเวียดนาม (iDEA) เปิดเผยว่าในปี 2562 รายได้ของธุรกิจ B2C อยู่ที่ 10.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ซึ่งจำนวนคนช้อปปิ้งออนไลน์ที่ 44.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 225 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว สูงกว่าเมื่อเทียบกับปี 2561 ราว 23 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ทางผู้อำนวยการของ iDEA กล่าวว่าในปี 2562 เป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่สำหรับภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเวียดนาม เมื่อเวียดนามดำเนินตามแผ่นแม่บทที่รัฐบาลตั้งไว้แก่อีคอมเมิร์ซในปี 2559-2563 อีกทั้ง เวียดนามตั้งเป้าการเติบโตของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซที่ร้อยละ 25 ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ในปัจจุบัน เวียดนามเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่เติบโตเร็วที่สุด ติดอันดับที่ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/e-commerce-revenue-grows-25-percent-in-2019/180457.vnp

เวียดนามเผยการบริโภคเหล็กลดลง 9.6% ในช่วง 7 เดือนแรก

สมาคมเหล็กเวียดนาม (VSA) เผยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ การบริโภคเหล็กของเวียดนามอยู่ที่ 12.7 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยคาดว่าตลาดเหล็กทั่วโลกจะกลับมาปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แต่ว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงระบาดอยู่จนถึงตอนนี้ ประกอบกับเวียดนามประสบปัญหาการขายเหล็กในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากหลายๆประเทศยังคงล็อกดาวน์อยู่และการหยุดชะงักของซัพพลายเชน ทั้งนี้ สมาคมฯ ระบุว่าผู้ส่งออกเหล็กชาวเวียดนามจำเป็นต้องพิจารณาเกี่ยวกับการควบคุมผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากรายการสินค้าดังกล่าว ได้รับการแจ้งเตือนถึงมาตรการป้องกันทางการค้า นอกเหนือจากมาตรฐานด้านเทคนิคและมาตรฐานแหล่งกำเนิดสินค้าแล้ว ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับเงื่อนไขป้องกันทางการค้า เมื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และยุโรป

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/steel-consumption-down-96-in-first-seven-months-417440.vov

การค้าระหว่างกัมพูชากับญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 3.7 ภายในช่วงครึ่งปีแรก

ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.01 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ลดลงร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยตัวเลขประกาศจาก JETRO ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนกัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 791.6 ล้านดอลลาร์ ไปยังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบเป็นรายปี ในขณะเดียวกันกัมพูชานำเข้าอยู่ราว 218.6 ล้านดอลลาร์ จากญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 14.6 โดยกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกของกัมพูชาไปญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันมีโครงการลงทุนของญี่ปุ่น 137 โครงการ ในกัมพูชามูลค่ารวม 2.5 พันล้านดอลลาร์ มุ่งเน้นไปที่การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตรและวัตถุดิบแปรรูปอาหาร โรงแรม และการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเมื่อปีที่แล้วการค้าระหว่างกัมพูชากับญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 คิดเป็น 2,292 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50755518/cambodia-japan-trade-volume-decreases-slightly-by-3-7-percent-to-1-01-billion-in-h1-2020/

จีนและกัมพูชาอาจจะลงนาม FTA ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม

การลงนาม FTA ระหว่างจีนกับกัมพูชาที่อาจจะเกิดขึ้นภายในสิ้นเดือนสิงหาคม จะเพิ่มรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากเดิมอีกราว 340 รายการ ที่จะส่งออกไปยังประเทศจีนภายใต้ข้อตกลง โดยกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าสินค้าส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรและแปรรูปสินค้าทางการเกษตร รวมถึงสินค้าที่นอกเหนือจากที่กัมพูชาได้รับ FTA จากกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน ซึ่งผลิตภัณฑ์ 340 รายการ จะประกอบด้วยพริกไทย พริก สับปะรด ผัก ผลไม้ ปลา เนื้อสัตว์ (รวมทั้งแปรรูป) ธัญพืช ปู อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์กระป๋อง อื่นๆ โดยกว่าร้อยละ 95 ของสินค้าเหล่านี้จะไม่ต้องเสียภาษี และในส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 5 จะทยอยลดหย่อนภาษีลงมาภายในระยะเวลา 10 ปี รวมถึงการลงนามบน FTA ในครั้งนี้ยังคาดว่าจะกระตุ้นการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรและการลงทุนในภาคส่วนนี้ โดยเฉพาะจีนและบริษัทอื่น ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากผลประโยชน์ของข้อตกลง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50755511/china-cambodia-fta-signing-may-be-inked-by-late-august/

สัดส่วนการส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าของกัมพูชาลดลง

ส่วนแบ่งการส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าของกัมพูชาลดลงเนื่องจากผู้ผลิตภายในประเทศมีการกระจายสินค้าส่งออกให้เป็นไปตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม (IDP) ปี 2015-2025 ที่กำหนดไว้ให้มีการสร้างความหลากหลายในด้านการผลิตสิ่งทอภายในประเทศ ตามร่างรายงาน IDP ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะรัฐมนตรีกล่าวว่าในช่วง 3 ปี ของการดำเนินนโยบายเป้าหมายหลักสามประการของนโยบายนี้ได้รับการดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยกระทรวง สถาบันและหน่วยงานย่อยระดับชาติที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันอย่างสุดความสามารถ ซึ่ง IDP เปิดเผยว่าส่วนแบ่งของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอต่อ GDP คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ร้อยละ 30 ภายในปี 2025 อย่างไรก็ตามส่วนแบ่งการส่งออกเสื้อผ้าและรองเท้าลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 71.6 ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2015 สู่ร้อยละ 69.2 ในปี 2018 จากการที่สหภาพยุโรป (EU) ได้ระงับสิทธิพิเศษทางการค้าในภาคส่วนเสื้อผ้าและสิ่งทอประจำปี มูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์ ของกัมพูชาบางส่วน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50755470/cambodias-garment-and-footwear-exports-share-declines/

รีสอร์ทในกัมพูชาเกือบ 600 แห่ง พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว

กระทรวงการท่องเที่ยวระบุว่ามีรีสอร์ทอย่างน้อย 557 แห่งทั่วประเทศเปิดให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งในและนักท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงวันหยุด 5 วัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคมพร้อมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวได้แนะนำให้รีสอร์ทเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นรวมทั้งเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิร่างกาย แอลกอฮอล์เจล มาส์ก และเจลล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อความปลอดภัย ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด -19 ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชาทำให้โรงแรม เกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร และ บริษัททัวร์บางแห่งปิดกิจการไปแล้วกว่า 3,000 แห่งทั่วกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาอนุญาตให้มีวันหยุด 5 วันตั้งแต่วันที่ 17 ถึง 21 สิงหาคม เพื่อทดแทนวันหยุดปีใหม่ของกัมพูชาในช่วงกลางเดือนเมษายน โดยเลื่อนออกไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/755525/nearly-600-tourism-resorts-cash-in-on-domestic-tourists-during-five-day-holiday/