ส่องแผน PDP 8 ของเวียดนาม อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าไทย

โดย นพมาศ ฮวบเจริญ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

เมื่อกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทางการเวียดนามเพิ่งประกาศแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (Power Development Plan VIII: PDP 8) แม้ว่าจะมีความล่าช้าไปกว่า 2 ปี แต่ก็ถือว่าเป็นแนวทางหลักของการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในเวียดนาม รวมถึงแนวทางของส่วนผสมพลังงานเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า (Energy mixed)

5 ข้อสรุปสำคัญของ PDP 8 ได้แก่

  • กำลังการผลิตในปี 2030 เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2020 ที่ 69 GW เป็น 150 GW ในปี 2030
  • ใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าราว 1.20 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และพัฒนาสายส่งอีก 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • แหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าและมีการเติบโตสูง คือ ก๊าซธรรมชาติและพลังงานลม โดยปี 2030 มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 43% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2020 ทั้งนี้ผลจากการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติที่มากขึ้น มีผลให้เวียดนามต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากขึ้น จากเดิมที่ใช้แต่ก๊าซธรรมชาติในประเทศ ในส่วนของการพึ่งพาพลังงานลม ถือว่าสอดคล้องไปกับศักยภาพของภูมิศาสตร์ของเวียดนามที่มีพื้นที่ชายฝั่งที่ยาวถึง 3,000 กิโลเมตร และมีกำลังลมเฉลี่ยสูงกว่า 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  • การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีสัดส่วนลดลงจาก 24% ในปี 2020 เป็น 13% ในปี 2030 ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนระบบสายส่งที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตจากพลังงานลม อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามกลับมีแผนสนับสนุนให้ติดตั้ง Solar rooftop หรือ Solar farm เพื่อการใช้ด้วยตัวเอง (Self-consumption) ซึ่งมีเป้าหมายติดตั้งถึง 10 GW ภายในปี 2030 ด้วยการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 15.5 GWh
  • การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แม้สัดส่วนต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดลดลง (เหลือ 20% ในปี 2030 จาก 31% ในปี 2020) แต่กำลังการผลิตปี 2030 ยังคงเพิ่มสูงขึ้น 41% เทียบกับ 10 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2050 เวียดนามมีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า

 

เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

แม้ก๊าซธรรมชาติจะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในช่วงทศวรรษที่จะเกิดขึ้น แต่เวียดนามยังคงมุ่งเป้าไปที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy : RE) โดยตั้งเป้าว่าการผลิตไฟฟ้าจาก RE จะมีสูงถึง 30.9-39.2% ภายในปี 2030 และ 67.5-71.5% ในปี 2050 โดยการพึ่งพิงพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ เป็นเพียงแหล่งพลังงานที่ใช้ทดแทนถ่านหินในช่วงเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน (Energy transition) เพราะในท้ายที่สุดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติก็จะลดบทบาทลงเหลือเพียง 7-8% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2050 นอกจากนี้ ในการผลิตไฟฟ้าจาก RE เวียดนามถือว่าเป็นตลาดสำคัญของ ASEAN ด้วยสัดส่วนมากถึงราว 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก RE ที่มีใน ASEAN ทั้งหมด

 

นัยของแผน PDP 8 ต่อไทย

เม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทางการเวียดนามมองว่า ต้องอาศัยเงินลงทุนจากต่างชาติด้วย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสของธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยที่จะขยายการลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการลงทุนในตลาดเวียดนามอยู่แล้ว เพื่อเข้าไปรับประโยชน์จากแผนการขยายกำลังการผลิตในช่วง 10 ปีที่จะเกิดขึ้นนี้ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจโรงไฟฟ้าของไทยส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นสำคัญ แต่จากแผนใหม่ที่เกิดขึ้น ที่ลดความสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ลง ทำให้กลุ่มทุนไทยอาจจะต้องหันมาพิจารณาโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมมากขึ้น เนื่องจากทางการเวียดนามให้การสนับสนุนและกำลังการผลิตมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด (จากกำลังการผลิตที่ 1 GW ในปี 2020 เป็น 28 GW ในปี 2030)

ในส่วนของโรงไฟฟ้าจาก Fossil fuel อาจจะเหมาะสมกับกลุ่มทุนที่มีความได้เปรียบในเชิง Scale ที่ใหญ่เพียงพอ เพื่อสร้างความได้เปรียบได้การจัดหาแหล่งวัตถุดิบในราคาต่ำ ทั้งนี้กลุ่มก๊าซธรรมชาติ ที่แม้ความต้องการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้ายังสูงในช่วง 10 ปี แต่การพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ทำให้อาจเป็นข้อจำกัดในการจัดหา LNG ในราคาที่เหมาะสม ขณะที่กลุ่มถ่านหิน หากพิจารณาที่ปริมาณกำลังการผลิตที่เวียดนามต้องการยังคงมีมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตตามเศรษฐกิจ แต่แนวโน้มตลาดที่โตต่ำเมื่อเทียบกับพลังงานกลุ่มอื่น ๆ อาจทำให้ความน่าสนใจมีน้อยลง

แม้ว่า PDP 8 ที่เพิ่งออกมา จะสร้างโอกาสในการลงทุนของโรงไฟฟ้าไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจโรงไฟฟ้าในเวียดนาม ยังคงขึ้นอยู่กับนโยบายของทางการเป็นสำคัญ ทำให้ต้องติดตามรายละเอียดของการเปิดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนที่จะเกิดขึ้นจากแผน PDP 8 รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น และพยายามปิดความเสี่ยง เพื่อจะได้รับประโยชน์จากโอกาสในตลาดโรงไฟฟ้าของเวียดนามที่เติบโต เช่น กรณีที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้าไม่เสร็จทันตามสัญญา ทำให้เมื่อก่อสร้างเสร็จ ยังไม่สามารถดำเนินการขายไฟฟ้าให้กับทางการเวียดนามได้ เนื่องจากติดปัญหาการกำหนด FiT ใหม่ ดังนั้น สำหรับในโครงการใหม่ที่จะเข้าไปลงทุน อาจต้องมีแผนสำรองในความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวลง เป็นต้น

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/PDP8-Vietnam-120623

ผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจไทย

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566  รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ร่วมกับผศ.ดร.วชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจไทย โดยสำรวจผู้ประกอบ 600 ราย ระหว่างวันที่ 1-15 มีนาคม 2566 พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลและสภาพธุรกิจส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากต้นทุนที่สูงขึ้น มีผลต่อยอดขายและกำไรลดลง แต่ภาระหนี้เพิ่มขึ้น

 

ซึ่งปัจจัยเชิงลบสำคัญ คือ ภาวะเงินเฟ้อสูง  และมองว่าเงินเฟ้อที่เหมาะสมควรสูงไม่เกิน 2-3% อัตราดอกเบี้ยที่สูงกระทบต่อโอกาสผิดนัดชำระหนี้ อัตราค่าจ้างแรงงานกว่า 22% มองว่าเหมาะสมอยู่ที่ 325 บาท/วัน จากเฉลี่ยอยู่ที่ 328-354 บาท/วัน หากปรับขั้นค่าแรงอีก 10% กว่า 50% ระบุว่าอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้า และเลิกจ้างแรงงานบางส่วน

 

ด้านค่าไฟฟ้าส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่จะลดจาก 5.69 บาทต่หน่วน เหลือ 5.33 บาทต่อหน่วยยังสูง ที่เหมาะสมมองที่ 3.94 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับภาระค่าน้ำมันดีเซลที่สูง ธุรกิจ 80% ระบุว่าจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าทันที ขณะที่ส่วนใหญ่ 95% ไม่ได้เตรียมรับมือเงินบาทผันผวน

 

สำหรับผลกระทบจากแบงก์สหรัฐล้ม ส่วนใหญ่เกือบ 90% ระบุว่าได้รับผลกระทบน้อยถึงไม่ได้รับผลกระทบ รวมถึงไม่ได้รับผลกระทบและได้รับผลกระทบน้อยจากการส่งออกหรือนำเข้า แต่อย่างไรก็ตาม บางส่วนกังวลในปานกลางหากผลกระทบแบงก์ล้มจะขยายวงกว้างกว่านี้ ส่วนปัจจัยเชิงบวกต่อธุรกิจวันนี้ คือ การกลับมาท่องเที่ยวไทยของชาวจีนภายหลังจากการเปิดประเทศ

 

ส่วนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ผู้ประกอบการมองว่าจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4/2566 และจีดีพีทั้งในปีนี้ขยายตัวได้ 3.35-3.82% แม้ธุรกิจ 37% ยังมองเศรษฐกิจปีนี้โตต่ำกว่า 3% โดยยังกังวลถึงเสถียรภาพการเมืองไทยและปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ ภายนอกประเทศ

 

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่ช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่

  • ดูแลต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่สูงเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่ เศรษฐกิจกาลังฟื้นตัว ณ ปัจจุบัน เช่น ไม่ปรับขึ้นค่าพลังงาน ต้นทุนอัตราดอกเบี้ย ค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น
  • เร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการ และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้
  • ส่งเสริมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศและในประเทศให้เหมาะสม เพื่อเป็นปัจจัยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ฟื้นตัวในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน
  • ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและอ่อนค่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการส่งออกให้ขยายตัว
  • ดูแลสถานการณ์หนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจ โลกถดถอยโดยให้ธุรกิจและประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้อย่างดีและมีเงื่อนไขในการปรับโครงสร้างหนี้ หากมีปัญหาทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น

 

ที่มา: https://bit.ly/42nzc1f

เปิดหน้าต่างบานใหม่ของการส่งออกไทยในยามเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

โดย วิชาญ กุลาตี, ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

การส่งออกสินค้าไทยหดตัวต่อเนื่อง ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอลง

การส่งออกสินค้าที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มหดตัวตามอุปสงค์โลกที่ชะลอลง ในระยะต่อไปการส่งออกไทยดูไม่สดใสนัก สะท้อนจากดัชนี Global Manufacturing PMI ในเดือนมกราคมที่ยังหดตัว กอปรกับยอดคำสั่งซื้อใหม่และยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ การส่งออกไทยจะเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการค้าโลก เช่น การเริ่มใช้ภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) และกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป รวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยของอินเดียที่จะส่งผลต่อสินค้าส่งออกไทยหลายชนิด โดย SCB EIC คาดว่าการส่งออกสินค้าไทยจะขยายตัวได้เพียง 1.2% ในปี 2023 (ตัวเลขในระบบดุลการชำระเงิน)

 

ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดตะวันออกกลาง CLMV และลาตินอเมริกา

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวชะลอลงเป็น 1.7% ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก และการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ทางการค้าโลกที่กำลังเกิดขึ้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไทย ภาคเอกชนและภาครัฐจึงจำเป็นต้องหาตลาดส่งออกใหม่ SCB EIC ประเมินว่า มีตลาดสามแห่งที่มีศักยภาพน่าจับตา ได้แก่ ตลาดตะวันออกกลางที่อาจได้รับอานิสงส์จากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ตลาด CLMV ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตดีและได้รับการผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐ และตลาดลาตินอเมริกาที่เป็นตลาดส่งออกเป้าหมายใหม่ในเชิงนโยบายของไทย

 

ตลาด CLMV

SCB EIC ประเมินว่า การส่งออกจากไทยไป CLMV จะขยายตัวได้ในช่วง 6-8% ในปี 2023 โดยมีแนวโน้มที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางตามเศรษฐกิจ CLMV ที่จะเติบโตได้สูงกว่าเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงจากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงตลาดนี้ยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐต่อเนื่อง

อ่านต่อ : https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-140223

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้นในปี 2023 สวนกระแสเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่การเติบโตจะยังต่ำกว่าศักยภาพเมื่อเทียบกับช่วงก่อน COVID-19

โดย ปัณณ์ พัฒนศิริ และ ดร.ฐิติมา ชูเชิด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2023 ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในช่วงก่อนการระบาด COVID-19 โดยมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ โดยประเมินว่าในปีนี้กัมพูชาจะขยายตัวได้ 5.5%, สปป.ลาวและเมียนมา 3.0% และเวียดนาม 6.2%

 

CLMV มีแนวโน้มฟื้นตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยว

เศรษฐกิจ CLMV ในปี 2023 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศมีปัจจัยบวกจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากการจ้างงานในเวียดนามในไตรมาส 4 ปี 2022 ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เกิดการระบาด COVID-19 ขณะเดียวกัน ภาคบริการจะได้อานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีความสำคัญต่อ CLMV คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-35% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2019 โดยจีนอนุมัติให้กรุ๊ปทัวร์สามารถเดินทางมากัมพูชา และสปป.ลาวได้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ และคาดว่าจะเพิ่มรายชื่อประเทศที่สามารถเดินทางมาได้เร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้กัมพูชาและเวียดนามจะได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวมากที่สุด เนื่องจากพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงอยู่ที่ 18.2% และ 9.8% ต่อ GDP ตามลำดับ

 

ในทางกลับกัน อุปสงค์จากต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำ ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจ CLMV ผ่านช่องทางการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเวียดนามจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับห่วงโซ่อุปทานโลกสูงมาก และเป็นปัจจัยที่ทำให้ SCB EIC ประเมินว่า เวียดนามเป็นประเทศในเดียวใน CLMV ที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวในปีนี้หลังขยายตัวสูงถึง 8% ในปีก่อน อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศของจีนอาจช่วยพยุงให้การส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไม่ชะลอตัวมากนัก แต่ต้องจับตาความเสี่ยงหากอุปสงค์จากต่างประเทศซบเซาอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึง
อุปสงค์ภายในประเทศ ภาคการผลิต และการจ้างงาน

 

แนวโน้มนโยบายการเงินของ CLMV

นโยบายการเงินใน CLMV มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นเล็กน้อยในปี 2023 แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัว SCB EIC ประเมินอัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจ CLMV มีแนวโน้มชะลอตัวในปีนี้ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง แต่จะไม่ลดลงเร็วมากเนื่องจากราคาจะยังคงอยู่ในระดับสูง กอปรค่าเงินที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าในบางประเทศ เช่น สปป.ลาวและเมียนมา จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้านำเข้าอยู่ในระดับสูงต่อไป ธนาคารกลางกลุ่มประเทศ CLMV มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเล็กน้อยในปีนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ แต่จะสามารถชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจาก 1) ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะลดแรงกดดันค่าเงิน CLMV อ่อนค่า 2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบาง และ 3) ธุรกิจในบางประเทศ เช่น เวียดนาม เริ่มเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่องหลังไม่สามารถกู้ยืมเพื่อชำระหนี้เก่าได้ (Rollover) ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ หากภาวะการเงินยังคงตึงตัว

 

สปป.ลาวและเมียนมามีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น ๆ จากปัจจัยความเสี่ยงเฉพาะประเทศ

สปป.ลาวมีเสถียรภาพค่อนข้างเปราะบางในด้านราคา ด้านการคลัง และด้านต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพในระยะต่อไป โดยสปป.ลาวเผชิญเงินเฟ้อสูง ซึ่งกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนหนึ่งจากเงินกีบอ่อนค่ารุนแรงและฐานะทางการคลังที่ไม่แข็งแรงนัก สะท้อนจากภาระการชำระหนี้สาธารณะสกุลเงินต่างประเทศของภาครัฐที่สูง เฉลี่ยประมาณ 1.2-1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในช่วง 4 ปีข้างหน้า ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ เดือนกันยายน 2022 สำหรับเมียนมา สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจในระยะปานกลางและกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศซบเซาต่อเนื่อง แม้เมียนมาได้วางแผนที่จะจัดการเลือกตั้งในปีนี้ SCB EIC ประเมินว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะไม่ปรับลดลงมากนัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพต่อไป

 

การลงทุนของไทยใน CLMV

การลงทุนจากไทยไป CLMV ซบเซาในช่วงปี 2022 แต่คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับต่ำในปีนี้ ปัจจัยกดดันในช่วงที่ผ่านมาได้แก่ เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง เงินเฟ้อที่สูงขึ้นซึ่งเพิ่มต้นทุนต่อธุรกิจ และความเสี่ยงรายประเทศ เช่น สถานการณ์การเมืองในเมียนมา ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน นอกจากนี้ การลงทุนในต่างประเทศจำเป็นต้องใช้เวลาการเตรียมความพร้อมค่อนข้างนาน และสถานการณ์ COVID-19 ได้ส่งผลให้โครงการต่าง ๆ ถูกเลื่อนออกไปในปี 2023 ปัจจัยกดดันดังกล่าวจะยังคงมีอยู่ แต่เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่ทยอยลดลง ตลอดจนข้อจำกัดการเดินทางภายในภูมิภาคที่หมดไปจะกระตุ้นให้การลงทุนสามารถฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในระยะปานกลาง SCB EIC มองว่า CLMV ยังเป็นกลุ่มประเทศที่น่าสนใจต่อนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากมีค่าแรงค่อนข้างต่ำ ตลาดในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง และมีสนธิสัญญาการค้าเสรีต่าง ๆ กับประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคี นอกจากนี้ ยังสามารถเป็นฐานการผลิตไปตลาดใหญ่ เช่น จีนและอินเดียได้อีกด้วย

 

ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นประเด็นที่ต้องจับตาในระยะต่อไป โดยจะมีผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อ CLMV 

ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อ CLMV มากที่สุด ได้แก่ความตึงเครียดระหว่าง จีน สหรัฐฯ และไต้หวัน ซึ่งอาจลุกลามมาถึงแถบทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นช่องทางการค้าสำคัญในภูมิภาคและอาจส่งผลให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานขาดตอนในภาคการผลิตได้ นอกจากนี้ ชาติมหาอำนาจมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมของตน ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงต่อผู้ส่งออกใน CLMV ที่จะเผชิญต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ก็อาจส่งผลบวกต่อ CLMV เช่นกัน ผ่านแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่ง CLMV ได้เปรียบทั้งด้านที่ตั้งที่ใกล้กับจีน รวมถึงค่าแรงต่ำและข้อตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ชาติมหาอำนาจอาจเร่งการแข่งขันกันเพื่อขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้มากขึ้น เช่น โครงการ Belt and Road Initiative ของจีน หรือ Indo-Pacific Economic Framework ของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ CLMV ในระยะต่อไปผ่านความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพของแต่ละประเทศ

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv-310123

Thai economic recovery เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างไร เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ?

โดย วิชาญ กุลาตี ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 เป็นอย่างไร?

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ติดต่อกันที่ 4.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (%YOY) และนับเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส ตามสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงน้อยลงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินเป็นปกติมากขึ้น

โดยหากพิจารณาการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านการใช้จ่าย เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกภาคบริการ (การท่องเที่ยว) การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก ในขณะที่กิจกรรมทางด้านการผลิตพบว่า หลายภาคเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี นำโดยภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวจากเดิมที่หดตัวในช่วงก่อนหน้า รวมถึงภาคบริการที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ (รูปที่ 1) เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขายและการส่งขายปลีก การขนส่ง เป็นต้น

graph01-thailand-economic-recovery.jpg

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 เกาะกลุ่มเพื่อนบ้านแบบรั้งท้าย

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2022 ที่ 4.5% ยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย (14.2%) เวียดนาม (13.7%) ฟิลิปปินส์ (7.6%) หรืออินโดนีเซีย (5.7%) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานที่เศรษฐกิจแต่ละประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดในไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 ไม่เท่ากัน

หากหักปัจจัยฐานออกพบว่าเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านขยายตัวเกาะกลุ่มกัน โดยเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 1.2%QOQ_sa (เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแบบปรับฤดูกาล) ในขณะที่เศรษฐกิจของมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ขยายตัว 1.9, 0.9, 2.9 และ 0.6%QOQ_sa ตามลำดับ สะท้อนถึงการฟื้นตัวที่สอดคล้องกันภายในกลุ่ม

แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 จะขยายตัวได้เกาะกลุ่มเพื่อนบ้าน แต่เมื่อพิจารณาการฟื้นตัวในภาพรวมพบว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดได้ช้าที่สุดในกลุ่ม โดยเศรษฐกิจของเวียดนามขยายตัวได้ต่อเนื่องและยังไม่เคยถดถอยลงไปอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติ สำหรับเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ แม้จะหดตัวลงแต่สามารถฟื้นตัวกลับไปเทียบเท่าก่อนวิกฤติได้แล้ว ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติในปี 2019 อยู่ราว 2.6% (GDP 4 ไตรมาสล่าสุดเทียบกับปี 2019)

สาเหตุที่เศรษฐกิจแต่ละประเทศในภูมิภาคฟื้นตัวได้รวดเร็วไม่เท่ากันมีหลายประการ เช่น เวียดนามที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ รวมถึงมาเลเซียและฟิลิปปินส์ที่เป็นผู้ส่งออกแผงวรจรไฟฟ้าได้รับอานิสงส์จากความต้องการสินค้าเทคโนโลยีเพื่อรองรับกระแสการทำงานหรือเรียนที่บ้าน จึงทำให้การผลิตและการส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวยังขยายตัวได้ดี

ด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซียได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความต้องการจากตลาดโลกสูงแม้จะมีการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีน้อย สิงคโปร์สามารถฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วจากการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ในขณะที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าเนื่องจากพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูง อีกทั้งมีการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ต่ำเมื่อเทียบกับ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เมื่อการเดินทางระหว่างประเทศถูกควบคุมเข้มงวดจึงทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซบเซา ผู้ประกอบการและแรงงานขาดรายได้หรือมีรายได้ลดลงเป็นจำนวนมาก

graph02-thailand-economic-recovery.jpg

แล้วเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติได้เมื่อไร?

ในปีหน้าประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง (Uneven) ภายใต้ความไม่แน่นอนสูง โดยภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์คงค้าง (Pent-up demand) และการทยอยลดมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ภาคบริการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง ปรับตัวดีขึ้น

อีกทั้ง การบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานกลับมาเป็นปกติมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกที่เป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงโควิดมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวภายใต้ความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งแรงส่งจากทางภาครัฐจะลดลงตามงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดมากขึ้นหลังจากเม็ดเงินกระตุ้นพิเศษภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้าน และ 5 แสนล้าน ที่หมดลง

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ในโลกที่ยังเป็นประเด็นอยู่มาก เช่น สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ข้อพิพาทระหว่างจีน-ไต้หวัน นโยบาย Zero-COVID ของจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการผลิตของไทย รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งในปี 2023 ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคการผลิตและลงทุน

ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.2% ในปี 2022 และ 3.4% ในปี 2023 เร่งตัวขึ้นจาก 1.5% ในปี 2021 (เทียบกับ Asia Pacific Consensus ที่ 3.2% ในปี 2022 และ 3.6% ในปี 2023) ซึ่งยังคงเติบโตรั้งท้ายเพื่อนบ้านในปี 2022 และเกือบรั้งท้ายในปี 2023 รองจากสิงค์โปร์ที่ 2% SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติได้ในช่วงกลางปี 2023 และจะกลับสู่แนวโน้มระดับศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจเดิม (Potential GDP) ได้ภายในสิ้นปี 2024

graph03-thailand-economic-recovery.jpg

บทสรุปข้อเท็จจริงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

  1. เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ของปี 2022 ขยายตัวได้ดีเกาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน
  2. ไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดวิกฤติในปี 2019 ได้
  3. เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่โตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ยกเว้นสิงคโปร์ที่เป็นเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว เนื่องจากแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะมีเพียงภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง ตามด้วยการบริโภคภาคเอกชนที่ยังมีหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นปัจจัยกดดันอยู่ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิดได้ในช่วงกลางปี 2023 และจะกลับสู่แนวโน้มการเติบโตเดิมได้ภายในสิ้นปี 2024  และ
  4. ภาครัฐควรเร่งผลักดันการลงทุนในประเทศและดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติพร้อมกระแส Deglobalization รวมถึงเร่งสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจเอกชนตามเทรนด์ดิจิทัลและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมในโลก โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุน จ้างงาน การผลิต และการส่งออก เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพิ่มเติมในระยะต่อไป

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/8764

รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ก้าวสู่ปีที่ 2 .. เตรียมรับอานิสงส์จีนผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

รถไฟฟ้าความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 การขนส่งสินค้าระหว่างจีนตอนใต้กับอาเซียนน่ามีพัฒนาการคึกคักขึ้นอีก ประกอบกับสัญญาณบวกของทางการจีนในการทยอยผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่คาดว่าน่าจะได้เห็นการเปิดประเทศของจีนในปี 2566 จะยิ่งส่งผลบวกต่อการค้าและการท่องเที่ยวตลอดเส้นทาง

ในช่วงปีที่ผ่านมาเส้นทางนี้มีความสะดวกที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ ด้วยความร่วมมือของภาครัฐระหว่างประเทศทำให้มีความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าข้ามแดนในการตรวจปล่อยสินค้า พื้นที่รองรับการเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ พร้อมทั้งแผนการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพิ่มอีกแห่งเพื่อรองรับการขนส่งด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในฝั่งของไทยในอนาคต ขณะที่ในฝั่งของภาคภาคเอกชนได้เข้ามาเป็นตัวกลางให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทำให้การค้าด้วยรถไฟสะดวกมากขึ้น

การท่องเที่ยวด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงปี 2566 ได้อานิสงส์จากการผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ของทางการจีนที่อาจจะได้เห็นการเปิดประเทศในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 หากนักท่องเที่ยวจีนสามารถทยอยออกมาได้จะสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่การท่องเที่ยว สปป.ลาวคิดเป็นไม่น้อยกว่า 0.1%-0.4% ของ GDP ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนหลวงพระบางโดยรถไฟฟ้าความเร็วสูง 335,794 คน (คิดเป็น 85% ของนักท่องเที่ยวที่มาหลวงพระบาง ซึ่งอีก 15% เดินทางมาเที่ยวด้วยเครื่องบิน) โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวไทยและชาวสปป.ลาว อย่างไรก็ดี นับจากรถไฟความเร็วสูงเปิดใช้งานก็ได้รับความนิยมจากการเป็นเส้นทางใหม่ที่รวดเร็วกว่ารถยนต์และประหยัดกว่าการเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งการเปิดประเทศของจีนอาจทำให้การท่องเที่ยว สปป.ลาว กลับมาใกล้เคียงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งในเวลานั้นจีนเป็นนักท่องเที่ยวลำดับที่ 2 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 1 ล้านคน และหลวงพระบางก็เป็นหนึ่งในปลายทางที่สำคัญ

ความรวดเร็วและต้นทุนการขนส่งที่ลดลงกว่า 30% หนุนให้การค้าผ่านรถไฟฟ้าความเร็วสูงทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณการขนส่งสินค้าตลอดเส้นทางในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณ 2 ล้านตัน ขนส่งผู้โดยสารรวม 1.26 ล้านคน เป็นสินค้า สปป.ลาว ส่งไปจีน ได้แก่ ยางพารา ข้าวบาร์เลย์ มันสำปะหลัง กาแฟ แร่ ปุ๋ย และสินค้าจากจีน ได้แก่ เครื่องจักร ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และของใช้ประจำวัน นอกจากนี้ นักธุรกิจไทยกับจีนก็หันมาใช้เส้นทางนี้มากขึ้นจากในอดีตไม่ได้รับความนิยมนักเพราะการขนส่งทางถนนมีความล่าช้าจากความคดเคี้ยวสูงชันของภูมิประเทศ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มูลค่าการค้ารวมระหว่างกัน 1.18 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5.3% ของการค้ารวมผ่านแดนไปจีน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจีนเข้ามาทำตลาดในไทย 1.1 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โซลาเซลล์ และผลไม้ และการส่งสินค้าผลไม้และวงจรไฟฟ้าจากไทยไปจีน 1.5 พันล้านบาท

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าพัฒนาการขนส่งระหว่างจีนกับอาเซียนมีหลายทางเลือกในการทำตลาดมากขึ้น ซึ่งทุกเส้นทางขนส่งเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะจีน-สปป.ลาว-ไทย ที่มีการเชื่อมโยงทางถนนถนนในปัจจุบัน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1) รถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว  2) สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมตรงสู่ตลาดมณฑลหยุนหนานผ่านด่านเชียงของ จ.เชียงราย-แขวงบ่อแก้ว  3) เส้นทางขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 2 จ.มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต  และ 4) การขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 3 ผ่าน จ.นครพนม-แขวงคำม่วน  และกำลังเตรียมเปิดเส้นทางขนส่งช่องทางที่ 5) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงหรือสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 เชื่อม จ.บึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จพร้อมใช้งานในปี 2567

นอกจากนี้ ในการประชุม APEC 2022 ที่ผ่านมา การมาร่วมประชุมของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้เน้นย้ำความร่วมมือในการสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในฝั่งไทยที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เพื่อให้เส้นทางนี้สามารถเปิดดำเนินงานได้ตามแผนภายในปี 2571 ซึ่งจะยิ่งทำให้การขนส่งตลอดเส้นทางสมบูรณ์ไร้รอยต่อ เป็นอีกช่องทางที่จีนตอนใต้และ สปป.ลาว สามารถใช้เป็นช่องทางเชื่อมต่อกับเส้นทางขนส่งทางทะเลที่อ่าวไทยได้อีกทางหนึ่ง ถ้าหากเส้นทางในฝั่งไทยสร้างเสร็จ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว-ไทย จะลดต้นทุนค่าขนส่งลงอีกโดยเฉพาะการช่วยประหยัดเวลาขนส่งตลอดเส้นทางได้มากกว่า 70%

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/Railway-CH-Lao-2022-12-29.aspx

10 ธุรกิจ ดาวรุ่ง ดาวร่วง ปี 2566

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ณ ห้องประชุมสภา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ร่วมกับ อาจารย์วชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าผลสำรวจ การจัดอันดับ 10 ธุรกิจดาวรุ่ง-ดาวร่วง ปี 2566

10 ธุรกิจที่มาแรงสุดคือ

  1. ธุรกิจการแพทย์และความงาม
  2. ธุรกิจ e-commerce (ธุรกิจที่ทำการซื้อขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์)
  3. Social Media และ Online Entertainment, ธุรกิจด้าน fintech และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี และธุรกิจงานคอนเสิร์ต มหกรรมจัดแสดงสินค้า ธุรกิจ event
  4. ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจ youtuber การรีวิวสินค้า และ influencer และธุรกิจสื่อโฆษณาออนไลน์
  5. ธุรกิจ แพลตฟอร์ม และธุรกิจ Matching เช่น platform หาคู่ สั่งอาหาร เรียกรถอื่นๆ
  6. ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต และธุรกิจบันเทิงยามค่ำคืน ผับ บาร์ คาราโอเกะ
  7. ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ทัวร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และธุรกิจ Modern Trade/ ร้านค้าปลีกสมัยใหม่
  8. ธุรกิจโลจิสติกส์ delivery และคลังสินค้า, ธุรกิจตู้ยอดเหรียญ เช่น น้ำ เครื่องซักผ้า อาหาร อื่นๆ และธุรกิจ e sport และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
  9. ธุรกิจอาหารเสริม และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (ที่ไม่มีแอลกอฮอลล์)
  10. ธุรกิจความเชื่อ (สายมู, หมอดู,ฮวงจุ้ย), ธุรกิจบันเทิง เช่น ละครหนังซีรีย์ Y และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา ใบกระท่อม

ส่วน 10 ธุรกิจดาวร่วงนั้นนำโดย

  1. ธุรกิจฟอกย้อมและธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และวารสาร หนังสือพิมพ์ที่เป็นรูปแบบกระดาษ
  2. ธุรกิจรับส่งสื่อสิ่งพิมพ์ตามบ้านและสถานที่ทำงานและธุรกิจโรงพิมพ์/การพิมพ์ เช่น หนังสือ แผ่นพับ
  3. ธุรกิจคนกลาง
  4. ร้านขายหนังสือ
  5. ธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา และเซรามิก
  6. ธุรกิจร้านถ่ายรูปและธุรกิจหัตถกรรม
  7. ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ไร้ฝีมือ หรือเสื้อผ้าโหล
  8. ธุรกิจคลิปโต
  9. โรงเรียนเอกชน
  10. ธุรกิจร้านโชห่วย

สำหรับการจัดอันดับของธุรกิจดังกล่าวนำข้อมูลมาจากจากข้อมูลปฐมภูมิ ด้วยการสำรวจผู้ประกอบการรายสาขา สถานภาพธุรกิจไทย ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ รวมถึงข้อมูลทุติยภูมิต่างๆ เช่น ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก, ข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์, ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ได้มีเกณฑ์การให้คะแนนธุรกิจใน 5 ด้านรวม 100 คะแนน ประกอบด้วย ยอดขาย ต้นทุน กำไรสุทธิ ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและการแข่งขัน ความต้องการ-กระแสนิยม

ที่มา: https://bit.ly/3PDTA84

ครบรอบ 1 ปี รถไฟจีน-สปป.ลาว … การค้าผ่านแดนไทยไปจีนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

แม้ว่าภาพรวมการส่งออกของไทยไปจีนช่วง 10 เดือนแรกปี 2565 ในรูปเงินบาทจะเติบโตช้าที่ 2.8% และการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงเดียวกันก็หดตัวถึง 27.3% (YoY) มีมูลค่าส่งออกที่ 1.26 แสนล้านบาท แต่การส่งออกผ่านแดนบางเส้นทางยังคงเติบโตได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะการขนส่งไปยังมณฑลหยุนหนานทั้งการขนส่งด้วยรถบรรทุกและการขนส่งผ่านรถไฟจีน-สปป.ลาว ที่เปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2564 ผ่านมาครบ 1 ปี การขนส่งผ่านแดนยังคงมีสัญญาณบวกเติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า ดังนี้

– ในช่วงโควิด-19 ระบาดการขนส่งผ่านแดนเป็นตัวช่วยสำคัญในการส่งสินค้าเข้าสู่จีน โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นรวดเร็วเป็น 17% ของมูลค่าการส่งออกทุกช่องทางไปจีนในปี 2564 (จากเคยอยู่ที่ 12.4% ในปี 2562)

– ปัจจุบันการขนส่งผ่านแดนระหว่างไทยกับจีนมี 4 เส้นทาง ซึ่งสามารถส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ ถึงจีนด้วยระยะเวลาเพียง 2-5 วัน และเส้นทางเหล่านี้จะยิ่งคึกคักขึ้นจากการเตรียมเปิดเส้นทางขนส่งช่องทางที่ 5

– กำลังซื้อที่มาจากจีนตอนใต้ มณฑลหยุนหนานและเขตปกครองตนเองกว่างซียังมีโอกาสเติบโตในระยะข้างหน้า โดยในเวลานี้การส่งออกไปยังพื้นที่จีนตอนใต้เติบโตสวนกระแสการหดตัวของการส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในภาพรวม ทั้งการส่งออกผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 จ.เชียงราย ไปยังมณฑลหยุนหนานยังขยายตัวถึง 27.9% (YoY) เช่นเดียวกับช่องทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาวที่เปิดใช้งานมา 1 ปี มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 1,569 ล้านบาท เบื้องต้นมีสัดส่วน 1.3% ของการส่งออกผ่านแดนไปจีน จากที่ไม่เคยมีการขนส่งด้วยช่องทางนี้มาก่อน สินค้าที่น่าจับตา ได้แก่ ผลไม้ เครื่องสำอาง น้ำพริกปรุงรส เครื่องแกง มันสำปะหลัง ถั่ว ของแต่งบ้าน รวมถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกใหม่ที่น่าจับตา

– การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนตอนใต้สามารถส่งต่อสินค้าไปยังภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนได้อย่างรวดเร็วด้วยเครือข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพของจีน โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการบริโภคที่จีนผลิตไม่ได้และเป็นสินค้าที่เป็นจุดเด่นของไทย รวมถึงสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตในกลุ่มสินค้าที่ต้องใช้วัตถุดิบสำคัญของไทยอย่างยางพาราและเม็ดพลาสติก สามารถนำไปต่อยอดผลิตในมณฑลฉงชิ่งและเมืองเฉิงตู ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งของพื้นที่ตอนในเชื่อมโยงการขนส่งทั่วจีน และเชื่อมการขนส่งสินค้าไปยุโรป

อย่างไรก็ดี จากมาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดของจีนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และด้วยฐานการส่งออกที่สูงในปีก่อนหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปี 2565 แม้จะมีแรงส่งจากกำลังซื้อในช่วงเทศกาลปลายปี แต่ด้วยการส่งออกที่อ่อนแรงในช่วงที่ผ่านมาทำให้ทั้งปี 2565 การส่งออกผ่านแดนไทยไปจีนหดตัวที่ 25% มีมูลค่า 145,000 ล้านบาท

ในระยะต่อไปต้องจับตา การผ่อนปรนมาตรการโควิดเป็นศูนย์ที่เริ่มส่งสัญญาณบวก และแผนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่หันมาพึ่งพิงการบริโภคในประเทศมากขึ้น ท่ามกลางการส่งออกในภาพรวมไปจีนที่ไม่สดใสนัก แต่การกระจายการขนส่งไปยังเส้นทางการค้าผ่านแดนทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทยเพื่อส่งไปยังจีนตอนใต้น่าจะเป็นอีกช่องทางที่สร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปจีนยังพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ตอนในประเทศของจีนมากขึ้น

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Thai-China-lao-FB-13-12-2022.aspx

สื่อยอดนิยม CLMV แตกต่างจากไทย

โดย MI Group I Marketeer

CLMV คืออีกหนึ่งเป้าหมายที่แบรนด์ไทยต้องการไป แต่การไป CLMV ความท้าทายคือการเลือกใช้สื่อเข้าถึงผู้บริโภคในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียที่กลายเป็นสื่อที่มีความสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าสื่อ Traditional เพราะผู้บริโภคในแต่ละประเทศ มีพฤติกรรมในการเสพสื่อไม่เหมือนกัน

จากข้อมูลของ MI Group ทำให้เราเห็นว่าแม้เฟซบุ๊กจะเป็นโซเชียลมีเดียหลักที่คนแต่ละประเทศใน CLMV เสพ แต่ถ้ามองลึก ๆ ลงไปในสื่อโซเชียลอื่น ๆ พบว่าผู้บริโภคแต่ละประเทศเสพสื่อไม่เหมือนกัน อย่างเช่นในประเทศไทยโซเชียลมีเดียยอดนิยมประกอบด้วย Facebook  64.4%, IG  11.5%, TikTok 7.6%, LINE   7.0%

  • กัมพูชา : Facebook 6%, Telegram 23.3%, Messenger 5.9% และ TikTok 3.9%
  • สปป.ลาว : Facebook5%, YouTube 13.3%, TikTik 11.6% และ Messenger 4.6%
  • เมียนมา : Facebook 73.7%, Messenger 4.8%, TikTok 4.4% และ Telegram 5%
  • เวียดนาม : Facebook 74.1%, TikTok 9.2%, Messenger 6.3% และ IG 6.0%

อ่านต่อ : https://marketeeronline.co/archives/285391

เจาะลึกวิกฤตค่าเงินในสปป.ลาว และนัยต่อเศรษฐกิจไทย

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

 

สปป.ลาวกำลังเผชิญวิกฤตเงินกีบอ่อนค่ารุนแรง พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น

ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2022 ค่าเงินกีบอ่อนค่าทะลุระดับ 15,000 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงถึง 57% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และ 44% เมื่อเทียบกับเงินบาท นับจากเดือนกันยายน 2021 เป็นต้นมา และอ่อนค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค การอ่อนค่าของเงินกีบตามภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ประกอบกับการเร่งตัวของราคาน้ำมันและสินค้าต่าง ๆ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาอุปทานคอขวดโลกที่สปป.ลาวจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าในสัดส่วนสูง ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสปป.ลาวเร่งตัวขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัญหาการขาดแคลนสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันเป็นวงกว้าง

 

ต้นตอของวิกฤตในปัจจุบันมาจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง

พัฒนาการของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา เช่น การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวในประเทศเศรษฐกิจหลักได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสปป.ลาวที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงจากการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางการขาดดุลการคลังต่อเนื่อง ขณะที่ช่องทางการระดมทุนของสปป.ลาวเริ่มมีจำกัดและมีต้นทุนสูงขึ้น หลังถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับเก็งกำไร (Speculative grade) นอกจากนี้ สปป.ลาวมีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำท่ามกลางการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่าและเป็นความเสี่ยงต่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศและการนำเข้าสินค้าจำเป็นต่อไป

 

EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

ณ ปัจจุบัน แม้ระดับหนี้สาธารณะของสปป.ลาวจะเร่งตัวสูงขึ้นมากแต่ยังต่ำกว่าศรีลังกา และระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเทียบมูลค่านำเข้าและหนี้ต่างประเทศระยะสั้นยังสูงกว่า นอกจากนี้ สปป.ลาวยังมีช่องทางการระดมทุนที่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งจากการกู้ยืมเงินในตลาดพันธบัตรต่างประเทศ เช่น ตลาดไทย ซึ่งล่าสุดสปป.ลาวได้เปิดขายพันธบัตรวงเงินไม่เงิน 5,000 ล้านบาทในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่ทำกำไร และการส่งเสริมการลงทุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติและผลักดันการส่งออก ทั้งนี้นโยบายการคลังและการเงินในสปป.ลาวในช่วงที่ผ่านมา ได้เน้นการประคองเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและอาจทำให้เสถียรภาพในประเทศอ่อนแอลงอีก ในระยะต่อไป EIC ประเมินว่า สปป.ลาวควรเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งมีแนวโน้มเข้ามาช่วยเหลือเนื่องจากสปป.ลาวเป็นประเทศสำคัญสำหรับโครงการ Belt and Road Initiative ในภูมิภาคอาเซียน

 

ผลกระทบต่อไทยคาดว่าจะมีจำกัด แต่จะเป็นความเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังต่อไป

EIC คาดว่าผลกระทบต่อไทยจะมีผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ ภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนโดยตรงจากไทย และภาคการเงิน สำหรับภาคการส่งออกไทย ผลกระทบหลักจะมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสปป.ลาวและอุปสงค์ที่ลดลง แต่ในภาพรวมคาดว่าจะยังขยายตัวได้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สูงขึ้นซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก สำหรับนักท่องเที่ยวจากสปป.ลาว ความเสี่ยงหลักมาจากกำลังซื้อที่ลดลงตามเงินกีบที่อ่อนค่า แต่จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากไทยสู่สปป.ลาวในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำนั้น ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงการชำระค่าไฟจากสปป.ลาวที่อาจถูกเลื่อนออกไปซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในอนาคต ตลอดจนความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินในประเทศที่ถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่อาจมีความเปราะบางมากขึ้นในช่วงต่อไป อย่างไรก็ดี ในภาพรวมคาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากมีผู้ซื้อไฟฟ้าหลักคือไทย และมีการเซ็นสัญญา PPA เรียบร้อยแล้ว

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv_090822