สื่อยอดนิยม CLMV แตกต่างจากไทย

โดย MI Group I Marketeer

CLMV คืออีกหนึ่งเป้าหมายที่แบรนด์ไทยต้องการไป แต่การไป CLMV ความท้าทายคือการเลือกใช้สื่อเข้าถึงผู้บริโภคในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียที่กลายเป็นสื่อที่มีความสำคัญในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าสื่อ Traditional เพราะผู้บริโภคในแต่ละประเทศ มีพฤติกรรมในการเสพสื่อไม่เหมือนกัน

จากข้อมูลของ MI Group ทำให้เราเห็นว่าแม้เฟซบุ๊กจะเป็นโซเชียลมีเดียหลักที่คนแต่ละประเทศใน CLMV เสพ แต่ถ้ามองลึก ๆ ลงไปในสื่อโซเชียลอื่น ๆ พบว่าผู้บริโภคแต่ละประเทศเสพสื่อไม่เหมือนกัน อย่างเช่นในประเทศไทยโซเชียลมีเดียยอดนิยมประกอบด้วย Facebook  64.4%, IG  11.5%, TikTok 7.6%, LINE   7.0%

  • กัมพูชา : Facebook 6%, Telegram 23.3%, Messenger 5.9% และ TikTok 3.9%
  • สปป.ลาว : Facebook5%, YouTube 13.3%, TikTik 11.6% และ Messenger 4.6%
  • เมียนมา : Facebook 73.7%, Messenger 4.8%, TikTok 4.4% และ Telegram 5%
  • เวียดนาม : Facebook 74.1%, TikTok 9.2%, Messenger 6.3% และ IG 6.0%

อ่านต่อ : https://marketeeronline.co/archives/285391

เจาะลึกวิกฤตค่าเงินในสปป.ลาว และนัยต่อเศรษฐกิจไทย

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

 

สปป.ลาวกำลังเผชิญวิกฤตเงินกีบอ่อนค่ารุนแรง พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น

ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2022 ค่าเงินกีบอ่อนค่าทะลุระดับ 15,000 กีบต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงถึง 57% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และ 44% เมื่อเทียบกับเงินบาท นับจากเดือนกันยายน 2021 เป็นต้นมา และอ่อนค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค การอ่อนค่าของเงินกีบตามภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น ประกอบกับการเร่งตัวของราคาน้ำมันและสินค้าต่าง ๆ จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาอุปทานคอขวดโลกที่สปป.ลาวจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าในสัดส่วนสูง ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสปป.ลาวเร่งตัวขึ้น เกิดปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัญหาการขาดแคลนสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันเป็นวงกว้าง

 

ต้นตอของวิกฤตในปัจจุบันมาจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความเปราะบาง

พัฒนาการของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา เช่น การดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวในประเทศเศรษฐกิจหลักได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อสปป.ลาวที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงจากการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางการขาดดุลการคลังต่อเนื่อง ขณะที่ช่องทางการระดมทุนของสปป.ลาวเริ่มมีจำกัดและมีต้นทุนสูงขึ้น หลังถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับเก็งกำไร (Speculative grade) นอกจากนี้ สปป.ลาวมีระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำท่ามกลางการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เงินกีบอ่อนค่าและเป็นความเสี่ยงต่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศและการนำเข้าสินค้าจำเป็นต่อไป

 

EIC มองว่าสถานการณ์ในสปป.ลาวยังไม่รุนแรงเท่าศรีลังกา เนื่องจากปัจจุบันยังสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ และเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้

ณ ปัจจุบัน แม้ระดับหนี้สาธารณะของสปป.ลาวจะเร่งตัวสูงขึ้นมากแต่ยังต่ำกว่าศรีลังกา และระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเทียบมูลค่านำเข้าและหนี้ต่างประเทศระยะสั้นยังสูงกว่า นอกจากนี้ สปป.ลาวยังมีช่องทางการระดมทุนที่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งจากการกู้ยืมเงินในตลาดพันธบัตรต่างประเทศ เช่น ตลาดไทย ซึ่งล่าสุดสปป.ลาวได้เปิดขายพันธบัตรวงเงินไม่เงิน 5,000 ล้านบาทในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่ทำกำไร และการส่งเสริมการลงทุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติและผลักดันการส่งออก ทั้งนี้นโยบายการคลังและการเงินในสปป.ลาวในช่วงที่ผ่านมา ได้เน้นการประคองเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและอาจทำให้เสถียรภาพในประเทศอ่อนแอลงอีก ในระยะต่อไป EIC ประเมินว่า สปป.ลาวควรเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งมีแนวโน้มเข้ามาช่วยเหลือเนื่องจากสปป.ลาวเป็นประเทศสำคัญสำหรับโครงการ Belt and Road Initiative ในภูมิภาคอาเซียน

 

ผลกระทบต่อไทยคาดว่าจะมีจำกัด แต่จะเป็นความเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวังต่อไป

EIC คาดว่าผลกระทบต่อไทยจะมีผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ ภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนโดยตรงจากไทย และภาคการเงิน สำหรับภาคการส่งออกไทย ผลกระทบหลักจะมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสปป.ลาวและอุปสงค์ที่ลดลง แต่ในภาพรวมคาดว่าจะยังขยายตัวได้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่สูงขึ้นซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก สำหรับนักท่องเที่ยวจากสปป.ลาว ความเสี่ยงหลักมาจากกำลังซื้อที่ลดลงตามเงินกีบที่อ่อนค่า แต่จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากไทยสู่สปป.ลาวในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำนั้น ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงการชำระค่าไฟจากสปป.ลาวที่อาจถูกเลื่อนออกไปซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในอนาคต ตลอดจนความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินในประเทศที่ถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แต่อาจมีความเปราะบางมากขึ้นในช่วงต่อไป อย่างไรก็ดี ในภาพรวมคาดว่าจะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากมีผู้ซื้อไฟฟ้าหลักคือไทย และมีการเซ็นสัญญา PPA เรียบร้อยแล้ว

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/clmv_090822

ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติในไทย ไตรมาสที่ 2/2565

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (FBCI) ว่า จากการสำรวจหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย 12 ประเทศ ระหว่างเดือนเม.ย.-มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา หรือในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ในภาพรวมกว่า 60 % ของกลุ่มตัวอย่าง มีความคิดเห็นต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย สถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศไทย มุมมองต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย มุมมองต่อภาคบริการของประเทศไทย สภาพการจ้างงานในประเทศไทย และมุมมองต่อภาคการค้าระหว่างประเทศไทย (นำเข้า-ส่งออก) และมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าเมื่อเทียบกับปัจจุบันก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก มีเพียง สถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศไทย และมุมมองต่อภาคบริการของประเทศไทย ที่มีแนวโน้มดีขึ้น

ด้านประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่กลุ่มตัวอย่างต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ

  • ปัญหาเกี่ยวกับเงินเฟ้อและราคาพลังงาน ที่ส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการและกำลังซื้อของผู้บริโภค
  • การขาดทุนหมุนเวียนในการดาเนินธุรกิจของ SMEs และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่า (Soft Loan) ที่ยากลำบาก
  • ข้อจำกัดและมาตรการที่เข้มงวดในการรับมือโควิด-19 ส่งผลต่อความยากลำบากในการลงทุนและดำเนินธุรกิจ
  • สภาวะเศรษฐกิจซบเซาจากการระบาด COVID 19 และการปิดประเทศ
  • การว่างงานของแรงงานจากสถานการณ์ COVID 19 ส่งผลต่ออำนาจซื้อ
  • ทักษะแรงงานไม่สอดรับกับความต้องการของผู้ประกอบการ

ขณะที่ผลการสำรวจด้านธุรกิจในภาพรวมในปัจจุบันเพื่อเทียบกับปีก่อนพบว่าส่วนใหญ่ ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งรายได้ของธุรกิจ   ราคา สินค้า / บริการ ของธุรกิจ  คำสั่งซื้อ สินค้า / บริการ ภายในประเทศ คำสั่งซื้อ สินค้า / บริการ ต่างประเทศ คาสั่งซื้อ สินค้า / บริการ โดยรวมของธุรกิจ ผลกำไรของธุรกิจสมาชิก การลงทุนในธุรกิจของสมาชิก สภาพการจ้างงานของธุรกิจ สภาพคล่องของธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจ และภาระหนี้สินของธุรกิจ มีเพียงค่าใช้จ่ายโดยรวมของธุรกิจ เท่านั้นที่อยู่ในระดับแย่ลง ส่วนสถานการณ์ในด้านต่าง ๆ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าเมื่อเทียบกับปัจจุบัน พบว่า ไม่เปลี่ยนแปลง ในทุกๆ ประเด็น

โดยประเด็นปัญหาของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่คือ

  • ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ จากต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้น อาทิเช่น ค่าขนส่ง ค่าเงินที่ผันผวน ภาระทางภาษี และการขาดแรงงานในการผลิต
  • ตลาดซบเซา คำสั่งซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศลดลง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางด้านคำสั่งซื้อ
  • ค่าเงินบาทไม่ค่อยมีความเสถียรภาพ
  • ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงควบคุมไม่ได้
  • ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันทางการเงินได้ รวมถึงขาดการสนับสนุนจากทางภาครัฐ
  • ธุรกิจคู่ค้าส่วนใหญ่ปิดตัวลงเป็นการชั่วคราวหรือถาวร ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

จากผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศภาพรวมในไตรมาส 2 ปี 2565 อยู่ที่ 50.0 เท่ากับการสำรวจครั้งล่าสุดในไตรมาส 1 ปี 2564.1 และทุกดัชนีทั้งปัจจุบันและอนาคตอยู่ในระดับมากกว่า 50 นั่นแสดงว่าภาพรวมของเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น จากการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว และการคลี่คลายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVIID-19  การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาน์ และการยกเลิก Test & Go ตั้งแต่  1  พฤษภาคม 2565 ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่ 1 มิถุนายนนี้ จะมีการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ การเดินทางเข้าประเทศไทยไม่ต้องกักตัวทุกรูปแบบ

สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลไทยสนับสนุนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน คือ

  • ควบคุมราคาสินค้า เพื่อบรรเทาปัญหาภาวะเงินเฟ้อ
  • ควบคุมราคาสินค้า เพื่อบรรเทาปัญหาภาวะเงินเฟ้อ
  • สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลงทนเพื่อดึงดูดนักลงทุนในประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ
  • กำหนดมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  • นโยบายให้เงินอุดหนุน ค่าจ้าง ค่าเช่า ฯลฯ ต่อภาคธุรกิจและ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน เพื่อแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ

  • ลดหย่อนหรือยกเว้นการเก็บภาษีทุกรูปแบบ ต่อผู้ได้รับผลกระทบ
  • จัดแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิเช่น มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
  • สร้างเสถียรภาพทางการเมือง ลดขั้นตอนในการดำเนินงาน ภายใต้ประสิทธิภาพ
  • สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสาหรับนักธุรกิจชาวต่างชาติ
  • สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สนับสนุนซอฟต์โลน และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ แก่ผู้ประกอบการที่ได้ผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั้งธุรกิจไทยและต่างประเทศ
  • ปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (FBA) ให้มีความทันสมัย เอื้อต่อการลงทุน รวมถึงกระบวนการขอ Visa และ Work Permit ง่ายขึ้น

ในขณะที่ ทัศนคติต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน พบว่า ความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของ COVID 19 ของนักธุรกิจอยู่ในระดับน้อย (ร้อยละ 39.6) เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลง ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปี 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 พบว่า จะมีการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ในช่วง 2.1  ถึง 5.0% (ร้อยละ 60.0)

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3T80VNL

10 ธุรกิจเด่น ครึ่งปีหลัง 2565

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมสภา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ร่วมกับ อาจารย์วชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าผลสำรวจ การจัดอันดับ 10 ธุรกิจดาวรุ่ง ครึ่งปีหลัง 2565
10 ธุรกิจที่มาแรงสุดคือ
1.ธุรกิจการแพทย์และความงาม และธุรกิจ e-commerce (ธุรกิที่ทำการซื้อขายผ่านอิเล็กทรอนิกส์)ยังคงเป็นธุรกิจดาวรุ่งต่อเนื่อง
2.ธุรกิจ แพลตฟอร์ม (ธุรกิจตัวกลางหรือตลาดกลางด้าน อิเล็กทรอนิกส์)และธุรกิจโลจิสติกส์ delivery และคลังสินค้ำ
3.ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต และธุรกิจอาหารเสริมและสุขภาพ
4.ธุรกิจ E-Sports และธุรกิจ Social Media และ Online Entertainment
5.ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจ youtuber influencer และการรีวิวสินค้าและ ธุรกิจ Media ธุรกิจสื่อโฆษณา
6.ธุรกิจเวชภัณฑ์ยา ธุรกิจการขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และ ทางการแพทย์ และธุรกิจธุรกิจด้าน fintech และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี และธุรกิจงานคอนเสิร์ต มหกรรมจัดแสดงสินค้ำ ธุรกิจ event
7.ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ และธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน
8.ธุรกิจ Modern Trade/ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และธุรกิจสมุนไพรไทย เช่น กัญชง กัญชา ใบกระท่อม
9.ธุรกิจสถานบันเทิงและธุรกิจยานยนต์
10.ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์แนวราบและธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ทัวร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
ส่วน 10 ธุรกิจดาวร่วงนั้นนำโดย
1.ธุรกิจผลิตโทรศัพท์พื้นฐานและครื่องโทรสาร
2.ธุรกิจฟอกย้อม
3.ธุรกิจหัตถกรรมที่ไม่มีการออกแบบและราคาถูก
4.ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ และวารสาร
5.ธุรกิจรับส่งสื่อสิ่งพิมพ์ตามบ้านและสถานที่ทำงาน
6.ธุรกิจโรงพิมพ์/การพิมพ์ เช่น หนังสือ แผ่นพับ
7.ธุรกิจคนกลางและธุรกิจผลิตและขายต้นไม้/ดอกไม้ประดิษฐ์
8.ธุรกิจ call center และธุรกิจเครื่องปั้นดินเผา และเซรามิก
9.ธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ไร้ฝีมือ หรือเสื้อผ้าโหล
10.ธุรกิจร้านเช่าหนังสือ ขายหนังสือ และธุรกิจร้านถ่ายรูป
สำหรับการจัดอันดับของธุรกิจดังกล่าวนำข้อมูลมาจากจากข้อมูลปฐมภูมิ ด้วยการสำรวจผู้ประกอบการรายสาขา สถานภาพธุรกิจไทย ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ รวมถึงข้อมูลทุติยภูมิต่างๆ เช่น ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออก, ข้อมูลสินเชื่อธนาคารพาณิชย์, ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม, ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ได้มีเกณฑ์การให้คะแนนธุรกิจใน 5 ด้านรวม 100 คะแนน ประกอบด้วย ยอดขาย ต้นทุน กำไรสุทธิ ผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงและการแข่งขัน ความต้องการ-กระแสนิยม
ที่มา: https://bit.ly/3OweGUg

ทิศทางการส่งออกไทยในปี 2022 ท่ามกลางความเสี่ยงจากภาวะสงคราม

โดย วิชาญ กุลาตี I ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

ตัวเลขการส่งออกสินค้าของไทยในช่วงสองเดือนแรกของปี 2022 สะท้อนถึงโมเมนตัมการขยายตัวที่ดีต่อเนื่อง จากการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าโลก ตามความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของนานาประเทศ รวมถึงการผลิตเพื่อส่งออกกลับมาได้อย่างเป็นปกติมากยิ่งขึ้น หลังจากที่โรงงานบางส่วนต้องหยุดการผลิตลงชั่วคราวเพื่อควบคุมโรคในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลตา

 

อย่างไรก็ตาม สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ปะทุขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในเดือนมีนาคม และคาดว่าผลกระทบทั้งทางตรงจากการส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน และทางอ้อมจากสถานการณ์สงครามที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงนั้น จะรุนแรงมากยิ่งขึ้นในระยะถัดไป แต่ EIC มองว่าความเสี่ยงดังกล่าวก็ยังสร้างโอกาสต่อธุรกิจส่งออกไทยในบางด้านด้วยเช่นกัน

 

ผลกระทบทางตรงมีอยู่จำกัด

การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนหดตัวมากถึง 73% และ 77.8% ในเดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และอาจรุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้าตามช่องทางการค้า การชำระเงิน และการขนส่งที่ถูกปิดกั้นมากขึ้น

แต่ผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยจากการส่งออกยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากไทยส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครนเป็นสัดส่วนน้อยและไม่ได้มีสินค้าส่งออกสำคัญใดที่พึ่งพาตลาดรัสเซียและยูเครนมากเป็นพิเศษ โดยในปี 2021 มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปรัสเซียและยูเครนอยู่ที่ราว 1,028 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นเพียง 0.38% และ 0.05% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย ตามลำดับ

 

แต่ผลกระทบทางอ้อมรุนแรงกว่า

แม้ผลกระทบทางตรงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะมีอยู่อย่างจำกัดจากที่ได้กล่าวมา แต่อาจสร้างผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกสินค้าของไทยได้ โดยมี 2 ช่องทางที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาคอขวดอุปทาน

ช่องทางแรก ภาวะสงครามจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่อยู่ประชิดด่านหน้าของความขัดแย้ง โดย EIC คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกและยุโรปจะขยายตัวได้เพียง 3.4% และ 2.7% ตามลำดับ ต่ำกว่าประมาณการเดิมในช่วงก่อนสงคราม

ช่องทางที่สอง ปัญหาอุปทานคอขวดอาจรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในภาคส่งออกหลักของไทยที่พึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

สงครามในยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่มีอยู่เดิมจากวิกฤติโควิดมีแนวโน้มคลี่คลายช้าลงกว่าที่คาด เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกแร่ธาตุ โลหะอุตสาหกรรม และโภคภัณฑ์หลักของโลก โดยเฉพาะวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์อย่างก๊าซนีออนและแพลเลเดียม

 

การส่งออกของไทยบางส่วนได้รับอานิสงส์จากสงคราม

ท่ามกลางผลกระทบจากภาวะสงคราม ส่งออกไทยได้รับอานิสงส์สนับสนุนการขยายตัวของส่งออกในปี 2022 อย่างน้อยจาก 3 ปัจจัย ซึ่งอาจสามารถชดเชยผลกระทบในทางลบได้ โดยเฉพาะจากปัจจัยทางด้านราคาสินค้าส่งออก

ปัจจัยแรก ราคาสินค้าส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นและสามารถชดเชยการชะลอตัวในด้านปริมาณ ภาวะสงครามและมาตรการคว่ำบาตรทำให้รัสเซียและยูเครนไม่สามารถส่งออกพลังงานและโภคภัณฑ์ทางการเกษตรหลายชนิด เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด น้ำมันทานตะวัน ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยโพแทสเซียม ที่ตนเองเป็นผู้ส่งออกหลักของโลก ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าต่าง ๆ ในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น สินค้าส่งออกของไทยโดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมถึงผลผลิตทางการเกษตร จึงมีแนวโน้มจะเติบโตดีในด้านราคาส่งออกเป็นสำคัญ

ปัจจัยที่ที่สอง สินค้าส่งออกไทยบางประเภทสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดได้ จากการทดแทนสินค้าส่งออกของรัสเซียและยูเครนในตลาดโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่สินค้าส่งออกไทยหลายประเภทมีส่วนแบ่งตลาดในยุโรปในระดับที่ดีและแข่งขันได้ เช่น ยางสังเคราะห์ ไม้อัด ปลาแช่แข็ง ฟอสฟิเนต รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับคาร์โบไฮเดรตที่อาจนำมาทดแทนข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวโพดของรัสเซียและยูเครน เป็นต้น

ปัจจัยสุดท้าย เงินบาทที่อ่อนค่าสนับสนุนรายได้ของผู้ส่งออกไทยและอาจช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน นับตั้งแต่เกิดสงครามค่าเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค โดย EIC คาดเงินบาทในระยะสั้นจะเผชิญแรงกดดันจากความต้องการถือสินทรัพย์เสี่ยงที่ลดลง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น และการขึ้นดอกเบี้ยของหลายประเทศสำคัญทั่วโลก ก่อนจะกลับมาแข็งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ภาคส่งออกไทยจึงจะได้รับประโยชน์จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ซึ่งจะแปรเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจส่งออกไทย

 

ในภาพรวม EIC ยังคงคาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2022 ยังขยายตัวได้ดีที่ 6.1% แต่การขยายตัวเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นตามต้นทุน โดยเฉพาะในหมวดพลังงานเป็นหลักและมากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวในอัตราที่เร่งตัวกว่ามากที่ 13.2%

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/8248

วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน และผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2565

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

นอกจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่แล้ว วิกฤตรัสเซีย-ยูเครนยังส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านราคาพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ทั้งที่เป็นโลหะอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิต ให้เร่งตัวขึ้น

.

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบแบ่งออกเป็นสองกรณี คือ กรณีฐาน ที่การปะทะสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จำกัดอยู่ในบางพื้นที่ของประเทศยูเครน แต่ข้อตกลงร่วมกันคงยังไม่เกิดขึ้นในปีนี้ และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกและสหรัฐฯ ต่อรัสเซียจะคงอยู่ไปตลอดทั้งปีนี้นั้น คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบมีค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ 105 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล และจีดีพีขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ส่วนในกรณีดีนั้น คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีไว้ที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งเกิดขึ้นบนสมมติฐานที่รัสเซีย-ยูเครนหาทางออกร่วมกันได้เร็วกว่าที่กำหนด หรือภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อันทำให้ราคาน้ำมันดิบอาจย่อตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง และทำให้ค่าเฉลี่ยน้ำมันทั้งปี 2565 อยู่ที่ 90 ดอลลาร์ฯ

.

ส่วนผลกระทบต่อธุรกิจไทย นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ มองว่า ปัจจัยรัสเซีย-ยูเครน กระทบต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นมูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาท โดยผลกระทบส่วนใหญ่ตกอยู่กับภาคธุรกิจ ซึ่งจะถูกกระทบแตกต่างกันตามสัดส่วนการใช้วัตถุดิบและความสามารถในการปรับตัว ขณะที่ผลกระทบบางส่วนตกอยู่กับผู้บริโภค ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบผ่านการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรป ซึ่งแม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยรวมในปี 2565 อาจแตะ 4 ล้านคน แต่การใช้จ่ายจะลดลงราว 5 หมื่นล้านบาทจากกรณีที่ไม่มีสงคราม นอกจากนี้ ภาคการบริการอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่เพียงแต่ต้นทุนที่ขยับขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้นของผู้บริโภค ยังวนกลับมากดดันยอดขายภาคธุรกิจอีกด้วย ทำให้ในภาพรวมแล้วประเมินตัวเลขการขยายตัวของธุรกิจในกลุ่มรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ค้าปลีก และร้านอาหาร น้อยลงจากรณีไม่มีสงคราม

.

ด้านนางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ระบุเพิ่มเติมว่า แม้การคว่ำบาตรทางการเงินของประเทศมหาอำนาจในโลกต่อรัสเซีย จะมีผลกระทบทางตรงที่จำกัดตามปริมาณการค้าระหว่างรัสเซีย-ยูเครนกับไทย แต่จุดติดตามจะอยู่ที่สถานการณ์ที่ยังไม่นิ่ง ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนไหวของตลาดการเงินผันผวนต่อเนื่อง และต้นทุนการระดมทุนมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากความไม่แน่นอนที่ยังอยู่และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด โดยภายในปี 2565 จะมีตราสารหนี้ภาคเอกชนที่รอครบกำหนดอีกกว่า 7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ลูกค้าที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก คงต้องได้รับการดูแลเพิ่มเติมในแง่ของวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนเพิ่มเติมในรายที่ยังประคองคำสั่งซื้อไว้ได้ รวมถึงประเด็นปรับโครงสร้างหนี้และคุณภาพหนี้ ซึ่งรวมแล้ว สินเชื่อธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากต้นทุนน้ำมันและวัตถุดิบอาหารที่เพิ่มขึ้น จะมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 4-5 ของพอร์ตสินเชื่อรวม ขณะที่ ประเมินภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งปีนี้ที่ร้อยละ 4.5 ในกรณีฐาน

.

อ่านต่อ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/KR-Press-25-mar-2022.aspx

EIC CLMV Outlook Q1/2022

โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)

EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2565 ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นเทียบกับปี 2564 จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 การทยอยเปิดพรมแดนตามอัตราการฉีดวัคซีนในภูมิภาคที่สูงขึ้น และภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยประมาณการว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 4.8%, สปป.ลาว 4.0%, เมียนมา 0.5% และเวียดนาม 6.5% ในปีนี้

 

ในปี 2564 เศรษฐกิจ CLMV ฟื้นตัวได้อย่างจำกัดแม้จะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยมีปัจจัยกดดันจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ซึ่งเป็นการระบาดระลอกที่รุนแรงที่สุดและนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้น ขณะเดียวกัน เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจเมียนมาหดตัวอย่างรุนแรงและทวีผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจ CLMV ได้เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาส 4 จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลง (สู่หลักร้อยต่อวันในทุกประเทศยกเว้นเวียดนาม) โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากอัตราการฉัดวัคซีนที่สูงขึ้น (กัมพูชาฉีดครบโดสแล้ว 81.8% ของประชากร, สปป.ลาว 58.7%, เมียนมา 38.4% และเวียดนาม 78.5% ณ วันที่ 2 มีนาคม 2565) และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ตามการเปลี่ยนนโยบายไปเป็นการใช้ชีวิตร่วมกับ COVID-19 อย่างปลอดภัย ขณะที่ภาคการส่งออกก็กลับมาขยายตัวสูงอีกครั้งหลังการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลง นอกจากนี้ บางประเทศ เช่น กัมพูชาและเวียดนาม ได้เริ่มมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว หรือลดเวลาการกักตัวลง หากได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว EIC มองว่ามาตรการควบคุม COVID-19 ในเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2565 จะผ่อนคลายกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่ออุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่อุปสงค์จากนอกประเทศจะมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่อเนื่องและการเปิดพรมแดนต้อนรับนักท่องเที่ยว

 

อุปสงค์ภายในประเทศของเศรษฐกิจ CLMV คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ แต่จะยังเผชิญปัจจัยกดดันจากแผลเป็นทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงรายประเทศ ข้อมูลจาก Google Mobility ซึ่งแสดงถึงภาวะกิจกรรมของประชากรไปร้านค้าปลีกและสถานที่นันทนาการ (Retail and Recreation) ฟื้นตัวในเกือบทุกประเทศยกเว้นเมียนมา สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การจ้างงานในกลุ่มประเทศ CLMV คาดว่าจะทยอยเพิ่มสูงขึ้นตามภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ฟื้นตัวโดยเฉพาะในภาคการบริการ โดยล่าสุดอัตราการว่างงานในประเทศเวียดนามลดลงสู่ระดับ 3.6% ในไตรมาส 4 ปี 2564 จาก 4.0% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกสำหรับการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ไทยก็มีแนวโน้มเปิดรับแรงงานต่างด้าวมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การส่งเงินกลับ (Remittances) กลุ่มประเทศ CLMV สูงขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ความเร็วในการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสถานะทางการคลังและสถานการณ์ภายในประเทศ โดย EIC คาดว่า กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีสถานะทางการคลังแข็งแรงเพียงพอ จะสามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มเติม ล่าสุดกัมพูชาได้ขยายเวลามาตรการสนับสนุนเงินเยียวยาครัวเรือนไปถึงเดือนกันยายน 2565 ขณะที่เวียดนามได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4% ของ GDP ซึ่งจะเบิกจ่ายในระหว่างปี 2565-2566 ขณะที่สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งเผชิญข้อจำกัดทางการคลังจะไม่สามารถออกมาตรการที่เพียงพอสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะเมียนมาซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวได้ช้าที่สุดเนื่องจากวิกฤตทางการเมืองในประเทศและมาตรการคว่ำบาตร (Sanctions) จากชาติตะวันตก อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศยังคงมีอยู่จากแผลเป็นทางเศรษฐกิจจากช่วง COVID-19 เช่น อัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนการระบาด COVID-19 ที่อาจปรับลดลงอย่างช้า ๆ เนื่องจากแรงงานบางกลุ่มได้ย้ายงานไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นในช่วงการระบาด และระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น

 

ด้านภาคต่างประเทศ EIC คาดว่าการส่งออกของเศรษฐกิจ CLMV จะขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลงในปีนี้ ขณะที่การค้าชายแดนและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จะได้รับอานิสงส์จากการเปิดพรมแดน ภาคการส่งออกคาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการคลี่คลายของปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและการเปิดด่านค้าชายแดนเพิ่มเติม ขณะที่อุปสงค์ต่อสินค้า CLMV ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ต่อสินค้ากลุ่ม New Normal เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูง เวียดนามคาดว่าจะได้รับผลประโยชน์จากปัจจัยนี้มากที่สุด เนื่องจากเป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติต่าง ๆ ซึ่งเกื้อหนุนให้การส่งออกเวียดนามขยายตัวถึง 19.0%YOY ในไตรมาส 4 ปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนใหม่จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) ที่เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนกับประเทศคู่ค้า ทั้งนี้การขยายตัวของการส่งออกโดยรวมคาดว่าจะชะลอลงจากปีที่แล้วตามฐานที่สูงขึ้น และยังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนหรือสายพันธุ์ใหม่อื่น ๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจนำไปสู่การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานอีกรอบได้ ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามประเทศเศรษฐกิจหลักในภูมิภาคที่ฟื้นตัวและการเปิดประเทศต้อนรับผู้เดินทางโดยไม่ต้องกักตัว RCEP จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นการลงทุนในภูมิภาค โดยเฉพาะในธุรกิจที่จะได้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากจีนภายใต้ Belt and Road Initiative ในประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ตัวอย่างเช่น โครงการรถไฟสปป.ลาว-จีน (เวียงจันทน์-บ่อเต็น) ที่แล้วเสร็จและเปิดให้บริการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ขณะที่เวียดนามยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่องจากที่ตั้งที่ติดจีน กำลังแรงงานที่มีจำนวนมากและยังอายุน้อย และสนธิสัญญาการค้าเสรีกับหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ภาครัฐของกลุ่มประเทศ CLMV มีแนวโน้มที่จะเสนอสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติม โดยกัมพูชาได้ออกกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ในปีที่ผ่านมา เพื่อลดอุปสรรคต่อการลงทุน ขณะที่เวียดนามได้ออกสิทธิพิเศษทางภาษีชุดใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบล่าสุด ทั้งนี้การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเมียนมาคาดว่าจะเป็นไปได้อย่างจำกัดตามการชะงักงันในหลายภาคเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ลดลงจากการคว่ำบาตรจากนานาชาติและความเสี่ยงต่อภาพลักษณ์องค์กร

 

จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ากลุ่มประเทศ CLMV จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในปีนี้ โดยจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ในช่วงครึ่งแรกของปี EIC คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังคงซบเซาเนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนและมาตรการกักตัวที่ยังคงมีอยู่ เช่น เวียดนามบังคับกักตัว 3 วัน แม้จะได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว หรือลาวที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศผ่านการจองกรุ๊ปทัวร์เท่านั้น ในช่วงครึ่งปีหลัง EIC มองว่ามาตรการเหล่านี้จะผ่อนคลายขึ้นตามอัตราการฉีดวัคซีนที่ทยอยเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความกังวลเรื่องสายพันธุ์โอมิครอนที่ลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในภูมิภาคเพิ่มขึ้น ในบรรดากลุ่มประเทศ CLMV กัมพูชาเป็นประเทศแรกที่เปิดประเทศโดยไม่ต้องกักตัวสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 ขณะที่เวียดนามเตรียมจะเปิดประเทศในกลางเดือนมีนาคม โดยมีเงื่อนไขว่านักท่องเที่ยวยังต้องกักตัวหนึ่งวันเพื่อรอผลตรวจเชื้อ ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะยังคงอยู่ต่ำกว่าก่อนการระบาดอยู่มาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับ CLMV เนื่องจากจีนมีแนวโน้มที่จะยังไม่อนุญาตให้ประชากรของตนเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้ภายในปีนี้

 

ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ CLMV ที่ต้องจับตามองในปี 2565 ได้แก่

1) สถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนหรือสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

2) อัตราการฉีดวัคซีนที่ยังค่อนข้างต่ำในสปป. ลาวและเมียนมา

3) เศรษฐกิจโลกที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด ท่ามกลางความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่มีความเชื่อมโยงสูงกับเศรษฐกิจ CLMV

4) ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นและกระทบกำลังซื้อผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินของเศรษฐกิจ CLMV กำลังอ่อนค่า

5) เสถียรภาพทางการคลังและการเงินในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในสปป.ลาว และเมียนมา ที่มีภาระหนี้สาธารณะสูงเทียบกับการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ท่ามกลางภาวะการเงินโลกที่จะตึงตัวขึ้นในปีนี้ นอกจากนี้ ปัจจัยเฉพาะประเทศก็ยังคงมีความสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ เช่น สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในเมียนมาที่ยังยืดเยื้อ ซึ่งจะส่งผลให้การฟื้นตัวในเกือบทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างจำกัด

 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ CLMV จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านการส่งออกที่สูงขึ้น และเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจไทยในการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน การส่งออกไทยไปยัง CLMV คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในอัตราที่ชะลอลงโดยมีปัจจัยใหม่ที่ต้องจับตามอง ได้แก่ โอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนผ่านทางรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ซึ่งคาดว่าจะลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งได้สูง และการเปิดด่านค้าชายแดนเพิ่มเติม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะเปิดเพิ่ม 12 ด่านในปีนี้ อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงการเลื่อนการเปิดด่านค้าชายแดนออกไปหากยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 เร่งตัวขึ้นอีกครั้ง การลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคและมาตรการเปิดรับนักเดินทางโดยไม่ต้องกักตัว โดยเวียดนามคาดว่าจะเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการลงทุนจากไทยสูงสุดต่อไป ขณะที่การลงทุนในเมียนมาจะซบเซาอย่างมากจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ CLMV คาดว่าจะทยอยเดินทางเข้าไทยมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อสถานการณ์การระบาดสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มคลี่คลาย หากไทยสามารถทำข้อตกลงจับคู่การเดินทางระหว่างประเทศ (Travel Bubbles) กับประเทศในกลุ่ม CLMV ได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกต่อภาคการท่องเที่ยวไทยในปีนี้โดยเฉพาะผู้เดินทางผ่านด่านชายแดน อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายที่สูงในการตรวจเชื้อ COVID-19 และการทำประกันการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ CLMV สำหรับสถานการณ์แรงงานต่างด้าวจาก CLMV ในปีนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามโอกาสการจ้างงานในไทยที่สูงขึ้น มาตรการกักตัวที่คาดว่าจะผ่อนคลายลง และนโยบายการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยการจ้างแรงงานจากประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาในไทยซบเซาต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ที่ประมาณ 2.16 ล้านคน ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ที่ประมาณ 2.7 ล้านคน ซึ่งหากปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวยังยืดเยื้อต่อไป อาจนำไปสู่ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และกระทบต่อผลประกอบการธุรกิจไทยในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

ที่มา :

/1 https://www.scbeic.com/th/detail/product/8153

/2 http://www.acnews.net/detailnews.php?news_id=N256562334

ผลกระทบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากมีการจัดเก็บ 100% ต่อภาคธุรกิจไทย ครั้งที่ 2

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจผลกระทบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ครั้งที่ 2 หากมีการจัดเก็บ 100% ต่อภาคธุรกิจไทย จากกลุ่มตัวอย่างหอการค้าจังหวัดและสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ ผลการศึกษา พบว่า

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า หากมีการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างิ ในอัตราปกติ (100%) ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 90.6) ส่งผลให้ต้องเสียภาษีโดยรวมต่ำกว่า 1 แสนบาท (ร้อยละ 32.) และเมื่อพิจารณาภาษีที่ถูกจัดเก็บ คิดเป็นสัดส่วน 1-20% เมื่อเทียบกับรายได้ของธุรกิจ (ร้อยละ 73.7) โดยมีค่าฉลี่ยอยู่ที่ 15.2%

ด้านแนวทางในการรับมือหรือปรับตัวหากภาครัฐจะกลับมาเก็บภาษีฯ ในอัตราปกติ (100%) คือ

  • ควบคุมและลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ อาทิเช่น ลดการจ้างงาน ลดต้นทุนในการผลิตลง ตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
  • พิจารณาปรับเพิ่มราคาสินค้า/บริการให้สอดรับกับต้นทุนที่อาจจะเพิ่มขึ้น
  • ปรับแผนการในการดำเนินธุรกิจ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
  • ชะลอการขยายธุรกิจ การลงทุน ในระยะสั้นไปก่อน และอาจจะพิจารณาเลิกกิจการหรือปิดกิจการเป็นการชั่วคราว l

ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ คือ

  • ขยายการลดหย่อนภาษีออกไปอีก 1-2 ปี หรือจนกว่าเศรษฐกิจและธุรกิจจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
  • ปรับปรุงเงื่อนไขในการจัดเก็บภาษี โดยพิจารณาอ้างอิงจากประเภทธุรกิจ รวมถึงรายได้ของธุรกิจมาคำนวณในการจัดเก็บ เพื่อความเป็นธรรม
  • อยากให้จัดเก็บเป็นรูปแบบขั้นบันได ให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น ทยอยเก็บเพิ่มขึ้นปีละ 5-10%
  • ออกนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการ โรงแรม/บ้านเช่า/หอ/อพาร์ตเมนต์ ที่อยู่ในวงจรธุรกิจให้เช่าที่พักอาศัย
  • ไม่ควรจัดเก็บหรือทำการปรับขึ้นในสภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย                                                        เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3fNBRNJ

ผลกระทบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากมีการจัดเก็บ 100% ต่อภาคธุรกิจไทย ครั้งที่ 1

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจผลกระทบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ครั้งที่ 1 หากมีการจัดเก็บ 100% ต่อภาคธุรกิจไทย จากกลุ่มตัวอย่างภาคธุรกิจทั่วประเทศ จำนวน 1,252 ราย ผลการศึกษา พบว่า

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลยกเลิกการลดหย่อน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่อัตรา 90% ในปี 2565 ( ร้อยละ 84.1)  หากมีการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างิ ในอัตราปกติ (100%) จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 88.1) เมื่อรัฐบาลมีการยกเลิกการลดหย่อนภาษีฯ จะส่งผลกระทบโดยรวมต่อธุรกิจโดยรวมต่ำกว่า 5 แสนบาท (ร้อยละ 69.5) จากสถานการณ์ปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างคิดว่าไม่เหมาะสมที่ภาครัฐจะดำเนินการจัดเก็บภาษีฯ ในอัตราปกติ (100%) (ร้อยละ 92.2) เหตุเพราะว่าสภาวะเศรษฐกิจยังไม่กลับสู่ภาวะปกติและมีความเปราะบาง(ร้อยละ 44.2) ส่วนเวลาที่เหมาะสมแก่การที่ภาครัฐจะกลับมาเก็บภาษีฯ ในอัตราปกติ (100%) พบว่าไม่สามารถคาดการณ์ได้ (ร้อยละ 62.8) ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน มาตรการหรือความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต้องการได้รับมากที่สุดคือ ขยายกรอบระยะเวลาการลดหย่อนภาษีฯ  (ร้อยละ 30.2) หากภาครัฐขยายกรอบระยะเวลาในการยกเว้นการจัดเก็บภาษีฯ ออกไปในปี 2565-66 กลุ่มตัวอย่างจะนำเงินในส่วนที่จะต้องชำระภาษี ไปใช้รักษาสภาพคล่องของธุรกิจ (ร้อยละ 27.5) สิ่งที่อยากให้ภาครัฐดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขในกระบวน การจัดเก็บภาษีฯ  คือ หลักเกณฑ์ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน (ร้อยละ 23.0) หากจำเป็นต้องปรับอัตราภาษีฯ ในอัตราปกติ (100%) กลุ่มตัวอย่างเห็นว่ารัฐบาลควรลดอัตราภาษีลง เพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ (ร้อยละ 32.0) และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีฯ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ คือ ลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระแก่ธุรกิจ (ร้อยละ 40.4)

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย                                 เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3MfXiTD

 

 

คว้าโอกาสให้การค้าไทย จากรถไฟจีน-ลาว

โดย ศุทธาภา นพวิญญูวงศ์ สิรีธร จารุธัญลักษณ์ และอภิชญาณ์ จึงตระกูล

สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกบทความ “คว้าโอกาสให้การค้าไทย จากรถไฟจีน-ลาว” โดยให้มองว่า รถไฟจีน-ลาวที่ได้เปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 4 ด้าน ได้แก่ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการขนส่ง1 ทั้งนี้ การค้าจะเป็นด้านแรกที่ได้รับโอกาสและผลกระทบ จากการทะลักของสินค้าขาเข้าได้ทันที

นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะทำให้การขนส่งสินค้าข้ามแดนไทย-จีนผ่านภาคอีสานทางบกมีบทบาทสำคัญมากขึ้น จากเดิมการขนสินค้าผ่านทางถนนก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่แล้ว จากประมาณร้อยละ 8 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 12 ในปี 25642 และหากมีเส้นทางรถไฟเข้ามาจะทำให้การขนส่งสินค้าเร็วกว่าทางถนนมากยิ่งขึ้น นับว่าเป็นทางเลือกที่ช่วยกระจายความเสี่ยงด้านการขนส่งได้

ดังนั้น เส้นทางรถไฟนับว่าเป็นการเปิดประตูการขนส่งเส้นทางใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดโอกาสของการค้าข้ามแดนระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย-ลาว-จีน มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับมณฑลยูนนาน บทความนี้นำเสนอการวิเคราะห์ผลกระทบของการเปิดเส้นทางการขนส่งใหม่เส้นนี้ต่อภาคการค้าของไทยกับจีน รวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ในการแข่งขันบนเส้นทางที่ท้าทายนี้

โอกาสและความท้าทาย : เบื้องต้นไทยจะเผชิญกับความท้าทายของสินค้านำเข้าจากจีน แต่ในทางกลับกันไทยก็มีโอกาสในการขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดมายังมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นปลายทางรถไฟ จากเดิมที่สินค้าไทยส่วนใหญ่จะนิยมขนส่งไปทางจีนตะวันออกผ่านเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางถนน รวมถึงมณฑลกวางตุ้งและอื่น ๆ ทางเรือ

ด้านการนำเข้า : ไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากสินค้านำเข้าของจีนที่จะมีมากกว่าสินค้าส่งออกจากไทย ซึ่งสินค้าจากจีนจะเข้ามาไทยผ่านทางรางเพิ่มขึ้น จากที่ไม่เคยขนส่งผ่านทางรางมาก่อน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มวัตถุดิบต่าง ๆ และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ

อย่างไรก็ดี ไทยสามารถคว้าโอกาสจากการเข้ามาของสินค้ากลุ่มนี้ได้ เนื่องจากการขนส่งผ่านทางรางทำให้ต้นทุนทั้งระยะเวลาและค่าขนส่งถูกลง ดังนี้ กลุ่มวัตถุดิบต่าง ๆ และกลุ่มผลผลิตทางการเกษตร และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ

ด้านการส่งออก : ไทยมีโอกาสในการส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดไปยังมณฑลยูนนาน รวมทั้งมณฑลใกล้เคียง โดยระยะแรกคาดว่าสินค้าส่งออก จะเป็นสินค้าเดิมที่เคยส่งออกไปมณฑลยูนนาน หรือสินค้าที่มีการขนส่งทางถนนอยู่เดิม

 

โดยสรุปแล้ว การเปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาว ส่งผลกระทบต่อภาคการค้าของไทย ทั้งการนำเข้าและส่งออกสินค้า เช่น วัถตุดิบ ผลผลิตทางการเกษตร และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ตาม การขนส่งสินค้าในช่วงแรกยังไม่สามารถดำเนินการได้สะดวก เนื่องจากยังมีการปิดพรมแดนทั้ง สปป. ลาว และจีน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่

1.โครงสร้างพื้นฐานใน สปป. ลาว อาทิ Vientiane Logistics Park (VLP) ซึ่งเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าใน สปป. ลาว และด่านรถไฟโม่ฮานในจีนที่ยังดำเนินการได้ไม่สมบูรณ์

2.มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของจีน เช่น ความเข้มงวดด้านการนำเข้าสินค้าของจีน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโคโรน่าไวรัส โดยเฉพาะอาหารสดและผลไม้ และ

3.มาตรการกีดกันทางการค้าด้านภาษีศุลกากร อาทิ ระเบียบพิธีการด้านการขนส่งทั้งใน สปป.ลาว และจีน อย่างไรก็ดี ข้อตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้เมื่อ วันที่ 1 ม.ค. 2565 จะมีส่วนช่วยบรรเทาข้อจำกัดด้านภาษีศุลกากรได้บ้าง และควรมีการหารือเรื่องการขนส่งร่วมกันระหว่าง สปป. ลาว และจีนเพิ่มเติม เพื่อให้การขนส่งไปจีนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

อ่านต่อ : https://thaipublica.org/2022/01/bot-regional-letter-china-lao-train/